การตัดสินใจ come out หรือออกมาเปิดเผยตัวตนกับคนรอบข้างมักจะตามมาด้วยความรู้สึกหนักอึ้งที่หลายคนต้องแบกรับ ทั้งความกังวลว่าคนรอบข้างจะรับได้ไหม ความสัมพันธ์จะเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า
ถ้าให้ลองนึกภาพคนมีชื่อเสียง หรือ CEO บริษัทใหญ่ๆ แน่นอนว่าการ come out คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาจต้องแลกมาด้วยหน้าที่การงาน ไปจนถึงภาพลักษณ์ของบริษัทในสายตาของผู้คนและประเทศที่ยังไม่เปิดรับเรื่องนี้
แต่ก็มีซีอีโอหลายคนที่ออกมาเปิดเผยว่าเป็น LGBTQ พร้อมกับเป็นกระบอกเสียงว่าการ come out ไม่ควรต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม เพราะนั่นคือตัวตนที่เราควรจะภูมิใจและไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิดเลยแม้แต่น้อย ซึ่งต่อไปนี้คือเรื่องราวของ 5 CEO ที่ออกมา come out ว่าพวกเขาคือหนึ่งใน LGBTQ
ทิม คุก (Tim Cook) – Apple
ย้อนไปก่อนปี ค.ศ.2014 ทิม คุก (Tim Cook) ซีอีโอของ Apple ไม่เคยปิดบังคนในบริษัทว่าเขาเป็นเกย์ แต่ก็ไม่เคยออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งวันหนึ่ง … ทิมได้รับข้อความจากเด็กๆ ที่เป็น LGBTQ
“บางคนมีความคิดจะฆ่าตัวตาย บางคนถูกพ่อแม่และครอบครัวผลักไส พอมาชั่งน้ำหนักดูแล้วสิ่งที่ผมทำได้ แน่นอนว่าคงไม่ใช่การเข้าพูดคุยกับเด็กๆ ทีละคนเป็นการส่วนตัว”
ทิมเลยตัดสินใจเขียนจะหมายเปิดผนึกตีพิมพ์ใน Bloomberg Businessweek เมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2014
“ถ้าการได้ยินว่า CEO ของ Apple เป็นเกย์สามารถช่วยให้คนที่เผชิญกับปัญหาไม่รู้ว่าจะนิยามตัวเองยังไง หรือปลอบโยนใครก็ตามที่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนเลือกยืนหยัดในความเสมอภาค มันก็คุ้มค่าที่จะแลกด้วยความเป็นส่วนตัวของผม” ทิมเล่าในจดหมายเปิดผนึกฉบับนั้น “ผมภูมิใจที่เป็นเกย์ และมองว่าการเป็นเกย์คือหนึ่งในของขวัญอำล้ำค่าที่พระเจ้ามอบให้กับผม” ซึ่งของขวัญอันล้ำค่าที่ว่านี้ คือ การเข้าใจความรู้สึกของการเป็นคนส่วนน้อย (minority) ในสังคมและทำให้เขาเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ ได้มากขึ้น
ทิมเล่าว่าเขาโชคดีที่ได้เป็น CEO ของบริษัทที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ทั้งการสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติความเท่าเทียมในที่ทำงาน การสมรสเท่าเทียมในรัฐแคลิฟอร์เนียและยังคงยืนหยัดต่อสู้สิ่งเหล่านี้ต่อไป
การที่ ทิม คุก ออกมาประกาศตัวในปี ค.ศ. 2014 นอกจากจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มเพศหลากหลายแล้ว เรื่องราวของเขายังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนถัดไปที่เรากำลังจะเล่าถึงอีกด้วย
จิม ฟิตเทอร์ลิง (Jim Fitterling) – Dow Chemical Company
ข้อความของ ทิม คุก ใน Bloomberg Businessweek และการรอดชีวิตจากมะเร็งระยะที่ 4 ของ จิม ฟิตเทอร์ลิง (Jim Fitterling) ทำให้เขาตัดสินใจออกมา come out ในปี ค.ศ. 2014 โดยเปิดเผยเรื่องนี้ระหว่างการประชุมในบริษัท
“การรอดชีวิตครั้งนั้น ทำให้การออกมา come out ไม่ได้ดูเลวร้ายสำหรับผม” จิมกล่าว “ก่อน come out ผมคำนวณความเสี่ยงและผลตอบรับในหัว มันง่ายที่เราจะสร้างความกลัวในใจตัวเองโดยอิงจากสิ่งรอบตัวที่เคยเห็นและได้ยินว่าคุณจะถูกมองหรือถูกยอมรับยังไง แต่ปฏิกิริยาของคนในบริษัทเป็นไปในเชิงบวกและมีด้านลบอยู่น้อยมาก”
หลังออกมาเปิดเผยตัวตนและได้รับตำแหน่ง CEO เขาเริ่มแต่งตั้ง Chief Inclusion Officer (CIO) คนแรกของบริษัท เพื่อรายงานข้อมูลด้านความหลากหลายในบริษัทให้กับเขาโดยตรง “เราต้องมั่นใจได้ว่าไม่มีใครกลัวที่จะเป็นตัวเอง เมื่อพวกเขาอยู่ในที่ทำงาน” จิมให้สัมภาษณ์กับ catalyst.org
“ผมได้เรียนรู้จาก เคนจิ โยชิโนะ (Kenji Yoshino) นักวิชาการด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กว่า คุณควรมองบริษัทตัวเองเหมือนสถานทูต คุณอาจทำงานในประเทศที่ไม่ยอมรับการเป็นเกย์เลย แต่ถ้าพนักงานต้องมาทำงานในบริษัทคุณทุกวัน คุณคงอยากให้พวกเขาปลอดภัย ไม่ว่าโลกภายนอกจะเป็นยังไงก็ตาม”
เบธ ฟอร์ด (Beth Ford) – Land O’Lakes
เบธ ฟอร์ด (Beth Ford) คือ CEO ของ Land O’Lakes, Inc. บริษัทผลิตอาหารและธุรกิจการเกษตรที่ติดอันดับ Fortune 500 แต่สิ่งที่ฟอร์ดต่างไปจากซีอีโอสองคนแรก คือ เธอเปิดเผยว่าตัวเองเป็น LGBTQ มาตั้งแต่ก่อนได้รับตำแหน่ง
“ฉันตัดสินใจมานานแล้วว่าจะใช้ชีวิตโดยไม่ปิดบังตัวตนของฉัน และถ้าการถูกแต่งตั้งให้เป็น CEO ช่วยให้คนอื่นๆ ทำแบบเดียวกันได้ คงเป็นช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมมากเลยล่ะ” เธอบอกกับ CNN
จากการสำรวจของ Human Rights Campaign พบว่าครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันไม่กล้า come out หรือบางคนที่เคยออกมา come out ในช่วงวัยเรียนหรือในชีวิตส่วนตัว กลับเลือกที่จะปิดบังเรื่องนี้จากที่ทำงาน ดังนั้นเรื่องราวของ เบธ ฟอร์ด จึงเป็นมากกว่าชื่อของ CEO ที่กล้าเปิดเผยตัวตนมาตั้งแต่ต้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจและความมั่นใจให้กับผู้คนในวัยทำงานหลายคนอีกด้วย
“ฉันคิดว่ามันคงยากจริงๆ ถ้าคุณอยู่ท่ามกลางสังคมที่ไม่อนุญาตให้เป็นตัวเองได้ แค่ทำงานก็ยากแล้ว และถ้าคุณไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ มันก็จะยิ่งยากอย่างเหลือเชื่อเลย” ฟอร์ดกล่าวในบทสัมภาษณ์กับ Fortune
อลัน จอยซ์ (Alan Joyce) – Qantas Airlines
อลัน จอยซ์ (Alan Joyce) คือ CEO ของ Qantas Airlines ที่ออกมาผลักดันและชวนบริษัทนับพันให้โหวตสนับสนุนการจดทะเบียนสมรสของเพศเดียวกันในประเทศออสเตรเลีย
เช่นเดียวกับ ทิม คุก อลันไม่ได้อยากออกมา come out เพื่อให้ผู้คนรู้จักเขาในฐานะซีอีโอที่เป็นเกย์ แต่เขามองว่าการออกมาประกาศตัวให้สังคมรับรู้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้คนมากกว่า
“แม้คุณจะคิดว่าประเทศนี้ <ออสเตรเลีย> ก้าวหน้าไปมาก แต่โดยทั่วไปในระดับโลก มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เข้ามาหาผมและพูดคุยถึงปัญหา <การเหยียดเพศ> ที่พวกเขาเจอในอาชีพการงาน บางคนเดินเข้ามาหาผมและบอกว่าพวกเขาเกือบจะฆ่าตัวตายแล้ว พวกเขากำลังมองหาแรงบันดาลใจ แล้วก็ได้รับรู้เรื่องราวของผม ซึ่งพวกเขารู้สึกยังมีความหวัง คุณสามารถมีงานทำได้ คุณสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ และนั่นเป็นแรงบันดาลใจให้กับผมมากเช่นกัน … ผมไม่รู้มาก่อนเลยว่าเรื่องราวของตัวเองจะส่งผลต่อชีวิตของผู้คนได้แบบนั้น”
ซาราห์ เคต เอลลิส (Sarah Kate Ellis) – GLAAD
ส่วนคนสุดท้าย คือ ซาราห์ เคต เอลลิส (Sarah Kate Ellis) ที่นอกจากจะก้าวข้ามบาดแผลจากการ come out กับครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน เธอยังกลายเป็นผู้บริหารขององค์กรสนับสนุน LGBTQ ระดับโลกอย่าง ‘GLAAD’ ในปี ค.ศ.2014 อีกด้วย
ย้อนไปสมัยเอลลิสยังเด็ก ในทีวีแทบไม่ปรากฏให้เห็นเพศที่หลากหลายไปกว่าชายและหญิง เธอไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเลสเบี้ยนจนถึงช่วงมหาวิทยาลัย ซึ่งหลัง come out กับครอบครัว แม่ของเอลลิสร้องไห้ ครอบครัวของเธอใช้เวลาทำใจค่อนข้างนานกว่าจะกลายเป็นครอบครัวที่สนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่เอลลิสก็เข้าใจได้ว่ายุคสมัยนั้น LGBTQ ไม่ใช่ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากเท่าไร
แม้ครอบครัวจะเริ่มยอมรับได้ แต่เธอยังคงกลัวการเปิดเผยตัวตนในที่ทำงาน แม้จะประสบความสำเร็จในฐานะผู้บริหารนิตยสารชั้นนำ เช่น Real Simple, InStyle และ Vogue เอลลิสพยายามเลี่ยงการพูดถึงชีวิตส่วนตัวให้มากที่สุด จนกระทั่งปี ค.ศ.2001 ที่เธอเริ่มรู้สึกว่า
“ฉันคงไม่สามารถก้าวหน้าในอาชีพการงานได้ ถ้าไม่จริงใจกับตัวเอง เพราะคุณจะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำได้ยังไง ถ้าคุณไม่เป็นตัวของตัวเองก่อน? คงไม่มีใครจะเชื่อใจคุณได้ นั่นคือความคิดของฉันในเรื่องนี้”
มื้อเย็นวันหนึ่ง ขณะที่เธอนั่งร่วมโต๊ะกับเพื่อนที่ทำงาน ใครคนหนึ่งถามเอลลิสขึ้นมาว่า “เธอมีแฟนหนุ่มแล้วหรือยัง?” เอลลิสตัดสินใจรวบรวมความกล้าบอกทุกคนไปว่าเธอมีแฟนสาวคนหนึ่ง พร้อมกับเล่าเรื่องราวของตัวเองอย่างเปิดเผย …
แม้ว่าการตอบรับของเพื่อนร่วมงานอาจจะไม่ได้ดีแบบ 100% เพราะช่วงเวลานั้นความเข้าใจและการตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศอาจจะยังไม่แพร่หลายอย่างในปัจจุบัน แต่เธอก็ไม่เคยเสียใจที่วันนั้นได้ยกภูเขาลูกใหญ่ออกจากอก
“มันเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดที่ฉันเคยทำมา เพราะนับเป็นการเปิดเผยอย่างแท้จริงว่าฉันคือใครบนโลกใบนี้” เอลลิสกล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan