ดูเหมือนว่าภาวะโรคระบาดจะทำหน้าที่เปิดเผยให้เราเห็นถึงปัญหาให้ประจักษ์แก่สายตากันไปเลย ซึ่งก็คงป็นเรื่องธรรมดาของภาวะวิกฤติที่เป็นเครื่องทดสอบระบบและความสามารถของผู้นำของเรา
เมื่อวาน เราเริ่มมีการเรียนออนไลน์กันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว และในการศึกษาจากภาครัฐที่จะเริ่มส่งห้องเรียนถ่ายทอดไปให้กับเหล่านักเรียนปลายทางที่รับชมผ่านจออะไรก็ตาม กลายเป็นว่า เราก็ได้เรื่องได้ราว เจอปัญหาจำนวนหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือห้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ วิชาอันเป็นยาขมของสังคมมาอย่างเนิ่นนาน ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่กลายเป็นที่จับตาก็คือสำเนียง ความถูกต้อง ซึ่งก็ถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือร้ายหน่อยก็ถูกนำมาล้อเลียน
ในรายละเอียดเรื่องคุณภาพ เรื่องความจำเป็นของมาตรฐานเช่นสำเนียง การออกเสียงเหล่านั้น ก็เป็นเรื่องปรัชญาและวิธีการสอน ซึ่งก็จะมีมุมมองและจุดยืนที่แตกต่างกันไป แต่ในที่สุดแล้ว ภาพของห้องเรียนภาษาอังกฤษนั้น ก็สะท้อนภาพของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา หรือถ้าพูดอย่างเป็นวิชาการ คือการเข้าทุนทางวัฒนธรรม อันเป็นทุนพิเศษที่นักวิชาการบอกว่าสำคัญ และเป็นทุนที่เราไม่มองไม่เห็น
พร้อมกันนั้น การล้อเลียนสำเนียงการออกเสียง แค่การหยิบมาล้อนั้นก็แสดงให้เห็นว่าสำเนียง น้ำเสียงและการใช้ภาษาเป็นเรื่องของ ‘การเมือง’ กล่าวคือภาษาถูกจัดลำดับ มีการให้ค่าสำเนียงชนิดหนึ่งว่าถูกต้อง สูงส่งกว่าสำเนียงอีกรูปแบบหนึ่ง และการจะมีสำเนียงใดๆ นั้นก็ย่อมเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงการสะสมทุนทางวัฒนธรรมนั่นเอง ประเด็นเสียง การออกเสียงเป็นประเด็นการควบคุมร่างกาย และการมีรสนิยมอย่างซับซ้อน ทำให้นึกถึงวรรณกรรมเรื่อง Pygmalion หรือคนยุคก่อนหน้าที่ทันและเป็นแฟน ออเดรย์ แฮบเบิร์น (Audrey Hepburn) อาจจะคุ้นเคยในหนังเรื่อง ‘My Fair Lady’ เรื่องราวของนักสัทศาสตร์ที่พาผู้หญิงคนหนึ่งมาฝึกให้กลายเป็นผู้หญิงชั้นสูงผ่านการฝึกทางภาษาและการใช้เสียง
Pygmalion สำเนียงส่อภาษา การดัดตัดแต่งมนุษย์ด้วยกัน
Pygmalion- พิกแมเลียน เป็นบทละครที่ค่อนข้างดังมากของ George Bernard Shaw ชื่อเรื่องตั้งตามปกรณัมกรีกที่เล่าถึงถึงประติมากรผู้ตกหลุมรักงานประติมากรรมของตนเอง ที่ตอนท้ายกลายมามีชีวิต ตัวเรื่องเล่าถึงศาสตราจารย์ทางสัทศาสตร์ (phonetic) หนุ่มที่อยากจะสร้างผู้หญิงที่สมบูรณ์แบบขึ้นผ่านการฝึกฝนเรียนรู้—ทำนองเข้าคลาสนางงามนั่นแหละ
นึกภาพว่าบทละครเรื่องนี้เขียนขึ้นช่วงวิคตอเรียน เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์เริ่มมีบทบาท ในขณะเดียวกันชนชั้นละสถานะทางสังคมก็ค่อนข้างเข้มข้นเคร่งครัด ถ้าเรามองจากมุมมองทั่วไป ไม่นับว่าศาสตราจารย์ดูโรคจิตหน่อย การเอาผู้หญิงไปฝึกให้เป็นกุลสตรีก็ฟังดูเข้าใจได้ แต่ลองมองอีกด้านที่ว่าแขนงวิชาการของตัวเอกที่เป็นนักสัทศาสตร์—อันเป็นแขนงหนึ่งของภาษาศาสตร์ที่เน้นการออกเสียงคำผ่านสัณฐานของช่องปากและควบคุมร่างกายอย่างลึกซึ้ง ถ้ามองว่ามันคือการใช้วิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาควบคุมมนุษย์แบบสุดโต่งมาก เพื่อที่จะเปลี่ยนผู้หญิงขายดอกไม้ธรรมดาคนหนึ่ง ให้เข้าสังคมชั้นสูงได้ ซึ่งจุดเริ่มของการฝึกสาวน้อยก็มาจากแค่การพนันขันต่อกันเท่านั้นเอง
แน่นอน สิ่งที่เธอถูกฝึก คือเรื่องสำเนียง ที่อังกฤษกระทั่งทุกวันนี้ก็ยังมีการแบ่งชนชั้น โดยฟังจากเสียงและการใช้คำพูดบางอย่าง ในทำนองเดียวกันกับที่บ้านเราเลียนล้อสำเนียงเหน่อ เสียงใต้ หรือคำอีสาน—ซึ่งก็พยายามละลายและมองข้ามกันเนอะ แต่ยุควิคตอเรียนนี่คือแบ่งกันหนัก จะมีสำเนียงที่เรียกว่า Cockney อันเป็นสำเนียงและการใช้คำแบบชาวบ้านร้านตลาด ในขณะที่ก็จะมีสำเนียงแบบ Received Pronunciation (RP) ที่ถือกันว่าเป็นสำเนียงมาตรฐาน ใช้โดยราชสำนัก และเป็นสำเนียงเราได้ยินในช่อง BBC
ในตัวเรื่องศาสตราจารย์ก็เอาสาวสวยขายดอกไม้นี่มาฝึกมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่คือการฝึกแบบภาษาศาสตร์ มีการควบคุมอวัยวะในลำคอและช่องปากเพื่อการเปล่งเสียงที่ถูกต้อง มีการใช้อุปกรณ์ อมลูกแก้ว อะไรต่างๆ แบบคลินิกหมอภาษาที่เราคุ้นๆ ในโรงเรียน เพื่อให้ออกเสียง และแยกแยะเสียงตัวพยัญชนะบางอย่างออกจากกันได้ ในที่สุด เราก็จะรับรู้ได้ว่า ประสาทกินอะ นี่มนุษย์นะ จะเอามาฝึก เพื่อเลื่อนสถานะทางสังคม ต้องทำขนาดนี้ ต้องฝึกลิ้น ฝึกคอ แต่ด้วยความที่ตัวเรื่องก็เขียนขึ้นเพื่อล้อเลียนสังคม โดยเฉพาะเรื่องชนชั้น เรื่องภาษา เรื่องระเบียบหรือกระทั่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ภาษาศาสตร์ต่างๆ แน่นอนว่าเรื่องจบไม่สวย ศาสตราจารย์หลงรักนางเอก แต่เราก็รับรู้ถึงความวิตถารของสังคมที่ทำให้เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้น
ซึ่งการฝึกฝนทั้งหมด มันก็เป็นเหมือนภาพสะท้อนของการหล่อหลอมทางวัฒนธรรม ที่ทำให้เห็นว่าสังคมมีวิธีการแบ่งแยกทางชนชั้นอย่างแยบยล สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องทุนทางวัฒนธรรมและรสนิยมที่นักสังคมศาสตร์ในยุคหลังเช่น ปิแอร์ บูร์ดิเยอร์ เสนอไว้
รสนิยมกับทุนทางวัฒนธรรม
ถ้าอ้างอิงจากบทละคร การฝึกหกเดือนเพื่อเปลี่ยนนางเอกเป็นดัชเชสนั้น ปลายทางน่าจะเรียกว่าพัง เพราะกลายเป็นว่าหญิงสาวทรงสเน่ห์นั้นกลับกลายเป็นคนครึ่งๆ กลางๆ จะชนชั้นบนก็ไม่ใช่ ล่างตามชาติก็ไม่เชิง ลักษณะดังกล่าวจึงสอดคล้องกับมุมมองของปิแอร์ บูร์ดิเยอ ที่พยายามชี้ให้เห็นการแบ่งชนชั้นทางสังคม ผ่านรสนิยม ที่เกิดขึ้นจากการสะสมทุนทางวัฒนธรรมอันเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและแนบเนียน
ประเด็นเรื่องสำเนียง เสียงพูดนั้น ดูจะเป็นอีกหนึ่งรสนิยมที่แสดงออกแบบขั้นสูงสุด แกนสำคัญของรสนิยมคือความสามารถในการแยกแยะสิ่งต่างๆ ออกจากกันได้โดยละเอียด รู้ว่าอันไหนดี แพง ละเอียด และเลือกเสพสิ่งนั้นได้ตามกรอบที่สังคมวางไว้ ในแง่ของภาษาคือการหล่อหลอมที่มีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่การที่หูสามารถแยกแยะเสียง—หน่วยเสียงที่เฉพาะเจาะจงได้ ความสามารถในการออกเสียงนั้นๆ มาจากความสามารถในการควบคุมอวัยวะออกเสียงได้อย่างถูกต้องนั่นเอง การควบคุมร่างกายและการแยกแยะนี้จึงเหนือชั้นขึ้นไปยิ่งกว่าแค่การแต่งกาย การกินอาหารที่ส่วนใหญ่ซื้อหาได้ด้วยเงิน แต่รสนิยมทางร่างกาย ภาษา เสียงพูด ท่าทางนั้นเป็นสิ่งที่ซื้อหรือฝึกฝนได้ยาก
ไอ้เจ้ารสนิยมเหล่านี้ สิ่งที่ลุงบูร์ดิเยอพยายามชี้ให้เห็นคือการเป็น ‘ทุน’- capital ของมัน คือ มันสามารถสะสมได้ และมันสามารถแลกเปลี่ยนไปมาได้ สำเนียงหรือภาษา เป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมขึ้นในช่วงต้นของชีวิต ตั้งแต่ว่าเด็กคนคนหนึ่งเกิดในครอบครัวชนชั้นประมาณไหน ถ้าเกิดในชนชั้นกลาง ค่อนไปทางสูง ก็มีโอกาสที่จะเข้าถึงภาษาอังกฤษ มีพ่อแม่ที่มีเงินซื้อหนังสือนิทานสองภาษา พ่อแม่ที่สามารถเลือกหนังการ์ตูน ไปจนถึงเลือกและเข้าถึงโรงเรียนคุณภาพที่จะค่อยๆ ฝึก ค่อยๆ ขัดเกลา ทำให้เด็กคนหนึ่งค่อยๆ แยกแยะเสียง Rและ L ออกจากกันได้ สามารถยืน กิน นั่ง ออกเสียง และชื่นชอบอะไรบางอย่างที่คนบางกลุ่มเข้าไม่ถึง เป็นการถ่ายทอดทุนทางวัฒนธรรมผ่านการครอบครองแลกเปลี่ยนจากทุนทางเศรษฐกิจ
ชนชั้นจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากกว่าการแค่มีตัวเลขรายได้ แต่หมายถึงการครอบครองทุนหรือคุณสมบัติพิเศษบางอย่าง ในที่สุด คนที่มีรสนิยมรูปแบบหนึ่ง มีกิริยามารยาท การเข้าถึงภาษาต่างประเทศที่ทำให้เข้าถึงการกินดื่มหรือการไลฟ์สไตล์บางอย่างนั้น ก็ทำให้คนคนนั้นมีโอกาสก้าวหน้า หรือไปยืนในตำแหน่งที่สูงขึ้น ซึ่งก็นำมาด้วยรายได้ที่สูงกว่า หรือการมีรสนิยม มีไลฟ์สไตล์บางอย่างที่ต้องกัน ก็ทำให้เกิดความสัมพันธ์ เกิดความรัก การสร้างครอบครัวตามชนชั้นไปโดยปริยาย
เหมือนพูดไปแสนไกล แต่ในที่สุด ภาพของคุณครูที่เราคาดหวังเสียงหรือสำเนียง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้หมายความว่าครูผิด สำเนียงแย่ แต่มันทำให้เราเห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษา—ทุนทางวัฒนธรรมที่ในสังคมไทย มีเด็กเพียงกลุ่มหนึ่งจะสามารถเล่าเรียนและอยู่กับสำเนียงภาษาหรือการศึกษาภาษามาตรฐาน เข้าถึงสื่อการสอน แหล่งการสอน ซึ่งทั้งหมดนั้นก็สะท้อนถึงภาวะขาดแคลนการกระจายตัวของทรัพยาการทางการศึกษาของไทย ที่เราแทบไม่มีทั้งห้องสมุดคุณภาพดี หอศิลป์ ไปจนถึงประเด็นบุคลากรทางการศึกษาที่ไปสัมพันธ์กับเรื่องราวปัญหาอีกร้อยแปด
สิ่งที่น่าคิดคือ ในช่วงที่รัฐต้องใช้การกระจายและส่งต่อการเรียนผ่านสื่อออนไลน์หรือการกระจายเสียง ก็อาจจะเป็นอีกช่องทางสำคัญที่ส่งต่อ ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงและเลื่อนชนชั้นทางสังคมต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก