“พี่น้องเรือประมงเราบางคนวางอวนปูทิ้งไว้ พอเช้ามารู้ว่ามีน้ำมันรั่ว ก็จะรีบไปเก็บปู หวังว่าจะยังพอเหลือของไปขายได้บ้าง แต่พอไปเข้าใกล้เรือที่จัดการคราบน้ำมันอยู่ ก็ไล่พวกเราออกมาเลย
“ดังนั้นถึงเราจะพยายามขอเข้าไปบอกว่า อย่าฉีดสารเคมี อย่ากดน้ำมันให้จมลงไปนะ ก็คงบอกไม่ได้ ไม่มีช่องทางให้เราได้พูดด้วยซ้ำ เขาจะอ้างว่า ชาวบ้านไม่รู้วิธีปฏิบัติ ไม่เหมือนหน่วยงานรัฐ”
‘ถูกตัดขาดออกจากวงจรการจัดการปัญหา’ คือใจความสำคัญที่ ไพบูลย์ เล็กรัตน์ ชาวประมงที่ทำมาหากินในอ่าวระยองมากว่า 20 ปี พยายามสะท้อนออกมาหลังเกิดเหตุน้ำมันรั่วอีกครั้งปลายเดือน ม.ค.2565
เพราะในระหว่างที่หลายหน่วยงานของรัฐและกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กำลังเร่งฉีดสารเคมี oil dispersant ให้คราบน้ำมันจมลงไปในทะเล กลุ่มชาวประมงกลับทำได้เพียงนั่งติดตามข่าวสารจากสื่อต่างๆ ราวกับเป็นคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับเรื่องนี้ ทั้งที่พวกเขาเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับทะเลระยองมากที่สุด เป็นกลุ่มที่ต้องฝากปากท้องและชีวิตของคนในครอบครัวไว้กับความอุดมสมบูรณ์ของทะเลระยอง
“พอรู้ข่าว ผมช็อกเลยครับ ผลกระทบจากน้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ผ่านมา 9 ปี ยังไม่ฟื้นคืนมาเลย ยังมาเกิดขึ้นอีกรอบอีก และหน่วยงานต่างๆ ก็ใช้วิธีเดิมอีก คือใช้สารเคมีฉีดกดน้ำมันให้จมลงไปใต้ทะเล ซึ่งเป็นวิธีที่เห็นผลแล้วว่าส่งผลเสียหายรุนแรงกับระบบนิเวศทางทะเล
“ผมอยากจะเข้าไปบอกว่า เอาบูม (ทุ่นดักน้ำมัน) ล้อมไว้ก่อนได้มั้ย แล้วใช้วิธีดูดออกก่อน อย่าเพิ่งใช้สารเคมีได้มั้ย ถ้ามันไม่ไหวแล้วค่อยใช้ แต่ไม่มีช่องทางไหนที่พวกเราชาวประมงจะเข้าไปบอกได้เลย ไม่ต่างจากเมื่อปี 2556 เลย” ไพบูลย์สะท้อน
ทะเลเป็นของใคร?
