รถเมล์เก่า สภาพรถเดิม ไม่มีรถวิ่งผ่านเส้นทาง ถนนใหม่ๆ กรุงเทพฯ เราอยู่กับรถเมล์รูปแบบเดิมๆ กันมานานแล้วหลาย 10 ปี ซึ่งบ่อยครั้ง เรื่องของการเดินทาง และระบบขนส่งสาธารณะ เป็นสิ่งที่หลายๆ คนบ่นเรื่องของการปรับปรุง หรือพัฒนา
แต่การปฏิรูปรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้แล้ว และการเปลี่ยนแปลงนี้ จะเปลี่ยนทั้งเส้นทางการเดินรถ การบริการ รวมไปถึงการเปลี่ยนตัวเลขสายรถเมล์ ซึ่งล่าสุด ทาง Mayday กลุ่มที่ทำงานด้านการเดินทางสาธารณะ ก็เพิ่งจัดการให้โหวตเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบเลขสาย และทดสอบความเข้าใจของคนเรื่องการเปลี่ยนสายด้วย
แต่การโหวตเป็นยังไง เปลี่ยนเลขแล้วจะเป็นยังไงบ้าง จะจำยากไหม และทำไมต้องเปลี่ยนเลขด้วย อุ้ม—วิภาวี กิตติเธียร แห่ง Mayday ได้มาตอบคำถามเหล่านี้กับเราแล้ว

cr. mayday
การปฏิรูปรถเมล์นั้น เป็นความพยายามของกรมการขนส่งทางบก ที่จะเปลี่ยนแปลงรถเมล์สาธารณะ ทั้งรูปแบบรถ เส้นทางการเดินทาง และตัวเลข ซึ่งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ก็ได้มีการประกาศจากคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลางว่า ได้ออกใบอนุญาตเดินรถเส้นทางใหม่ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลถึง 9 เส้นทาง
และนอกนี้ยังมีแผนอื่นๆ อย่างกรมการขนส่งทางบก กำหนดว่า ต้องใช้รถเมล์ใหม่ที่มีอายุไม่เกิน 2 ปีมาวิ่งให้บริการ และภายใน 3 ปี ต้องเป็นรถเมล์ใหม่ไม่น้อยกว่า 70% รวมไปแผนการเปลี่ยนเส้นทางด้วย
ซึ่งคุณอุ้ม วิภาวีเล่าให้เราฟังถึงความจำเป็นในการปฏิรูปรถเมล์ว่า
“มันเป็นโครงการที่กรมขนส่งทางบกพยายามทำมาในช่วง 2-3 ปีนี้แล้ว ซึ่งการปฏิรูปนี้ก็ควรจะทำแล้ว เพราะว่ารถเมล์ก็อยู่มานาน อยู่ในสภาพรถแบบเดิม การให้บริการแบบเดิม เส้นทางเดิมมานานกว่า 30 ปีได้แล้ว แผนนี้จึงอยากปรับปรุง พัฒนาระบบให้ดีขึ้น ซึ่งการออกแบบก็เป็นไปเพื่อการตอบสนองบริบทของการเดินทางในเมืองมากขึ้น เพราะว่าเราก็เริ่มมีรถไฟฟ้าหลายสายมากขึ้น จริงๆ แล้วการเดินทางของรถประจำทางเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมการเดินทาง ที่จะต่อไปยังระบบเมืองได้
การปฏิรูปครั้งนี้ จะเปลี่ยนแปลงตัวรถ เปลี่ยนเส้นทาง รูปแบบการให้บริการ และการประเมินการให้บริการด้วย”
แต่สิ่งที่น่าจะกระทบต่อประชาชน คนใช้รถเมล์อย่างพวกเรามากที่สุด คงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนตัวเลข เปลี่ยนเบอร์สายรถประจำทาง ซึ่งมีกำหนดว่าจะดำเนินการปรับชื่อสายรถเมล์ใหม่ทั้งหมด โดยเปลี่ยนไปใช้ตัวเลขที่มากำหนดโซนตามพื้นที่ทางกายภาพของกรุงเทพฯ เบื้องต้นแบ่งเป็น 4 โซน คือ โซนเหนือ-ตะวันตก-ตะวันออก-ใต้
“การเปลี่ยนตัวเลขเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้น และตัวเลขเป็นส่วนหนึ่งที่เขียนไว้ในข้อกำหนดว่า จะมีเส้นทางกว่า 200 เส้นทาง ที่ต้องถูกเปลี่ยนไปทั้งหมด มีเพียงแค่ประมาณ 30 สายที่จะวิ่งในเส้นทางเดิมอยู่ รวมถึงมีเส้นทางใหม่ที่เพิ่มขึ้นมา
เดิมทีจากที่เลขสายของรถเมล์ในกรุงเทพฯ ไม่เคยมีหลักการในการตั้งชื่อสาย และกำหนดเลขมาก่อน เป็นสายไหนมาก่อน ก็ได้เบอร์นั้นไป และคนเราเองก็เดินทางด้วยความทรงจำตลอด จำว่าเลขนี้ไปที่ไหน ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะหาหลักการให้กับรูปแบบตัวเลขรถเมล์ในแต่ละสาย ว่ามันจะใช้บอกเส้นทางรถได้แค่ไหน ในการปฏิรูปที่มันจะต้องเปลี่ยนแปลงเส้นทางในหลายสาย เลยคิดว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่เราจะมีการเปลี่ยนรูปแบบเลขใหม่ไปด้วย” คุณอุ้มเล่า
