หน้ากากก็ต้องหา สินค้าก็ต้องกักตุน ใดๆ ล้วนต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ยิ่งเป็นคนจน ทำไมถึงมีคนบอกว่าจ่ายแพงกว่าในสินค้าชนิดเดียวกัน?
ทุกมาตรการป้องกันโรคระบาด COVID-19 ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดแรกๆ เราถูกบังคับให้หาซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ และพกเจลแอลกอฮอล์ติดกระเป๋าไว้ตลอดเวลา จนมาถึงจุดที่ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดค่าเดินทาง แต่เมื่อการใช้ชีวิตในบ้านก็จำเป็นจะต้องกินต้องใช้ ผู้คนจึงออกไป ‘กักตุน’ สินค้ากันอย่างเลือกไม่ได้ ไม่ว่าจะ ‘รวย’ หรือ ‘จน’ ก็ตาม
แต่การกักตุนครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นเส้นแบ่งระหว่างคนจนกับคนรวยชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะความสามารถในการกักตุนได้มากหรือน้อย แต่ยังทำให้เห็นว่าท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ ยิ่งเป็นคนจนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องจ่ายแพงมากเท่านั้น
คนจนต้องจ่ายแพงกว่ายังไง?
‘เป็นคนจนจึงจ่ายแพง’ ประโยคย้อนแย้งที่น่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง แต่อาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเท่าไหร่ เพราะคิดแล้วคิดอีก การเป็นคนจนนั้นจะแพงได้ยังไง ในเมื่อจนก็ต้องแปลว่ามีน้อย แต่ยิ่งในสถานการณ์ที่กระตุ้นให้คนต้องกักตุนสินค้าจำนวนมาก เพื่อเลี่ยงการออกจากบ้านไปซื้อบ่อยๆ ก็ยิ่งทำให้เราเห็นชัดว่าการจะเป็นคนจนนั้นต้องมีต้นทุนที่สูงแค่ไหน
‘กระดาษทิชชู่’ สินค้าจำเป็นที่ทั้งคนจนและคนรวยต้องมีติดบ้าน เป็นตัวอย่างผลการศึกษาที่ถูกนำมาอธิบายบ่อยสุดว่าทำไมการเป็นคนจนนั้นถึงแพง โดยคนจนมีการจ่ายค่ากระดาษทิชชู่มากกว่าคนรวยถึง 5.9 เปอร์เซนต์ เนื่องจากพวกเขาไม่มีกำลังซื้อทิชชู่เป็นแพ็ค หรือซื้อ 6-12 ม้วนในทีเดียว (ที่มักจะมีการเสนอราคาที่ถูกกว่า) แต่พวกเขามีกำลังซื้อแค่ครั้งละม้วนสองม้วน ซึ่งเป็นจำนวนที่ไม่รวมอยู่ในโปรโมชั่น หรือหมายถึงการซื้อใน ‘ราคาเต็ม’ ถ้านึกภาพไม่ออก ลองสมมติทิชชู่ม้วนละ 12 บาท จะเห็นว่าคนรวยซื้อแพ็ค 6 ชิ้นในราคาสุดคุ้ม 64 บาท แต่คนจนซื้อครั้งละ 1 ม้วน 6 ครั้ง รวมทั้งสิ้นเป็น 72 บาท
ใครจะรู้ว่าจู่ๆ วันหนึ่งหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือจะกลายมาเป็นสินค้าจำเป็นพอๆ กับกระดาษทิชชู่ ทำให้ไม่ว่าคุณจะรวยหรือจน คุณจะต้องออกจากบ้านพร้อมหน้ากากบนหน้าและเจลล้างมือในกระเป๋า และเมื่อมาตรการเคร่งครัดจนถึงขั้นที่เราต้องกักตัวไม่ออกจากบ้าน หรือเคอร์ฟิวไม่ออกไปไหนหลังเวลา 4 ทุ่ม การกักตุนสินค้าจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำเพื่อความอยู่รอด
ด้วยเหตุนี้ คนรวยที่มีกำลังซื้อมากกว่า ก็ย่อมกักตุนสินค้าได้มากกว่า และยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังได้ของในราคาที่ ‘ถูกกว่า’ จากการซื้อยกแพ็ค ซื้อให้ครบจำนวนที่ได้ของแถม หรือซื้อเพื่อรับของสิทธิพิเศษในการลดครั้งต่อๆ ไป ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังมีพื้นที่ในการกักเก็บสินค้าได้มากกว่า เช่น ตู้เย็นที่ใหญ่พอจะใส่อาหารสำรองได้หลายชิ้น เป็นต้น
แต่สำหรับคนไม่มีเงินก้อนใหญ่พอที่จะซื้อสินค้าแพ็ค (หรือแม้แต่ 2 แถม 1 ก็ตาม) ไม่มีกำลังซื้อไข่ไก่ยกแผง ที่แม้จะลดราคาแล้วแต่ก็ยังแพงอยู่ดี พวกเขาจึงเลือกซื้อแค่ชิ้นสองชิ้นให้พออิ่มในแต่ละวัน ซึ่งแน่นอนว่านั่นไม่อยู่ในกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตั้งเอาไว้ว่า ยิ่งคุณซื้อเยอะ คุณก็จะยิ่งจ่ายน้อย ทำให้พวกเขาจำเป็นจะต้อง ‘ซื้อน้อย จ่ายเยอะ’ ด้วยการจ่ายสินค้าในราคาเต็ม ไม่มีส่วนลด แถมยังพ่วงมาด้วยภาษีทางอ้อมที่จ่ายไปโดยไม่รู้ตัว
คนจนกับภาษีที่มองไม่เห็น
ท่านนายกฯ เคยกล่าวไว้ว่า “มีคนเสียภาษีจริงๆ แค่ 4 ล้านคนที่อยู่ในเกณฑ์เสียภาษีบุคคล กรมศุลกากรได้มา 1 แสนล้านบาท กรมสรรพสามิตได้มา 6 แสนล้านบาท รายได้อื่นๆ ที่เป็นของคนจนเราไม่ได้ภาษีหรอกครับ สิ่งเดียวที่ได้จากพวกเขามีเพียงแค่ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 7% ซึ่งถ้าเขาซื้อ เขาถึงเสีย”
เรื่องภาษีกับคนรวยคนจนนับเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมานาน ซึ่งคนจนถูกมองว่าเป็นผู้ที่เสียภาษีน้อยหรือไม่เสียภาษีเลย เมื่อเทียบกับคนรวยและชนชั้นกลาง ที่ต้องเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาทุกๆ ปี และประโยค ‘ถ้าเขาซื้อ เขาถึงเสีย’ ของท่านนายกฯ ก็เหมือนเป็นประโยคที่กำลังบอกเป็นนัยๆ ว่า ‘ถ้าไม่อยากเสีย ก็ไม่ต้องซื้อ’ ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้ในช่วงวิกฤตนี้
ในสถานการณ์ที่บังคับให้ทุกคนต้องซื้อ มิหนำซ้ำกำลังในการซื้อยังมีไม่เท่ากัน คนหนึ่งซื้อได้ถูกกว่า อีกคนซื้อได้แพงกว่า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่า คนจนที่จำเป็นจะต้องซื้อสินค้าราคาเต็มทีละชิ้น อาจจะมีภาระภาษีมากกว่าคนรวยเสียด้วยซ้ำ อย่างในปี พ.ศ.2561 พบว่า ภาษีของประเทศไทยทั้งหมด ได้มาจากภาษีรายได้บุคคลธรรมดาเพียงแค่ 15% เทียบกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่มีสัดส่วนถึง 37%
ฉะนั้น การจะพูดว่าคนจนไม่เสียภาษีเลยก็ไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก เพราะทุกคนย่อมเสียภาษีไม่ว่าทางใดทางหนึ่งเสมอ แม้พวกเขาจะไม่ได้เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา เหมือนกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพรายได้สูง แต่พวกเขาต้องเสียภาษีทางอ้อมในรูปแบบของ ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ จากสินค้าที่พวกเขาซื้อต่อชิ้น ซึ่งมีการเก็บภาษีในฐานที่สูงกว่าการซื้อหลายๆ ชิ้น
จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่า แล้วพวกเขาควรได้รับอะไรคืนกลับมาจากภาษีที่เสียไปบ้าง โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่ต้องแบกรับภาระหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการตกงาน หรือการซื้อสินค้าจำเป็นต่อการยังชีพที่มีราคาสูง และมาตรการเยียวยาที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างการแจกเงิน 5,000 บาท แท้จริงแล้ว ทุกครัวเรือนควรได้รับอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่มีการคัดกรองตามเกณฑ์ใดๆ เลยหรือไม่ ในเมื่อก็จ่ายภาษีเหมือนๆ กัน
การเลี่ยงจ่ายที่นำไปสู่การจ่ายที่แพงกว่าเดิม
เมื่อเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพไม่ได้ ด้วยปัจจัยด้านราคาที่สูงเกินเอื้อม ทางเลือกเดียวก็คือหันไปบริโภคสินค้าที่ตัวเองพอจะมีกำลังจ่าย สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพหรือมีมาตรฐานอะไรมากมาย แต่นั่นอาจหมายถึงการแลกมาด้วย ‘ความเสี่ยง’
แม้กระดาษทิชชู่จะคุณภาพต่ำแค่ไหน อย่างน้อยก็ไม่ได้ทำร้ายเรามากไปกว่าการบาดก้นหรือมีเศษกระดาษติดตามตัว ดังนั้นการจะซื้อกระดาษทิชชู่ราคาถูกมาใช้ จึงไม่ได้สร้างความเสียหายต่อสุขภาพมากนัก เมื่อเทียบกับหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือที่ไม่ได้คุณภาพ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคระบาดครั้งนี้มีคนจำนวนมากฉกฉวยโอกาสหาเม็ดเงินเข้ากระเป๋า ด้วยการผลิตสินค้าราคาถูก และหยิบยื่นข้อเสนอให้แก่คนที่ไม่มีกำลังจ่ายมากนัก แต่ต้องการสินค้าจำนวนมากมาครอบครอง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็พบว่า สินค้าราคาถูกที่ได้มา กลับเป็นหน้ากากอนามัยที่ไม่มีแผ่นกรอง และเจลล้างมือปลอมที่มีส่วนผสมของเมทิลแอกอฮอล์ เทียบกับคนรวยที่ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อได้มาซึ่งสินค้าที่การันตีว่ามีมาตรฐานพอ
หรือแม้กระทั่งการเลือกซื้ออาหารมากักตุนเองก็ตาม การเลือกซื้ออาหารที่ถูกและอิ่มท้อง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง และของทอดอื่นๆ ที่มีปริมาณมาก แต่มักจะไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยเซฟค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ไปได้เยอะ การเข้าถึงสินค้าที่มีราคาถูกเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐานหรืออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ จึงต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงด้านสุขภาพ ยังไม่รวมถึงไม่มีกำลังซื้อเพื่อกักตุนสินค้า ที่ทำให้พวกเขาต้องออกไปเสี่ยงซื้อของข้างนอกบ่อยๆ ท่ามกลางคนมากมาย และทำให้สุดท้ายค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุดที่คนจนต้องรับมือ ก็คือ ‘ค่ารักษาพยาบาล’
จึงดูเหมือนว่าในสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ยิ่งเป็นคนจนมากเท่าไหร่ ยิ่งจะต้องจ่ายต่อไปไม่สิ้นสุด
อ้างอิงข้อมูลจาก