“เรื่องแค่นี้เอง ช่วยพี่หน่อยไม่ได้เหรอ”
ประโยคที่น่ากลัวยิ่งกว่าเรื่องสยองเรื่องไหน เพราะจะปฏิเสธไม่ได้ แต่จะรับงานมาทำก็หนักเกินไป ไม่ใช่หน้าที่ที่คุยกันไว้ตั้งแต่แรกสักหน่อย
ไม่ว่าใครก็ต้องอยากเลื่อนขั้นแล้วได้เงินเดือนเพิ่มแบบก้าวกระโดดอยู่แล้ว ท่ามกลางกระแสของ ‘ความเงียบ’ ไม่ว่าจะเป็น Quiet Quitting ที่พนักงานคนหนึ่งที่หมดไฟและทำงานไปให้พอไม่โดนด่าเหมือนกับลาออกไปอย่างเงียบๆ หรือจะเป็น Quiet Firing ที่องค์กรบีบให้พนักงานลาออกไปเองเงียบๆ เพื่อที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ตอนนี้ยังมี Quiet Promotion พฤติกรรมจากนายจ้างที่เพิ่มหน้าที่ให้พนักงานแบบเงียบๆ โดยไม่มีเงินส่วนเพิ่ม
ช่วยกันหน่อยนะ เรื่องแค่นี้เอง
พอเริ่มต้นไตรมาสใหม่ที พี่หัวหน้าคนดีก็ขอนัดประชุมกำหนดทิศทางทีมใหม่ที (เป็นรอบที่ 2,389 ของปีนี้) แล้วสิ่งที่มักจะมากับการกำหนดทิศทางใหม่มักจะเป็น ‘หน้าที่’ เพิ่มเติมทั้งที่ของเดิมก็หนักไม่ไหวแล้ว แต่พอถามเรื่องตำแหน่งกับเงินเดือน อ้าว เหมือนเดิมนี่นา แบบนี้เอาเปรียบกันรึเปล่านะ
เป็นพนักงานธรรมดาอยู่ดีๆ ก็มีหน้าที่รับผิดชอบใหม่พุ่งเข้ามาชน จนถ้าถามว่าตอนนี้ทำตำแหน่งอะไร ก็แทบจะตอบได้ว่าเป็นผู้บริหารแล้ว แต่ในนามบัตรยังเป็นตำแหน่งเดิมอยู่นะ ไหนยังมีคนในทีมที่เพิ่งลาออกไปอีก ก็ต้องมานั่งทำงานแทนในส่วนของเขาก่อน จนกว่าจะมีคนใหม่เข้ามา
เคลลี่ เมสัน (Kelly Mason) ผู้ร่วมก่อตั้ง JobSage ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า สัญญาณที่อาจบ่งบอกได้ว่าเรากำลังโดน Quiet Promotion มีอยู่ 3 อย่างที่ต้องสังเกต ข้อแรกคือเราถูกสั่งงานของตำแหน่งที่อยู่เหนือกว่าตัวเองให้ ข้อถัดมาคือเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนรอบข้างที่ตำแหน่งอยู่ระดับเดียวกันแล้ว ปริมาณงานของเรามากกว่าเขาเยอะ และข้อสุดท้ายคือเมื่อมีคนลาออกไป เราต้องมานั่งทำงานแทนในส่วนของเขา ระหว่างที่รอหาคนใหม่ (ซึ่งไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่)
จากการสำรวจโดย JobSage พบว่า 78% ของพนักงานบริษัทในสหรัฐฯ เคยพบเจอกับการเพิ่มหน้าที่โดยไม่เพิ่มส่วนต่างเงินเดือน และ 57% กล่าวว่าพวกเขารู้สึกเหมือนถูกเอาเปรียบโดยนายจ้าง ซึ่งสายงานที่เจอพฤติกรรมจากนายจ้างแบบนี้มากที่สุดคือสายงานศิลปะ รองลงมาคือสายงานโรงแรม และสายงานบริหารด้านอาหาร
เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย
หน้าที่เพิ่มเติมมักจะมาพร้อมกับเหตุผลประมาณว่า “พี่ให้งานเพิ่มเพราะอยากให้เราได้พัฒนาตัวเองไง” แต่ก็เป็นประโยคที่น่าตั้งคำถาม เพราะการพัฒนาตัวเองในที่ทำงานนั้นมีหลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทำโปรเจ็กต์พิเศษ (ที่ยังอยู่ในขอบเขตการทำงานที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก) หรือการส่งไปอบรมเพิ่มทักษะ แต่ไม่ใช่การทำงานนอกเหนือจากความมอบหมายแน่
