ฟังเสียงชาวบ้านบริเวณหาดแม่รำพึง ถึงผลกระทบจากเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในทะล
“ที่แน่ๆ คือทำใจก่อนเลย ทำอะไรไม่ได้”
นี่คือสิ่งที่ทุกคนในพื้นที่หาดแม่รำพึง ยาวไปจนถึงสวนสน จ.ระยอง พูดเป็นเสียงเดียวกันหลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเลโดยบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) รั่วไหลเป็นแสนลิตร
ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ.2556 ได้เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลมาแล้วครั้งหนึ่ง และมีปริมาณน้ำมันเพียง 50,000 ลิตรเท่านั้น แต่ผลกระทบก็ยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้
The MATTER ลงพื้นที่สำรวจและพูดคุยกับชาวบ้าน แม่ค้า-พ่อค้า และชาวประมงที่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พวกเขารู้สึกอย่างไร ผลกระทบรุนแรงแค่ไหน แล้วพวกเขาได้รับความช่วยเหลืออะไรบ้าง เราชวนไปฟังเสียงจากคนตัวเล็กตัวน้อยที่ได้รับผลกระทบมหาศาลกัน
รอบก่อนยังไม่ดีขึ้น รอบนี้ยิ่งหนักกว่า
“รอบนี้มันหนักกว่ารอบที่แล้วอีก แล้วแถวนี้เป็นประมงพื้นบ้าน เขาก็หากินแถบนี้ จะให้เขาไปอยู่ที่ไหน” พ่อค้าและชาวประมงส่งเสียงแสดงความไม่พอใจ เพราะเขาต้องสูญเสียรายได้ไปมาก และยังไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไรต่อไป ในขณะที่การการเยียวยาก็ยังไม่มีอะไรแน่นอน
“รอบก่อนน้ำมันมันรวมเป็นกลุ่มก่อน แล้วลอยเข้าอ่าวพร้าว ไม่เหมือนรอบนี้ที่แตกกระจายไปขึ้นตรงนู้นที ตรงนี้ที ทำให้จัดการยากกว่าเดิม ใช้ทุ่นดักก็เอาไม่อยู่ รอบนี้หนักกว่ามาก แล้วน่าจะอยู่นานด้วย เพราะรอบก่อนพอรั่วปุ๊บ น้ำมันมันลอยไปขึ้นเกาะเลย รอบนี้มาสะเปะสะปะมาก อีกนิดจะไปถึงเกาะเสม็ดแล้ว” ชาวบ้านอีกกลุ่มเล่าให้เราฟังถึงปัญหาของน้ำมันรั่วไหลในครั้งนี้ ที่ทำให้ไม่มีใครคาดเดาอนาคตได้ว่าทุกอย่างจะดีขึ้นเมื่อไหร่ จะจัดการได้ภายในเร็ววันหรือไม่ ทำให้ชีวิตพวกเขาทำได้เพียงก้มหน้าก้มตาค้าขาย หาจุดที่พอจะมีคนมาซื้อสินค้าพวกเขาให้ได้ต่อไป เพราะพวกเขายังคงต้องทำอาชีพนี้ต่อไป
รับเรื่อง แต่ไม่รับปากว่าจะเยียวยา
“ขนาดวันอาทิตย์ยังไม่มีแม่ค้า ไม่มีนักท่องเที่ยว ไม่มีคนเลย ตอนนี้ยังไม่ได้มีเยียวยาอะไร แต่มีรับเรื่องกันอยู่ แต่เขาก็ไม่รับประกันว่าจะได้หรือไม่ได้การเยียวยา แค่ให้ยื่นเรื่องไว้ก่อน”
หลังจากต้องเสียรายได้ไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การเยียวยาคือเรื่องต้นๆ ที่ทุกคนมองหา แต่เมื่อเราเดินไปถามกับกลุ่มชาวบ้านว่าหลังเกิดเหตุการณ์ มีคนมาช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ทุกคนก็ตอบเพียงแค่ว่ามีจุดรับเรื่องร้องทุกข์ โดยต้องยื่นเอกสารมากมาย แถมยังไม่รับปากด้วยว่าจะได้รับการเยียวยา
