Pride Month ถือกำเนิดขึ้นหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ จลาจลที่ของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ณ วันที่ 28 มิถุนายน 1969 ที่บาร์ Stonewall Inn จนทำให้โลกนี้ได้เห็นถึงพลังของคนที่ต้องการความเท่าเทียมให้กับคนทุกกลุ่มและความรักทุกรูปแบบ
และในเดือนนี้ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศตามเมืองใหญ่หลายแห่งทั่วโลกก็จัดงาน pride เพื่อแสดงพลังว่าพวกเขายังต่อสู้กับการกดขี่อำนาจต่างๆ และยังช่วยแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับกลุ่มคน LGBTQ ให้กับคนที่ยังไม่เข้าใจเรื่องนี้ถ่องแท้นัก
ในงาน pride ก็มักจะมีการเปิดเพลงกลุ่ม ‘Pride Anthem’ ที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นทำนองสนุกสนาน มีนักร้องเป็นผู้หญิงแต่งตัวฉูดฉาด หรือมีท่าเต้นเด็ดๆ เนื้อหามักเกี่ยวกับรักที่ขมๆ หรือล้มเหลว แถมตัวเพลงยังเปิดบ่อยจนหลายคนคุ้นหู แล้วจดจำเพลงเหล่านี้มาใช้ ‘จับโป๊ะ’ ว่าคนที่ชอบจะต้องเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศไปซะอย่างนั้น
ในโอกาสที่ Pride Mothn กำลังจะจากไปเราเลยหยิบเอากลุ่มก้อนเล็กๆ ของ Pride Anthem พร้อมกับเรื่องราวของเพลงเหล่านั้นมาให้ทุกท่านฟังกัน เพราะเพลงเหล่านี้มีความสนุกกกับความเพราะที่เปิดกว้างให้กับทุกเพศวิถีและเพศสภาพ 🙂
I Will Survive – Gloria Gaynor
เพลงนี้ขึ้นมาทีไรก็เหมือนเป็นการปักป้ายบอกว่างานนี้มีชาวสีรุ้งมาร่วมสนุกอยู่ในงานด้วยแน่นอน เราเคยเล่ามาครั้งหนึ่งแล้วว่าเพลงนี้เป็นการบอกเล่าชีวิตของ ‘คนที่ถูกเท แต่แล้วไงใครแคร์ ฉันเริ่ด ฉันเชิ่ด ฉันอยู่ได้’ แต่สิ่งที่ทำให้เพลงนี้โด่งดังขึ้นมาเป็นเพราะผลหลังจากที่โรคเอดส์ เริ่มคร่าชีวิตคนดังชาว LGBTQ ไปอย่างต่อเนื่อง เพลงนี้ก็ได้กลายเป็นเพลงให้กำลังใจผู้ป่วยติดเชื้อ HIV ให้มีชีวิตอยู่ต่อสู้กับวันพรุ่งนี้
ปัจจุบันแม้ Gloria Gaynor เจ้าของเพลงนี้จะกลายเป็คริสตศาสนิกชนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธา จนยอมเปลี่ยนเนื้อหาของเพลงให้สอดคล้องกับพระเจ้ามากขึ้น แม้ว่าจะมีคริสตศาสนิกชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ยอมรับความรักของคนเพศเดียวกัน โชคดีที่ตัว Gloria Gaynor ไม่ได้ปฏิเสธชาว LGBTQ แบบไร้เยื่อใยแต่เธอก็เชิญชวนให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศมาเข้ารีต เพื่อแสดงความตั้งใจในการก้าวเดินบนเส้นทางที่เธอศรัทธาแทน
Y.M.C.A. – Village People
ด้วยเนื้อหาของเพลงที่เชิญชวนให้เด็กหนุ่มไปรวมตัวกันเพื่อออกกำลังกาย ไปพูดคุยกัน มีช่วงเวลาที่สนุกสนาน พร้อมกับท่วงทำนองดิสโก้ชวนให้ขยับตัวของเพลง Y.M.C.A. รวมไปถึงสไตล์ของวง Village People ที่ถูกก่อตั้งมาเพื่อเจาะกลุ่มตลาดเกย์โดยเฉพาะ จึงไม่แปลกที่เพลงนี้จะกลายเป็นหนึ่งในเพลง Pride Anthem แทบจะทันทีนับตั้งแต่ที่ตัวเพลงออกมา ด้วยความที่สังคมเกย์ในอเมริกายุคนั้นตีความว่าเพลงนี้เป็นสาสน์ส่งมาถึงพวกเขา ที่มักจะไปหาคู่ควงใน Y.M.C.A. จริงๆ (ก็ Tinder, Grindr ยังไม่เกิดในยุคนั้น)
กระนั้นเบื้องหลังของเพลงนี้ก็ไม่สอดคล้องกับความเข้าใจของผู้คนเสียทีเดียว อย่างที่ Victor Willis กับ Felipe Rose สมาชิกก่อตั้งของวงได้ออกมาบอกเล่าหลายครั้งว่า ในตอนแรกเพลงนี้ไม่ได้ถูกแต่งให้มีความหมายกลางๆ ไม่ได้ตั้งใจให้บ่งบอกถึงกิจกรรมในสังคมเกย์ แต่ก็มีการสัมภาษณ์บางครั้งที่ระบุว่าแม้สมาชิกของวงจะมีการสลับสับเปลี่ยนกันหลายครั้ง แต่พวกเขาก็เข้าใจความหมายแฝงของคำว่า Y.M.C.A. เป็นอย่างดี ซึ่งก็ไม่น่าแปลกมากนักเพราะสมาชิกของวงหลายๆ คนก็เป็นเกย์อยู่แล้ว
แต่ก็มีการตั้งคำถามว่า การที่มีสมาชิกในวงเข้าใจความหมายแฝง แถมยังตั้งใจทำเพลงออกมา แปลว่าวงนี้ไม่ได้สนับสนุน LGBTQ แต่แค่หวังจะหากินกับกลุ่มเกย์หรือเปล่า? เราก็คงตอบได้ว่า ไม่ใช่ อย่างแรกก็คือสมาชิกหลายคนของวงไม่ได้มีรสนิยมหลากหลายทางเพศแต่อย่างใด และอีกอย่างก็คือคำพูดของ Felipe Rose สมาชิกก่อตั้งวงที่เห็นว่า วงดนตรีแนวดิสโก้ในยุค 1970 เป็นเหมือนจุดรวมพลของคนที่เป็นส่วนน้อยในสังคมอเมริกา ทั้งเหล่าเกย์, คนผิวสี, คนละติน จึงไม่แปลกที่ดนตรีแนวนี้จะสามารถรวมพลกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเอาไว้ได้ โดยสุดท้ายก็มีการนำเพลงนี้ไปใช้เพื่อรณรงค์ต่อต้านความหวาดกลัวต่อผู้คนหลากหลายทางเพศไปในที่สุด
I’m Coming Out – Diana Ross
สำหรับบ้านเรา Diana Ross จะถูกจดจำในฐานะดีว่ารุ่นใหญ่ที่มีเพลงดังอย่าง Ain’t No Mountain High Enough หรือ If We Hold on Together กระนั้นสำหรับหลายๆ คนเธอยังเป็นดีว่าตัวแม่ที่มีให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายๆ กลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มแดร็กควีนที่ชอบแต่งตัวตามแล้วทำการแสดงลิปซิงค์ตามเพลงของเธอ จนทำให้ Nile Rodgers ผู้แต่งเพลงที่บังเอิญได้เจอแดร็กควีน แต่งตัวเป็น Diana Ross รัวๆ เขาจึงเกิดความบรรเจิดและแต่งเพลงให้กับนักร้องตัวจริง
ในตอนแรก Diana Ross ก็มีความขัดใจเล็กๆ ที่ต้องร้องเพลงนี้ เพราะเป็นการกระชากฟีลจากเพลงก่อนหน้าที่เธอร้องร่วมกับวง The Supreme ประกอบกับการที่เพลงดิสโก้เริ่มไม่มีกระแสนิยม แต่เมื่อตัวเธอเองก็รู้ว่าแฟนคลับกลุ่มใหญ่เป็นกลุ่ม LGBTQ เธอจึงโอเคที่จะปล่อยผลงานที่ช่วยเสริมพลังให้กลุ่มคนกลุ่มนี้ รวมถึงเป็นการบอกว่าเธอกำลังจะก้าวสู่ชีวิตใหม่หลังจากออกอัลบั้มเป็นวงมาาน สุดท้ายเพลง I’m Coming Out ก็ออกวางจำหน่ายในปี 1980
ตัวเพลงถูกแต่งให้เป็นแนวดิสโก้ที่จับเอาสำนวน ‘Coming out of the closet’ ซึ่งหมาถึงการเปิดเผยเพศสภาพ/เพศวิถีที่แท้จริงของใครสักคนมาแต่งเป็นเรื่องราวของใครคนหนึ่งที่กำลังเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้โลกได้รู้ และเจ้าตัวกำลังแฮปปี้กับตัวเองคนใหม่นี้ถึงขั้นที่อยากจะบอกให้คนรู้ อยากจะกระจายความรัก ไม่หวาดกลัวสิ่งใด และพร้อมก้าวต่อไปข้างหน้า
เนื้อหาที่ชัดเจนเช่นนี้ เพลงจึงถูกใช้ในงาน pride ของโลกตะวันตกอยู่บ่อยครั้ง รวมทั้งยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ LGBTQ หลายคน ตัวอย่างเช่น RuPaul ที่บอกเลยว่า Diana Ross เป็นไอดอลวัยเด็กและเขาก็ได้ใช้เพลง I’m Coming Out เป็นโจทย์ในการแข่งรายการ Drag Race Thailand รวมถึงมีคนมองว่า แม้เพลง I Will Survive จะเป็นเพลงจี๊ดที่เปิดแล้วทำให้คนทุกเพศขยับตัวเต้นได้ แต่เพลง I’m Coming Out อาจจะเป็นเพลงที่สำคัญกว่าในเชิงผลักดันสังคม LGBTQ
Vogue – Madonna
ไม่ว่าคุณจะเรียกเธอว่า มาดอนน่า, เจ๊แม่, ป้ามะดัน หรืออะไรก็ตาม นักร้องหญิงคนนี้ก็เป็นไอดอลของชาว LGBTQ มาแต่ไหนแต่ไร ด้วยสไตล์เพลงของเธอที่ปลุกเร้าความเซ็กซี่ที่หลบซ่อนอยู่ในตัวคนฟัง มาดอนน่าเคยให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าเธอสนับสนุน LGBTQ ถึงขั้นที่เคยเอ่ยปากว่า “ฉันคงไม่มีงานถ้าไม่มีกลุ่มสังคมชาวเกย์ (คอยสนับสนุน)” (I wouldn’t have a career if it weren’t for the gay community) เพราะครูสอนบัลเลต์คนแรกของเธอก็เป็นเกย์ และยังพาเธอไปเที่ยวบาร์เกย์ ทำให้ได้รู้จักโลกอีกมุมหนึ่งและทำให้ตัวเธอยอมรับตัวตนที่แตกต่าง
ดังนั้นเธอจึงสนับสนุนความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด ทั้งการบอกเล่าผ่านบทเพลง, การแสดง หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวทางสังคม อย่างการที่เธอออกตัวสนับสนุนกฎหมายการจดทะเบียนสมรสของคู่รักเพศเดียวกัน เป็นอาทิ
เพลงของมาดอนน่าที่มีเนื้อหาสนับสนุน LGBTQ อยู่หลายเพลง แต่เพลงที่ถูกมองว่าเป็น Pride Anthem เสมอมา ก็คือเพลง Vogue ที่ออกวางจำหน่ายในปี 1990 เพราะเพลงนี้สามารถดึงความสวยงามของผู้ฟังทุกคน แถมเนื้อหาก็เชิญชวนให้ทุกเพศออกมาเต้น ออกมาเป็นตัวเองแบบไม่ต้องเขินอาย
เพลงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากท่าโพสต์ของนางแบบนิตยสาร Vogue รวมกับท่าเต้นขยับมือเพื่อบอกเล่าเรื่องของผู้เต้น ลีลาท่าเต้นสไตล์นี้จึงมีท่ายืนโพสต์จิกกล้อง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการเคลื่อนไหวช่วงแขนที่แข็งแรง ด้วยเหตุนี้จะไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดก็สามารถวาดลีลาที่ตัวเองอยากจะนำเสนอบนฟลอร์เต้นรำได้ เช่นเดียวกับการที่คุณจะใช้เพศวิถีแบบใดก็ได้อย่างที่ มาดอนน่า พยายามบอกเล่ามาตลอด
Constant Craving – k.d. lang
หลายๆ ท่านอาจเหมารวมว่าเพลงสำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศนั้นต้องเป็นเพลงแนวแดนซ์ๆ ชวนดิ้น แต่ก็มีเพลงแนวช้าๆ พร้อมกับเนื้อร้องที่บ่งบอกว่ากำลังถวิลหาอะไรบางอย่าง ได้ถูกนับว่าเป็น Pride Anthem อยู่เช่นกัน ที่เรากำลังพูดถึงอยู่ก็คือเพลง Constant Craving ของ k.d. lang หรือ Kathryn Dawn Lang ที่ความจริงแล้วเพลงดังกล่าวไม่ได้ถูกแต่งให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตของผู้มีความหลากหลายทางเพศโดยตรง แต่ที่เพลงนี้ถูกมองว่าเป็น Pride Anthem นั้นเป็นผลพวงจากเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเพลง
k.d. lang ปล่อยเพลงนี้ออกจำหน่ายในปี 1992 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ทางองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การรักคนเพศเดียวกันไม่ใช่อาการป่วย และตัวของนักร้องที่มีเพศกำเนิดเป็นหญิงแต่ใช้เพศวิถีแบบชายได้ยืนยันต่อหน้าสื่อว่าตัวเธอนั้นเป็นเลสเบี้ยน ก่อนที่เธอจะไปถ่ายแบบร่วมกับ Cindy Crawford จนทำให้เธอถูกต่อต้านจากคนกลุ่มหนึ่ง เพราะเธอสนับสนุนเสนอแนวคิดรักร่วมเพศอย่างเปิดเผย ซึ่งในยุคนั้นยังถือว่าเป็นเรื่องแปลกอยู่ (รวมถึงว่ามีข่าวเมาท์มอยว่าจริงๆ Cindy Crawford เป็นเพศอะไรกันแน่) และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เพลง Constant Craving ได้รับความสนใจจากคนจำนวนมาก
เมื่อคนมาสนใจเพลงก็เริ่มจับจ้องเกี่ยวกับเนื้อหาของความปราถนาอย่างตลอดกาล ที่หลายคนตีความไปว่าเกี่ยวข้องกับการเปิดเผยตัวตนแท้จริงของตนเอง หรือการตามหารักที่ยากจะมีอยู่ ซึ่งไม่ว่าจะแนวคิดไหนก็ดูสอดคล้องกับชีวิตของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ และสอดคล้องกับคำพูดของ k.d. lang ที่บอกว่าเพลงนี้ที่เธอร่วมแต่งและได้บอกเล่าตัวตนของตัวเองลงไปในเพลงไม่น้อย สุดท้ายเพลงนี้ได้รับรางวัลเด่นๆ อย่างรางวัลแกรมมี่ สาขานักร้องเพลงป๊อปหญิงยอดเยี่ยม, MTV Video Music Award ในสาขาวิดีโอจากศิลปินหญิงยอดเยี่ยม
การเปิดตัวอย่างกล้าหาญของ k.d.lang ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับเซเล็บผู้หญิงรุ่นต่อๆ มากล้าเปิดตัวมากขึ้น และถ้าจะบอกว่านี่กลายเป็นเพลงช้าที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศหลายคนได้เข้ามาใกล้ชิดกันแล้วโอบกอดอย่างอบอุ่นบนฟลอร์เต้นรำด้วยนะ
Born This Way – Lady Gaga
Lady Gaga ใช้เวลาไม่นานในการบอกกับคนทั่วโลกว่าเธอสนับสนุน LGBTQ อย่างแน่นอน เห็นได้ตั้งแต่การแต่งตัว ท่าเต้น หรือแม้แต่เครื่องแต่งกายที่ดูแปลกเตะตาของเธอ กระนั้นเถอะ เธอยังคิดว่าเธอยังไมมีเพลงที่บอกเล่าแบบตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการพูดถึงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เธอจึงแต่งเพลง Born This Way ขึ้นมาและปล่อยเพลงนี้ออกมาในปี 2011
เนื้อเพลงบอกชัดเจนแบบไม่ต้องตีความ แค่แปลเนื้อหาตรงๆ ก็บอกชัดแล้วว่า ‘ก็ฉันเกิดมาเป็นของฉันแบบนี้แล้วใครจะทำไม’ แล้วถ้ามีคนคิดว่าเพลงนี้จะไม่พูดเกี่ยวกับเรื่องเพศ เธอก็ใส่คำว่า เกย์, เลสเบี้ยน, ไบ(เซ็กชวล) และ คนข้ามเพศลงไปในเนื้อเพลง พร้อมกับเสวนาเรื่องเชื้อชาติ, สีผิว พาดรวมไปถึงคนพิการ, คนที่โดนแกล้ง, คนที่โดนกีดกัน ให้ทุกคนยินดีในความเป็นตัวของตัวเอง
เนื้อหาชัดแจ้ง บีทแดนซ์สะบัด เพลงนี้จึงใช้เวลารุกคืบไปในงานบันเทิงต่างๆ อย่างรวดเร็ว และเพื่อเป็นการแสดงความตั้งใจว่าเพลงของเธอนั้นต้องการที่จะเป็นสัญญาณให้กับคนชายขอบทั้งหลาย เธอจึงเอาชื่อเพลงนี้มาตั้งแต่เป็นชื่อ มูลนิธิ Born This Way Foundation เพื่อสนับสนุนเยาวชนให้มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และแม้ว่าตัวเพลงจะโดนกล่าวหาว่าใกล้เคียงกับเพลง Express Youself ของ Madonna ซึ่งมีเนื้อหาใกล้ๆ กันในการยอมรับและเปิดเผยตัวเอง กระนั้นถ้ามองว่าตัวเพลงใช้จังหวะดิสโก้เหมือนกันจึงไม่แปลกที่จะมีความคล้ายคลึงกันก็ไม่น่าแปลกนัก
เพลงสุดท้าย – สุดา ชื่นบาน
เราพูดถึงเพลงต่างชาติไปส่วนหนึ่งแล้ว ก็อยากจะพูดถึงเพลงไทยกันบ้าง น่าเสียดายเบาๆ ที่บ้านเรานั้นมีศิลปินที่สนับสนุน LGBTQ อยู่มาก แต่ยังไม่มีใครสรุปชัดเจนมากนักว่าเพลงใดควรจะเป็น Pride Anthem แถมบางเพลงที่บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นอย่าง แต๋วจ๋า ก็ยังโดนตีความเป็นเพลงเกี้ยวธรรมดาไปได้ ดังนั้นเพลงไทยที่เราหยิบยกมาพูดถึงในวันนี้จะเป็นเพลงที่เราเจอตามงานสังสรรค์ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศและผู้สนับสนุนมักจะนำเอามาร้อง มาแสดง กัน
เริ่มต้นด้วย เพลงสุดท้าย ที่เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน ออกฉายในปี 1985 หนังบอกเล่าชีวิตของ สมหญิง ดาวราย นางโชว์ในพัทยา ที่ตัดสินใจว่าจะไม่มีรักอีกด้วยความเชื่อที่ว่า ‘ไม่มีรักแท้ให้กับเพศที่สาม’ แต่ก็มีชายหนุ่มคนหนึ่งได้เข้ามาทำลายความเชื่อนี้ จนทำให้สมหญิงตกหลุกรักอีกครั้ง กระนั้นโศกนาฎกรรมก็เกิดขึ้นเมื่อผู้ชายคนนั้นกลับหลงรักน้องสาวของสมหญิง เธอจึงไม่เหลืออะไรนอกจาก เพลงสุดท้าย ที่เธอขึ้นไปแสดงบนเวที
แม้ว่าตัวมุมมองของหนังอาจจะเหมารวมไปเสียหน่อยในเรื่องเพศสภาพกับเพศวิถี แต่เพลง ‘เพลงสุดท้าย’ ที่ได้ คุณสุดา ชื่นบาน มาขับร้องนั้นสามารถขับเน้นอารมณ์ความรักของชาวหลากหลายทางเพศที่มักจบแบบเจ็บๆ เพราะจะหาคนรักที่เข้าใจเพศสภาพ เพศวิถีนั้นก็ยากอยู่แล้ว พอคิดว่ารักที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้นั้นมลายไปอีก จึงไม่แปลกที่เพลงนี้จะทำให้ใครต่อใครอินได้ไม่ยาก และปัจจุบันหลายคนก็ยังเอามันมาร้องกรีดหัวใจตนเอง แม้ว่าอาจจะไม่ได้อกหักจริงๆ ก็เถอะ
ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง – เจิน เจิน บุญสูงเนิน
ในปี 1990 นักร้องสายโรงแรมท่านหนึ่งได้มีโอกาสได้ออกอัลบั้มของตัวเอง ด้วยประวัติที่ไม๋ธรรมดาสำหรับคนในยุคนั้น รวมไปถึงวิธีการแต่งเพลงของนักแต่งเพลงหลายๆ คนที่มักเลือกเอาเรื่องราวของตัวนักร้องมาแต่งเป็นบทเพลง นั่นทำให้นักร้องผู้หญิงข้ามเพศได้บทเพลงประจำตัวของเธอที่ชื่อว่า ‘ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง’ ที่เล่าถึงชีวิตส่วนหนึ่งของเจ้าของเสียงร้องที่ใช้ชีวิตแบบผู้หญิงมาตั้งแต่สมัยเรียน แต่ในจุดที่สังคมยังไม่ยอมรับเธอจึงต้องโดนดูถูกเหมือนเป็นตัวประหลาด กระนั้นเธอก็ไม่คิดท้อถอยและต่อสู้ในชีวิตต่อไป
จริงๆ เราเชื่อว่าเพลงนี้ทำให้ทุกคนอินได้แม้ว่าคุณจะไม่ใช่ LGBTQ ก็ตาม แต่ถ้าคุณเป็น LGBTQ ก็จะอินเพลงนี้ขึ้นไปอีก ด้วยเหตุที่ว่าหลายครั้งการเปิดตัวเพศสภาพเพศวิถีกลุ่มคนเหล่านั้นมักจะโดนคนใกล้ตัวแปะป้ายให้ว่าเป็นตัวประหลาด ทั้งๆ ที่ตัวของเราก็ยังเป็นคนเดิมไม่ต่างกับเมื่อวานเลยแท้ๆ และเพราะอารมณ์ร่วมเกิดขึ้นได้ง่ายแบบนี้ จึงไม่แปลกที่เพลงนี้จะฮิตตั้งแต่งาน LGBTQ ไปจนถึงตู้คาราโอเกะใกล้บ้าน
กันและกัน – สุวีระ บุญรอด
สิ่งที่ รักแห่งสยาม จุดประเด็นไว้ให้กับประเทศไทย ไม่ได้มีแค่เรื่อง ‘ความรักหลากรูปลักษณ์’ เท่านั้น ในหนังเรื่องดังกล่าวยังมีบทเพลงเป็นส่วนประกอบสำคัญ และเพลงหลักของเรื่องนั้นก็คือเพลง กันและกัน
กันและกัน ตามท้องเรื่องของรักแห่งสยามเป็นเพลงที่ มิว นักร้องนำของวงดนตรีในเรื่องได้ถูกวางโจทย์ให้แต่งเพลงรัก ซึ่งเขายังไม่ประสาจึงไม่สามารถสร้างบทเพลงนั้นออกมาได้ จนเข้าได้มีโอกาสเจอกับ โต้ง เพื่อนในวัยเด็ก ความรู้สึกดีๆ จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ที่เด็กวัยรุ่นทั้งสองคนอาจจะยังสับสนว่า ‘ความรัก’ ที่ก่อตัวขึ้นกับตัวพวกเขาเป็นความรักแบบไหน และสุดท้ายเพลงนี้ได้กลายเป็นซิงเกิลที่วงดนตรีในเรื่องได้เล่นตอนท้ายเรื่อง ที่เป็นบทสรุปความรักของทุกคนในเรื่อง
เพลง กันและกัน ที่ได้ ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับของเรื่องมาแต่งเนื้อเพลง, ทำนอง, ออกแบบการร้อง ก่อนจะให้ คิว วงฟลัวร์ มาเป็นคนขับร้องในฉบับออกโฆษณา เนื้อหาจริงๆ ไม่ได้ระบุเรื่องเพศสภาพเพศวิถีแบบตรงๆ แต่เพราะภาพลักษณ์ของหนังที่สองพระเอกของเรื่องที่มีความรักต่อกัน รวมกับปริบทที่ว่าผู้กำกับภาพยนตร์นั้นเป็นเกย์แบบเปิดเผยตัวระดับหนึ่ง จึงทำให้เพลงโดนมองว่าเป็นเพลงสำหรับคู่รักเพศเดียวกันไปโดยปริยาย
แต่ถ้าวิเคราะห์เนื้อหาของหนังกับเนื้อเพลงเราจะพบว่าสิ่งที่ถูกบอกเล่าไว้ทั้งในสื่อทั้งสองแบบ ก็คือความรักนั้นไม่เคยมีรูปลักษณ์เป็นวัตถุชัดเจน ความรักนั้นอาจจับต้องไม่ได้แต่สัมผัสได้ ไม่ว่าใครคนนั้นจะเป็นเพศใดก็ตามที และความหมายที่แฝงอยู่ในทุกอณูของเพลงนี้มากกว่าที่ทำให้สุดท้ายเพลงนี้กลายเป็นเพลงรักที่กระทบจิตใจทุกๆ คน แบบที่ใครเขาว่า ความรักนั้นชนะได้ทุกสิ่ง นั่นล่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Youtube Channel: TheEllenShow