เดือนมีนาคมของทุกปี ก็คือฤดูกาลเสียภาษีของผู้ที่มีเงินได้สุทธิทั้งปีเกินกว่า 150,000 บาท ที่เรียกกันว่า ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’ ที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 หากไม่อยากจ่ายค่าปรับเพิ่ม
แม้ภาษีชนิดนี้จะมีมูลค่าอยู่ไม่น้อยเป็นเงินหลายแสนล้านบาท/ปี แต่ก็ไม่ใช่แหล่งรายได้แหล่งเดียวของรัฐบาลแน่ๆ ทว่าในปัจจุบันก็ยังมีคนเข้าใจผิด คิดว่าคนที่เสียภาษีให้กับรัฐบาล ‘มีแค่ไม่กี่ล้านคน’ ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดมหันต์
The MATTER กลับไปค้นข้อมูลในเอกสารงบประมาณ เพื่อดูว่า..
- รายได้ของรัฐบาลที่มาจากเงินภาษีของประชาชน มีที่มาจากอะไรบ้าง?
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคิดเป็นกี่เปอร์เซนต์?
- ภาษีชนิดไหนที่คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด?
- ใครต้องเสียภาษีอะไรบ้าง และจะมีใครไหมที่ไม่ต้องเสียภาษีอะไรเลย?
สำหรับปีงบประมาณ 2561 มีการประมาณการว่า รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บภาษีอากรสุทธิได้ราว 2.23 ล้านล้านบาท คิดเป็น 77% ของรายได้ทั้งหมด
สำหรับการเก็บภาษีอากร จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ‘ภาษีทางตรง’ คือผู้เสียภาษีจ่ายเอง (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา/ภาษีเงินได้นิติบุคคล/ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม) และ ‘ภาษีทางอ้อม’ คือเก็บจากบุคคลอื่น แต่ผู้เสียภาษีต้องรับภาระในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง (เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ภาษีสินค้าเข้า-ออก ฯลฯ)
แต่แหล่งภาษีใหญ่ๆ จะมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
มีผู้เสียภาษีอยู่เพียง 4 ล้านคน (จากผู้ยื่นแบบทั้งหมด 10 ล้านคน) รวมเป็นเงิน 3.32 แสนล้านบาท คิดเป็นราว 15% ของภาษีทั้งหมด
2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เก็บจากบริษัทต่างๆ ราว 1.5 แสนแห่ง ประมาณกันว่าจะมีรวมกันราว 6.51 แสนล้านบาท คิดเป็น 29% ของภาษีทั้งหมด
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
หรือที่มักเรียกกันว่า VAT (value-added tax)โดยผู้เสียภาษีชนิดนี้ก็คือ ‘ทุกคน’ ที่ซื้อสินค้าและบริการจากร้านค้าต่างๆ เพราะจะมีการบวก VAT ไว้ในราคาขายแล้ว คิดเป็นเงินรวมกันราว 8.21 แสนล้านบาท หรือ 37% ของภาษีทั้งหมด
ส่วนที่เหลืออีก 19% คิดเป็นเงินกว่า 4.26 แสนล้านบาท จะมาจากภาษีอากรประเภทอื่นๆ เกือบสิบประเภท เช่น ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ภาษีสินค้าเข้า-ออก เป็นต้น
นั่นแปลว่าแทบทุกคนจะต้องเสียภาษีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอ