ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้ กลุ่มเพื่อนผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ (Healthy Forum) และสมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ได้เข้ายื่นหนังสือกับ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมต.สาธารณสุขพร้อมข้อเสนอ 7 ข้อเพื่อให้แก้ปัญหาโรคซึมเศร้า
ฐิตินบ โกมลนิมิ อดีตผู้สื่อข่าวและหนึ่งในกลุ่มเพื่อนผู้ป่วยซึมเศร้าระบุว่า กลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้าแยกออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ไม่รู้ว่าตัวเองป่วย, กลุ่มที่ป่วยแต่เข้าไม่ถึงการรักษา และกลุ่มที่กำลังรักษาอยู่ และภายหลังการระบาดของไวรัส COVID-19 ทำใหัจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในววยาวชน จึงมีข้อเสนอถึงรัฐบาล ดังนี้
ข้อเสนอที่หนึ่ง เพิ่มยาต้านซึมเศร้าและยาจิตเวชเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติอย่างน้อย 4 รายการ ได้แก่ โอแลนซาปีน (Olanzapine) อะริพิพราโซล (Aripiprazole) เวนลาฟาซีน (Venlafaxine) และ เมธธิลฟินิเดท (Methylphenidate) โดยในปัจจุบัน การพิจารณาเพิ่มยาต้านซึมเศร้ายังติดอยู่ที่ขั้นพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
ยาทั้ง 4 ชนิดข้างต้น เป็นยาที่กรมสุขภาพจิต, ราช วิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยระบุว่าดีกว่ายาที่ใช้ในปัจจุบัน อีกทั้งการให้ สปสช.ซื้อจะทำให้ราคายาถูกลง
ข้อเสนอที่สอง จัดตั้งคลินิกจิตเวชทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ ปัจจุบัน ประเทศไทยขาดแคลนจิตแพทย์ โดยทั่วประเทศมีเพียง 850 คนเท่านั้น แถมยังกระจุกตัวอยู่ตามโรงพยาบาลรัฐและเมืองใหญ่ ทำให้การเข้าถึงการรักษาทำได้ยาก ถึงแม้มีโอกาสเข้าถึงการรักษา จิตแพทย์ก็ต้องแบกรับจำนวนผู้ป่วยมากเกินไป และไม่สามารถรักษาได้เต็มศักยภาพอยู่ดี จึงเสนอให้จัดตั้งคลินิกจิตเวชทุกโรงพยาบาล ทุกอำเภอ และดีงสหวิชาชีพด้านจิตเวชเข้ามาสนับสนุน
ข้อเสนอที่สาม พัฒนาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ให้มีศักยภาพมากขึ้น เนื่องจากการรักษาโรคซึมเศร้าไม่จำเป็นต้องใช้ยาเสมอไป ซึ่งที่ผ่านมา 1323 เป็นด่านหน้าคอยช่วยเหลือผู้ป่วยที่โทรเข้ามาปรึกษาเสมออยู่แล้ว แต่ด้วยข้อจำกัด ที่มีเพียง 15 คู่สาย ทำให้ไม่สอดรับกับผู้ใช้บริการที่มีมากถึง 500,000 สาย
ดั้งนั้น จึงเสนอให้ สปสช.พัฒนา 1323 ให้เป็น ‘หน่วยแรกรับและสายปรึกษาสุขภาพจิตครบวงจร’ ทำงานเชิงรุกรับฟัง ให้คำปรึกษา ติดามประเมินภาวะอาการของโรค และสามารถส่งต่อหน่วยบริการทั้งรัฐและเอกชนที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายให้กับผู้ใช้บริการได้ในทันที
ข้อเสนอที่สี่ ให้ สปสช.พัฒนาและส่งเสริมผู้ป่วยให้เข้าสู่บริการบำบัดฟื้นฟูสุขภาพจิต เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาฟื้นฟูสุขภาพใจควบคู่กับการใช้ยา และเตรียมพร้อมคืนผู้ป่วยกลับคืนสู่สังคม เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy-CBT)
ข้อเสนอที่ห้า พัฒนาการดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าใช้สิทธิอะไรในการรักษา
ข้อเสนอที่หก พัฒนาคุณภาพการให้บริการโรคซึมเศร้าและโรคจิตเวช แต่ภายหลังตั้งคลินิกจิตเวชทุกโรงพยาบาลและอำเภอ
ข้อเสนอที่เจ็ด ให้ อย.พิจารณาการขึ้นทะเบียนยาต้ามซึมเศร้าอย่างรอบคอบ เพื่อเฝ้าระวังเรื่องคุณภาพยาและการใช้ยาที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้เข้ารับการรักษา
ทางด้าน นพ.ชลน่านกล่าวหลังรับหนังสือว่า ทราบปัญหาทั้งหมดดีอยู่และตระหนักว่าปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยได้มีนโยบายตั้งวอร์ดผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้นไปแล้ว และจะติดตามว่าการพิจารณายาต้านเศร้าตามข้อเสนอของกรมสุขภาพจิตติดอยู่ที่ตรงไหนแล้ว ถ้ายังต้องใช้เวลา เขารับปากว่าหารือแนวทางอื่นเพิ่มเติม
#โรคซึมเศร้า #TheMATTER