ความรักเก่า ชีวิตที่เคยมีใครอีกคนมันจบลงไปแล้ว ต่อไปนี้ต้องมีแต่ดีขึ้นเท่านั้น
คิดได้ดังนั้น โลก – ยิ่งโลกในยุคดิจิทัล ก็ไม่เคยจะใจดีกับความมั่นหมายของเรา ทั้งเฟซบุ๊ก ทั้งอินสตราแกรมต่างพากันส่งภาพคนรักเก่าของเรามาให้ตำตาตำใจเล่น ในภาพก็ประมาณว่า…เออ ชีวิตที่ไม่มีเรา เขาก็อยู่ดีมีสุขไม่น้อย ชีวิตดีกว่าตอนมีกันอีกละมั้งเนี่ย ปาร์ตี้ เดินทางท่องเที่ยว แล้วอีกคนนั้นใคร เดทใหม่แน่เลย ดูดีเว้ย ดีกว่าเราปะเนี่ย
ซึมยิ่งกว่าส้วมก็งานนี้
นั่งเศร้าน้ำตาซึมไปพักหนึ่ง พอสติกลับมา เราก็จะมีความคิดเป็นสองทางใหญ่ๆ เอาล่ะฉันจะต้องอัพรูปชีวิตดีๆ เพื่อบอกว่าชีวิตฉันหลังจากเลิกกันแล้วก็ดีไม่แพ้กันนะเฟ่ย กับอีกทางคือไม่อยากเห็น ไม่อยากรับรู้อีกแล้ว บล็อคซะเลยดีกว่ามั้ย ทั้งสองทางถึงจะมีนัยการประกาศว่าฉันไม่แคร์ ไม่แยแสการไม่มีเธออีกต่อไปแล้ว แต่สุดท้ายไม่ว่าทางใดทางหนึ่งต่างก็เป็นสัญญาณว่าเรายังคงแคร์อยู่ เลิกกันแล้วให้มันจบๆ ไปดูเหมือนจะไม่มีจริง
เอาชนะการเลิกรา
มีการให้คำอธิบายอาการพยายามบอกว่าฉันดีขึ้นเมื่อไม่มีเธอว่า เป็น ‘การเอาชนะการเลิกรา’ (wining the break up) พอใช้คำว่า ‘เอาชนะ’ ขึ้นมาอธิบายก็ดูเหมือนว่า คนเคยเลิกหรือคนอยู่ในภาวะหลังเลิกต่างเข้าใจดีว่าเราพยายามจะเอาชนะอะไร เพื่อให้เรารู้สึกดีจากการเลิกรา ฟังดูงี่เง่าแต่เราต่างก็เป็นกันเนอะ เราต่างพยายามบอกว่าเลิกกันแล้วชีวิตมีแต่จะดีขึ้นไม่ว่าในแง่หน้าที่การงาน ไลฟ์สไตล์ ความแซ่บของตัวเรา และที่สำคัญคือการหาเดทใหม่ที่แซ่บกว่าคนเก่า เราต่างอยากลบความรู้สึกของการเป็นผู้แพ้ (loser) จากเกมของความรักความสัมพันธ์
ตารางคลาสสิกชื่อ The Kübler-Ross model อธิบายถึงจิตวิทยาในสถานการณ์รับมือกับการสูญเสียว่า เมื่อเราสูญเสียคนรักไป ขั้นแรกเราจะตกจะอยู่ในขั้นปฏิเสธ (denial) คืออยู่ในขั้นที่ยังเชื่อ (หลอกตัวเอง) ว่าเรายังมีเขาอยู่และสามารถฟื้นความรักที่สลายไปแล้วกลับมาได้ แต่เมื่อเราผ่านขั้นแรกไปแล้ว ขั้นที่สองเราจะมีท่าทีต่อการสูญเสียด้วยความเกรี้ยวกราด (anger) และขั้นที่สามคือขั้นต่อรอง (bargaining) คือเป็นการต่อรองกับตัวเองในอดีตว่าถ้าได้ทำสิ่งนี้สิ่งนั้นไปก็จะไม่เป็นแบบนี้ ซึ่งการต่อรองนี้อาจนำไปสู่การชดเชยและการปรับเปลี่ยนปัจจุบันเพื่อประกันว่าในอนาคตจะไม่ผิดพลาดหรือเป็นอย่างเคยอีก
ดังนั้นขั้นความรู้สึกของการพยายามเอาชนะการเลิกราดูจะเป็นความรู้สึกที่ปนเประหว่างความโกรธเกรี้ยวและการต่อรอง คือเรามีท่าทีกับการสูญเสียด้วยความรุนแรง ทำนองว่า ได้! เลิกกันแล้ว จะมีชีวิตที่ดีกว่าให้ดู ถึงเธอจะไปเดทกับยัยคนนั้น แต่ฉันนี่ดีกว่าตั้งเยอะ
แม้ว่าเจ้าตารางขั้นตอนความสูญเสียจะเป็นความคิดที่ถูกท้าทาย คือตอนหลังคุณหมอ Elisabeth Kübler-Ross ผู้คิดก็บอกว่า อารมณ์คนเรามันไม่ได้เป็นขั้นๆ แบบนั้น แต่คือความสับสนปนเปที่เรามีปฏิกิริยากับความสูญเสีย แต่ท่าทีของการตอบสนองด้วยความโกรธและการพยายามต่อรองก็ดูจะเป็นสิ่งที่เราต่างเผชิญในขณะที่สูญเสียคนหรือสิ่งที่เรารักไป
มีแพ้มีชนะ หรือความรักคือเกม?
จากความโกรธเกรี้ยวและการต่อรองดูจะเป็นท่าทีที่เรามักมีเมื่อเราเสียของรักไป ผลกลายเป็นว่า เราก็หมกมุ่นอยู่กับการ ‘เอาชนะ’ คนรักเก่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มีงานศึกษาวัยรุ่นระดับมหาวิทยาลัยบอกว่า เกือบ 1 ใน 4 (23%) ของคนที่เพิ่งเลิกกันใหม่ๆ มีแรงจูงใจแบบแก้แค้น คือเลิกปุ๊บ ก็รีบไปโดดไปหาคู่นอนใหม่ๆ ยิ่งเจ็บร้าวจากรักมากแค่ไหน ก็ยิ่งมีแนวโน้มว่าจะใช้เซ็กซ์ในการเอาชนะทดแทนความรักที่เพิ่งแหลกสลายไป
ดูเหมือนว่า ถ้าเรายังคงเอาคนรักเก่ามาเป็นศูนย์กลางหรือแรงผลักดันในการใช้ชีวิต ไม่ว่าเราจะหาคนใหม่เพื่อบอกว่าฉันหาได้ดีกว่าเก่า หรือการพยายามแสดงออกในชีวิตว่าชีวิตฉันดีแค่ไหนเมื่อไม่มีเธอ ดูเหมือนว่าผลของการพยายามเล่นเกมเพื่อเอาชนะสิ่งที่เสียไปจะยิ่งส่งผลร้ายกลับมาที่เรามากขึ้น ความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่พยายามสร้างเพื่อประชดหรือทดแทนคนเดิมมีหรือจะยั่งยืน ชีวิตที่แสดงออกจนล้นเกินเพื่อสร้างความอิจฉาจะนำไปสู่สันติในหัวใจได้จริงหรือ? กระทั่งการกดปุ่มบล็อคเพื่อบอกว่าฉันไม่สนใจเธออีกต่อไป สุดท้ายก็อาจเป็นสัญญาณของความแยแสสนใจอยู่ดี
เราทุกคนอาจเป็นคนแพ้ ยิ่งถ้าความรักนั้นมันเริ่มจากการเล่นเกม ความรักไม่ควรเป็นเรื่องของเกมตั้งแต่ต้น ไม่น่าจะต้องกังวลว่าเราจะเป็นฝ่ายแพ้หรือฝ่ายชนะ การเลิกร้างในที่สุดคือความเจ็บปวดของทุกฝ่าย และแน่นอนว่า หลายครั้งความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่ดีต่อการเติบโต เราควรสวมกอด ยอมรับ และในที่สุด – หวังว่าเราจะผ่านพ้นช่วงเวลาอันน่าเวียนหัวนั้นไปได้
การเอาชนะการเลิกราอย่างหมดจดได้น่าจะอยู่ที่ว่าเราสามารถก้าวพ้นและก้าวผ่านความสัมพันธ์เดิมๆ พร้อมที่จะเดินไปสู่ความสัมพันธ์ใหม่ๆ โดยไม่มีความรู้สึกอะไรติดค้าง ไม่มีความรู้สึกทั้งแพ้หรือชนะในความสัมพันธ์ครั้งก่อน
ถึงจุดหนึ่งเมื่อเราก้าวพ้น ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้อาจจะไม่สลักสำคัญอะไรอีกต่อไป มากไปกว่านั้น เมื่อเรายอมรับและรักษาความพ่ายแพ้และความเจ็บปวดได้แล้ว ในที่สุด เจ้าความพ่ายแพ้และความเจ็บปวดนั้นอาจเป็นสิ่งที่เรายินดีรักษาไว้
เพื่อย้ำเตือนถึงรักที่ผ่านพ้นไป
อ้างอิงข้อมูลจาก