“วันนี้ขายได้แค่ 300 บาท ปกติได้ 2,000-3,000 พัน ช่วงตรุษจีนอุตส่าห์หวังว่าจะขายได้บ้างแต่ก็เงียบกริบ มองดูสิ มีคนที่ไหน ปลาหมึกตากแห้งนี่เรามีของเก็บไว้ตั้งแต่ก่อนน้ำมันรั่ว แต่พอน้ำมันรั่วคนก็กลัวไปหมดเลย เราไม่รู้ว่าจะได้รับการเยียวยาหรือเปล่า”
สิ่งที่เสียไป มันประเมินค่าไม่ได้เลย
“ขายไม่ได้เลยตั้งแต่วันเสาร์ เมื่อวานได้แค่ไม่กี่สิบบาท ลงทุนไปเกือบหมื่น ตอนน้ำมันรั่วครั้งก่อนก็ยังไม่ดีเลย ครั้งนี้ก็มาอีกแล้ว มันประเมินค่าไม่ได้เลยกับสิ่งที่เราสูญเสียไป” เจ้าของร้านอาหารตามสั่งริมหาดแม่พึงบอกกับเราด้วย้ำเสียงอ่อนล้า
เธอเล่าให้เราฟังว่าเธอเพิ่งได้พื้นที่ขายของตรงนี้คืนมาเพียงปีเดียว หลังถูกยึดไปหลายปี ตั้งใจสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่ แต่ยังไม่ทันไรก็มาเจอปัญหาน้ำมันรั่วจนนักท่องเที่ยวหดหาย รายได้ของเธอก็แทบไม่เหลือ บางวันขายได้เพียงไม่กี่สิบบาท โดยเธอบอกว่าคงสู้ร้านใหญ่ไม่ไหว เขามีฐานลูกค้ามานาน แต่เธอเพิ่งเริ่มต้น และทำให้เธอรู้สึกท้อไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนานแค่ไหน
กว่าธรรมชาติจะฟื้นฟู ก็มาถูกทำลายไปอีกครั้ง
“ก่อนจะมีน้ำมันรั่วตั้งแต่ครั้งปี พ.ศ.2552 ที่นี่สามารถหาหอย หาปลา หาหมึกได้แบบใกล้ฝั่งมากๆ ไม่ต้องออกไปไกลเลย ระยองอุดมสมบูรณ์มาก” หญิงสาวในหมู่บ้านประมงบอกกับเราด้วยเสียงเศร้าปนความเสียดายธรรมชาติที่เธอเคยเติบโตมา ซึ่งเคยอุดมสมบูรณ์กว่านี้ แต่หลังจากมีเหตุการณ์น้ำมันรั่วหลายครั้ง ก็ทำให้สัตว์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ค่อยๆ หายไป
“เราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง พอน้ำมันจมลงใต้ทะเล ปูปลาจะอยู่กันยังไง น้ำมันพวกนี้พอมันไปติดหิน ติดปะการัง มันใช้เวลาหลายปี พวกปะการังก็ตายกันไปหมด” ชาวประมงอีกคนเสริม
“ครั้งก่อนนั้นก็นานมากกว่าจะกลับมาสู่ภาวะปกติ เป็นสิบปีเลย ก็คือมันเพิ่งจะฟื้นขึ้นมา พวกหอยตลับเริ่มมีตามชายหาด ซึ่งก่อนหน้านั้นมันหายไป แต่ก็เอาอีกแล้ว เมื่อก่อนไม่มีโซเชียลมีเดียเลยยังไม่ค่อยมีคนรู้ จริงๆ มันรั่วตลอดแหละ แล้วพอไปฉีดให้มันจมลงทะเล ผ่านไปหลายปีมันก็มาพร้อมกับคลื่น ขึ้นหาดมา คนก็เข้าใจว่าเป็นยางมะตอย แต่จริงๆ มันคือน้ำมันที่รั่ว” ชายหนุ่มที่คอยเฝ้าสังเกตการณ์ชายหาดมาเสมอบอกกับเรา แม้ว่าอนาคตเขาตั้งใจจะปลดระวางตนเองแล้ว แต่ก็อดเป็นห่วงคนรุ่นหลังไม่ได้ที่จะหากินได้ลำบากขึ้น
ให้ไปไกลกว่านี้ก็ไม่ไหว เราสู้เรือใหญ่ไม่ได้
“ไปออกทะเลเมื่อวานซืนได้ปูกลับมาสี่ตัว หมึกสองตัว ก่อนหน้านั้นขายได้หลายกิโล เดี๋ยวนี้ได้แค่ไม่กี่ตัว เมื่อวานได้ปูมา ก็ต้องเอามาขัดน้ำมันออกจากตัวมันทีละตัวๆ แต่เอาไปกินก็มีกลิ่นน้ำมันอีก ก็กินไม่ได้ แล้วเดี๋ยวก็มากดราคากัน น้ำมันก็ขึ้น ไม่มีกำไรเลย” คุณลุงจากหมู่บ้านชาวประมงบริเวณท้ายหาดแม่รำพึงเล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ล่าสุด เขาได้บอกกับเราว่า ปกติคนทำประมงนั้นสามารถหาปูปลาหมึกหอยมาขายได้วันละหลายพันบาท แต่ตั้งแต่มีเหตุการณ์น้ำมันรั่ว สัตว์น้ำได้หายไปหมด ทำให้พวกเขาต้องออกจากฝั่งไปไกลขึ้น ซึ่งแลกมาด้วยค่าน้ำมันที่ไม่คุ้มเอาเสียเลย
