“…ผมคลานไปตามถนน เพราะกระสุนมาระดับหัว ตอนนั้นหัวรุ่ง เห็นแสงไฟจาก M16 เลย นักศึกษาคลานตามๆ กันไป ผมคลานถึงหน้าตึกคณะวารสารฯ หนุ่มคนหนึ่งถูกยิงตาย ยิงเข้าตรงนี้ (ท้ายทอย) ทะลุออกข้างหน้า ตาไม่ได้หลับ มีไขมันออกมา เป็นครั้งแรกที่เห็นคนตายต่อหน้า”
กฤษฎางค์ นุตจรัส
อายุ 59 ปี
“ผมทำกิจกรรมมาตั้งแต่เรียนที่สวนกุหลาบ พอปี 2518 เข้ามาเรียนนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ก็สมัครเป็นสมาชิกสภานักศึกษา ช่วงนั้นประเทศเปิดหลัง 14 ตุลาฯ ชาวบ้านมักรวมตัวมาหานักศึกษา เพราะเชื่อว่าพวกเราเป็นความหวัง เป็นตัวเชื่อมไปร้องเรียนต่อรัฐได้ ปี 2519 ประภาสกลับเข้ามา นักศึกษาก็ไล่ออกไป ต่อมาถนอมก็เข้ามาบวชเป็นเณรที่วัดบวรฯ คนที่เคยเจ็บปวดจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นักศึกษา ชาวนา กรรมกร เรียกร้องให้รัฐบาลนำตัวออกไป หรือไม่ก็ต้องจับมาดำเนินคดี รัฐบาลรับเรื่อง แต่ไม่ทำอะไร อ้างว่าไม่มีกฎหมายให้เนรเทศคนไทย ซึ่งเป็นเรื่องจริง แต่ก็ไม่นำตัวมาขึ้นศาล ฝ่ายนั้นเริ่มปลุกระดม กล่าวหาว่านักศึกษาจะไปเผาวัดบวรฯ คราบเลือดที่ฆ่าคนที่ราชดำเนิน (14 ตุลาคม 2516) ยังล้างออกจากมือไม่หมด แต่กลับมีฝ่ายเชียร์ถนอมขึ้นมา เหตุการณ์ชักไปกันใหญ่แล้ว
“สมัยก่อนการประท้วงจะใช้วิธีติดโปสเตอร์ตามที่ต่างๆ เรามีเครือข่ายที่ร่วมกัน คือสหภาพแรงงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีสำนักงานเขต 7 อยู่ที่นครปฐม สมาชิกไปติดโปสเตอร์ เนื้อหาคือไล่ถนอมออกไป ปรากฏว่าคนที่ไปติดโปสเตอร์ 2 คนถูกแขวนคอที่รั้วโรงงาน นอกจากเรื่องถนอม เราเลยเรียกร้องให้จับคนผิดมาลงโทษ จนกระทั่งวันที่ 4 ตุลาคม มีการสอบวิชาภาษาไทยของนักศึกษาปี 1 เป็นวิชาพื้นฐาน คนสอบเยอะ นักศึกษากลุ่มหนึ่งไฮปาร์คที่ลานโพธิ์เรียกร้องให้นักศึกษาบอยคอตประท้วงโดยการไม่สอบ สุดท้ายการสอบก็ยกเลิก วันนั้นยังมีการเล่นละครประเด็นที่มีคนถูกฆ่าแขวนคอ แล้วเลือกคุณอภินันท์ (บัวหภักดี) มาเล่นเป็นคนถูกแขวนคอ เขาไม่ใช่คนทำกิจกรรมการเมือง เป็นนักกีฬากรีฑา แต่ชวนมาเพราะเป็นคนตัวเล็ก ผมกับเขาสนิทกัน ไม่มีใครคิดว่าละครที่เล่นจะนำไปสู่อะไรเลย
“คืนวันที่ 4 เรามาปักหลักชุมนุมในธรรมศาสตร์ ตั้งใจว่าจะยืดเยื้อจนกว่ารัฐบาลจะเอาถนอมออกไป หรือจับมาดำเนินคดี โดยมีเวทีอยู่หน้าตึกโดมฝั่งสนามฟุตบอล เช้าวันที่ 5 หนังสือพิมพ์ดาวสยามตีพิมพ์ภาพ แล้วบอกว่า ละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (พาดหัวว่า แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ) ประสานเสียงกับวิทยุยานเกราะที่โจมตีมาตลอด มีการชวนให้ผู้คนออกมาชุมนุมตอนบ่ายที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ทั้งลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล บรรยากาศเหมือนท้ารบเลย ตกเย็นพวกเขาเคลื่อนมาที่หน้าธรรมศาสตร์ เราก็ปิดประตู (ฝั่งสนามหลวง ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ) ศูนย์นิสิตฯ แถลงข่าวว่าการแสดงละครไม่ได้มีเจตนาแบบนั้น เหมือนจะมอบตัวเพื่อสู้คดี บรรยากาศยังตึงเครียด ตกดึกมีการเผาบอร์ดที่ติดกับรั้ว มีการขว้างของ แต่ยังไม่มีเสียงปืน ข้างในพวกเราก็รักษาความปลอดภัยนำโดยนักเรียนช่างกล
“ตอนนั้นตั้งใจว่าตอนเช้าจะสลายแล้ว เพราะถ้าเลิกตอนกลางคืนมันอันตราย แต่พอตีห้ามีระเบิดลูกแรกยิงเข้ามาที่สนามฟุตบอลด้านตึกบัญชี มีคนเสียชีวิตทันที 5 คน คราวนี้เป็นทหารตำรวจบุกดาหน้ายิงเข้ามา เสียงปืนดังต่อเนื่อง นักศึกษาหนีขึ้นตึกบัญชีบ้าง ตึกวารสารบ้าง ผมอยู่ที่ตึกองค์การนักศึกษา คิดว่าต้องหลบไปทางแม่น้ำเจ้าพระยา ตอนนั้นคิดว่าคงตายแล้ว พ่ออยู่ต่างจังหวัด ส่งมาเรียนหนังสือ ยังไม่เคยให้เงินเขาสักบาทเลย ในใจสับสนไปหมด ทำไมต้องมาฆ่ากันด้วย พวกเราก็ต่อสู้เพื่อประชาชน ซึ่งก็คือพวกเขานั่นแหละ ผมคลานไปตามถนน เพราะกระสุนมาระดับหัว ตอนนั้นหัวรุ่ง เห็นแสงไฟจาก M16 เลย นักศึกษาคลานตามๆ กันไป ผมคลานถึงหน้าตึกคณะวารสารฯ หนุ่มคนหนึ่งถูกยิงตาย ยิงเข้าตรงนี้ (ท้ายทอย) ทะลุออกข้างหน้า ตาไม่ได้หลับ มีไขมันออกมา เป็นครั้งแรกที่เห็นคนตายต่อหน้า
“ประตูด้านท่าพระจันทร์ปิด ผมและนักศึกษาจำนวนหนึ่งเลยวิ่งไปที่แม่น้ำ แล้วกระโดดลงไป ว่ายอ้อมไปขึ้นที่ท่าพระจันทร์ ตำรวจแก่ๆ คนหนึ่งเป็นคนฉุดผมขึ้นมา เจ้าหน้าที่บางคนก็มีความเห็นอกเห็นใจน่ะ ผมเดินต่อมาที่ถนนวัดมหาธาตุ ปรากฏว่าโดนจับ เขาให้ทุกคนนอน วินาทีนั้นผมตัดสินใจหนี เลยลุกพรวดออกมา ย้อนกลับมาทางตลาดพระเครื่อง เห็นประตูบ้านเปิดอยู่ ก็เข้าไปเลย เจ้าของบ้านให้ขึ้นไปหลบชั้นบน ยังจำได้เลยว่าเขาเอามันเทศต้มกับน้ำมาให้ นักศึกษาหญิงที่หลบอยู่ด้วยกันก็ร้องไห้ ‘พี่ชายหนูถูกยิงตาย’ ประมาณ 11 โมง ลูกชายเจ้าของบ้านเล่าให้พ่อฟังว่า มีคนแห่เอาศพไปที่สนามหลวงด้านแม่ธรณีบีบมวยผม ตอนนั้นผมนึกว่าได้รับชัยชนะเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แต่ฟังๆ ดูแล้วไม่ใช่
“ผมหลบถึง 4 โมงเย็น ชาวบ้านบอกว่าออกมาได้แล้ว นักศึกษาถูกควบคุมตัวไปหมดแล้ว ในธรรมศาสตร์มีแต่ทหารรักษาการณ์ ผมกับรุ่นน้องเดินมาที่ท่าพระจันทร์กลาง ขึ้นเรือข้ามฟากหางยาว มีคนนั่งอยู่แล้ว เป็นนักศึกษา คนขับเรือก็เรียกผู้โดยสารอยู่บนท่า จู่ๆ ก็มีลูกเสือชาวบ้านมาพูดว่า ‘มึงอย่าเอาพวกมันไปนะ พวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์ มึงติดคุกแน่’ เราเลยเดินขึ้นจากเรือ แล้วเดินไปท่ามหาราช หลังจากนั้นไม่กี่นาที มีเสียง ปั๊บๆๆ ท็อปบูทชุดสีน้ำเงินวิ่งมายิงใส่เรือ แต่เข้าใจว่าไม่มีคนตายนะ ผมระหกระเหินไปทางศิลปากร ข้ามฟากไปท่าพรานนก แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน
“พ่อมาถึงคืนนั้น ตอนนั้นเป็นนายอำเภออยู่ลำปาง ด่าฉิบหายเลย ทำเรื่องอีกแล้ว มีปัญหาอะไรเยอะแยะ เขากับผมมีความเห็นไม่ตรงกัน เขารู้ว่าถ้าเราอยู่กรุงเทพฯ คงลงเอยที่เข้าป่า เลยเอาตัวเราไปอำเภอแจ้ห่ม ลำปาง 2 เดือน แต่จริงๆ ผมไม่คิดจะเข้าป่าอยู่แล้ว เพราะไม่ได้เห็นด้วยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เรามีแนวทางของตัวเอง หลังจากนั้นผมก็กลับมาเรียนต่อจนจบนิติศาสตร์ แล้วก็เริ่มอาชีพทนายมาจนถึงปัจจุบัน
“เพื่อนฝูงเสียชีวิต ความโศกเศร้าเสียใจย่อมมีเป็นธรรมดา แต่เวลาผ่านไป ผมไม่เคียดแค้นใคร คนลืมเรื่อง 6 ตุลาฯ กันพอสมควร แม้แต่คนรุ่นผมก็ตาม ส่วนคนรุ่นใหม่เขาไม่ลืมหรอก เพราะเขาไม่รู้เลย ในฐานะคนจัดงานรำลึก 6 ตุลาฯ มาตั้งแต่สมัยนักศึกษา ผมต้องการทำความจริงในเหตุการณ์ให้ปรากฏ เมื่อคุณรู้ คุณจะลืมก็ได้ เราต้องยอมรับว่ามีการแขวนคอ มีการเอาเก้าอี้ฟาด มีการตอกอก มีการเอาคนไปขังแล้วปล่อย ผมต้องการให้ความสูญเสียเป็นบทเรียน ทำยังไงที่ความรุนแรงแบบนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะต่อให้คนตายไปมากแค่ไหน สุดท้ายก็ไม่มีใครได้ประโยชน์เลย”
“…ผมรอมา 40 ปีเพื่อที่จะมีใครสักคนมาถาม ให้ผมได้เล่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้”
วิชัย แสงดาวฉาย
อายุ 54 ปี
“นอกจากแสนคนที่ออกมาประท้วง เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยังมีอิทธิพลต่อคนทั่วไปด้วย ซึ่งผมเป็นหนึ่งในนั้น แต่ความตื่นตัวทางการเมืองของผมมาเข้มข้นในปี 2517 ผมไปเรียนภาษาจีน นอกจากภาษา ที่นั่นยังสอนเนื้อหาการเมืองซ้ายๆ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อเด็กจีนจำนวนหนึ่ง ผมอ่านมากซ์ตั้งแต่ ป.5 วรรณกรรมก็ด้วย งานของ วัฒน์ วรรลยางกูร วิสา คัญทัพ ฯลฯ เทียบกับเด็กรุ่นเดียวกัน ผมถือเป็นคนอ่านหนังสือเยอะ ผมตามพี่ชายไปประท้วงที่ธรรมศาสตร์เป็นประจำ ไปคนเดียวก็เคย แต่ไม่ค่อยบอกที่บ้านหรอก เพราะในสายตาของผู้ใหญ่ไปธรรมศาสตร์มันดูอันตราย
“ปี 2519 ประภาสเข้ามาก่อน แต่ถูกประท้วงจนต้องออกไป พอถนอมบวชเป็นเณรเข้ามา ก็มีการประท้วงอีก ผมมาธรรมศาสตร์ทุกวัน สามสี่ทุ่มก็กลับบ้าน อยู่ ป.7 แต่ทำตัวเหมือนนักศึกษาเลย ซึ่งสมัยนั้นนักเรียนไม่น้อยนะ เช้ามืดวันที่ 6 เริ่มมีการฆ่ากันแล้ว ผมดูทีวีอยู่ที่บ้าน ช่องเดียวที่ถ่ายทอดสดคือช่อง 9 ผมเห็นภาพคนถูกแขวนคอแล้วเอาเก้าอี้ฟาด ไม่ถึงสิบนาที รายการก็โดนปิด ตกใจมาก กลัว แต่ก็อยากออกไป ลึกๆ มีความคั่งแค้นทางการเมือง พี่ชายพยายามจะออกจากบ้าน ที่บ้านต้องเอาเชือกมัดไว้ ถึงขั้นเอารองเท้าตบเลย
“วันรุ่งขึ้นที่บ้านยังไม่ให้ออก ผมอาศัยความเป็นเด็ก ทำเป็นออกไปวิ่งเล่น แล้วแอบไปกับเพื่อน มาถึงธรรมศาสตร์ เห็นคราบเลือดตามที่ต่างๆ น้ำตาคลอเลยนะ ประตูใหญ่ฝั่งสนามหลวงที่ติดกับพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพังไปแถบหนึ่ง หอประชุมใหญ่กระจกแตก หลังคาหลุดร่อน มีรอยกระสุนประปราย ต้นมะขามบางต้นแหว่งเลย ผมไม่แน่ใจว่าเกิดจากปืนหรือเปล่า เพราะเขาเอาบาซูก้ามายิงด้วย ตะลึงอยู่เป็นชั่วโมง ทำอะไรไม่ถูก ตอนนั้นสับสนมาก ที่บ้านมีหนังสือฝ่ายซ้ายและเทปเพลงเพื่อชีวิตเยอะมาก ต้องทยอยเอาไปฝังดิน เพราะถูกประกาศเป็นของต้องห้าม ผ่านไปไม่นาน ผมเริ่มรู้ว่ามีนักศึกษาเข้าป่า เพราะแม่ของเพื่อนพี่ชายมาบอกว่าลูกสาวหายไป
“ผมกลับมาเรียนต่อที่วัดประยุรวงศาวาสจนถึง ม.ศ.2 แล้วสอบเทียบไปเรียนวัดราชโอรส จนจบ ม.ศ.5 บรรยากาศในเมืองเงียบเหงามาก ห้ามแสดงออกใดๆ ห้ามชุมนุม ห้ามร้องเพลงเพื่อชีวิต ห้ามอ่านหนังสือการเมือง ผมเริ่มอยากเข้าป่าบ้าง เคยสมัคร แต่รุ่นพี่บอกว่ายังเด็กอยู่ ให้เรียนหนังสือไป ผมเริ่มไม่อยากเรียนในระบบ แต่ก็เรียนๆ ไป เลยตัดสินใจไม่เอนท์ แล้วไปเรียนที่ ม.ราม คณะเศรษฐศาสตร์ แทบไม่เข้าเรียน ทำกิจกรรมทางการเมืองตลอด เรียนจบมาผมไปทำงานบริษัททัวร์เกือบสองปี ตอนนั้นยังสนใจการเมือง คิดว่าต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน เลยสมัครงานราชการ งานเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ช่วงแรกๆ ยังไปช่วย อมธ.จัดกิจกรรมอยู่เลย จนถึงวันนี้ ผมทำงานที่นี่เข้าปีที่สามสิบแล้ว
“ทุกวันนี้เพื่อนผมบางคนเป็นนักธุรกิจร้อยล้าน บางคนเป็นด๊อกเตอร์ พวกเขากลับตัวทัน ผมกลับตัวไม่ทัน เลยยังเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยจนอายุห้าสิบกว่าแล้ว แต่ชีวิตก็ไม่ได้ลำบากอะไร ผมถูกการเมืองพัดพาชีวิต บางครั้งก็ดีใจ บางครั้งก็เสียดายเวลา แต่อย่างน้อยการได้มาทำงานที่ธรรมศาสตร์ ผมว่าถูกที่ถูกเวลา ถือเป็นของขวัญชิ้นที่ภูมิใจที่สุดในชีวิตเลย ผมรอมา 40 ปีเพื่อที่จะมีใครสักคนมาถาม ให้ผมได้เล่าเรื่องต่างๆ เหล่านี้”
“ผมวิ่งไปที่สนามฟุตบอล เห็นนักศึกษาบางคนถูกเตะ ผู้หญิงบางคนถูกลวนลาม มีคนตายต่อหน้า นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกลากมาจากตึกบัญชี แล้วเอาลิ่มตอกอก ธงชัย (วินิจจะกูล) ตะโกนบอกว่า ‘อย่ายิงเข้ามาเลย เราไม่มีอาวุธ เราสู้โดยสันติ’ เขาถูกหิ้วไปให้หยุดพูด”
เสรี ศิรินุพงศ์
อายุ 77 ปี
“ตอนปี 2519 ที่ถนอมบวชเป็นเณรกลับมา ผมเป็นข้าราชการอยู่กรมเจ้าท่า เลิกงานสี่โมงครึ่ง ผมมาฟังไฮปาร์คที่ธรรมศาสตร์ พอดึกๆ ผมกลับบ้านที่บางลำภู เป็นแบบนี้ทุกวัน หลังจากมีการเล่นละครที่ลานโพธ์ หนังสือพิมพ์ดาวสยามบอกว่ามีการหมิ่นสถาบันฯ สถานีวิทยุยานเกราะ 200 สถานีปลุกระดมว่า คนที่ชุมนุมในธรรมศาสตร์เป็นพวกคอมมิวนิสต์ คืนวันที่ 5 ตุลาคม ผมก็อยู่แถวนี้ (หอประชุมใหญ่) เดินไปเดินมา คุยกับนักศึกษา ช่วยรักษาความปลอดภัยกับนักเรียนช่างกล ตีห้าของวันที่ 6 ตุลา ปืนนัดแรกยิงเข้ามา ลูกเสือชาวบ้านพังประตู สถานการณ์ชุลมุนมาก
“ผมวิ่งไปที่สนามฟุตบอล เห็นนักศึกษาบางคนถูกเตะ ผู้หญิงบางคนถูกลวนลาม มีคนตายต่อหน้า นักศึกษาหญิงคนหนึ่งถูกลากมาจากตึกบัญชี แล้วเอาลิ่มตอกอก ธงชัย (วินิจจะกูล) ตะโกนบอกว่า ‘อย่ายิงเข้ามาเลย เราไม่มีอาวุธ เราสู้โดยสันติ’ เขาถูกหิ้วไปให้หยุดพูด ตอนนั้นผมคิดว่า ตายเป็นตาย ไม่หนี แต่ไม่รู้จะสู้ยังไง เพราะพวกเราไม่มีอาวุธ ผมมาโดนตำรวจจับที่หน้าตึกคณะรัฐศาสตร์ เจ้าหน้าที่พูดว่า ‘ไอ้นี่นะ ตัวสำคัญเลย เคยออกมาตั้งแต่ปี 2516’ มันจำผมได้ ผมถูกถีบ ถูกเตะ สั่งให้หมอบ มันบอกว่า ‘มึงหมอบไม่สวย ก้นยังโด่งอยู่’ ผมถูกเหยียบ ถูกกระทืบ แล้วถูกจับขึ้นรถไปตามที่บางเขน นักศึกษาถูกจับเยอะมาก (ภายหลังส่วนใหญ่ได้รับการประกันตัว)
“ผมเป็น 1 ใน 18 คนที่ถูกขังอยู่ 711 วัน ชีวิตในคุกไม่ได้ลำบากอะไร เพราะเป็นคดีการเมือง เสาร์-อาทิตย์มีคนมาเยี่ยม ประชาชนบ้าง ตัวแทนจากองค์กรสิทธิมนุษยชน สถานทูตต่างๆ พอออกจากคุกมา ผมไปรับราชการที่กรมเจ้าท่าเหมือนเดิม อธิบดีตอนนั้นเข้าใจว่าเป็นคดีการเมือง สองปีที่อยู่ในคุกไม่ได้เงินเดือนนะ หลังจากนั้นก็รับตามปกติ แล้วปีนั้นเขาให้ผมสองขั้นด้วย ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ไม่เคยมีใครมากล่าวหาว่าผมเป็นคอมมิวนิสต์เลย ทุกคนเข้าใจว่าที่ทำไป คือการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ต่อสู้เพื่อประชาชน”
“น่าเศร้านะ ทำไมบ้านเมืองเป็นแบบนี้ไปได้ ภาพยังอยู่ในความทรงจำ (เงียบนาน) ทำไมต้องฆ่านักศึกษาด้วย ที่มีคนกล่าวหาว่านักศึกษามีอาวุธซ่อนไว้ จริงๆ ไม่มีหรอก ยืนยันได้เลย เพราะป้าสนิทกับนักศึกษา ป้ารู้ ถ้าเขามีอาวุธจริงๆ วันนั้นเขาสู้แหลกไปแล้ว”
ราตรี วงค์อำนวยกุล
อายุ 68 ปี
“ป้าขายที่นี่ (โรงอาหารใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์) ตั้งแต่ปี 2514 เริ่มจากขายก๋วยเตี๋ยวเป็ด ก๋วยเตี๋ยวหมู ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เราต้องทำครบทุกอย่าง เพราะร้านมีไม่มาก สมัยนั้นยังใช้เตาถ่านเลย ช่วงแรกขายดี ของราคาถูก เป็ดตัวละสิบกว่าบาท หมูกิโลละสิบกว่าบาท ก๋วยเตี๋ยวชามละ 2 บาท ข้าวราดแกงสองอย่าง 2.50 บาท ตอนนั้นการเมืองลุ่มๆ ดอนๆ บางครั้งมีประท้วง มหาวิทยาลัยก็งดเรียน แต่ป้าจะเตรียมของวันต่อวัน เลยไม่กระทบเท่าไร
“ช่วงใกล้เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ บรรยากาศแค่กรุ่นๆ ร้านป้ายังขายอยู่ แต่ไม่ได้ขายมาก พอวันที่ 4 ป้าทำข้าวใส่ถุงให้นักศึกษาที่ประท้วง เอาข้าวใส่ถุง ราดกับข้าว รัดหนังยาง ห่อละ 2 บาท ทำเป็นพันถุงเลย พอวันที่ 5 ป้ากลับบ้านตอนเย็น ฟังจากวิทยุ ข่าวบอกว่ายึดธรรมศาสตร์แล้ว ป้าก็ห่วงของ ที่ร้านตุนข้าวเป็นสิบๆ กระสอบ หมูไก่รวมแล้วเป็นร้อยกิโล ป้าเก็บเหรียญไว้ที่ร้านด้วย วันรุ่งขึ้นเลยมาที่ธรรมศาสตร์ มาถึงตีสามตีสี่ ทีแรกเข้าไม่ได้ ป้าก็หาทางแอบเข้ามา ยังไม่ทันได้เอาเหรียญเลย เขาเริ่มยิงแล้ว ป้าแอบมอง เห็นนักศึกษาถูกจับมาที่สนามบอล ป้ากลัวมาก ก็วิ่งๆๆ มาที่ท่าพระจันทร์ เราใส่เอี๊ยม ทหารรู้ว่าเป็นแม่ค้าเลยให้ออกมา เราจะข้ามเรือ เขาก็ไม่ให้ข้าม ป้าเลยวิ่งไปท่าช้าง คนวิ่งเต็มไปหมดเลย แล้วกลับบ้านเลย
“ผ่านไปเกือบเดือน ป้าถึงได้กลับมาที่ร้าน แต่ทหารก็ยังคุมอยู่นะ ต้องขออนุญาต เข้ากี่คน-ออกกี่คน ร้านเสียหายหมด เตาพัง ของในตู้เย็นก็เหม็นเน่า ข้าวสารหายไปและกระจายเรี่ยราดเต็มพื้น ไม่รู้ว่าทหารเอาไปกินหรือขาย ป้าหยุดขายไปนาน ญาติที่ขายอยู่กรมศิลป์แบ่งพื้นที่ให้ขายก๋วยเตี๋ยวไก่ ขายไปสองเดือน นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่สนิทกันมาชวนให้มาร่วมประมูลที่โรงอาหารสังคมฯ เลยได้กลับมาขายอีกครั้ง ตอนนั้นนักศึกษาหลายคนเข้าป่า บรรยากาศในธรรมศาสตร์เงียบเหงา หดหู่ ไม่คึกคักเหมือนก่อน กิจกรรมก็มีบ้างนะ แต่ไม่ค่อยมีใครยุ่งเกี่ยวกับการเมือง พ่อแม่คงจะห้ามๆ
“น่าเศร้านะ ทำไมบ้านเมืองเป็นแบบนี้ไปได้ ภาพยังอยู่ในความทรงจำ (เงียบนาน) ทำไมต้องฆ่านักศึกษาด้วย ที่มีคนกล่าวหาว่านักศึกษามีอาวุธซ่อนไว้ จริงๆ ไม่มีหรอก ยืนยันได้เลย เพราะป้าสนิทกับนักศึกษา ป้ารู้ ถ้าเขามีอาวุธจริงๆ วันนั้นเขาสู้แหลกไปแล้ว”