ในเมื่อมันไม่มีค่าตอบแทนส่วนเพิ่ม ใครจะอยากทำงานให้? ทุกคนเข้ามาทำงานก็หวังค่าตอบแทนทั้งนั้น ถ้าความมั่นคงทางด้านการเงินยังไม่ได้สำเร็จดีขนาดนั้น เราคงไม่สามารถโฟกัสกับการพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มที่
บอนนี่ ดิลเบอร์ (Bonnie Dilber) ผู้จัดการทรัพยากรบุคคลผู้จุดประเด็นเรื่องวัฒนธรรม Quiet Qutting ก็ได้ออกมาให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกัน โดยเธอกล่าวว่า Quiet Promotion ไม่ได้ส่งผลเสียให้กับพนักงานอย่างเดียวที่ต้องแบกรับงานเกินตัว แต่ยังส่งผลเสียกับนายจ้างด้วย เพราะองค์กรอาจจะเสียทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถให้กับคู่แข่งจากการ ‘เสียน้อยเสียยาก’ ครั้งนี้
ลุกขึ้นสู้เพื่อตัวเอง
อย่าปล่อยให้หัวหน้าเคยชินกับคำว่า ‘ได้ค่ะ’ ของเรา แม้เราจะตอบแบบนั้นไปเพราะไม่มีทางเลือกอื่นแล้วก็ตาม การที่เขาชินกับการโยนงานที่ไม่ใช่ของเรามาให้ แล้วเราก็ยอมทำ จะเริ่มสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เป็นพิษ สร้างความคาดหวังแบบผิดๆ ว่าพนักงานทุกคนพร้อมจะทำงานส่วนเพิ่มเสมอ ลุกลามไปถึงการสร้างวัฒนธรรม ‘งานด่วน’ ที่ถ้ามาคอมโบกันจะยิ่งเลวร้ายจนเบิร์นเอาต์เป็นเถ้าถ่าน
เพราะ Quiet Promotion สามารถนำไปสู่ Quiet Quitting ได้ เมื่อเราโดนโยนงานเพิ่มจนล้าไปหมด ไม่ว่าจะงานอะไรก็ทำออกมาได้ไม่ดี และเริ่มคิดว่า ทำงานให้มันพอดีกับเงินเดือนที่ได้รับเถอะ จากคนมีไฟในการทำงาน ทำงานได้เร็ว ทำงานได้ดี ก็กลายเป็นคนที่ทำงานให้มันจบไป รางวัลของคนทำงานเร็วคือการได้งานเพิ่มหรือยังไง?
ย้อนกลับไปที่ผลสำรวจของ JobSage อีกครั้ง มีข้อหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าองค์กรทั่วสหรัฐฯ กว่า 63% จะประสบกับความยากลำบาก หากพนักงานปฏิเสธที่จะทำหน้าที่ส่วนเพิ่ม ซึ่งนี่น่าจะเป็นจุดที่เราจะสามารถสวนกลับพฤติกรรมของนายจ้างได้ แต่ผลสำรวจก็ยังมีเรื่องที่น่าเศร้า คือมีพนักงานเพียงแค่ 22% เท่านั้นที่จะตอบโต้กลับโดยการปฏิเสธงานส่วนเพิ่ม
ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำอีกว่าถ้าเราเป็นพนักงานที่เจอกับเรื่องแบบนี้ ต้องกล้าพูด กล้าถาม ในอนาคตจะมีคนมาทำหน้าที่นี้ไหม? จะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่กว่าเขาจะมา? เพราะตอนแรกไม่ได้ตกลงกับเราไว้ว่าเป็นแบบนี้ แต่ถ้าคำตอบของหัวหน้าเป็นไปในทางว่า ไม่น่าจะมีใครมาทำหน้าที่นี้แล้ว หน้าที่นี้เป็นของเรา ก็ไม่ผิดที่จะขอคุยด้วยและบอกว่าสิ่งนี้ไม่แฟร์เลย อย่างน้อยหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นก็ต้องมีค่าตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อ หรือพิจารณาเลื่อนตำแหน่งกันหน่อย
ถ้าเขาไม่เคยคิดที่จะเกรงใจเรา แล้วเรามัวเกรงใจอะไรอยู่?
อ้างอิงจาก