ยากและยิ่งใหญ่กว่าเกมโชว์ตอบคำถามในรายการทีวี ก็คงจะเป็น 4 ข้อสงสัยที่นายกฯลุงตู่ของพวกเรา ขอให้ประชาชนช่วยกันส่งคำตอบ เพื่อเป็นแนวทางปฏิรูปประเทศชาติบ้านเมืองสู่อนาคตอันสดใส ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว คำถามเหล่านี้ก็ยากและซับซ้อนพอสมควร
เวลาเจอคำถามเรื่องการเมือง คำตอบก็ควรจะมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอ่ะเนอะ The MATTER จึงไปรวบรวมค้นคว้าเปิดตำรา หาคำอธิบายจากนักปรัชญาการเมืองมาให้ เผื่อว่าคำตอบเหล่านี้จะช่วยลูงตู่และการปฏิรูปประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้ไม่มากก็น้อย
Q: ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่?
A: อย่าถามหาศีลธรรมในแวดวงการเมือง
Niccolo Machiavelli นักปรัชญาจากอิตาลี เขียนเอาไว้ในหนังสือ The Prince ว่า ธรรมชาติของมนุษย์และนักการเมืองล้วนเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว ไร้ศีลธรรม ขี้โกหก ชอบหลอกลวง หวังกอบโกยผลประโยชน์ สำหรับเขาแล้ว การเมืองจึงเป็นพื้นที่แห่งความดำมืดที่การเรียกร้องให้นักการเมืองเป็น ‘คนดี’ หรือ ‘มีศีลธรรม’ เป็นเรื่องในอุดมคติมากเกินไป
คำสอนของ Machiavelli ช่วยย้ำเตือนพวกเราด้วยว่า นักการเมืองที่มีภาพลักษณ์เป็นคนดีนั้นจริงๆ แล้วอาจเป็นคนที่โกหกเก่ง และใส่หน้ากากได้อย่างแนบเนียนที่สุดก็เป็นได้ แทนที่จะเพรียกหานักการเมืองสายคนดี อาจจำเป็นที่ต้องหาวิธีการควบคุม (ที่ดี) เพื่อไม่ให้นักการเมืองเหล่านั้นใช้อำนาจในทางมิชอบแทน
Q: หากไม่ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร?
A: การทำอารยะขัดขืนคือภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อรัฐทำตัวทุจริตไม่สนใจกฎหมาย
Gandhi เสนอว่า เมื่อใดที่รัฐบาลทุจริตและทำตัวอยู่เหนือกฏหมาย ประชาชนก็ย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะลุกขึ้นมาขับไล่ความฉ้อฉลนั้น สิ่งที่เขาทำเป็นตัวอย่างให้คนทั่วโลกเห็นคือการออกมาประท้วงรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองคนอินเดียอย่างไม่เป็นธรรม โดยยึดหลักสันติวิธีและอารยะขัดขืน
หลักการประท้วงโดยสันติวิธีตามแบบฉบับ Gandhi กลายเป็นต้นแบบที่นักเคลื่อนไหวหลายประเทศนำไปใช้ เพื่อค้ดค้านนโยบายที่ไม่ถูกต้องของรัฐ สิ่งนี้ช่วยตอกย้ำว่า การเมืองจากภาคประชาสังคมคือพลังสำคัญที่สามารถตรวจสอบ และถ่วงดุลการทำงานรัฐบาลได้ ตัวอย่างเช่น การเรียกร้องเอกราชจากชาติอาณานิคม และกรณีของ Martin Luther King Junior ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีในสหรัฐฯ อย่างในการเมืองไทยก็มีหลายกลุ่มที่หยิบวิธีการสันติวิธีมาใช้ประท้วงรัฐอยู่บ่อยๆ
Q: การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปนั้นถูกต้องหรือไม่?
A: เลือกตั้งอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้เสรีภาพแสดงความเห็น เสรีภาพสื่อ และเสรีภาพในการรวมตัว
ปัญหาเรื่องเลือกตั้งอย่างเดียวพอไหมเนี่ยก็สงสัยกันมานาน นักปรัชญาสาย Marxism และนักเคลื่อนไหวชาวยิวคนสำคัญอย่าง Rosa Luxemburg มีคำตอบว่า การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการเดินไปสู่สังคมการเมืองที่ดีได้หรอก แต่มันยังจำเป็นต้องมีหลักการอื่นๆ ประกอบกันด้วย ทั้งการให้เสรีภาพในการพูดต่อทั้งประชาชนและสื่อมวลชน รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อสะท้อนความต้องการของตัวเองไปยังรัฐได้
Luxemburg บอกด้วยว่า ถ้ารัฐไหนไม่อนุญาตให้มีเสรีภาพในเรื่องเหล่านี้แล้ว มันก็มีความเสี่ยงที่การกำหนดนโยบายต่างๆ ของรัฐจะตกอยู่ใต้อิทธิพลของข้าราชการเพียงฝ่ายเดียว
Q: คิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้แล้วจะให้ใครแก้ไข และแก้ไขด้วยวิธีอะไร?
A: การต่อสู้กับรัฐบาลที่ฉ้อฉล ต้องแบ่งแยกอำนาจ สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุล
คำถามนี้ของลุงตู่ถือว่าเป็นประเด็น Classic ที่ถกเถียงกันในทางการเมืองมายาวนาน หนึ่งในคนที่พอจะตอบได้คือ James Madison อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐและหนึ่งในนักคิดผู้ร่วมเขียน Federalist papers โดยเขาเคยระบุว่า การแก้ปัญหารัฐบาลมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเนี่ย ทำได้ด้วยการออกแบบรัฐธรรมนูญให้แบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลขึ้นมา
Madison ยอมรับว่า ระบบประชาธิปไตยมันมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเผด็จการเสียงข้างมากได้ก็จริง แต่วิธีการรับมือกับปัญหานี้อย่างถูกต้อง กลับไม่ใช่การไปลิดรอนสิทธิของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาสู่การเมือง