โดยจากที่ Mayday ได้เปิดโหวต และเพิ่งปิดการโหวตไปเมื่อ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา โพลได้มีการให้โหวตรูปแบบตัวเลขใหม่ทั้งหมด 3 แบบคือ
แบบที่ 1 – ตัวเลข 3-4 หลัก 2 หลักแรกบอกต้นทาง และปลายทาง 2 หลักถัดไปคือเลขสาย
แบบที่ 2 – ตัวเลขไม่เกิน 3 หลัก หลักแรกบอกต้นทาง 2 หลักถัดไปคือเลขสาย
แบบที่ 3 – ตัวเลข 2 หลักแรกคือ ต้นทางและปลายทาง ส่วนหลักที่ 3 คือตัวอักษรลาติน เป็นลำดับสาย

รูปแบบเลขรถเมล์แบบที่ 3 cr. mayday
ซึ่งจากที่เห็น การที่ต้องจดจำตัวเลขใหม่ที่อาจจะมีถึง 4 หลักเลยด้วย ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนใหม่ ที่หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องยาก และคุณอุ้มก็บอกเช่นกันว่า เป็นเรื่องที่ท้าทาย
“จริงๆ เป็นเรื่องที่สื่อสารค่อนข้างยากเพราะเราไปเปลี่ยนพฤติกรรมของคน ที่คุ้นชินกับสิ่งนี้กันมา 20 กว่าปี แล้วพอเราบอกเขาว่ามันกำลังจะเปลี่ยนไป อุ้มเลยมองว่าการสร้างการสื่อสาร หรือประชาสัมพันธ์ ทั้งบนรถเอง หรือป้ายรถเมล์เองเราต้องเติมทุกจุดให้ได้มากที่สุด ให้เขาเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ ว่ามันไม่ใช่การสร้างปัญหา แต่เป็นการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาเราก็อาศัยการมีส่วนร่วมของคนให้ได้มากที่สุด เราก็อยากเข้าใจว่าคนมีวิธีการเรียนรู้จดจำยังไงบ้าง และเราจะมีวิธีไหนบ้างในการช่วย จริงๆ ถือว่าเป็นความท้าทายที่ค่อนข้างยากพอสมควร
อย่างที่บอกว่า คนที่เดินทางกับความทรงจำ ก็เป็นคนที่ค่อนข้างมีอายุมาก เป็นผู้สูงอายุ เราก็ต้องออกแบบให้มันมีความเป็น universal design มากที่สุดในการเปลี่ยนถ่าย ในบริเวณหน้าตัวรถ เราสามารถมีเทมเพลตอะไรได้ไหม ว่านี่เป็นเลขสายเดิม อันนี้บริเวณไหน เปลี่ยนไปยังไงบ้าง และจะเดินทางได้ง่ายขึ้น ถ้าเราเข้าใจระบบนี้
การแจ้ง ทำความเข้าใจกับคนต้องเป็นส่วนในการทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการเดินรถ และสื่อต่างๆ ด้วย คือเรามองว่าสิ่งนี้สำคัญพอๆ กับการที่แบรนด์ๆ นึง เปลี่ยนแบรนด์ดิ้งตัวเองเลย เราก็ต้องทำการประชาสัมพันธ์ที่ตอกย้ำไปเรื่อยด้วยว่ากำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว”
แต่ก่อนหน้านี้ ในการปฏิรูป หรือเปลี่ยนแปลงอะไร มักเป็นการตัดสินใจจากทางภาครัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีน้อยครั้งหรือแทบไม่มีเลยที่ประชาชน ผู้ที่ใช้บริการต่างๆ จะได้เข้าไปมีส่วนร่วม โดยก่อนจะปฏิรูปรถเมล์ และตัดสินใจเปลี่ยนสายรถเมล์ ทาง Mayday และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เปิดให้ประชาชนทั่วไป ได้เข้าร่วมโหวตรูปแบบการเปลี่ยนแปลงด้วย
ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี ที่ประชาชนได้ร่วมกำหนดสายรถเมล์ โดย Mayday มองว่าอยากผลักดันให้การมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองในทุกๆ เรื่อง
“สายรถเมล์เป็นเรื่องที่คนเห็นได้ง่ายที่สุดว่ามันเปลี่ยนไป และมันเป็นเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มันเป็นไปได้ยากอยู่แล้วที่เราจะชวนทุกคนในเมืองมาคุยกัน แต่มันก็เป็นสิ่งที่ Mayday พยายามขับเคลื่อนมาตลอด เพราะเรามองว่า การพัฒนาจากฐานราก หรือล่างขึ้นบน เป็นส่วนนึงที่เราอยากจะผลักดันให้มันเกิดขึ้นในรูปแบบการพัฒนาเมืองในปัจจุบันให้ได้มากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งสาธารณะ คนใช้บริการรถเมล์วันนึง 3 ล้านคนได้ เราก็คิดว่าเปลี่ยนทั้งที อัตราส่วนคนใน 3 ล้านก็ควรจะมีส่วนช่วยในการออกแบบได้มากน้อยแค่ไหน
ทุกวันนี้ คนเราก็เรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆ มาก อุ้มว่ามันน่าจะเหมือนกับเวลาเราซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ จากแอนดรอยด์ ไปใช้ไอโฟน หรือไอโฟนมาใช้แอนดรอยด์ เราสามารถสร้างรูปแบบการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ UX/UI ได้ง่ายมาก ในทางเดียวกัน เราสามารถนำเรื่องพวกนั้นมาใช้กับเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ หรือการบริการของเมืองเรา เป็นสิ่งหนึ่งที่เราพยายามผลักดันในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มากที่สุด”
แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อการพัฒนา แต่ก็มีการสร้างความเข้าใจ และใช้ความร่วมมือจากประชาชนในการจดจำเลข และเข้าใจสายรถเมล์ใหม่ ซึ่งคุณอุ้มก็บอกกับเราว่า ต้องทำให้ประชาชนเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่การที่เขาเสียประโยชน์ แต่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาด้วย
“อุ้มมองว่า ระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือว่าเรื่องการบริการที่ปกติรัฐจัดให้เรา มันเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีการพัฒนาต่างๆ กับเมืองนี้ แต่มันก็มีโอกาสน้อยครั้งมากที่ผู้ใช้งาน หรือพลเมืองแบบเราจะมีส่วนร่วมในการออกแบบ Mayday พยายามเต็มที่มากๆ ที่จะผลักดันให้สมการของภาคประชาชนมีส่วนในการช่วยพัฒนาจริงๆ
ครั้งนี้เป็นโอกาสที่เราได้ช่วย ได้ลองเสนอรูปแบบที่เราอยากได้ เราอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นการพัฒนาไปด้วยกัน ดีกว่าการที่เราปล่อยให้คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มนึงพัฒนาเมืองโดยที่เราก็มีหน้าที่แค่บ่นว่าเราชอบหรือไม่ชอบ ครั้งนี้ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนได้มีโอกาส ได้มีการลงมือในการช่วยทำอะไรบางอย่างจริงๆ ในการพัฒนาครั้งนี้ ก็อยากให้ทุกคนคอยติดตาม รบกวนสร้างการมีส่วนร่วมด้วยกัน และเราก็อยากออกแบบให้มันง่ายที่สุด ไม่ได้กระทบกับใครมาก”
โดยการโหวตรูปแบบสายรถเมล์นี้ ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้าไปโหวตกว่า 10 วัน และเพิ่งปิดโหวตไปเมื่อวานนี้ และอยู่ในช่วงสรุปผลอยู่
“เรายังอยู่ในช่วงสรุปผลโหวต เพราะเรามีทั้งหมด 3 ตัวเลือก และแต่ละตัวเลือกผลค่อนข้างใกล้กันมาก และการโหวตในส่วนของ mayday เราไม่ได้ให้คนเลือกแค่ว่า ชอบแบบไหน แต่จะมีส่วนในบททดสอบด้วยว่า เข้าใจแค่ไหน วิธีการใช้งานของตัวเลขด้วย ก็เลยอาจจะต้องมีเวลาในการเอาสองสิ่งนี้มาเปรียบเทียบ ทั้งตอบถูกไหม ใช้งานจริงตามระบบได้หรือเปล่า ซึ่งจะต้องใช้เวลาก่อนการประกาศว่าระบบจะเป็นยังไง”
โดยคุณอุ้มเล่าว่า หลังการประกาศ ตามแผนของกรมฯ ที่จะเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ คือช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม แต่ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนโครงการ และรูปแบบสัมปทานที่จะถูกปล่อยออกไปจะอยู่กับผู้ประกอบการรายใหม่ หรือรายเดิมอยู่
ซึ่งขนส่งสาธารณะของเราจะเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน ต้องเริ่มจำเลขยังไง เราคงต้องรอติดตามโฉมใหม่ของรถเมล์ไทยกัน