“ดูดวงมาแม่นมาก เขาบอกว่างานจะพุ่งเหมือนดาวรุ่งดวงใหม่ ก็เลยขยันทำงานให้ทุกคนเห็น จนใครๆ ก็ชมว่าทำงานดี หมอดูนี่แม่นจริงๆ” เคยเกิดอาการแบบนี้กับตัวเองบ้างไหม เวลาเราเชื่ออะไรสักอย่างขึ้นมา แล้วเผลอใช้ชีวิตไปตามนั้นเพื่อหวังให้เกิดผลลัพธ์นั้นขึ้นจริงๆ พอมันเกิดขึ้นจริง ก็ยิ่งปักใจเชื่อเข้าไปใหญ่ เหมือนคิดอะไรแล้วได้แบบนั้น มาดูกันว่าสิ่งที่เราเชื่อมันเกิดขึ้นจริงได้ยังไง ด้วย Pygmalion Effect ที่สามารถอธิบายความบังเอิญที่แสนจะจงใจนี้
เวลาเราคาดหวังอะไรสักอย่างในทางบวกขึ้นมา เรามักจะอยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นจริงกับเรา แน่ล่ะ เพราะมันเป็นผลบวกกับชีวิตเราเอง เช่นเดียวกับตอนที่เราปักใจเชื่ออะไรในแง่ลบ ว่าสิ่งนั้นไม่ดีจริงๆ มันเป็นแบบนั้นแน่ๆ เราเองก็อาจเผลอตอบสนองต่อสิ่งนั้นแบบแง่ลบไปเช่นกัน อาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Pygmalion Effect ปรากฎการณ์ที่เราเชื่ออะไรสักอย่างมากๆ เข้า แล้วอยากให้สิ่งนั้นเป็นจริงหรืออยากพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่เชื่อนั้นเป็นจริง ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบก็ตาม ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆ
อย่าง การดูดวง หากเราถูกทักในเรื่องไหน เราจะยิ่งใส่ใจเรื่องนั้นในชีวิตเรามากขึ้น เพื่อให้คำทำนายทายทักนั้นเป็นจริงขึ้นมา อย่างในข้างต้นที่พูดถึงการทำงานนั่นเอง ไม่มีปาฏิหาริย์ ไม่มีกฎแรงดึงดูด ที่จะมาช่วยอธิบายในเรื่องนี้ มีแต่พฤติกรรมของเราเองล้วนๆ เหมือนกับว่า พอเราอยากให้มันเกิดขึ้นจริง เราก็ยิ่งทำสิ่งนั้นให้เป็นจริงด้วยมือของเราเอง แต่พอมันเป็นจริงขึ้นมา กลับคิดว่าเป็นเพราะเราเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นจริง ไม่เกี่ยวกับที่เราลงมือทำเสียหน่อย
เจ้าปรากฎการณ์นี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะใครอยากให้เกิดขึ้นเหมือนตัวมัน แต่เกิดขึ้นจากการทดลองของ โรเบิร์ต โรเซนธัล (Robert Rosenthal) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จาก University of California และ เลอนอร์ จาค็อบสัน (Lenore Jacobson) ครูใหญ่ในโรงเรียนประถมศึกษา ที่ได้ร่วมกันทดลองโดยนำเด็กในโรงเรียนแห่งหนึ่งมาทดสอบวัดระดับ IQ พอทดสอบเสร็จก็ทำทีคัดเด็กออกมา 20 คน บอกว่าเด็กกลุ่มนี้เนี่ยเป็นเด็กที่ได้คะแนนทดสอบสูง (ส่วนเด็กที่เหลืออยู่ห้องอื่น) แล้วก็ทำการเรียนการสอนกันจนหมดเทอม เด็กก็ทำเต็มที่เพื่อให้คะแนนตัวเองดีสมกับไอคิว ครูก็สอนเต็มที่ไม่แพ้กันเพื่อผลักดันเด็กเหล่านี้ให้ก้าวหน้าขึ้น จบเทอม เด็ก 20 คนนั้นได้คะแนนประเมินดีกว่าเด็กห้องอื่นจริงๆ
เด็กสมองปราดเปรื่อง 20 คนเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้? นั่นเพราะการทดสอบระดับ IQ นั้นไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่แรก เด็ก 20 คนนี้ถูกคัดเลือกโดยการสุ่มจากเด็กทั้งหมด เลยทำให้เห็นว่า ไม่ว่าเด็กนั้นจะเป็นเด็กหัวดีจริงหรือไม่ หากตัวเด็กเองและคุณครูเชื่อว่าเขาเป็นเด็กหัวดี เด็กก็มีแนวโน้มตั้งใจเรียนเต็มที่ คุณครูเองก็อยากสอนเด็กหัวดีให้สมกับมันสมองของพวกเขาเช่นกัน เลยเกิดเป็นที่มาของ Pygmalion Effect ปรากฎการณ์ที่ความเชื่อชี้นำพฤติกรรมของเรา จนมันเกิดสิ่งนั้นขึ้นจริงๆ เหมือนกับที่ครูและเด็กเชื่อในผลการทดสอบ IQ นั่นเอง
อะไรทำนองนี้จึงเกิดขึ้นในชีวิตของเราอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในออฟฟิศ ที่เรามักเชื่อว่าคนนี้ทำงานได้ดี เพราะเขามีลักษณะที่จูงใจให้เราเชื่อ และเราก็จะมองแต่ด้านดีของเขา หรือใครก็ตามที่เราเชื่อว่าเขาไม่ได้ดีขนาดนั้นหรอก เราก็จะคอยมองแต่ด้านไม่ดีของเขาเพื่อพิสูจน์ว่า นี่ไง เขาไม่ดีอย่างที่เราคิดจริงๆ โดยมันไม่ได้เกิดขึ้นกับการที่เรามองคนอื่นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น อาจเกิดขึ้นได้กับการที่เรามองตัวเอง หรือคนอื่นมองมาที่เรา จนเราอดคิดไม่ได้ว่า เราเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือเปล่านะ แล้วก็เผลอปล่อยตัวปล่อยใจทำอย่างที่คนอื่นหรือตัวเองคิดไว้จริงๆ
ว่าแต่ ชื่อ Pygmalion นั้นมาจากไหน?
ขอผายมือเชิญคนอ่านมาสู่เรื่องราวปกรณัมกรีกกันเสียหน่อย พิกมาเลียน (Pygmalion) ประติมากรหนุ่ม ผู้ไม่ฝักใฝ่ในอิสตรีนางไหนเลย จนอยากครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิตให้รู้แล้วรู้รอดไป แต่แล้วเมื่อผลงานชิ้นเอกของเขาเป็นรูปปั้นหญิงสาวที่งามหมดจด (บางแหล่งข้อมูลก็บอกว่าเป็นการแกะสลักงาช้าง) จนเขาหมดอคติทั้งหมดที่มีในใจและตกหลุมรักผลงานของเขาเองเข้าอย่างจัง โดยความรักนั้นเป็นความรักที่ใครสักคนมีให้กันมากกว่าความภาคภูมิใจในผลงานเท่านั้น มันมากเสียจนเขาตั้งชื่อให้เธอ (รูปปั้นนั่นแหละ) ว่า กาลาทีอา (Galatea)
ความรักที่ไม่เคยลดน้อยลงสักวันต่อกาลาทีอาทำให้เขาอ้อนวอนขอพรจาก วีนัส (Venus) เทพีแห่งความรัก ให้เธอได้มีชีวิตขึ้นมาจริงๆ เพื่อมาเป็นคนรักให้กับเขา และ ทาดา! พรที่เขาขอนั้นเป็นจริง กาลาทีอามีชีวิตขึ้นมา มีความรู้สึก มีเนื้อหนังอันอบอุ่นด้วยเลือดที่ไหลเวียนภายใน ไม่ใช่เพียงประติมากรรมชิ้นเอกของเขาอีกแล้ว
พิกมาเลียน (Pygmalion) จึงเป็นชื่อของปรากฎการณ์ที่ความเชื่อ ความหวัง เป็นจริงขึ้นมา เหมือนกับประติมากรรมที่กลายเป็นสาวงามที่มีชีวิตขึ้นมาจริงๆ เช่นเดียวกับดวงที่ดูเมื่อวันก่อน แล้ววันนี้ก็เป็นจริงขึ้นมา ด้วยความเชื่อที่คอยชี้นำพฤติกรรมของเราด้วยนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก