รูปโปรไฟล์หมา แมว หรือดอกไม้ คอมเมนต์ซ้ำๆ เชียร์รัฐบาล ด้อยค่าความคิดเห็นฝั่งตรงข้าม มีจำนวนเพื่อนไม่กี่คน เข้าไปหน้าไทม์ไลน์ไม่พบข้อมูลอะไร คล้ายกับเป็นร่างอวตาร ไม่มีตัวตนจริง
นี่คือข้อสังเกตของ IO หรือเครือข่ายปฏิบัติการด้านข่าวสารของกองทัพ (information operation) ที่ในระยะหลังถูกเปิดเผยข้อมูลมากมายถึงปฏิบัติการทางทหารนี้ ทั้งในการจ้างเอกชนมาทำงาน การนำทหารมานั่งหน้าจอรับคำสั่งเป็น IO ไปถึงการเบี้ยวเบี้ยเลี้ยงทหารชั้นผู้น้อยในปฏิบัติการนี้
ซึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 31 สิงหาคม 2564) ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล อภิปรายแฉขบวนการ IO โดยในหน้าหนึ่งของสไลด์อภิปราย ได้ปรากฎ 45 รายชื่อ ที่อยู่ในบัญชีภัยความมั่นคง และถูกสั่งให้ทหารจับตา รวมถึงแผนผังโครงสร้างราษฎรในจังหวัดต่างๆ ที่มีข้อมูลติดตามทั้งเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ โซเชียลมีเดียด้วย
ในลิสต์รายชื่อเหล่านั้น หลายคนเป็นนักการเมือง หลายคนเป็นนักเคลื่อนไหว แต่ในจำนวนนี้หลายคนเป็นเพียงนักเรียน และนักศึกษาเท่านั้น The MATTER ได้พูดคุยกับ 3 นักเรียน นักศึกษา ที่มีชื่ออยู่ในลิสต์นี้ว่า เขามองปฏิบัติการ IO ของรัฐอย่างไร และพวกเขาที่เป็นอนาคตของชาติ แต่กลับต้องถูกรัฐคุกคามนั้น คิดเห็นอย่างไรกับลิสต์ภัยความมั่นคงนี้
เมื่อฉันมีชื่อในลิสต์ภัยความมั่นคง และการคุกคามในรูปแบบต่างๆ
คงเป็นเรื่องแปลกใหม่ ที่อยู่ๆ เราจะพบชื่อของเราอยู่ในสไลด์การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ยิ่งเฉพาะเป็นชื่อที่ปรากฎในลิสต์ภัยความมั่นคง แต่ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ นักเรียนอายุ 18 ปี ที่มีชื่อ และใบหน้าปรากฎอยู่ในสไลด์แผนผังโครงสร้างราษฎรในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น กลับบอกเราว่า เขาไม่ได้แปลกใจมาก แต่ก็ยอมรับว่ารู้สึกแย่
“ผมไม่ได้แปลกใจมาก เพราะก่อนหน้านี้มีอีกฉบับที่เราได้เห็น (รายชื่อบุคคลที่ต้องติดตามเป็นกรณีพิเศษ (watchlist) ที่พรรคก้าวไกลออกมาเปิดเผยก่อนหน้า – ผู้เขียน) แต่ถ้าจะเอาความรู้สึกแรกเลย เราก็รู้สึกแย่ เพราะเราออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการศึกษา แต่ทำไมถึงต้องถูกจับตามอง ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ของรัฐขนาดนี้”
ขวัญข้าวเล่าให้ฟังว่า เขาเคลื่อนไหวภายใต้กลุ่มภาคีนักเรียน KCC ที่เคลื่อนไหวในภาคอีสาน โดยมีทั้งจัดการชุมนุมเอง ในปีที่แล้ว มีร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ในขอนแก่น เคลื่อนไหวเรื่องการศึกษามาตลอด ทั้งเรื่องสิทธิภายในโรงเรียน เช่น การใส่ชุดไปรเวท มีขบวนรณรงค์การเมืองในกีฬาสี “ตอนนี้ก็มีประเด็นเรื่อง พรบ.การศึกษา และสัปดาห์นี้ ก็มีแคมเปญสไตรค์หยุดเรียนออนไลน์” เขาเล่า
เช่นเดียวกับขนุน สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษามหาวิทยาลัย มศว อายุ 20 ปี ที่เขาเองก็บอกเราว่า เคยได้ยินมาเช่นกันว่าตัวเขามีชื่ออยู่ในลิสต์ก่อนที่จะมีปรากฎจริงๆ ในสภา
“ตอนนั้นเราก็รู้อยู่แล้วว่ามี เพราะก่อนหน้านี้เคยมีคนมาบอกว่ามีชื่อเราอยู่ในลิสต์ภัยความมั่นคง เราก็ขำ แบบพูดกับเพื่อนเลยว่า ‘กูนี่นะ มีชื่อ’ แล้วก็สรุปว่ามีจริงๆ พอเห็นว่ามีจริงๆ เราก็เฉยๆ นะ เราไม่ได้มั่นหรืออะไร แต่เราก็พอจะเดาได้ ว่าเราคงเป็นภัยมั่นคงสำหรับเขา รวมถึงมันมีการกระทำหลายๆ อย่างเช่นการติดตาม การพยายามแฮ็ก สิ่งพวกนี้มันเป็นการบอกกับเราว่ารายชื่อนี้มีอยู่”
ขนุนเล่าเสริมว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยโดนแฮ็กการเข้าระบบมหาวิทยาลัยมาแล้วด้วย “ผมเคยโดนแฮ็กอีเมล์ของมหาลัย เมล์ส่วนตัว แฮ็กเฟซบุ๊ก ไอจี ทวิตเตอร์ เราโดนหมดทุกอย่าง เขาแฮ็กสำเร็จไปรอบนึง แฮ็กการลงทะเบียนในมหาลัย และไปยื่นใบลาออกแทนผม หลังจากนั้นก็ตั้งรหัสจนแม้แต่ผมเองก็ยังจำไม่ได้เลย” นี่คือการคุกคามรูปแบบนึงที่เขาเจอ นอกจากนี้ยังมีการมาหน้าบ้าน มาติดตาม ตามไปที่ต่างๆ ตามไปถ่ายรูปที่ม็อบ ซึ่งขนุนก็เล่าว่าเขารู้ตัว และมักเดินไปทักเจ้าหน้าที่
ขณะที่ นิราภร อ่อนขาว นักศึกษาชั้นปี 3 ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ก่อนหน้านี้ทำงานในเบื้องหลัง ประสานงาน ไม่ได้ออกหน้าบนเวทีนั้น กลับเล่าว่า เธอตกใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัย เมื่อเห็นชื่อตัวเองในลิสต์ภัยความมั่นคง
“ค่อนข้างตกใจ เพราะว่าไม่เคยมีข่าวออกมาก่อนเลยว่า มีชื่อเราอยู่ในบัญชีความมั่นคง เราก็เห็นในสภาเลย ตอนนั้นรุ้ง (ปนัสยา) กำลังดูอภิปรายอยู่ก็รีบเซฟรูปแล้วส่งมาให้เราเลย” โดยเธอเล่าว่า ตัวเธอยังไม่เคยเจอการคุกคามแบบ IO แต่หากเป็นการคุกคามในชีวิตจริงนั้น เธอกับเพื่อนๆ เจอกันอยู่หลายครั้ง
“เราไม่ค่อยได้เล่นเฟซบุ๊ก ส่วนใหญ่จะเล่นทวิตเตอร์แล้วก็มีการปกปิดตัวตน เลยยังไม่เจอ IO มาป้วนเปี้ยนกับในเฟซส่วนตัว ส่วนเรื่องการคุกคาม เราอยู่กับเพื่อนเป็นกลุ่ม อยู่กันเป็นบ้านเช่า และบางทีเรารู้ว่าเราโดนตาม เป็นตำรวจ หรือนอกเครื่องแบบ ตรงหน้าปากซอยหมู่บ้านก็มีกล้องวงจรปิดของใครไม่รู้มาติดเต็มเลย ทั้งหน้าบ้าน หน้าหมู่บ้าน และยิ่งช่วงใกล้จะมีม็อบใหญ่ ก็จะมีรถตำรวจมาจอดรอทั้งวันทั้งคืน เพื่อรอดูการเคลื่อนไหวเลย” เธอเล่า