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้พวกเขาออกไปทำประมงไกลจากชายฝั่งประมาณ 15 ไมล์ทะเล (เกือบ 30 กิโลเมตร) ซึ่งพวกเขาเป็นเพียงประมงพื้นบ้านและเป็นเรือขนาดเล็ก การออกจากฝั่งไปไกลมากขนาดนั้นต้องแลกมากับความไม่คุ้มค่าในหลายๆ ด้าน แต่ก็เป็นความลำบากเมื่อการทำประมงในบริเวณที่พวกเขาเคยทำ ตอนนี้กลับมีคราบน้ำมันกระจายตัวอยู่เต็มไปหมดจนพวกเขาแทบไม่มีทางเลือก
“เขาให้เราออกไปนอกชายฝั่ง 15 ไมล์ทะเลถึงจะพ้นคราบน้ำมัน ไปก็เจอเรือใหญ่ลากอวนหมดแล้ว จะไปสู้ได้ยังไง เจ๊งหมด กว่าจะไปถึงก็ครึ่งวัน ไปกลับหมดวันพอดี”
คนยังอยู่ไม่ได้ แล้วสัตว์จะไปอยู่ได้อย่างไร
“ได้กลิ่นนี่เหม็นเลย น้ำมันจะออกสีเหลืองๆ เป็นน้ำกับน้ำมันปนกัน สัตว์ทะเลนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย ถ้าไม่หนีก็ตาย ขนาดคนยังอยู่ไม่ได้” ชาวประมงที่เราได้พูดคุยวันนี้บอกกับเรา หลังจากเขาออกเรือเพื่อไปทำประมง แต่ก็ไม่สามารถทนกลิ่นน้ำมันได้ไหว จนต้องไปหาพื้นที่จับสัตว์น้ำไกลขึ้น
ซึ่งผลกระทบจากน้ำมันนั้น หากคนอยู่ใกล้นานๆ ก็อาจส่งผลต่อร่างกายระยะยาว เช่นโรคทางเดินหายใจ หรือโรคมะเร็ง ซึ่งชาวประมงที่เราได้พูดคุยด้วยนั้นก็ให้ข้อมูลกับเราว่า “แถวอ่าวพร้าวมีคนเป็นมะเร็งหลายคนเลย เพราะน้ำมันรอบก่อนที่รั่ว”
ก่อนที่เขาจะทิ้งท้ายว่า “รอบก่อนยังเยียวยาไม่จบเลย”
สัตว์ก็ยังไม่ปลอดภัย ต่อให้ไม่มีคราบน้ำมันอยู่ลอยบนทะเลแล้ว
“น้ำมันในน้ำ ถ้ามีระดับความเข้มข้นประมาณ 1-3 มิลลิกรัม/ลิตร เป็นเวลามากกว่า 4 วัน ก็จะทำให้กุ้งหอยปูปลาเป็นอันตรายถึงชีวิต” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว
ธารากล่าวอีกว่า ต่อให้ไม่มีคราบน้ำมันอยู่บนทะเล แต่น้ำมันดิบที่แตกกระจายแล้วหลุดออกจากผิวน้ำลงไปใต้ทะเลจะแตกตัวออกเป็นสารประกอบที่เรียกว่า polycyclic aromatic hydrocarbons ที่จะเกาะตัวกันเป็นวงและมีความเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล
ฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการไปเก็บตัวอย่างน้ำทะเลแล้วบอกว่า น้ำทะเลดีขึ้นไม่ดีขึ้น ไม่มีคราบน้ำมัน แต่ธาราก็มองว่าเราดูกันแค่นี้ไม่ได้ เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ต้องดูในระยะยาว
“เรากำลังพูดถึงน้ำมันดิบที่รั่วออกมาเป็นปริมาณมหาศาลลงสู่ท้องทะเล มันเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยรวม และส่งผลในระยะยาว เพราะเมื่อมันลงทะเลแล้ว มันก็จะแตกสลายเป็นก้อนเล็กๆ แพลงก์ตอนพืชแพลงก์ตอนสัตว์อาจจะไปย่อยสิ่งเหล่านี้อีก ทีนี้ แล้วสัตว์น้ำตัวเล็กก็ไปกินแพลงก์ตอน ทำให้มันเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ดังนั้น ในระยะยาว ผลกระทบมันก็ประเมินไม่ได้ ต้องอาศัยการติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง”
รวมถึงผลกระทบแบบเฉพาะหน้า ซึ่งธารากล่าวว่า ที่บริษัทบอกว่า แจ้งเหตุน้ำมันรั่วต่างๆ แล้ว แต่ข้อมูลเหล่านี้กลับไม่ถึงชาวประมงพื้นบ้าน และเหตุน้ำมันรั่วก็ทำให้ชาวประมงหากินไม่ได้ ทั้งที่หาดแม่รำพึงมีชาวประมงพื้นบ้านอยู่หลายครัวเรือนที่พึ่งการทำประมงเพื่อที่จะเอาสัตว์น้ำมาขาย
ยังไม่นับว่าทะเลในแถบนั้นกำลังฟื้นจากเหตุน้ำมันรั่วเมื่อ 9 ปีก่อน แต่กลับต้องมาเจอซ้ำอีก แม้ว่าจะไม่ใช่เหตุน้ำมันรั่วในบริเวณเดียวกัน แต่ระบบนิเวศที่เชื่อมถึงกัน ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน
ผลตามที่มา ไม่อาจแก้ไขได้ใน 1-2 เดือน
แม้จะยังไม่ทราบปริมาณน้ำมันที่รั่วออกมาอย่างชัดเจน แต่ธารากล่าวว่า ถ้าไปดูบทเรียนเหตุน้ำมันเมื่อปี 2556 ก็พอประเมินคร่าวๆ ได้ว่า เราอาจต้องใช้เวลา 5-6 ปีในการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล โดยไม่มีเหตุปัจจัยอื่นที่ทำให้การฟื้นฟูล่าช้าลง
“ส่วนการท่องเที่ยวผมคิดว่า ประมาณ 6 เดือน-1 ปี ด้วยความที่การท่องเที่ยวจะถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ในการเยียวยา และเป็นกลุ่มที่มีปากเสียงมากกว่ากลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอื่นๆ เขาก็จะทุ่มไปในเรื่องของการฟื้นฟูการท่องเที่ยว แค่ทำให้ชายหาดขาวด้วยการลอกทรายออก ก็ทำให้คนกลับมาเที่ยวแล้วแหละ คนก็ลืมง่าย”
“แต่อันนึงที่ผมคิดว่าฟื้นฟูยากมากๆ คือ การปนเปื้อนของสารพิษในห่วงโซ่อาหาร ในเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตในน้ำ เพราะจากการศึกษาของนักวิชาการหลายท่าน พบว่า DNA ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร มีการแตกตัวออก โยงไปกับเรื่องของสารก่อมะเร็งที่เป็นผลพวงจากการขจัดคราบน้ำมันเมื่อปี 56 คำถามคือ เราจะฟื้นฟูยังไงให้ห่วงโซ่อาหารปราศจากสารพิษปนเปื้อนได้ นี่เป็นเรื่องที่ยากมากๆ เพราะทะเลแถบนั้นเป็นทะเลที่มีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนของมลพิษในเนื้อเยื่อสัตว์น้ำอยู่แล้ว ในปริมาณที่อาจส่งผลต่อการบริโภคอยู่แล้ว”
ปฏิบัติการณ์ที่หยาบคายต่อท้องทะเล
ธารากล่าวถึงการใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมัน (dispersant) ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นชนิดไหน แต่กรมควบคุมมลพิษอนุมัติไปประมาณ 85,000 ลิตร ซึ่งมันเยอะกว่าปริมาณน้ำมันรั่วตามตัวเลขที่บริษัทและหน่วยงานรัฐชี้แจง
“เราใช้สารเคมีฉีดคราบน้ำมันบนผิวทะเลแล้วทำให้มันจมลงไปนี่เป็นปฏิบัติการณ์ที่หยาบคายที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพราะในหลายประเทศวิธีรับมือกับเหตุน้ำมันรั่ว เขาใช้เรือ skimmer คอยเอาคราบน้ำมันออกจากผิวทะเลให้มากที่สุด ยังไม่ต้องใช้สารเคมีอะไร ตักเอาคราบน้ำมันแล้วใส่ไว้ในเรือ แต่เครื่องมือนี้ยังไม่มีในไทย ปกติเขาต้องมี boom กั้นคราบน้ำมัน คล้ายๆ กับทุ่นลอย เครื่องมือนี้จะทำให้คราบน้ำมันไม่แผ่กระจายออกไป แต่ของเราก็ยังไม่มีเครื่องมือนี้”
นอกจากนี้ ธารายังกล่าวอีกว่า หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง อุตสาหกรรมน้ำมัน หรือตัวบริษัทเอง ก็พยายามที่จะทำให้เรื่องนี้มันจบเร็วที่สุด ด้วยการหลีกเลี่ยงการนำเสนอข้อมูลบางอย่าง เช่น ไม่มีการชี้แจงสาเหตุของน้ำมันรั่วอย่างชัดเจน อ้างว่าท่อมันเก่าก็เลยรั่ว แต่แค่นี้ไม่เพียงพอ อีกทั้ง ทั้งทางบริษัท หรือหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบภายใต้ศูนย์ควบคุมอุบัติภัยน้ำมันรั่วเอง กลับทำอะไรกับเรื่องนี้มากไม่ได้
นับตั้งแต่เปิดปีมา มีเหตุน้ำมันรั่วแล้ว 3 ครั้ง และนี่คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ธารามองว่า เราควรจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเพื่อที่จะเรียกร้องให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคี คือมีฝ่ายบริษัท รัฐบาล และภาคประชาสังคม แต่ว่าสำหรับในประเทศแล้ว คณะกรรมการไตรภาคีอาจจะไม่ใช่คำตอบต่อเรื่องนี้
“ที่ผ่านมามีไตรภาคีในภาคแรงงาน แต่ถ้าเราต้องการข้อมูลที่เที่ยงตรง เป็นวิชาการ คณะกรรมการอิสระต้องไม่ขึ้นและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับหน่วยงานรัฐโดยตรง เช่น กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า อาจจะมีผู้เชี่ยวชาญที่มาจากมหาวิทยาลัย นักวิชาการที่สามารถดึงมาเป็นคณะกรรมการอิสระได้ โดยที่นักวิชาการนั้นต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับทางบริษัทด้วย และที่สำคัญคือต้องมีตัวแทนของชาวประมงพื้นบ้าน หรือตัวแทนของธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่นั้น ตัวแทน NGO ที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมบริเวณนั้น เพื่อที่จะสืบสาวราวเรื่องให้มีข้อมูลที่ชัดเจนและโปร่งใส ซึ่งข้อมูลนี้ต้องชี้แจงต่อสาธารณะและสื่อมวลชนอย่างตรงไปตรงมา”
ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ที่มาบตพุดเท่านั้น ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เรามีเหตุน้ำมันรั่วมาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่เหตุน้ำมันรั่วที่เกิดจากเรือในพื้นที่ จ.ชุมพร และกรณีของเรือที่ไม่ทราบรายละเอียด ที่ปล่อยน้ำมันแถบชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราช
“มีเหตุน้ำมันรั่ว 3 ครั้งในเดือนเดียวกันของปีนี้ มันสะท้อนให้เห็นว่า เราไม่ต้องถามเลยว่าน้ำมันรั่วมันจะหยุดยังไง หรือเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ตราบที่ทิศทางการพัฒนาประเทศมันเป็นอย่างนี้ คือ พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล รัฐบาลบอกว่าเราจะเป็น low carbon หรือ Go Net Zero แต่เหตุที่เกิดขึ้นมันย้อนแย้งมากๆ ดังนั้น มันต้องทบทวนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศใหม่ด้วย ไม่งั้นน้ำมันรั่วยังไงก็เกิดขึ้นอีก”