หลังทำงานมาทั้งสัปดาห์ ตอนเราตื่นขึ้นมาเช้าวันหยุดอะไรโผล่เข้ามาในหัวเป็นอย่างแรก?
สำหรับบางคนคงเป็นกิจกรรมที่จะทำวันหยุด หรือจะนอนต่อสักกี่ชั่วโมงดี แต่ขนาดวันหยุดแล้ว บางทีความคิดที่อยู่ในหัวเรานานที่สุดคือ ‘เหลืออะไรที่ต้องทำอีกไหมนะ’ ก่อนจะใช้ชีวิตทั้งวันทำกิจกรรมพร้อมกับคิดเรื่องงานเป็นครั้งคราว แม้จะไม่ตลอดเวลา แต่ก็มากพอจะทำให้สมองทำงานต่อ
ในขณะที่ตลอดสัปดาห์ลึกๆ เราต้องการให้ถึงวันหยุดเพื่อไปทำอย่างอื่นนอกจากงาน แต่ทำไมการพักและวางงานเอาไว้จนกว่าจะเปิดงานอีกครั้ง ถึงรู้สึกยากกว่าการคิดงานต่อในวันหยุด?
เอาเวลาไปพัก = เทเวลาทิ้งเฉยๆ?
ขณะที่เวลาของโลกเดินไปข้างหน้าเสมอ เวลาที่เรามีนั้นลดลงเรื่อยๆ ในโลกที่บอกเสมอว่าให้เราใช้เวลาที่มีให้คุ้มค่า หลายๆ ครั้งการพักผ่อนถูกผลักออกไปสู่พื้นที่ของสิ่งไม่สำคัญในชีวิตได้ จนอาจไปถึงขึ้นที่เรารู้สึกผิดที่จะทำอย่างอื่นนอกจากงานเลยด้วยซ้ำ
แนวคิดการใช้ทุกวินาทีให้เป็นประโยชน์นั้นถูกปลูกฝังกับเรามาตั้งแต่วัยเด็กจากการไม่เคยมีเวลาว่างเลย เพราะนอกจากเรียนเรายังต้องทำการบ้าน เรียนพิเศษ เรียนดนตรี เรียนว่ายน้ำ ฯลฯ แต่แนวคิดนี้ยิ่งพุ่งสูงขึ้นอีกเมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่ จากการแข่งขันระหว่างตัวเองและคนรอบข้าง หรือจากแนวคิดโปรดักทีฟ ที่มักบอกว่าแม้ชีวิตจะยากขนาดไหน สิ่งที่เราต้องมีคือวินัย
ความคิดเหล่านี้โผล่ขึ้นมาเยอะมากตั้งแต่ปี ค.ศ.2020 หลังจากคนส่วนมากใช้เวลาในบ้านหรือที่อยู่ตัวเองมากขึ้นและมีอำนาจในการจัดสรรเวลาของตัวเองมากกว่าเดิม ตั้งแต่ไลฟ์โค้ชที่คอยบอกให้เราสร้างกิจการใหม่ๆ เพิ่มจากงานประจำที่เราต้องปรับตัวจนหัวหมุนอยู่แล้ว ไปจนถึงบทความโดย The Washington Post เกี่ยวกับ ไอแซ็ก นิวตัน ทำงานจากบ้านยังไงเมื่อมีโรคระบาดในปี ค.ศ.1665 และใช้เวลาว่างอย่างเต็มที่ที่สุด และหากเราไม่สามารถทำตามนั้นได้ความรู้สึกผิดสามารถเกิดขึ้นได้ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า productivity guilt
แต่การพักแปลว่าเราเทเวลาทิ้งจริงๆ เหรอ? ในงานวิจัยโดยนักวิจัยมหาวิทยาลัยโอไฮโอ รัตเกอร์ส และฮาร์วาร์ด เรื่องความเชื่อมโยงระหว่างมุมมองต่อกิจกรรมยามว่างและสุขภาพจิต มีการค้นพบว่า ในกลุ่มตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัย 199 ราย หากใครยิ่งมองว่ากิจกรรมยามว่างเป็นเรื่องเสียเวลาขนาดไหน ยิ่งมีโอกาสพบโรคซึมเศร้า ความเครียด และความวิตกกังวลมากขึ้น ซึ่งแม้จะร่วมกิจกรรมเหล่านั้นไปแล้ว ความรู้สึกเสียเวลาก็สามารถทำให้ความสุขในการทำกิจกรรมเหล่านั้นลดลงไปด้วย
และนอกจากความสุขและการรักษาสุขภาพจิตแล้ว การทำกิจกรรมยามว่างอื่นๆ นอกจากงาน เช่น การออกกำลังกาย ดูหนัง หรือการใช้เวลากับเพื่อนฝูงนั้นสามารถเป็นสิ่งที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเราในระยะยาวได้ด้วย โดยเฉพาะคนที่ทำงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์
ในขณะที่การพักไม่ได้ทำให้งานของเราเสร็จเร็วขึ้น แต่งานจะเสร็จไม่ได้หากคนทำทำไม่ไหว และการพักไม่ใช่การเทเวลาทิ้ง แต่เป็นการหยุดเดินชั่วคราวเพื่อให้เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ โดยไม่ล้มลงเสียก่อนต่างหาก
ไม่ใช่แค่ความรู้สึกผิด แต่การทำงานสร้างสุขได้
หลายๆ ครั้งการคิดเรื่องงานไม่ใช่จากความรู้สึกผิด แต่การทำงานให้สำเร็จลุล่วงสามารถเป็นเรื่องที่เสพติดได้
ความสุขที่เกิดจากการทำงานสำเร็จลุล่วงนั้นมีที่มาที่ไป นั่นคือเมื่อเราทำงานเสร็จ ร่างกายจะหลั่งสานโดปามีนจำนวนมาก ที่นอกจากสร้างความรู้สึกดังกล่าวแล้ว ยังสามารถสร้างความพึงใจ และยิ่งไปกว่านั้นคือความต้องการที่จะทำงานให้เสร็จไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะรู้สึกแบบนั้นอยู่ต่อไปเรื่อยๆ ได้ด้วย
นอกจากนั้นแล้วงานสามารถเป็นเครื่องมือในการหลบหนีความทุกข์ได้ด้วย ลองนึกภาพถึงเหตุการณ์สักเรื่องที่ส่งผลต่อจิตใจของเราอย่างมาก อาจจะเป็นการมีปัญหากับเพื่อนหรือครอบครัว อกหัก หรืออารมณ์เบรกดาวน์จากการโดนสถานการณ์โลกถาโถม วิธีการแรกที่เราจะหยุดคิดถึงเรื่องนั้นคืออะไร? คำตอบต้นๆ ของเราน่าจะเป็นการถมตัวเองด้วยภาระงานจนไม่สามารถเอาเวลาไปคิดเรื่องอื่นเลย
และนั่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ในงานวิจัยโดย ทิโมที วิลสัน (Timothy Wilson) นักจิตวิทยาเชิงสังคมจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขาค้นพบว่าหากให้คนเลือกระหว่างการนั่งเฉยๆ กับความคิดของตัวเอง กับการเดินไปกดปุ่มที่ทำให้ตัวเองโดนไฟช็อต กลุ่มตัวอย่างชาย 67% และหญิง 25% เลือกอย่างหลังมากกว่า ฉะนั้นการเลือกทำงานเพื่อลบล้างการนั่งพักคิดอะไรคนเดียวนั้นไม่เกินจริงเลย
ทั้งหมดทั้งมวล การทำงานมีผลพลอยได้อื่นๆ นอกจากความเครียด และผลพลอยได้เหล่านั้นมีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตเรามากพอจะทำให้งานเป็นสิ่งเสพติดกับเราได้ แต่นั่นแปลว่ามันสามารถมาแทนที่การพักผ่อนได้หรือเปล่า? อาจจะตอบได้เพียงว่า ‘แล้วแต่ว่าเหนื่อยอะไรอยู่’
แล้วสรุปเราต้องพักผ่อนยังไง?
การถามว่าการพักผ่อนที่แท้จริงคืออะไรนั้นอาจไม่มีคำตอบเดียวสำหรับทุกคนได้ เพราะการพักผ่อนสำหรับแต่ละคนไม่เหมือนกัน และความเหนื่อยไม่ได้มีแค่แบบเดียว แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่อาจควรหาคำตอบคือการพักผ่อนแบบใดเหมาะกับตัวเองและสถานการณ์ที่เจออยู่ การคิดว่าเราเหนื่อยอะไรอยู่ระหว่างกายกับใจฟังดูเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาที่แทบไม่ต้องบอกกัน แต่เราลืมการจำแนกความเหนื่อยเหล่านี้บ่อยกว่าที่คิด และเมื่อลืมแล้วเรามักพักในแบบที่ทำให้เราไม่หายเหนื่อยในส่วนที่เราเหนื่อยอยู่
บางครั้งความเหนื่อยก็ตรงไปตรงมาที่อาศัยการนอนหลับและตื่นสายๆ ถึงจะหาย บางครั้งความเหนื่อยคือความหมดแรงใจที่จะทำงาน การพักอาจมีความหมายว่าออกไปแฮงก์เอาต์กับเพื่อนหรือคนเดียวตามชอบ หรือบางทีความเหนื่อยอาจซับซ้อนกว่านั้น เช่นเป็นเรื่องของความเหนื่อยกับระบบและความจำเจของงานที่ตัวเองทำอยู่ วิธีพักอาจเป็นการคิดถึงโปรเจกต์ที่มาเติมเต็มตัวเราเองได้ทำ หรือบางทีเราอาจจะเหนื่อยทุกแบบที่กล่าวมา ก็ลองบาลานซ์ดูว่าจะพักยังไงบ้างดี
ไม่ว่าคำตอบของแต่ละคนจะเป็นยังไง ไหนๆ ก็กำลังวันหยุดยาวแล้ว การถือโอกาสนี้วางงานลงแล้วคิดถึงการพักบ้างก็ไม่น่าเสียหายอะไร
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart