แจ้งเกิดจากการเปิดโปงขบวนการ IO ลายพรางในสภาฯ แต่ก่อนหน้านี้ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ส.ส.จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ก็เป็นหัวหมู่ทะลวงฟันของพรรคสีส้มในการตั้งคำถามกับกองทัพอยู่แล้ว แม้เจ้าตัวจะบอกว่าไม่ใช่สิ่งที่ถนัด และไม่ใช่สิ่งที่อยากทำมาแต่แรก!
“สังคมไทยมันแปลก คนตั้งคำถามในใจเยอะ แต่มักจะบอกว่าอย่าไปถามเลย เรื่องแบบนี้อย่าไปถามเลย หรือบางทีก็ลือกันไปในทางร้ายๆ ผมเลยถามเพื่อให้โอกาสกองทัพได้เคลียร์ตัวเอง ..แม้คำตอบที่ผ่านมา จะไม่เคลียร์เลยสักเรื่องก็ตาม”
The MATTER ไปคุยกับวิโรจน์ในบ่ายวันธรรมดา ที่ตึกไทยซัมมิท สถานที่ตั้งเดิมของพรรคอนาคตใหม่ (เราไปสัมภาษณ์ก่อนเปิดตัวพรรคก้าวไกล) เขาขอว่าอย่าถ่ายรูปให้ติดโลโก้อดีตพรรคอนาคตใหม่ ไม่เช่นนั้นอาจจะถูก กกต.ปรับเงินกรรมละ 2 หมื่นบาท
วิโรจน์บอกเราก่อนเจอตัวแล้วว่า ไม่ค่อยอยากคุยเรื่องเครียดๆ คำถามช่วงแรกเลยไล่เรียงชีวิตในวัยเด็กของเจ้าตัว ก่อนที่บทสนทนาจะพาไปลงท้ายเรื่อง ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ในท้ายที่สุดจนได้ เพราะนี่คือสิ่งที่ ส.ส.สมัยแรกรายนี้ติดตามมาโดยตลอด ผ่านการตั้งคำถามที่สังคมสงสัย และจนป่านนี้ หลายๆ คำถามก็ยังไม่ได้รับคำตอบจากกองทัพเสียที
กองทัพเข้ามาปฏิรูปประเทศได้ 5-6 ปีแล้ว ถึงเวลาที่สังคมจะตั้งคำถามกลับว่า แล้วกองทัพเองล่ะได้ปฏิรูปตัวเองแล้วหรือยัง?
วัยเด็กเป็นคนยังไง เติบโตมาแบบไหน
ก็เป็นลูกชาวบ้านคนนึง แม่ก็ไม่ร่ำรวย เป็นคนชั้นกรรมาชีพ พ่อก็เป็นเซลส์ขายผ้าที่สำเพ็ง ยุคนั้นคนยังซื้อผ้าไปตัดเอง พ่อก็ไต่เต้าจากเซลส์ขายผ้า สมัยก่อนเรียกหลงจู๊ เติบโตขึ้นมาเป็นผู้จัดการร้าน ส่วนคุณแม่ก็เป็นแม่บ้าน เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวบ้าง ในวันเด็กผมจึงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด แต่การที่ได้เรียนหนังสือ เหตุผลง่ายๆ คือ เราต้องขอบคุณพ่อแม่เราที่เป็นเจน baby boomer ที่ยอมใช้ชีวิตอย่างลำบากเพื่อให้ลูกได้เรียนหนังสือ ดังนั้นเราจะไม่เคยเห็นพ่อแม่ไปเที่ยวหรือซื้อของเพื่อตอบสนองความอยากได้อยากมีของตัวเองเลย เงินทั้งหมดที่พ่อแม่หามาก็ให้ลูกไปเรียนหนังสือ
อย่างพ่อผม วันนี้แกเสียไปแล้ว สมัยก่อนแกก็คุยกับแม่ผมประจำว่า หนทางเดียวที่จะทำให้พวกผม พี่น้องทั้งสามคนหลุดพ้นจากความยากจนได้คือ 1.ทำยังไงก็ได้ให้มีความรู้ 2.ทำให้รู้จักคน 3.การหาเงิน พ่อจะพูดกับผมเสมอว่าเนื้อหาที่เรียนหนังสือไม่เห็นมีใครสอนวิธีหาเงินให้คุณเลย ครอบครัวผมเป็นคนไทยเชื้อสายจีน ปิดเทอมพ่อก็พาผมไปช่วยที่ร้าน ช่วยขายผ้า ช่วยแบกผ้า แล้วก็ได้ค่าจ้างด้วยนะ ทำให้เรารู้คุณค่าของเงิน รู้ว่ากว่าจะหาเงินมามันยาก ไม่ใช่แค่เรียนหนังสืออย่างเดียว
สมัยเด็กๆ ฝันอยากเป็นอะไร
ไม่ได้ฝันอะไรเลย ครูให้เขียนอะไร ก็เขียนไปเรื่อยเปื่อย ตอบไม่ได้เลยว่าอยากเป็นอะไร แต่เรามีความเชื่ออย่างนี้ครับ มีรุ่นพี่คนนึงสมัยผมเรียน ม.1 ผมอ่านประวัติเขาจากที่โรงเรียนไปสัมภาษณ์แล้วผมทัชมากๆ พี่เขาเป็นลูกชาวบ้านยากจนมาก อยู่แถวถนนจันทร์ เขาพูดว่า “คุณอย่าเอาความยากจนมาสรุปตัวเอง แล้วไม่พยายาม ถ้าอย่างนั้นคุณจะไม่มีทางฉุดตัวเองให้พ้นจากความยากจนได้เลย และจงยอมรับว่าตัวเองจน เพราะปัญหาของคนจนหลายๆ คนคือไม่ยอมรับว่าจน แต่เมื่อเราก็ตามที่เรายอมรับว่าตัวเองจน เราจะไม่อายอีกแล้ว” ผมก็คิดอย่างนี้เรื่อยมา
ถามว่าฝันอยากเป็นอะไร เราก็อยากให้ชีวิตมันดีขึ้น ฝันว่าทำงานแล้วเราอยากคืนความสุขของชีวิตให้กับพ่อแม่บ้าง คิดแค่นี้เลย เมื่อไรก็ตามที่เราตั้งตัวได้ก็อยากจะคืนดอกเบี้ยความสุขให้กับพวกเขา นี่คือความฝันของผม