นี่อาจเป็นคำถามเบื้องต้นที่ต้องกลับมาทบทวนกันก่อน
เมื่อมีผู้ได้รับประโยชน์จากทะเล แน่นอนว่า ผู้ได้รับประโยชน์เหล่านั้น ย่อมต้องรับภาระในการดูแลรักษาทะเลด้วย
หากจะมองว่า ทะเลคือเส้นทางทางเศรษฐกิจ ใช้ขนส่งสินค้า ใช้เป็นแหล่งขุดเจาะและขนถ่ายอุตสาหกรรมพลังงาน ก็อาจมองได้ว่า ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการใช้ ‘บริการทางนิเวศ’ จากทะเล
แต่บริการทางนิเวศจากทะเล ยังมีผู้ใช้ประโยชน์อีกหลายกลุ่ม ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอาหารทะเล หาบเร่รถเข็น ฯลฯ หรือแม้แต่หมอนวดแผนไทย ที่หาเงินจากการให้บริการริมชายหาด และแน่นอนว่า ‘เรือประมง’ ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญในวงจรนี้ เพราะดำรงชีพด้วยการจับสัตว์น้ำมาขายเป็นอาหาร ซึ่งล้วนแต่ต้องนำมาคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากทะเลเช่นกัน
เมื่อปากท้องของ ‘ชาวประมง’ โดยเฉพาะ ‘ประมงพื้นบ้าน’ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล พวกเขาจึงน่าจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญที่สุดกลุ่มหนึ่งในวงจร
ในฐานะที่พวกเขารู้จักคลื่น ลม กระแสน้ำ และรู้จักจุดต่างๆ ในทะเลที่พวกเขาออกหากินอยู่ทุกวันมากที่สุด
แต่เมื่อเกิดเหตุที่อาจส่งผลอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศในทะเล ‘ประมง’ กลับไม่เคยได้รับโอกาสให้ร่วมแสดงความเห็น กลุ่มคนที่มีสิทธิตัดสินใจว่าจะเลือก ‘วิธีการใด’ มาจัดการกับคราบน้ำมัน มีเพียงหน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น
ทำไมผู้มีส่วนได้เสียรายใหญ่ จึงถูกตัดออกจากวงจรการตัดสินใจเพื่อปกป้องท้องทะเล ทั้งที่ไม่ใช่คนสร้างความเสียหาย แถมยังเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
“ทางตะวันออกเฉียงเหนือของหาดแม่รำพึง ห่างออกไปไม่กี่ไมล์ มีแหล่งหินใต้ทะเลขนาดใหญ่มาก ตรงนี้เป็นจุดที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ แต่มาเกิดเหตุครั้งที่ 2 แบบนี้ น่าจะพังทลายไปหมดแล้ว เพราะน้ำมันถูกกดให้จมลงไปเยอะ ซ้ำลงไปอีก
“เลยมาทางแหลมหญ้า มีจุดที่เป็นสันดอนในทะเล คนประมงเรียกตรงนี้เป็นภาษาที่สืบทอดกันมาว่า ‘ดงกะซ้า’ หมายถึง จุดที่มีเศษซากเปลือกหอย ซากปะการัง เป็นแหล่งที่ปลามาวางไข่ เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ
“ยังมีจุดที่เรียกว่า ‘หินญวน’ เป็นแหล่งหินขนาดใหญ่อีกจุด ใกล้ฝั่งก็มีปะการังเทียมที่รัฐมาทิ้งไว้เอง”
ข้อมูลจุดสำคัญและจุดอ่อนไหวใต้ทะเลอ่าวระยองทั้งหมดนี้ เหล่าชาวประมงสามารถบอกออกมาได้อย่างง่ายดายราวกับเป็นแผนที่ที่เขาเขียนขึ้นมาเอง
ไพบูลย์มั่นใจว่า ชาวประมงพื้นบ้านที่หากินในอ่าวระยองทุกคน สามารถชี้จุดเหล่านี้ได้ง่ายๆ ไม่ต่างจากการชี้ตำแหน่งเฟอร์นิเจอร์ในบ้านว่าชิ้นไหนวางไว้ตรงไหนบ้าง และนั่นเป็นเหตุผลที่เขามองว่า ‘กลุ่มประมง’ ควรจะได้รับสิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจเมื่อเกิดเหตุร้ายแรงอย่างเหตุ ‘น้ำมันรั่ว’
“สิ่งที่เราเชียวชาญกว่าหน่วยงานรัฐ เชี่ยวชาญกว่าพวกอุตสาหกรรม คือเรารู้จักระบบนิเวศของทะเลดีกว่า ตรงไหนมีแอ่ง โขดหินทุกจุด หญ้าทะเลทุกแหล่ง แหล่งวางไข่สัตว์น้ำที่สำคัญอยู่ตรงไหน จุดอ่อนไหวในอ่าวอยู่ตรงไหนบ้างพวกเรารู้หมด จึงอยากให้มีชาวประมงไปอยู่บนเรือที่กำลังตัดสินใจว่าจะทำยังไงกับน้ำมันที่รั่วออกมา พวกเราทุกคนบอกได้ว่า ตรงไหนไม่อ่อนไหวมาก พอที่คุณจะฉีดสารเคมีลงไปได้ ตรงไหนไม่ควรใช้เด็ดขาด ซึ่งเมื่อปี 2556 เราไม่ได้รับโอกาสไปบอกหน่วยงานรัฐ และวิธีการที่ใช้ก็ส่งผลกระทบต่อทะเลอย่างรุนแรงมาถึงวันนี้ แต่พอเกิดเหตุแบบเดิมอีก พวกคุณก็มองไม่เห็นพวกเราอีกเช่นเดิม แถมยังทำผิดพลาดแบบเดียวกันที่เคยพลาดมาแล้ว” ไพบูลย์กล่าวด้วยน้ำเสียงขาดๆ หายๆ เมื่อเขากำลังนึกถึงหายนะที่ตามมา
‘คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน’ หรือ กปน.
คือกลไกการบูรณาการหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อป้องกันเหตุและระงับเหตุเมื่อเกิดการปนเปื้อนของน้ำมันในทะเล ซึ่งก็มีหลักการที่ชัดเจนว่า การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดน้ำมันในทะเลให้ถือเป็นทางเลือกลำดับท้ายๆ ในกรณีที่ใช้วิธีการอื่นไม่ได้ผลแล้ว และยังมีข้อตกลงระหว่างประเทศระบุว่า การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดน้ำมันให้จมลงไป เป็นวิธีที่ควรใช้ในทะเลเปิด น้ำมีความลึกไม่น้อยกว่า 20 เมตรและใช้ในอัตราส่วนที่เหมาะสมเท่านั้น
แต่ในเหตุการณ์ตั้งแต่ 25 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา กลับพบว่า หน่วยปฏิบัติการเลือกใช้สารเคมีเป็นวิธีการเดียวในการกำจัดคราบน้ำมัน
ทั้งที่คราบน้ำมันลอยมาในจดที่น้ำตื้นและเป็นจุดอ่อนไหวต่อระบบนิเวศ
ไพบูลย์ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบกับเหตุน้ำมันรั่วเมื่อปี 2556 ซึ่งก็มีข้ออ้างว่า ไม่มีบูมล้อมน้ำมัน อุปกรณ์ไม่พร้อม และผ่านมา 9 ปี ก็ยังมีปัญหาเดิมเป็นข้ออ้างให้ต้องใช้สารเคมี จึงมีคำถามว่า กปน.ทำอะไรอยู ในเมื่อบูมเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ ทำไมจึงไม่จัดหามาให้พร้อมเพื่อเตรียมการก่อนเกิดเหตุ
ด้วยเหตุนี้ เขาจึงรู้สึกไม่ไว้ใจ เมื่อการตัดสินใจเลือกวิธีแก้ปัญหาถูกผูกขาดด้วยภาครัฐและกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะอาจกลายเป็นปัญหาเรื่องความโปร่งใส หรืออาจกลายเป็นการแก้ปัญหาเพื่อปิดบังความจริงก็ได้
“ไม่มีบุคคลที่สาม ไม่มีพยาน ไม่มีเราชาวประมง หรือผู้ได้รับผลกระทบด้านอื่นๆ อยู่ในกลุ่มที่มีสิทธิตัดสินใจ มันก็ยิ่งสร้างความคลางแคลงใจครับ คิดดูง่ายๆ ว่า จนถึงวันนี้เรายังต้องมานั่งสงสัยเรื่องปริมาณน้ำมันที่รั่วออกมากันอยู่เลยว่าข้อมูลไหนเป็นข้อมูลที่แท้จริงกันแน่ ดังนั้นเราก็มีสิทธิจะสงสัยได้ใช่มั้ยว่า การที่หน่วยงานรัฐรีบตัดสินใจใช้สารเคมีกดน้ำมันให้จมลงไป จะเกี่ยวข้องกับเรื่องปริมาณน้ำมันที่รั่วออกมาหรือเปล่า
“กลุ่มที่มีสิทธิผูกขาดเลือกวิธีการจัดการน้ำมัน มองอีกมุมก็เป็นกล่มที่มีโอกาสปรับเปลี่ยนข้อมูลด้วยใช่มั้ย”
ไพบูลย์กล่าวมาถึงตรงนี้ เขาก็ยอมรับว่า การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว แต่เขาก็หวังว่าภาครัฐจะยอมรับพิจารณา ‘แผนฟื้นฟู’ จากการระดมความคิดของกลุ่มชาวประมง เพราะมื่อ 9 ปีที่แล้ว ข้อเสนอของพวกเขาก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแล
ใจความสำคัญของการฟื้นฟูทะเลระยองที่กลุ่มชาวประมงเสนอไว้หลังเหตุการณ์เมื่อปี 2556 คือการสำรวจและจัดเก็บคราบน้ำมันที่กดให้จมลงไปในทะเลออกมากำจัดอย่างถูกวิธีให้มากที่สุดก่อน โดยจะต้องปิดอ่าวในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งต้องห้ามเรืออวนลากเข้ามาทำประมงในอ่าว เพราะการลากอวนจะทำให้ตะกอนน้ำมันที่จมอยู่ฟุ้งกระจายออกมาอีก จากนั้นจึงจะเริ่มกระบวนการเติมความอุดมสมบูรณ์ได้
แต่แผนนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้ มีเพียงความพยายามทำปะการังเทียม และปล่อยลูกปู ลูกปลา ลูกกุ้ง ลงมานับร้อยล้านตัว ซึ่งไพบูลย์บอกว่า เป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์
“อ่าวมันเป็นพิษ ปล่อยมากี่ร้อยล้านตัว มันก็ตายอยู่ดี ที่ผมกล้าพูด เพราะปล่อยลูกปลา กุ้ง ปู มาเป็นจำนวนมาก แต่เราทำประมง เราไม่ได้ผลผลิตจากสัตว์น้ำที่ถูกปล่อยมาเลย ดังนั้นครั้งนี้หวังว่า รัฐและกลุ่มอุตสาหกรรมจะเชื่อเราบ้าง เราต้องทำความสะอาดอ่าวก่อน ต้องยอมปิด พวกเรากลุ่มประมงก็พร้อมจะให้ปิด เพราะยังไงก็ไม่มีสัตว์ให้เราจับ ถึงออกไปจับไกลๆ แต่พอได้กลับมา พอบอกว่ามาจากระยองก็ไม่มีใครซื้ออยู่แล้ว
“เราเรียกร้องแบบนี้มาตั้งแต่น้ำมันรั่วครั้งแรก ได้คำตอบกลับมาว่า ไม่ใช่หน้าที่ของชาวประมง ผมก็อยากจะตอบกลับไปว่า นี่มันยุคดิจิทัลแล้ว เปลี่ยนกระบวนการทำงานกันซักทีเถอะ อย่ายึดติดกับตำแหน่งให้มาก อย่าทำผิดซ้ำเหมือนที่ผ่านมาอีก รอบแรกเราได้รับผลกระทบมาจะ 10 ปีแล้ว มีรอบที่สองอีกเราจะต้องทนไปอีก 10 ปีหรือเปล่า ถ้ายังจะใช้วิธีแบบเดิม ไม่เก็บ ไม่เคลียร์ทะเลให้สะอาดก่อน ต่อให้คุณพยายามทำอีกสารพัดวิธีก็ไม่ได้ผล”
ข้อความเหล่านี้ ไพบูลย์กล่าวถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ชาวประมงกำลังทวงสิทธิที่ควรได้รับของพวกเขา สิทธิที่หายไปตั้งแต่ 9 ปีก่อน
[ ข้อมูลเพิ่มเติม: ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ ที่จัดทำขึ้นในปี 2545 นอกจากกำหนดโครงสร้างของ กปน. แล้วว่า ประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานรัฐใดบ้าง ยังเขียนถึงวิธีในการขจัดคราบน้ำมันหากเกิดกรณีน้ำมันรั่วไว้ 6 กรณี เริ่มจาก 1.หยุดและระงับการรั่วไหลให้เร็วที่สุด 2.กักด้วยทุนกักคราบน้ำมันและดูดเก็บคราบน้ำมันจากผิวน้ำ 3.ปกป้องบริเวณที่มีความสำคัญด้วยทุ่นกักน้ำมัน 4.ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน 5.ทำความสะอาดชายฝั่ง และ 6.ติดตามการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมัน จนมั่นใจว่าจะไม่เคลื่อนตัวเข้าสู่ฝั่งหรือบริเวณที่มีความสำคัญ ]