ด้านขวัญข้าวเอง ก็เล่าว่าในลิสต์นั้น ยังมีเพื่อนที่เขารู้จักอยู่ด้วย และในนั้นก็ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามเช่นกัน “คนที่อยู่ในลิสต์ที่อยู่ในขอนแก่นก็คือคนที่ออกหน้าเคลื่อนไหวบ่อย ก็เลยโดน และมีเหตุการณ์ที่ กอ.รมน.ไปตามพวกเขา 2 คนที่บ้าน น่าจะตามจากข้อมูลในลิสต์นี้ เขาโดนชุดสืบสวนตามถึงบ้านช่วงที่เจ้าเสด็จมาขอนแก่น แต่ของผมยังไม่เห็นการตามมาชัดเจน อาจจะมีแต่ผมไม่รู้ตัว”
IO ปฏิบัติการสะท้อนความกลัวของรัฐ
IO กลายเป็นเรื่องที่สังคมรู้จัก รับรู้ และเข้าใจ การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาเองก็มีการยกประเด็นเรื่องนี้มาตลอด แต่หลายปีที่ผ่านมา ปฏิบัตการเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ และยังใช้เงินภาษีของพวกเราอยู่ ซึ่งขนุนเองก็บอกกับเราว่าตัวเขาเอง เคยเจอ IO ตั้งแต่ 3 ปีก่อนแล้ว
“เมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว ตอนผมเป็นเด็ก ม.6 เคลื่อนไหวเกี่ยวกับการศึกษาแรกๆ ตอนนั้นผมก็โดน IO เล่นงานแล้ว เราก็ว้าวว่านี่หรอ IO ที่เขาพูดกัน”
ในครั้งแรกที่เขาเจอ IO เขาเป็นนักเรียน ม.6 ในตอนนี้เองในลิสต์ภัยความมั่นคง และการจับตานั้น ก็มีเยาวชน เด็กอายุสิบตอนปลาย และยี่สิบตอนต้นมากมาย ขนุนก็มองว่าที่มีคนรุ่นใหม่เยอะเช่นนี้ เพราะว่าความกลัว “เขากลัวทุกอย่าง จนต้องมีชื่อเด็กขนาดนั้นเลย กลัวถึงขั้นระดับว่าเด็กเป็นภัยความมั่นคง ส่วนตัวมองว่า เขามองว่าอนาคตของชาติเป็นศัตรูของเขา เพราะอนาคตของชาติเหล่านี้ต้องการก้าวข้ามสิ่งที่เน่าเฟะไปสู่สิ่งที่เขาอยากจะให้เป็น สิ่งที่ควรจะเป็นของประเทศนี้ เลยทำให้เขาอาจจะมีชื่อเสียงในวงการความมั่นคง”
“ทั้งการยังมีอยู่ของ IO มันเห็นได้ชัดคือรัฐไม่ได้เห็นหัวประชาชน ไม่ได้มองตัวเองว่าเป็นผู้ที่ต้องบริการประชาชน แต่มองว่าต้องควบคุมประชาชน มองไปอีกสเต็ปนึงในทัศนะของเผด็จการ เขาไม่ได้มองว่าต้องดูแลประชาชนยังไงให้กินอิ่มนอนหลับ แต่เขาดูว่าจะทำให้ประชาชนไม่พูดได้อย่างไร
หรืออีกอัน IO ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เรามองได้ว่าทำให้คนที่มีความคิดเข้าข้างรัฐบาลถูกใจว่ามีคนคิดเหมือนกัน ทำให้รู้สึกไม่เหงา ผมไม่ได้มองว่าคนกลุ่มนั้นป็นคนไม่ดีนะ แต่ตรรกะเขาบิดเบี้ยวว่ารัฐบาลดีอย่างนู้นอย่างนี้ อวยไม่ลืมหูลืมตา ว่าในความเป็นจริง คนกำลังตายข้างถนน ไม่มีข้าวกิน กำลังตกงาน คนเหล่านั้นก็มี IO ซัพพอร์ต ขยายเสียงเขาเหล่านี้ให้ใหญ่เกินความจริง ทั้งที่เสียงความเดือดร้อนตามโลกโซเชียลมีเยอะกว่า เพราะ IO มีหลายแอคเคาท์ มีเยอะแยะไปหมด คิดดูว่าถ้าคนนึง 20 แอคเคาท์ ทหารมีตั้งกี่คน วันนึงคอนเมนต์กันเท่าไหร่ ทั้งในสไลด์ของสภา ก็มีการให้รางวัลกันด้วย”
“มันสะท้อนหลายอย่างว่า การที่รัฐทำแบบนี้ ทำเหมือนประชาชนไม่ใช่ประชาชน ทำประชาชนเป็นคู่ขัดแย้ง”
การลดทอนคุณค่าการเรียกร้อง ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ขนุนพูดถึง IO
“ปฏิบัติการแบบนี้มันคือขบวนการลดคุณค่าของการเรียกร้อง ไม่ว่าจะบอกว่าม็อบรับจ้าง ม็อบสามกีบ เอาตังค์ทักษิณมาใช้ ทุกวันนี้ผมยังไม่ได้เลย แถมในการอภิปรายก็บอกว่ามีให้รางวัล IO ดีเด่น ก็งงนะ ว่างบประมาณตรงนี้มันเยอะมาก สามารถช่วยประชาชนที่กำลังได้รับผลกระทบจากโควิดได้ทั่วถึง แต่เอางบมาลงทุน IO และมีการโกงเบี้ยเลี้ยงด้วย ขนาดเป็นทหารด้วยกันเอง ยังกดขี่กันเองเลย แล้วประชาชนอย่างเราจะโดนขูดรีดขนาดไหน”
ด้านขวัญข้าวเองก็บอกกับเราเช่นกันว่า การยังมีอยู่ของ IO และปฏิบัติการนี้สะท้อนวิธีการมองประชาชนของรัฐ
“ส่วนตัวยังไม่เคยโดน IO แต่เพจในเฟซบุ๊กโดนเยอะ เช่น ในเพจภาคีนักเรียน KKC มีอวตารมาเยอะอยู่ ก็แสดงความคิดเห็นแบบด่าๆ เด็กขายชาติ ไม่รักชาติ พ่อแม่ไม่สั่งสอน พอเห็นปุ๊ปก็ดูออกว่าเป็น IO เราก็เข้าไปส่องดูบ้าง มันก็ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรในเฟซบุ๊กเขา ไม่ได้มีประวัติไทม์ไลน์ แล้วก็มีหลายๆ คอมเมนต์ เราก็คิดว่าเป็น IO”
“ผมคิดว่าเราไม่ควรจะโดนอะไรแบบนี้ แค่เพราะเราเห็นต่าง ในประเทศเราไม่ควรมีใครโดนปฏิบัติการทางทหารแบบนี้ด้วยซ้ำไป ก่อนหน้านี้ที่ผมคุยกับนักวิชาการเขาก็บอกว่ามันเป็นปฏิบัติการของทหาร ที่ใช้หลักการวิธีคิดคือมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู แต่ปัญหาคือเขาเอาวิธีคิดนี้มาใช้กับเราซึ่งเป็นประชาชน ซึ่งเขาจะมองประชาชนเป็นศัตรูไม่ได้
การคิดของ IO มันเป็นความคิดที่มีมานานแล้ว เป็นความคิดทหารที่มันทำให้ถูกมองเป็นศัตรูของรัฐ ศัตรูของชาติ แต่เราไม่ได้เป็นศัตรูของชาติ เราแค่ต้องการให้ประเทศชาติมันดีขึ้นเฉยๆ แค่คิดต่าง เราต้องการแก้ปัญหา”
ไม่เพียงแค่มุมที่รัฐมองประชาชน นิราภรยังบอกกับเราว่า การมี IO นั้นก็สะท้อนตัวรัฐเองด้วย ว่าเป็นรัฐที่หลอกลวง
“แทบทุกเพจเลย ไม่ใช่แค่เพจแนวร่วมฯ ไม่ว่าเพจประชาธิปไตยไหน หรือนักเคลื่อนไหวคนไหนที่เป็น Public speaker เวลาเขาออกมาพูดอะไร เราจะเจอ IO อย่างสลิ่มเรายังพอดูออก คนไหนเป็นสลิ่มจริง มีตัวตนจริง เราไม่ว่านะ เรารู้สึกว่าเขามีสิทธิแสดงความคิดเห็นได้ แม้ว่าเขาจะเป็นสลิ่มก็ตาม แต่ IO เราไม่พอใจมากๆ คำพูดเขาดูออกว่าเป็นแพทเทิร์น”
“มันสะท้อนมากว่า เป็นรัฐที่พยายามจะหลอกหลอนผู้คนด้วยการสร้างข่าวลือ ปกปิด บิดเบือนความจริง เป็นรัฐแห่งความหลอกลวง เพราะเราพูดความจริง แต่รัฐก็พยายามลดทอนสารทุกอย่าง เรามองว่ามันค่อนข้างล้มเหลว และเรารู้สึกว่ารัฐทุ่มเทกับตรงนี้มาก กลัวความจริงจริงๆ เพราะ IO เราไล่แบนเท่าไหร่ก็ไม่หมด ไล่รีพอร์ตเท่าไหร่ก็กลับมาอีก”
ความมั่นคงของใคร ? และความปลอดภัยที่หายไปเมื่อมีชื่อในลิสต์ของนักกิจกรรม
เมื่อมีลิสต์นี้ปรากฎ คำถามที่เกิดขึ้นคือ ความมั่นคงของรัฐคืออะไร ถึงต้องจัดชื่อคนเหล่านี้ว่าเป็นภัย ซึ่งนิราภรก็บอกกับเราว่า ในมุมมองเธอ คือแค่ความมั่นคงของชนชั้นบน เพราะซึ่งที่เธอและเพื่อนทำ แค่เพื่อให้อนาคตประเทศดีกว่านี้
“รัฐกำลังตัดอนาคตตัวเอง นักเรียนนักศึกษาหลายๆ คนที่อยู่ในนั้น เราก็เคยคุย แล้วก็รู้จักด้วย หลายคนก็เป็นนักเคลื่อนไหวเหมือนกับเรา เรารู้สึกว่าพวกเขาก็ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้ประเทศมันดีขึ้น ให้ประเทศไปต่อได้ อยากให้ประเทศมีอนาคต เรารู้สึกว่าการที่รัฐเอาเขามาจับจ้อง จ้องดำเนินคดี มันเป็นเหมือนการตัดถ่วงประเทศตัวเอง ยิ่งทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่รู้สึกหมดหวังกับประเทศ ยิ่งหมดหวังเข้าไปใหญ่ แล้วมันก็ไม่ส่งผลดีต่อใครเลย นอกจากเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตนเองเท่านั้น”
ขวัญข้าวเองก็ตั้งคำถาม ถึงลิสต์นี้เช่นกัน ว่าทำไมรัฐต้องกลัวเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ขนาดนี้ด้วย “มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ต่างประเทศก็ไม่มีเหตุการณ์ที่มองเด็กเป็นภัยความมั่นคงของชาติ หรือใน watchlist ที่มันออกมาก่อนหน้านี้ มันก็มีเด็ก เยาวชนที่ต่ำกว่า 18 ปี รัฐจะกลัวอะไรขนาดนั้น เรารู้สึกว่าเยาวชนไม่ได้เป็นภัยคุกคามขนาดนั้น ถ้าเป็นเรื่องก่อการร้าย มีอาวุธก็ว่าไปอย่าง แต่นี่มันแค่เด็กที่เห็นต่างกับสิ่งที่เขาทำเท่านั้นเอง”
“เราไปสั่นคลอนอำนาจของเขา” นี่คือคำตอบถึงความมั่นคงในมุมมองของขนุน
“อำนาจในการบริหาร อำนาจที่ทำให้หลายๆ คนโดนคดี ม.112 จนเขาไม่แน่ใจว่าเขาจะรักษาสิ่งนั้นได้อีกหรือไม่ เขาเลยจัดทำสิ่งนี้ขึ้น เพื่อล็อกคนไว้เลย ไม่ให้คนเหล่านั้นไปอ้าง หรือมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนอื่น แต่สำหรับมองว่าทำไม่ได้หรอก อย่างพี่กวิ้นโดนจับ ก็จับได้แค่ตัว เพราะทุกคนรู้หมดแล้วว่าอุดมการณ์เขาคืออะไร ใจเขายังอยู่ข้างนอก ถึงตัวจะอยู่ข้างใน สุดท้ายสิ่งที่เขาทำได้ก็คือการลิสต์รายชื่อ แล้วมานั่งโง่ๆ หน้าบ้านผม แล้วก็กลับไป ไม่มีประโยขน์อะไร”
ขนุนยังมองอีกว่า รายชื่อที่ปรากฎในสภานั้นน่าจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น “ผมว่ามันมีความแตกต่างจากสมัยก่อน สมัยก่อนตัวละครน้อยกว่านี้เยอะ ปัจจุบันเป็นหน้าใหม่ๆ หมดเลย เรารู้อยู่ว่าเขามีการทำรายชื่อ ทำฐานข้อมูลว่าใครเป็นใคร ใครจะขึ้นมาเด่น การที่รายชื่อหลุดออกมา 45 รายชื่อ ผมว่าอันนี้ยังไม่ใช่ตัวเต็ม เพราะมันแยกเป็นหน่วยๆ ในการติดตาม ผมว่าตัวเต็มน่าจะมีระดับซูเปอร์พรีเมียมอีก เพราะในนี้เรายังไม่เห็นชื่อพี่อานนท์ หรือหลายๆ คน ดังนั้นน่าจะมียิ่งกว่านี้”
ในลิสต์นี้เองยังไม่ได้มีแค่ชื่อของนิราภร แต่ชื่อเพื่อนๆ ของเธอก็ปรากฎร่วมกันในลิสต์นี้ด้วย เราจึงถามว่าเธอและเพื่อนๆ ได้พูดคุยกันเรื่องนี้ยังไงบ้าง “เราคุยกับเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน คือเพื่อนแนวร่วมฯ มันก็ค่อนข้างดาร์กนะ เพราะพอทุกคนรู้ว่าตัวเองมีชื่อ ก็ทำสีหน้าแบบอืมๆ ไม่ได้แปลกใจ ไม่ได้ตกใจไปมากกว่าเดิม เพราะรู้สึกว่าชีวิตที่อยู่ทุกวันนี้ก็ไม่ได้ปลอดภัยอยู่แล้ว มันไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายของพวกเราเท่าไหร่ เพราะปกติมันคุกคามเรามันก็หนักจริงๆ ยิ่งช่วงมีม็อบ รู้หมดว่าเราอยู่ไหน”
เธอเล่าว่า เธอเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยตั้งแต่ช่วงม็อบใหญ่ของแนวร่วมธรรมศาสตร์ที่สนามหลวง “ช่วงม็อบใหญ่ปีที่แล้ว ตอนวันที่ 19-20 กันยา เราเป็นคนประสานงาน เราก็จะให้เบอร์เราในการคุยกับคนนู้นคนนี้ ตอนนั้นคนขับรถบรรทุกใหญ่ที่ใช้ขนของโดนตำรวจดัก แล้วตำรวจพยายามเค้นเอาเบอร์ผู้ติดต่องานไป ซึ่งคือเบอร์เรา เราก็พอจะรู้ว่าเบอร์เราไม่ปลอดภัย ตัวเราก็ไม่ปลอดภัย และชื่อเราเป็นคนเปิดบัญชีบริจาคของแนวร่วมฯ เราก็รู้เลยว่าเราไม่ได้ปลอดภัยแต่แรก”
“ตั้งแต่เคลื่อนไหวมาเราก็รับมือกับความไม่ปลอดภัยทั้งชีวิตจริง และโลกออนไลน์” นักศึกษาวัย 20 ปีเล่า
ที่ผ่านมานิราภรเองยังไม่ถูกคุกคามในรูปแบบการดำเนินคดีใดๆ แต่เธอก็พูดกับเราถึงความไม่ปลอดภัยยิ่งพอเห็นรายชื่อตัวเอง ก็รู้สึกว่าถ้าเกิดการรัฐประหารขึ้นมา ตัวเธอจะต้องโดนอะไรแน่ และการดำเนินคดี หรือมีลิสต์นี้ยิ่งชี้ชัดว่าประเทศไม่ได้เป็นประชาธิปไตย
“รัฐที่ชอบอ้างตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย ว่าจัดเลือกตั้งให้แล้ว แต่พอมีเด็กนักศึกษาที่ออกมาใช้สิทธิเรียกร้องของตัวเอง กลับต้องเข้าไปอยู่ในการติดตาม ถูกลดทอน ถูกคุกคาม และสกัดขนาดนี้ และคุณกล้าเรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยได้ยังไง คุณไม่ควรมีข้ออ้างแล้วว่าเป็นรัฐที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย สมเพชรัฐด้วย และโกรธด้วยว่าทำไมเรา และเพื่อนๆ เราต้องมาเจออะไรแบบนี้”
ขณะที่ขวัญข้าว และขนุน สิรภพเอง ได้รับหมายเรียก โดยหมายที่ขวัญข้าวได้รับคือ คดีฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน, พรบ.โรคติดต่อ, พรบ.ความสะอาด ซึ่งก็อยู่ในกระบวนการรอไปตามหมายเรียกของตำรวจ ขณะที่ขนุน นอกจากหมายแล้ว เขายังถูกสั่งฟ้องในคดี ม.112 และเข้าไปอยู่ในเรือนจำมาแล้ว ก่อนได้รับการประกันตัว โดยเขาก็มองว่าการคุกคามโดยดำเนินคดี ก็เป็นอีกวิธีที่รัฐพยายามจัดการ
“คดีตอนนี้รอไปไตร่สวนมกราคมปีหน้า ที่ชัดเจนคือตอนที่ติดคุกตอนนั้น มันแสดงให้เห็นว่าเป็นการข่มขู่ ว่าถ้าพูดก็เข้าไปอยู่ในนั้น ไม่ใช่แค่เชือดไก่ให้ลิงดู แต่ให้เข้าไปดูเลย แล้วค่อยทำแผลให้ ว่าถ้าพูดอีก จะโดนอีก ไม่ใช่แค่ผม พวกพี่อานนท์ หรือใครก็โดน มันเป็นยุทธวิธีของเขาที่ใช้มาตลอด แค่ตอนนี้ใช้กับแทบทุกคน ในทุกคดี หรือไม่คดีที่ นักศึกษา มช. โดยก็มีเงื่อนไขที่มากกว่าทุกคนเลยคือ ห้ามชุมนุม
สำหรับผม ผมก็ยังอยากอยู่ข้างนอกเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป ไม่ได้บอกว่าผมยอมที่จะไม่พูด คือผมไม่พูดก็ได้ แต่ผมยังได้เคลื่อนไหวอย่างอื่นข้างนอก เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่ผมพูด คนอื่นก็พูดอยู่ดี ถึงแกนนำไม่พูด คนบนถนน ในม็อบ ก็พูดกันเป็นปกติ เนื้อหาบนเวทีไม่พูด คนที่ตะโกนด่าก็คือคนที่อยู่บนถนน ตอนนี้แมสเซจตลอด 1 ปีตั้งแต่ในวันที่ธรรมศาสตร์พูด 10 ข้อเรียกร้อง มันอยู่ในใจทุกคนอยู่แล้ว เราเลยไม่จำเป็นต้องพูดขนาดนั้น แค่ทุกวันนี้เราจำเป็นต้องพูดเพื่อเป็นการตอกย้ำสิ่งที่เรากำลังขับเคลื่อนอยู่”
สุดท้ายเราถามทั้ง 3 คน ว่าอยากจะบอกอะไรกับผู้มีอำนาจที่ดูแลลิสต์ภัยความมั่นคง IO และปฏิบัติการติดตามความเคลื่อนไหว ซึ่งพวกเขาก็บอกกับเราว่า
“เอางบประมาณส่วนนั้นไปช่วยประชาชนเถอะ” – ขนุน สิรภพ
“ควรจะยุบหน่วยงานพวกนี้ ไม่ควรมีปฏิบัติการณ์แบบนี้ ทำลายข้อมูลหลักฐาน เพราะผมรู้สึกไม่สบายใจ มันมีข้อมูลส่วนตัว ที่อยู่ ทุกอย่างครบ” – ขวัญข้าว
“เราไม่เข้าใจว่าการที่เราออกไปพูด ออกไปชูป้าย ออกไปแสดงออกมันเป็นภัยความมั่นคงของรัฐยังไง ถ้าภัยความมั่นคงของคุณมันแประบางขนาดที่เราพูดความจริงแล้วมันจะล้ม ก็ควรจะรู้ไหมว่าสังคมไม่ได้ยึดติดกับสิ่งเก่าอีกต่อไปแล้ว แล้วประเทศชิบหายขนาดนี้อย่าเอาเงินภาษีเราไปทำอะไรไร้สาระแบบนี้อีก” – นิราภร