สมัยประถมผมเรียนโรงเรียนชื่อวัดพระแม่มารีย์ชาย ตอนนี้เปลี่ยนเป็นพระแม่มารีย์สาทร แล้วก็สอบเข้า ม.1 ได้ที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม ตอนนั้นมีโครงการส่งเสริมและพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ (สพพ.) ที่ให้เรียน ม.ปลายแค่ 2 ปีแล้วสอบข้ามชั้นไปมหาวิทยาลัยได้เลย จบ ม.5 ผมก็สอบเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทำไมเลือกเรียนวิศวะ
เราชอบคณิตศาสตร์ ชอบฟิสิกส์ ชอบเลาะนู่นเลาะนี่ ประกอบนั่นนี่ ต่อวงจรนั่นนี่ ก็รู้สึกว่า เออ น่าจะใช่ แล้วสมัยก่อน เด็กที่มีผลการเรียนที่ดีหน่อย โดยเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่เรียนแพทย์ก็มักจะวิศวะ แต่เหตุผลที่ไม่เรียนแพทย์ก็เพราะกลัวผี (ยิ้ม) แล้วก็ไม่ชอบเรียนชีวะ ไม่ชอบจำ แต่จริงๆ แพทย์ไม่ได้อยู่กับผีนะ แต่ตอนนั้นก็คิดแค่นี้ ก็เลยเรียนวิศวะ แล้วก็เลือกเรียนยานยนต์จนจบ ที่เลือกยานยนต์เพราะตอนนั้นประเทศไทยเป็น Detroit of Asia นะ ตอนนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์มันรุ่งจริงๆ แต่พอจบปุ๊บมาเจอวิกฤติเศรษฐกิจทันทีเลย จบปี 2541 แต่เราก็โชคดีมาก เพราะไปทำงานที่บริษัท Izusu ที่ปู่เจ้าสมิงพราย
ถ้าจะเล่าเสริมนิดนึง ตอนเรียนวิศวะมีความคิดแปลก เพราะเพื่อนหลายๆ คนไปอยู่ชมรมวิชาการ ชมรมโรบอต ตอนอยู่กับเพื่อนก็รู้แล้วแหละว่าเพื่อนชอบอะไรที่จริงจัง แต่เราไม่จริงจังขนาดนั้น ก็เลยไปเลือกชมรมวาทะและศิลปะบันเทิง ก็เป็นนักโต้วาทีคณะ ทำกิจกรรมเปิ่นๆ ฮาๆ ทำสไลด์มาเล่าเรียน ทำหนังสือพิมพ์คณะ เขียนบทความบ้าง แต่ก็จะสไตล์ขำๆ แซวๆ สนุกๆ
เลยได้เริ่มพัฒนาทักษะในการสื่อสารกับคน จากที่วิศวะน่าจะอยู่กับเครื่องจักรมากกว่า
ทั้งการเขียนและการพูด มันก็เลยเป็น add-on ของชีวิตเราครับว่า เราเป็นคนที่พูดได้ แล้วการเขียนสไตล์วิศวะต้องใส่แก๊กใส่มุก ทำยังไงให้คนไม่น่าเบื่อ และก็ถูกฝึกให้พูดว่า เรื่องทางการต้องจริงจังนะ เรื่องนี้พูดให้น้องๆ ฟังต้องทำให้เขาสนุก ให้เขามีกำลังใจ ให้เขารู้สึกบางอย่างกับสังคม มันทำให้เราสนุกกับการควมคุมสาระที่จะส่งไปเพื่อให้ผู้รับสารรู้สึกแบบเดียวกับที่เรารู้สึก ต่อมาก็พัฒนาเป็นทักษะการเขียน
สมัยเด็กๆ ชอบพูดไหม หรือเพิ่งมาชอบตอนเข้าชมรม
ตอนมัธยมไม่เคยเป็นนักโต้วาทีเลย แต่ชอบสอนเพื่อน เวลาเพื่อนทำการบ้านไม่ได้ เราอธิบายแล้วเขาไม่เข้าใจ เป็นคนอื่นอาจจะช่างมัน พูดแล้วไม่เข้าใจเอง แต่ของเราแปลก คิดว่า เห้ย ทำไมมันไม่เข้าใจ แสดงว่าเรายังอธิบายไม่ดีหรือเปล่า ต้องลำดับเรื่องราวยังไง ก็เตรียมตัวแล้วไปอธิบายใหม่ ปรากฎว่าเพื่อนเข้าใจ เห้ย วิโรจน์อธิบายเก่งว่ะ เข้าใจเลย มันก็ทำให้เราให้ความสำคัญกับลำดับการเล่าเรื่องตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา แต่ไม่มีโอกาสเป็นนักพูดของโรงเรียน แต่ได้มีโอกาสอธิบายให้เพื่อนฟัง และทำชีทสรุป
แต่จุดเริ่มต้นของการพูด ไม่ได้อยู่ที่การพูดตรงๆ มันอยู่ที่การตั้งคำถาม เชื่อไหมว่า ป.1-3 ผมเป็นคนเรียนไม่เก่งเลย ในห้องมี 40 คน ผมสอบได้ที่ 38 เกือบบ๊วย แม่รู้สึกว่าเราเรียนแย่ ก็ให้ไปนั่งทำการบ้านกับอาที่อยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ใช่ญาติ แต่นับถือเป็นอา เขาก็สงสัยว่า เรื่องง่ายๆ แค่นี้ทำไมไม่เข้าใจ ทำไมไม่ถามครูล่ะ ผมก็ตอบว่า กลัวครูตี คุณอาท่านนั้นก็เลยบิ้วผมว่า ไม่หรอก จะมีครูที่ไหนตีล่ะ ถามเลย ถ้าครูตีมาเอารางวัล ผมก็ลองถามเลย เห้ย ครูก็ไม่ตีเรานี่หว่า ก็เลยกลายเป็นคนที่ว่า เมื่อไรเรียนไม่เข้าใจ ก็จะถาม สมองมันจะเริ่มผลิต เอ๊ะ นั่น เอ๊ะ นี่
พอเรามีความปลอดภัยในการถาม สมองจะเริ่มผลิตข้อสังเกตในการตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็จะถามคำถามที่ฉลาดหรือมีประโยชน์มากขึ้น
มันเลยทำให้เราเรียนหนังสือสนุกมาก นี่เลยทำให้เราเป็นคนกล้าถาม และกล้าหาประเด็นที่แหลมคม ส่วนทักษะการพูดมาพัฒนาทีหลัง แต่เริ่มจากการกล้าถามก่อน
โดยตัวตนเป็นคนกล้าถามมาตั้งแต่เด็กแล้ว
เริ่มตอน ป.4 เพราะ ป.3 เทอมหนึ่งเรายังได้เกือบที่โหล่อยู่เลย ป.3 เทอมสอง ครูประจำชั้นก็บอกว่า มีเซอร์ไพรส์คนที่สอบได้ที่สามไม่ใช่คนหน้าเดิมๆ เพื่อนๆ พอประกาศว่าเป็นชื่อผม ผมก็ตกใจ เพราะไม่ได้คาดหวัง แต่รู้สึกตั้งแต่ตอนทำข้อสอบว่าทำไมมันง่ายจัง พอได้ที่สาม มันเป็น first success story ทำให้เรามั่นใจศักยภาพตัวเอง มันเหมือนกับเวลาเราโผล่พ้นโคลนตมมาสูดอากาศบริสุทธิ์ เด็กคนนั้นจะไม่ยอมกลับไปที่เดิมอีกแล้ว
ต่อให้ดีเอ็นเอเป็นคนชอบตั้งคำถาม แต่ดูจากเส้นทางการศึกษาจะไปสายวิศวะซะมากกว่า แล้วมาอยู่ตรงนี้ มาเป็นนักการเมืองได้อย่างไร
เรียนจบ ป.ตรีก็เป็นวิศวะ แต่มองอีกแง่หนึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี ลักษณะงานเหมือนควบคุมเครื่องจักรเสียมากกว่า พอทำไป 3-4 ปีก็รู้สึกว่าไม่ใช่ ไม่ใช่ว่าบริษัทไม่ดี บริษัทดีมาก ก็เลยลาออกไปทำอีกงานอีกอยากทำมากกว่า รับเงินเดือนน้อยกว่าเดิม จนเจ้านายต้องบอกว่า คุณเพี้ยนหรือเปล่า ผมบอกว่าอยากจะเปลี่ยน ซึ่งข้อดีของผมคือมีอิสรภาพทางการเงิน คือไม่ค่อยสร้างหนี้ ทำให้การไปทำงานที่เงินเดือนน้อยกว่าแต่อย่าทำมากกว่า จึงไม่ใช่ปัญหา ก็เลยมีโอกาสไปทำงานเป็นที่ปรึกษาในการสร้างระบบ ยุคนั้นจะฮิตเรื่อง ISO9000 เรื่อง Kaizen ที่เป็นการคุมคุณภาพต่อเนื่อง เรื่อง KPI ผมน่าจะเป็นคนแรกๆ ที่เอา balance score card และ KPI มาใช้ในองค์กรต่างๆ ในฐานะที่ปรึกษา
หลังจากนั้นรุ่นพี่ก็ชวนไปเรียนบริหาร ก็ไปเรียน MBA ที่จุฬาฯ แล้วก็มาทำงานธุรกิจค้าปลีกหนังสือ ซึ่งมันสนุกตรงที่ ทฤษฎีบริหารต่างๆ มันจะทำอะไรไม่ได้เลย ถ้าไม่มีข้อมูล แต่ถ้าเรามีข้อมูลมหาศาลและรู้จัดวิธีการจัดการข้อมูล ยุคนั้นยังไม่มีคำว่า big data แต่รู้แล้วว่า transaction เป็นแสนเป็นล้าน ถ้าเอามาจัดการจะสามารถจัดการภายในร้านได้มากขึ้น และเอาข้อมูลเหล่านั้นมาบริหาร logistic ด้วย ก็ทำงานอย่างนั้นเรื่อยมา แต่อยู่ดีๆ ก็คิดได้ว่า ตอนเรียน MBA เราชอบเศรษฐศาสตร์ทั้งจุลภาค-มหภาค ก็เรียนตัดสินใจไปเรียน ไม่ได้คิดอะไรมาก แค่อยากรู้ ก็มีคนแนะนำไปเรียน ป.เอกที่นิด้า ก็ได้เอาคณิตศาสตร์ที่ชอบมาสร้างโมเดลอธิบายสถานการณ์ต่างๆ ก็เลยเรียนสนุกมาก และยิ่งมีทุนสนับสนุน ก็ยิ่งทำให้เราเรียนต่อไป
พอมีมุมมองด้านเศรษฐกิจ เศรษฐศาสตร์ และการที่เราอยู่ในแวดวงอุตสาหกรรม เคยเป็นที่ปรึกษาภาคธุรกิจด้วย ทำให้รู้สึกว่า การเมืองเป็นเรื่องใกล้ตัวมากๆ เลย นโยบายและกฎหมายต่างๆ มันส่งผลต่อธุรกิจและประชาชนจริงๆ เศรษฐศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องของธุรกิจ แต่เป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากร การที่รัฐเก็บภาษีบางอย่าง มันชี้นำสังคมให้ไปอยู่อีกจุดๆ หนึ่งได้เลย
จริงๆ ผมติดตามการเมืองมาโดยตลอด แต่ไม่อยากเป็นนักการเมือง
ติดตามระดับไหน ถึงขนาดจำชื่อนายกฯ ได้ทุกคนเลยไหม
จำชื่อนายกฯ ได้ทุกคน แต่ผมเป็นคนแปลก ถ้ามีข่าวโจมตีว่านักการเมืองคนนี้เลว ผมจะไม่เชื่อทันทีว่าเลว ผมจะไปอ่านก่อนว่าเขาเลวร้ายอย่างไร คือตอนนั้นผมไปอ่านหนังสือ หมวกหกใบ ของเอ็ดเวิร์ด เดอโบโน คือหมวกหกใบก็คิดหกแบบ ผมเราอ่านก็ อ๋อ ที่โจมตีอย่างนั้นอย่างนี้ เขาก็มีคนเชียร์นี่ แล้วมีคนปกป้องเขาไหม ก็ไปอ่านทั้ง 2 ด้าน สุดท้ายเรารู้ว่าบางอย่างก็ถูกบางอย่างก็ผิด
คุณวิโรจน์บอกว่าตอนแรกไม่ได้อยากเป็นนักการเมือง แล้วอะไรคือจุดเปลี่ยน
เพื่อนชวนว่ามีพรรคๆ หนึ่งเพิ่งจัดตั้งขึ้นมา ชื่อพรรคอนาคตใหม่ ไปช่วยสมัครเป็นสมาชิกชุดจัดตั้ง 500 คนได้ไหม ก็พบว่า เห้ย เขาไอเดียดีนะ เราซื้อเรื่องการกระจายอำนาจ การทลายทุนผูกขาด รัฐสวัสดิการ ก็คิดว่าสนับสนุนพรรคนี้แหละ ก็ไปสมัครสมาชิก โหวตเลือกกรรมการบริหารพรรค ก็คิดว่าจะไปทำธุรกิจของตัวเอง เพราะออกจากงานประจำมาได้สักพักแล้ว ไม่ได้คิดว่าจะมาทำตรงนี้
แต่ต้องยอมรับว่า พรรคนี้มันเปิดให้คนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมเยอะ นี่คือข้อดี เราก็เข้ามาประชุมกับเขา ก็รู้สึกว่าแปลกนะ พรรคนี้ฟังเราด้วย อะไรไม่เห็นด้วย ก็ชี้แจง ทั้งที่จะฟังผ่านๆ ก็ได้ จากนั้นเขาก็ชวนเราไปทำนั่นทำนี่ ก็คิดว่าชวนเล่นหรือเปล่า เราก็ไป เขาก็พยายามทำให้รู้สึกเป็นทีมเดียวกัน ที่ไปช่วยครั้งแรกเป็นแคมเปญ ‘กรุงเทพฯ ขยับ’ เพื่อบอกคนกรุงเทพฯ ว่าจะมีเลือกตั้งแล้วนะ ยิ่งเจอก็ยิ่งมีเพื่อนเกิดความผูกพัน กระทั่งพรรคเริ่มหาผู้สมัคร ส.ส. ที่เราก็ไม่เคยสนใจเลย คิดว่าหาเสียงจบก็หมดหน้าที่แล้ว จนถูกชักชวนว่าขอชื่อมาลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หน่อย เพราะเขาอยากได้คนที่ไม่มีรอยด่างพร้อยทางการเมือง ก็ลงๆ ไป แต่พรรคขอมาก็ลงให้ก็ได้ แต่เชื่อไหมไม่คิดว่าจะได้เลย เพราะเราอยู่ในลำดับที่ 33 ก็ยังคิดว่าจบแล้วจะไปทำงานของตัวเอง แต่ด้วยกระแสตอบรับที่ดี ทำให้ปาร์ตี้ลิสต์มาถึงเรา
ก่อนเข้าพรรค รู้จักคนชื่อธนาธร ปิยบุตร มาก่อนไหม
เรารู้จักเขา แต่เขาไม่รู้จักเรา ถ้าสองท่าน ผมรู้จัก อ.ปิยบุตรมากกว่าคุณธนาธร รู้คุณธนาธรที่เคยไปม็อบ แต่ไปในฐานะผู้ร่วมชุมนุม ไม่ใช่แกนนำพรรค ตอนนั้นยังเข้าใจผิดเลยว่าเขาก็เป็นเครือข่ายเดียวกับคุณสุริยะ แต่พอมาเข้าพรรค อ้อ คนละมุมมองทางการเมือง แม้เป็นญาติกันจริง แต่เราติดตาม อ.ปิยบุตรในฐานะคณะนิติราษฎร์มาก่อน ได้อ่านบทความ อ่านแนวคิดของ อ.ปิยบุตรมาบ้าง
ก่อนหน้านั้นไม่คิดว่าจะได้เป็น ส.ส. แต่พอมาได้เป็น รู้สึกยังไง
(ตอบเร็ว) โห เครียดเลย เอางานที่เราอยากจะทำ เปิดร้านขายของกับเพื่อนว่าไม่ได้แล้ว แต่ผมเป็นคนแปลก เป็น perfectionist ถ้าทำต้องทำให้ดี และ ส.ส.ลาออกไม่ได้ พรรคเสียหาย แต่ก็คิดอยู่ชั่ววูบว่าหาคนที่ดีกว่ามาเป็นดีไหม แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้คิดแล้ว
ผมก็ไปค้นเอกสารมาอ่านเลยว่าหน้าที่ ส.ส.ต้องทำอะไรบ้าง ยื่นญัตติต้องทำยังไง ทำไปเพื่ออะไร กระทู้ถาม กระทู้สด กระทู้แห้ง เป็นยังไง แล้วก็ไปดูคลิปการอภิปรายเก่าๆ ก็เอาล่ะ เราก็ได้เรียนรู้ระดับหนึ่งแล้ว ก็มีเพื่อนที่เป็น ส.ส.เก่าชมว่า คุณนี่รู้เยอะจังเลยนะ ก็เลยเป็นกำลังใจให้เรา
อย่างการอภิปราย ก็มาจากทักษะเก่าๆ ดูคลิปการอภิปราย
ตอนดูคลิป ดูใครเป็นพิเศษ
ดูเยอะมาก ถ้ารุ่นเก่าๆ ก็ดูของ ปชป. ดูหลายคน ทั้งคุณอภิสิทธิ์ คุณกรณ์ คุณนิพิฎฐ์ คุณเทพไท หรือคุณเฉลิม คุณสมัคร เราก็ดู แม้แต่ของคุณจุลพันธ์ คุณชลน่าน คุณสุดารัตน์เราก็ดู
แล้วสไตล์อภิปราย ได้มาจากใคร
ผมจะคิดเสมอว่าจะอภิปรายยังไงให้คนเข้าใจได้ง่าย อย่างเรื่องล่าสุด ปฏิบัติการ IO ถ้าอภิปรายไม่ดี คนก็จะไม่เข้าใจ ถ้าย้อนไปดูก็จะเห็นว่า ผมใช้เวลาอยู่ช่วงหนึ่งในการอธิบายว่า IO คืออะไร สิ่งที่คุณเจออยู่ คุณอาจจะไม่รู้ว่ามันคือ IO จากนั้นก็ไปอธิบายพฤติการณ์ของสิ่งที่เรียกว่า IO แล้ววางลำดับ กำหนดไทม์ไลน์ในการเล่าให้ดี 1 2 3 4 5 6 7 ไม่เช่นนั้นคนจะสับสน เพราะหลักฐานมันมีจริงแต่มันมาแบบกระจัดกระจาย แล้วบางอย่างเราต้องไปหาเพิ่มเติม เพื่อให้ลำดับเหตุการณ์มันโอเค
นอกจากนี้ เราต้องเติม fact ให้ข้อเท็จจริง ไม่ใช่ไปด่าเขามั่วซั่ว อันนี้ผมเรียกว่าเติม fact เข้าไปใน flow จากนั้นค่อยเติม gag เข้าไปใน fact เพื่อให้คนดูรู้สึกสนุกไปด้วย แล้วค่อยถอยกลับออกมาดูภาพรวมใหม่ว่าเราจะอภิปรายอะไร ตอนนี้เราอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ต้องดูว่าเรามีเวลา 1 ชั่วโมง ก็กะไว้เลยว่าจะสรุปทำไมนายกฯ ถึงไม่น่าไว้วางใจทุกๆ ห้านาที ไม่ใช่น้ำท่วมทุ่งมา 1 ชั่วโมงแล้วค่อยมาสรุปตอนท้าย มันช้าเกินไป
มันต้องมีหมัดแย็ปแล้วต้องมีหมัดฮุก ไม่ใช่แย็ปทั้ง 12 ยก แล้วจะหวังน็อกยกสุดท้าย มันไม่ได้ เราแย็ป 1 2 3 แล้วต้องฮุกแล้ว และนี่คือสไตล์การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งผมไม่ได้คิดเอง แต่เอามาจากคลิปการอภิปรายเก่าๆ ที่ดี
แต่ถ้าเปลี่ยนใหม่ เป็นการอภิปรายในการแถลงนโยบาย เราต้องเปลี่ยนโทนบอกว่า นโยบายนี้ไม่ดีอย่างไร แล้วถ้าเราเป็นรัฐบาลจะทำอย่างไร ท่าทีมันคนละแบบ หรือถ้าเป็นญัตติต่างๆ เราสนับสนุนหรือคัดค้าน เพราะอะไรล่ะ เราจะไม่สามารถใช้สไตล์เดียวกันกับทุกๆ การอภิปรายได้
หลายๆ gag เช่น “ความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว” อันนี้คิดเอง หรือใครช่วยคิดให้
คิดเอง เพื่อให้คนฟังแล้วรู้สึกสนุกสนานดี ศัพท์วัยรุ่นคือ “มันเบียวดี” ไปเชื่อมกับการ์ตูน กับโคนันบ้าง คินดะอิจิบ้าง นี่คือสิ่งที่ Gen X ได้เปรียบ คือเข้าได้กับทุกเจน ทั้ง Baby Boomer และ Gen Y Gen Z
การมี gag ทำให้สนุกขึ้น แต่ต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
เท่าที่ติดตามคุณวิโรจน์มาสักพัก เหมือนจะถูกพรรควางให้เป็นคนวิจารณ์กองทัพ ทำไมถึงได้รับมอบหมายบทบาทนี้
จริงๆ ผมไม่ได้มีปัญหากับกองทัพ แต่ต้องยอมรับว่า กองทัพมีคำถามและมีข้อสังเกตจากประชาชนเยอะมาก บังเอิญว่า เดิมพี่เป็นคนชอบตั้งคำถาม เมื่อไรที่หาคำตอบไม่ได้ก็จะมีข้อสงสัย ในที่ประชุม ส.ส.ก็จะมีการแชร์กันว่ามีข้อสงสัยอะไรบ้าง แล้วบังเอิญว่าข้อสงสัยของผม ถูกเพื่อนๆ สมาชิกพรรคเห็นพ้องต้องกันว่าควรถาม ก็เลยได้รับฉันทามติจากเพื่อนให้ถาม
ก็เลยเป็นคนตั้งคำถามกับกองทัพมาเรื่อยๆ
เราไม่ได้ถามเพื่อนแกล้งกองทัพ แต่เป็นคำถามที่ประชาชนเขาอยากรู้
สังคมไทยมันแปลก คนตั้งคำถามในใจเยอะ แต่มักจะบอกว่าอย่าไปถามเลย เรื่องแบบนี้อย่าไปถามเลย หรือบางทีไม่ถามไม่ว่า ลือกันไปในทางร้ายๆ เราต้องให้ความเป็นธรรมกับกองทัพด้วย คำถามบางอย่างถ้าเขาตอบได้ดี ก็ควรจะเอาคำตอบเขามาเป็นคำตอบให้กับสังคม ไม่ควรจะเอาข่าวลือข่าวร้ายที่เชื่อกันเองไปลือในทางร้ายกับกองทัพ อันนี้ต้องแฟร์
คำถามของผม เท่าที่ดูฟีดแบ็กจากทวิตเตอร์ หลายคนก็บอกว่าเป็นสิ่งที่เขาอยากถาม หรือเป็นสิ่งที่ลือๆ กัน ก็เป็นโอกาสดีที่กองทัพจะได้ชี้แจง
แล้วเท่าที่ถามมองกองทัพชี้แจงได้เคลียร์ไหม
(ตอบเร็ว) ไม่เคลียร์เลย ไม่เคลียร์สักเรื่อง ทั้งๆ ที่เป็นโอกาสที่กองทัพจะได้ชี้แจง แต่พอไม่เคลียร์ ประชาชนก็ต้องหาคำตอบกันเอง นำไปสู่การสันนิษฐานไปทางนั้นทางนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่เป็นผลดีกับใครเลย
เคยถูกเตือนไหมว่า เราตั้งคำถามกับกองทัพบ่อยๆ จะมีผลกระทบด้านใดด้านหนึ่ง
นี่คือสิ่งที่เป็นมายาคติ ผมเชื่อว่าวันนี้หลายคนในกองทัพน่าจะเข้าใจผม คนที่ไม่พอใจคงมีบ้างแหละ แต่ถามว่ากองทัพไม่พอใจทั้งหมดไหม อันนี้ผมไม่เชื่อ ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นในกองทัพ ผู้บังคับบัญชาหลายคนก็เห็นปัญหา แต่ด้วยวัฒนธรรมในกองทัพ เรื่องของขีดจำกัดของอำนาจหน้าที่ในกองทัพ ทำให้พูดไม่ได้
ผมว่ากองทัพเหมือนองค์กรบริษัททั่วๆ ไป ที่พนักงาน ผู้จัดการ ก็รู้ปัญหา แต่พูดไม่ได้ ต้องให้ auditor มาตรวจสอบถึงจะแก้ปัญหาได้ ก็เหมือนๆ กัน บางทีคนกันเองพูดกันก็ไม่ฟังกัน เลยได้แต่กล้ำกลืนฝืนทน ก็ได้แต่บ่นๆ กัน ผมมั่นใจว่าลักษณะแบบนี้กับกองทัพก็มี ผมมั่นใจว่าผู้บังคับบัญชาเห็นปัญหาเกี่ยวกับผู้ใต้บังคับบัญชาเหมือนกันแต่พูดไม่ได้ แต่การพูดในสภาผู้แทนราษฎรที่มีอำนาจตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล มีอำนาจในการพูดตรงนี้ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีด้วยซ้ำ
ผมคุยกับนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาหลายคนก็บอกว่า ตอนนี้การดูแลสวัสดิการของทหารชั้นผู้น้อยถูกหยิบขึ้นมาทบทวน และการดูแลทหารเกณฑ์ เรื่องการธำรงวินัย มีการดูแลที่เคร่งเครียดขึ้น ล่าสุดผมคุยกับสัสดี เขาก็มาขอบคุณบอกว่า ทหารประจำการมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การลงโทษทางวินัยใดๆ อยู่ในกรอบมากขึ้น อันนี้ก็ต้องชื่นชมทางกองทัพและ ผบ.ทบ.ด้วย ที่มีคำสั่งที่ชัดเจนว่า หากมีการธำรงวินัยที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์ ผู้บังคับบัญชามากกว่า 1 ระดับชั้นจะต้องรับผิดชอบ เข้าใจว่ามีระเบียบตรงนี้ออกมาแล้ว ทำให้ทหารระดับล่างๆ ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น นี่คือความร่วมมือกัน
ถ้าเราไปคิดว่า แตะไม่ได้ กลัวเขาจะโกรธ มันจะทำงานร่วมกันไม่ได้ แต่ตอนนี้กองทัพเขาทราบแล้วว่า นี่คือบทบาท และเท่าที่ผมมองสีหน้า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ถึงจะยังไม่ได้คุยส่วนตัว แต่ดูแล้วคิดว่าท่านก็เข้าใจบทบาทเราเป็นอย่างดี ผมไม่เชื่อด้วยซ้ำไปว่า จะต้องมากลัวกับการทำหน้าที่อย่างนั้น ถ้าคุณสังเกตนะ ผมไม่เคยไปด่าว่ามั่วซั่ว ผมจะใช้พื้นที่ในสภาฯ เป็นหลัก และทำหน้าที่ผ่านการเป็น ส.ส.เป็นหลัก และผมไม่เคยใช้ hate speech หรือเปรียบเปรยท่านนายกฯ ไม่เคยใช้คำหยาบ ไม่เคยใช้อวัยวะ แต่การตั้งข้อสังเกต ตั้งข้อสงสัย เป็นหน้าที่ของ ส.ส. เวลาแซวบิ๊กแดง ก็เคยแซว แต่ไม่เคยเรียกไอ้นั่น ไอ้นี่
สังเกตว่า ผมไม่เคยใช้ hate speech กับท่านนายกฯ หรือใช้คำหยาบ ไม่มี
เสียดสีล่ะ
ก็ต้องมีบ้าง เพราะท่านนายกฯ เสียดสีพวกผมมา ผมก็ต้องเสียดสีแกบ้าง
มองว่าการตั้งคำถามของเราที่ผ่านมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในกองทัพได้
ใช่ ในบางระดับ อย่างน้อยการกระทำที่ผิดกฎหมายก็ถูกเข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอันนี้ก็ต้องชื่นชมทางกองทัพด้วย
คำถามใหญ่ที่ควรถามสำหรับกองทัพคือคำถามอะไร
(นิ่งคิด) คือการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งคำถามว่าจะครอบคลุมอะไรบ้าง 1.ธุรกิจและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่กองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งหมดใช่หรือไม่ เป็นแค่ 40 ธุรกิจที่เป็นเฟสแรก แล้วเฟสสอง เฟสสามล่ะ จะเป็นอย่างไร ก็ยังไม่ชัดเจน แล้วจะส่งมอบให้รัฐเมื่อไรหรือทำแค่นี้แล้วจบแล้ว เพราะจริงๆ การปฏิรูปกองทัพมีตั้งแต่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ที่เคยมีพาดหัวข่าวว่า พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ขอ 4 ปีปฏิรูปกองทัพ แต่การขอเวลาอีกไม่นานเป็นโมเดลที่กองทัพใช้มานานแล้ว มันจะเป็นเหมือนเดิมหรืเปล่า
2.สวัสดิการที่ให้กับทหารชั้นผู้น้อยเป็นอย่างไร ทหารผ่านศึกที่ทุพพลภาพ เสียชีวิต เกณฑ์ในการดูแลที่ชัดๆ กี่บาท เท่าไร วันนี้ตอบได้หรือไม่ว่าทหารที่เขาไปเสี่ยงชีวิต เรามีเกณฑ์ดูแลเขาอย่างไร 3.การเอาเปรียบทหารชั้นผู้น้อย 4.การเกณฑ์ทหาร ควรจะต้องปรับรูปแบบไหน โดยเฉพาะการใช้ทหารประจำการไปทำภารกิจอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของทหาร เช่นไปเป็นพนักงานเสิร์ฟ เป็นทหารบริการอยู่บ้านนาย ที่ตั้งคำถามไปว่ามีกี่นายกันแน่ ก็ไม่ยอมตอบ
5.กระบวนการยุติธรรมและการให้ความเป็นธรรมของทหาร และบทบาทของศาลทหาร เหตุที่โคราชชัดเจนว่าศาลทหารให้ความยุติธรรมกับทหารชั้นผู้น้อยไม่ได้ ซึ่งคนที่ถูกเอาเปรียบไม่ได้มีแค่รายเดียว ซึ่งควรจะมีกลไกที่ให้ความเป็นธรรมกับเขาได้ ภายใต้อุดมการณ์ “ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” เรื่องทางแพ่งควรให้ศาลแพ่งหรือเปล่า เรื่องทางอาญาควรให้ศาลอาญาหรือเปล่า เรื่องทุจริตความไม่โปร่งใส ควรให้ศาลอาญา ป.ป.ช. สตง.เข้ามามากกว่านี้หรือเปล่า แล้วศาลทหารควรจะใช้กำจัดเฉพาะบริเวณที่มีการสู้รบ หรือประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ความมั่นคง กฎอัยการศึก แต่ต้องใช้กับทหารเท่านั้น ไม่ใช่ใช้กับพลเรือน ซึ่งตรงนั้นต้องแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือเปล่า
และ 6.ถ้าจะให้ครอบคลุมกว่านั้นอีก ควรจะต้องมาทบทวนกันไหมเรื่องพื้นที่ของกองทัพว่าปัจจุบันยังมีความจำเป็นต้องอยู่ในเมืองอีกหรือเปล่า หรือควรไปอยู่นอกเมือง มันต้องคิดไปไกลกว่านั้น ไม่ใช่แค่ 40 ธุรกิจแล้วก็จบ
ซึ่งมันก็ตั้งข้อสังเกตได้อีก ผมกับ อ.ปิยุบตร เสนอตั้งญัตติด่วนขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามการปฏิรูปกองทัพ แต่ได้รับการพิจารณาเป็นญัตติที่ไม่ด่วน ต้องไปเข้าระเบียบวาระปกติ ต้องไปเข้าคิวยาวมาก จะเข้าพิจารณาในที่ประชุมสภาฯ เมื่อไรก็ไม่รู้
จริงๆ สภาฯ กับกองทัพช่วยกันปฏิรูปได้ และถ้าเราอยากเริ่มต้นความโปร่งใส จุดเริ่มต้นคืออะไรครับ คือการเปิดบัญชีทั้งหมด แต่เราไม่เพ่งโทษกัน เรารู้แหละว่าบัญชีเปิดมาต้องมีปัญหาอยู่แล้ว แต่เราเชื่อใจกันว่าความบกพร่องมันเกิดโดยสุจริต อย่าฝืนฝอยหาตะเข็ด แล้วก็ส่งบัญชีให้กรมธนารักษ์ และให้เปิดบัญชีต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ ถ้าเป็นอย่างนี้ปั๊บ มันคือความโปร่งอย่างแท้จริง ความโปร่งคือการเปิด ไม่ใช่การมอบให้อีกคนดูแล
ความโปร่งใส คือการเปิดมา แล้วสะสาง จากนั้นมอบให้บุคคลที่สามมาดูแล โดยกำหนดเงื่อนไขให้เปิดเผยต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ นี่คือความโปร่งใสที่แท้จริง
แต่ถ้าเราบอกว่า เปิดก็ไม่เปิด สะสางก็ไม่มี แค่มอบให้อีกคนหนึ่งดูแล ผมเรียกว่าคือการหมก แล้วถามว่าจะเปิดเมื่อไร ก็ไม่รู้ จะเปิดแค่ไหนก็ไม่บอก มันเหมือนทศกัณฐ์ถอดกล่องดวงใจไปฝากไว้อีกคนหนึ่ง หรือถ้าเปรียบเทียบแบบสกปรกหน่อยก็เหมือนอึ้เลอะกางเกง แทนที่จะถอดกางเกงแล้วล้างก้นก่อน คุณไปซื้อกางเกงมาสวมใหม่เลย มันใช่เหรอ
ก็ยังเหม็นอยู่ดี
ก็เหม็นอยู่ดี แล้วอีกหน่อย อุจจาระก็จะซึมออกมา ตราบใดคุณยังไม่ล้างก้น ผมว่าจังหวะนี้ควรจะ ‘เปิด’ ไม่ใช่ ‘หมก’
แต่ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าอยู่ดีๆ มาตั้งคำถามกับกองทัพได้อย่างไร ทั้งๆ ที่จริงผมสนใจเศรษฐกิจและการศึกษา เพราะตอนที่ทำงานร้านหนังสือ ผมชอบเรื่องการอ่าน และเชื่อว่าถ้าแก้ปัญหาการศึกษาได้ก็จะแก้ปัญหาอื่นๆ ได้ด้วย คุณลองคิดซิว่า เวลาพูดถึงปัญหาต่างๆ สุดท้ายมันมักจะวนกลับมาเรื่องการศึกษา ฉะนั้นถ้าเราแก้ปัญหาการศึกษาได้ เราก็น่าจะแก้ปัญหารากของประเทศได้ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ผมเชื่อว่าถ้าทำเศรษฐกิจได้ดี ประชาชนจะมีความเชื่อมั่น
แต่สุดท้ายก็ต้องมานั่งตั้งคำถามกับกองทัพ คือไม่พ้นเรื่องการเมือง
เพราะทั้ง 2 เรื่องนั้นมีคนทำอยู่แล้วหรือเปล่า ต่างกับเรื่องนี้ที่หาคนทำได้ยาก
ผมไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพ แต่สามารถตั้งคำถามกับกองทัพในประเด็นที่ประชาชนสนใจและตั้งข้อสังเกตได้ดีเท่านั้นเอง และเผอิญว่าตอนนี้ประเด็นของกองทัพเป็นที่สนใจและสังคมตั้งข้อสังเกตกันเยอะ และยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน
นั่นหมายความว่า เมื่อไรที่กองทัพมีความชัดเจนเกิดขึ้น ผมก็ต้องบิดไปทำอย่างอื่น และให้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพมาทำหน้าที่แทน
เราเชื่อแค่ไหนว่ากลไกสภาฯ จะเปลี่ยนกองทัพได้
ได้ในระยะยาว ถ้าร่วมกับประชาชนนะ กลไกสภาฯ อย่างเดียวทำไม่ได้หรอกครับ ผมเชื่อว่ากลไกสภาฯ กับประชาชน กับทหารรุ่นใหม่ๆ ที่ขึ้นมา ผมยังเชื่อและมีความหวังในกองทัพ โดยเฉพาะนายทหารรุ่นใหม่ๆ ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก เห็นเทคโนโลยีการป้องกันประเทศสมัยใหม่ เห็นความเคลื่อนไหวของกองทัพประเทศอื่นๆ และผมเชื่อว่าถ้าตัวกองทัพเอง สภาฯ รัฐบาล ช่วยกัน มันเปลี่ยนได้ แต่ต้องใช้เวลาต้องยอมรับว่า กองทัพที่เป็นในทุกวันนี้มันเป็นปัญหาที่สะสมมานานมาก ซึ่งผมก็เห็นใจ ผบ.ทบ. จะแก้ในอีก 7-8 เดือนก่อนเกษียณคงจะไม่ได้ แต่ขอให้ช่วยวางรากฐานที่ดี
คนรุ่นใหม่หลายๆ คนก็ไปทำงานทหารเหมือนกัน สุดท้ายประเทศนี้ก็ขับเคลื่อนโดยคนรุ่นใหม่อยู่แล้ว ผมว่าเราควรปรับความคิดความรู้สึกและมองในแง่ดีซึ่งกันและกัน ไม่มีใครหวังร้ายกับประเทศนี่หรอก แต่ปัญหาคือเราหวังดีไม่ตรงกันเลยเกิดความขัดแย้ง
ถ้าใครทำงานในสภาฯ จะรู้ว่า เห็นภาพลักษณ์ผมเกรี้ยวกราด แต่จริงๆ ผมเคารพผู้ใหญ่มาก ไม่มี ส.ส.รุ่นพี่คนไหนบอกว่า ผมไม่มีสัมมาคารวะเลย บางคนก็ทักว่าตอนทำงานในคณะกรรมาธิการถึงน่ารัก หน่อมแน้ม ต่างจากการอภิปรายในสภาฯ ก็มันคนละบทบาท และผมไม่มีเจตนาร้ายเลย ท่านก็คงเจตนาดีเหมือนกัน ทุกคนมีหิริโอตัปปะ ไม่มีใครอยากทำสิ่งนั้นเพราะมันแย่ แต่ทำเพราะมันดี แต่เรามาปรับเข้าหากันดีไหม
แล้วก็อยากทิ้งท้ายอีกเรื่อง คือเรื่องรัฐสวัสดิการ สมัยก่อน ผมแอนตี้เรื่องนี้ แต่ผมเปลี่ยนความคิดหลังจากไปดูงานที่ประเทศในแสกนดิเนเวีย ผมเชื่อว่าทุกคนจะมีความคิดสร้างสรรค์ หากได้อยู่ในชีวิตที่ไม่มีแรงกดดันเรื่องปากท้อง ผมโชคดีที่ไม่มีหนี้ ถ้ารัฐที่สนับสนุนสวัสดิการ เพื่อให้คนจนหลุดพ้นความจนได้ เอางบประมาณมาจัดสรรให้ถูกต้อง อย่าอ้างว่าไม่มี เพราะผมเป็นกรรมาธิการงบประมาณ ผมรู้ว่างบประมาณถูกนำไปใช้จัดอีเวนต์นู่นนั่นนี่เต็มไปหมด เรามาอุดหนุนดูแลเด็กของเรากันดีไหม มารองรับให้คนของเราก้าวจะบุกเบิกดีไหม มันจะได้มีลูกคนยากจนได้ออกมาทำอะไรที่ดีให้กับสังคมมากกว่านี้ ถ้าไปดูข้อมูล OECD จากการสอบ PISA จะเจอคำหนึ่งว่า resilience student คือเด็กที่มาจากพื้นฐานที่ยากจนแต่กลับมีผลคะแนนสอบ PISA ที่ดี แต่ประเทศไทยมีอัตราส่วนที่น้อยมากๆ ถ้าเทียบกับเกาหลีใต้ สิงคโปร์ หรือหลายๆ ประเทศ นั่นหมายความว่า ประเทศนั้นต่อให้คุณเป็นลูกของครอบครัวยากจน คุณมีโอกาสหลุดพ้น ในขณะที่ประเทศไทย ถ้าคุณเกิดในครอบครัวยากจน โอกาสที่จะพลิกชีวิตขึ้นมามันยากมากๆ
ท้ายที่สุดรัฐสวัสดิการต้องเกิด เพื่อยุติวงเวียนแห่งความยากจนนี้ให้ได้ นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ ใฝ่ฝั่นอยากจะให้เกิดขึ้นกับประเทศนี้ ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องผิดบาปอะไรเลย และทำได้จริง
ระหว่างรัฐสวัสดิการกับปฏิรูปกองทัพ อะไรเกิดยากกว่ากัน อะไรน่าจะเกิดขึ้นได้ก่อน
เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยากมากๆ ทั้งคู่ แต่มันเป็นไปได้ ผมไม่เคยบอกว่าประเทศนี้ไม่ต้องมีกองทัพ แต่ต้องมีกองทัพที่ทันสมัยแบบ smart troop คุณลองไปถามคนที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าอุปกรณ์ต่างๆ มันพร้อมจริงไหม การเก็บกู้ระเบิดทำไมไม่เอาหุ่นยนต์ที่ได้รางวัลมาใช้ละ ทำไมเราไม่พัฒนา ทำอย่างไรให้ทหารของเราสูญเสียน้อยลง
ถ้าถามว่าผมเป็นศัตรูกับกองทัพเหรอ คำตอบคือไม่จริงเลย ทหารหลายหลังไมค์มาขอบคุณผมด้วยว่าตอนนี้ความเป็นอยู่ของเขาดีขึ้น ผมห่วงเรื่องสวัสดิการสวัสดิภาพของเขา ทหารที่พลีชีพ รัฐต้องดูแลครอบครัวของเขา ดูแลลูกของเขา ให้ลูกเขารู้ว่า การเสียชีวิตของพ่อเขา เป็นความเสียสละที่สุดในชีวิต และรัฐตอบแทนด้วยการดูแลครอบครัวแทนพ่อเขา
จะปฏิรูปสวัสดิการ ง่ายมาก ผู้บังคับบัญชาทั้งหลายเอาเงินเดือนของลูกน้องมาไล่ดูเลยว่าเหลือเดือนละเท่าไร ทุกคนชอบพูดถึงหนี้ครูใช่ไหม แต่หนี้ทหารหนักกว่า เพราะครูยังมีค่าวิทยฐานะ ซึ่งรวมๆ แล้วรายได้ยังไม่น้อย แต่ทหารชั้นผู้น้อย เงินเดือนเขาน้อย เวลาไปกู้สวัสดิการ เขาถูกหักเงินเดือน เดือนๆ จะเหลือไม่เท่าไร ทหารหลายคนวันว่างต้องไปขับแท็กซี่หารายได้เสริม ถ้าผมเป็นผู้บังคับบัญชา ผมไม่สบายใจ ผมจะหาวิธีให้เขาไม่ต้องห่วงหน้าพะวังหลังแบบนี้
เวลาพูดกี่สื่อ ผมก็พูดอย่างนี้ แล้วเป็นศัตรูกับกองทัพได้อย่างไร ผมอยากให้เรื่องนี้เกิดขึ้น แล้วขวัญกำลังใจและความภูมิใจในการประกอบอาชีพของทหารจะกลับมา และทหารจะยืนอยู่ข้างประชาชน เพราะประชาชนจะยินดีเสียภาษีเป็นเงินเดือนให้ทหารได้ทำงานอย่างไม่ต้องห่วงหน้าพะวังหลัง