ขอกราบเรียนตรงนี้นะคะว่า เมนส์ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เพราะเมนส์เป็นธรรมชาติตามเพศสรีระหญิงบ่งบอกถึงวัยเจริญพันธุ์ และการใช้ผ้าอนามัยจึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ทั้งผ้าอนามัยแบบใช้ภายนอก (sanitary pad) และ ผ้าอนามัยแบบสอด (tampon) ผ้าอนามัยจึงเป็นอีกปัจจัยในการดำรงชีวิตของเพศสรีระหญิงในแต่ละเดือน ที่สัมพันธ์กับสุขอนามัยและค่าครองชีพ และเป็นอีกสิทธิอนามัยขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องได้ เป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ที่รัฐจะต้องกระจายให้ประชาชนเข้าถึงได้ หลากหลายเหมาะกับสรีระเงื่อนไขร่างกายประชาชนหญิงที่หลากหลาย (เพราะแต่ละคนก็มีเลือดมากเลือดน้อยไม่เหมือนกัน)
มันก็คล้าย ๆ กับถุงยางอนามัยที่รัฐบริการให้ฟรี มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงได้ทุกขนาด เพียงแต่เอาเข้าจริงถุงยางหาซื้อตามร้านรวงง่ายกว่า เลือกกลิ่น ผิวสัมผัสอะไรตามรสนิยมได้มากกว่าของที่รัฐแจก
ขอกราบเรียนตรงนี้นะคะว่า เพราะด้วยสังคมปิตาธิปไตย รัฐผู้ชายหรือ male state ที่มองข้ามผู้หญิง มีนโยบายสัวสดิการต่าง ๆ ที่ gender blind ก็มักจะละเลย ไม่สนใจว่าในแต่ละเดือนผู้หญิงต้องแบกรับค่าใช้จ่ายนี้ ทั้ง ๆ ที่มันไม่ได้ราคาถูก
ลองคำนวนกัน ด้วยระยะเวลาโดยเฉลี่ยของรอบเดือนประมาณ 4-7 วัน ในวันนั้นของเดือนก็ใช้ผ้าอนามัยประมาณ 4-7 ชิ้นต่อวัน เดือนนึงผู้หญิง 1 คน จะต้องจ่ายค่าผ้าอนามัยถึง 350-400 บาท ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาทต่อวัน[1]
ผ้าอนามัยชิ้นนึงมีราคาเท่าๆ กับข้าวหนึ่งจาน
กินได้หนึ่งมื้อได้เลย เผลอๆ มื้อหนึ่งยังถูกกว่าเลย
และที่สำคัญ รัฐเองต้องไม่มุ่งหาผลประโยชน์หารายได้จากสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของประชาชน กายภาพมนุษย์ของประชาชน ‘ภาษีผ้าอนามัย’ ก็ไม่ต่างอะไรไปจากรัฐกำลังสูบกินเลือดจากการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูกของประชาชนอยู่ ซึ่งนั่นก็กำลังทำให้ผ้าอนามัยแพงขึ้นกว่าที่มันควรจะเป็น
และนี่ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลไม่ว่าจะประเทศโลกที่เท่าไร ที่ตระหนักถึงสิทธิขั้นพื้นฐานพยายามจะให้ประชาชนเข้าถึงผ้าอนามัยได้อย่างเสมอภาค ราคาถูก หรือกระทั่งฟรี เช่นเดียวกับสิทธิสุขอนามัย และการศึกษา
ในอินเดียที่มีความเหลื่อมล้ำทางฐานะเศรษฐกิจสังคมและเพศสภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่สาธารณูปโภคเข้าไม่ถึง ขนส่งสาธารณะเข้าไม่ถึง ผ้าอนามัยกลายเป็นสินค้าในตลาดมืดและมีราคาสูง และขนบธรรมเนียมชนบทที่กักตัวผู้หญิงให้อยู่แต่ในบ้านต้องพึ่งพาสมาชิกในครัวเรือนชาย ผู้หญิงอยู่ใต้การปกครองอุปการะของผู้ชาย ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้หญิงไม่ได้อิสระทางเศรษฐกิจ ขาดโอกาสสร้างรายได้ สร้างอำนาจในการจับจ่าย การขอให้ซื้อผ้าอนามัยอื่นๆ เป็นเรื่องยาก เพราะพวกหนุ่มๆ ก็ไม่ได้ตระหนักถืงความจำเป็นของผ้าอนามัย มองว่าเป็นสิ่งของสิ้นเปลืองที่ไม่จำเป็น
พวกเธอจึงขาดแคลนผ้าอนามัยทั้งๆ ที่เป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต จำต้องใช้ซ้ำ แต่ซ้ำร้ายระบบน้ำที่ไม่สะอาด และขนบธรรมเนียมบางประการ การซักผ้าอนามัยเพื่อใช้ซ้ำและตากแดดผึ่งให้แห้งฆ่าเชื้อโรคก็เป็นเรื่องยาก เด็กผู้หญิงจึงจำกัดการรับประทานอาหารและน้ำเพื่อลดการใช้ห้องน้ำ เพื่อจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ ซึ่งการปฏิบัติเหล่านี้ก็นำไปสู่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงในระยะยาว
แน่นอนสำหรับผู้หญิงฐานะดีมีชนชั้นทางสังคม ผ้าอนามัยแทบจะมาถวายถึงหน้าประตูบ้าน ในขณะที่คนยากจนยังคงต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้ได้มาสุขอนามัยขั้นพื้นฐาน
UN จึงออกมติสองฉบับ ฉบับแรกในปี ค.ศ.2010 และอีกฉบับในปี ค.ศ.2015 รับรองสิทธิมนุษยชนเรื่องสุขาภิบาลและน้ำสะอาด จี้เรื่องสุขอนามัยเป็นพิเศษ เรียกร้องให้รัฐต่างๆ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสตรีมีส่วนร่วมตามสัดส่วนในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและการปฏิบัติด้านสาธารณสุข
ปี ค.ศ.2018 รัฐบาลอินเดียจึงได้ริเริ่มโครงการ Ujjwala Sanitary Napkin สนับสนุนการผลิตผ้าอนามัยเพื่อให้ผู้หญิงเข้าถึงผ้าอนามัยในราคาถูก เด็กนักเรียนผู้หญิงที่ไปโรงเรียนได้รับแผ่นอนามัยฟรี มีตู้บริการสินค้าอัตโนมัติในโรงเรียนรัฐบาล เหมือนตู้กดน้ำ ทว่าเมื่อสถานการณ์COVID-19 แพร่ระบาด โรงเรียนปิด นักเรียนหญิงไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยได้ ซ้ำศูนย์การผลิตผ้าอนามัยจำนวนมากก็ได้ย้ายไปผลิตชุดอุปกรณ์ PPE หน้ากากอนามัยแทน[2]
แต่ล็อกดาวน์ไม่ได้หมายความว่าเมนส์จะหยุดไปด้วยไง
และอินเดียเองก็ไม่ได้จะหยุดโครงการนี้ เช่นในปี ค.ศ.2021 นี้ ณ วันที่ 8 มีนาคม เนื่องในวันสตรีสากล มุขยมนตรีแห่งรัฐอานธรประเทศของอินเดีย ก็ได้ริเริ่มการแจกผ้าอนามัยให้เด็กนักเรียนหญิงฟรี ในโรงเรียนรัฐบาลและสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนระดับอนุปริญญา เด็กผู้หญิงแต่ละคนจะได้รับผ้าอนามัยจำนวน 120 แผ่น ซึ่งรัฐบาลจะใช้เงิน 41.4 สิบล้านรูปีในการดำเนินโครงการต่อปี[3]
ในอีกซีกโลกนึง ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ ดาร์ฟูร์ตะวันออกซูดาน ผู้หญิงและเด็กสาวหลายคนต้องใช้ใบไม้แห้งและเสื้อผ้าเก่าที่สกปรกทำเป็นผ้าอนามัย แน่นอนพวกเธอรู้สึกไม่สบายหรอก และนั่นก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการใช้ซ้ำก็ถูกล้างโดยไม่ใช้ผงซักฟอกหรือตากในที่ร่ม ด้วยความเขินอายและกลัวความเชื่อโชคลางที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน ในปี ค.ศ.2020 UNICEF จึงเข้ามาช่วยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงสวัสดิการสังคมแห่งรัฐ แจกจ่ายชุดสุขอนามัยาสามัญประจำบ้านรวมถึงผ้าอนามัย สอนพวกเธอในค่ายให้เรียนรู้การใช้ผ้าอนามัย การจัดการสุขลักษณะ จนพวกเธอมีความมั่นใจและสุขลักษณะที่ดีขึ้น[4]
ขอกราบเรียนตรงนี้อีกครั้งนะคะว่า ผ้าอนามัยเป็นสินค้าที่
เพศสรีระหญิงต้องจ่ายทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็นประเทศรวยหรือจน
ผ้าอนามัยจึงเป็นประเด็นที่สัมพันธ์กับค่าครองชีพ
ปากท้อง ความเป็นอยู่ สวัสดิภาพ
และประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกและเชิดชูเลยว่า สกอตแลนด์เป็นต้นแบบและประเทศแรกในโลกที่เริ่มเสนอผ้าอนามัยฟรีจากภาษีประชาชน ให้กับประชาชน ที่ไม่ว่าใครก็ตามก็เข้าถึงได้ฟรีในที่สาธารณะ ตั้งแต่พฤศจิกายน ค.ศ.2020 อันเป็นผลจากการเคลื่อนไหวของส.ส. ตั้งแต่ปี ค.ศ.2016 เพื่อกำจัด ‘period poverty’ เพราะมีผู้รายได้น้อยหลายคนไม่สามารถซื้อผ้าอนามัยได้ และผ้าอนามัยก็ทำให้ผู้หญิงต้องมีค่าใช้จ่ายในราคาที่อาจสูงถึง 8 ปอนด์ต่อเดือน[5] ซึ่งรัฐใช้ค่าใช้จ่ายต่อปีโดยประมาณ 24 ล้านปอนด์ (32 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)[6]
อังกฤษเองก็ขยับเช่นกัน ด้วยการเริ่มมีแผนยกเลิกภาษีผ้าอนามัยในมกราคม ค.ศ.2021 และเริ่มต้นโครงการผ้าอนามัยฟรีในโรงเรียน เช่นเดียวกับหลายประเทศที่ยกเลิกภาษีผ้าอนามัยไปแล้ว อย่างมาเลเซีย บางรัฐในอเมริกา และเคนยา
ในวิกตอเรียเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดของออสเตรเลียก็ได้รับรองว่าเพราะผ้าอนามัยมีความจำเป็น ไม่ใช่ของฟุ่มเฟือย เพื่อให้นักเรียนหลายหมื่นคนสามารถเข้าถึงสุขอนามัยทุกรูปแบบ และบรรเทาการตีตรา ความวิตกกังวลเกี่ยวกับประจำเดือน เพื่อให้นักเรียนมีสมาธิสามารถโฟกัสเรื่องเรียน และแบ่งเบาค่าครองชีพของครอบครัว โครงการของรัฐ เริ่มต้นในเทอม 3 ของปีการศึกษา ค.ศ.2019 สิ้นสุดโครงการในภาคเรียน 2 ปี ค.ศ.2020 ใช้งบประมาณทั้งหมด 20.7 ล้านดอลลาร์[7]
ไม่ได้เป็นงบประมาณที่สูงเกินไปเลย กับการจ่ายเพื่อสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงได้ เมื่อเทียบกับงบประมาณบางรัฐที่จ่ายไปกับ เรือดำน้ำ เสากินรี ซุ้มประตู หรือประชาสัมพันธ์ให้แก่บางสถาบันบางครอบครัว
มากไปกว่านั้นวิกตอเรียยังมีโครงการที่จะแจกผ้าอนามัยแบบสอดให้กับนักเรียนให้ลุล่วงสำเร็จในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2023 เพราะประจำเดือนทำให้นักเรียนไม่มั่นใจในการออกกำลังกาย ไม่อยากมีส่วนร่วมในการเล่นกีฬาและกิจกรรมในโรงเรียนทุกวัน หรือโดดเรียนไปเลย การมีเครื่องแจกผ้าอนามัยในโรงเรียนทำให้ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทางการศึกษาและการจัดหาทั้งผ้าอนามัยภายนอกและผ้าอนามัยแบบสอด ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถเลือกได้ตามความต้องการ ตามความเชื่อทางวัฒนธรรม วุฒิภาวะของตนเอง[8]
เช่นเดียวกับที่นิวซีแลนด์ กำหนดให้โรงเรียนทุกโรงเรียนจะต้องบริการผ้าอนามัยตั้งแต่มิถุนายน ปี ค.ศ.2021จนถึงปี ค.ศ.2024 เพื่อให้ผู้ที่มีรายได้น้อยได้เข้าถึงผ้าอนามัยที่เลือกได้เหมาะสมกับเจ้าตัว และป้องการโดดเรียนของนักเรียนหญิงในช่วงมีเมนส์ โครงการนี้มีค่าใช้จ่ายรัฐบาลนิวซีแลนด์ 25 ดอลลาร์นิวซีแลนด์ (หรือเท่ากับ 13 ล้านปอนด์, 18 ล้านดอลลาร์)[9]
ขณะที่หลายประเทศต่างจัดสรรงบประมาณหลายล้านที่มาจากภาษีประชาชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิอนามัยขั้นพื้นฐาน ในบางประเทศนั้นกลับเฉพาะเอาภาษีของประชาชนไปใช้กับสิ่งที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อันใด ไปจัดซื้อเสาไฟกินรีหวังเป็นหน้าเป็นตาความสวยงามตามรสนิยมของอบต. ที่ราคาประมาณต้นละ 95,000 บาท ขณะที่การจัดซื้อเรือดำน้ำจีน 3 ลำ 36,000 ล้านบาท (ราคานี้ไม่รวม ค่าอะไหล่เรือดำน้ำ ค่าตอร์ปิโด ค่าทุ่นระเบิด ที่ต้องซื้อแยกต่างหากอีกนะ) ที่ซื้อไปแล้ว เป็นเงิน 13,500 ล้านบาท ด้วยงบประมาณปี 2560 และอีก 2 ลำจะใช้งบประมาณปี 2564 เป็นเงิน 22,500 ล้านบาท และจากปีงบประมาณ 63 อบจ.ทั่วประเทศ ใช้จัดสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติ ทั้งหมด 73 โครงการ สิริรวมเป็นเงิน 381,736,295 บาท
กราบเรียนนะคะว่า เอางบประมาณพวกนี้มาใช้คุ้มครองสิทธิอนามัยขั้นพื้นฐานของประชาชนดีกว่ามั้ย คิดว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ลองใช้สมองหรือสามัญสำนึกดู
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม