ช่วงสัปดาห์ก่อนกระแสหนังเรื่องพริกแกงกำลังมาเพราะว่าหนังเพิ่งเข้าฉายใหม่ๆ แต่การเป็นกระแสจากหนังที่ฉายกลับไม่ได้ชื่นชมกันเป็นหลัก ว่ากันตรงๆ ก็หนักไปทางบ่นๆ อะเนอะ ประมาณว่า เป็นหนังที่เชิดชูอะไรจนเกินไป ทำให้หนังเคร่งขรึมมากๆ จนกลายเป็นดูไม่สนุกไป
อะ หนังสนุกไม่สนุกไม่แน่ใจ เพราะเราไม่ได้เน้นเรื่องความสนุกของหนัง แต่ประเด็นอยู่ที่บทวิจารณ์ของหนังเรื่องนี้ (ที่บอกว่าไม่สนุก) กลับสนุกกว่าตัวหนังซะอีกเว้ยเฮ้ย
รู้สึกย้อนแย้ง งงๆ นิดนึงมั้ย
เพราะในความรู้สึกของเราๆ การวิจารณ์มันเหมือนเป็นแค่งานลำดับที่สอง ที่ไปเกาะกับงานจริงๆ อีกทีหนึ่ง อย่างหนังก็คืองานสร้างสรรค์ งานวิจารณ์คืองานที่ไปพูดถึงงานสร้างสรรค์อีกทีหนึ่ง งานวิจารณ์เลยดูเป็นเหมือนสิ่งที่สำคัญรองลงมา รองจากตัวงานที่งานวิจารณ์กำลังพูดถึง
ถ้าพูดอย่างร้ายๆ ซึ่งไม่ได้มีแค่ในบ้านเราเท่านั้นหรอก ความคิดที่บอกว่างานวิจารณ์เป็นเหมือนปลิงที่ไปเกาะงานศิลปะอีกทีหนึ่ง ตัวงานวิจารณ์เองไม่ได้มีความหมายสำคัญเท่า ซึ่งก็มีการโต้แย้งแหละ
บ้านเราเลยชอบมีการโจมตีคนที่วิจารณ์ว่า “เก่งแต่วิจารณ์ ทำไม่ได้อย่างเขา”
อนึ่ง มันก็ต้องแยกแยะด้วยอะเนอะ ว่าสิ่งที่ทำคือการวิจารณ์ไม่ใช่การแค่ด่ากราดอย่างไม่มีเหตุผลหรือเต็มไปด้วยอคติ
แล้วการวิจารณ์คืออะไรล่ะ?
พูดแบบกลางๆ สังคมไทยเราไม่ค่อยชินกับการวิจารณ์เท่าไหร่ เพราะส่วนหนึ่งคือเราไม่ค่อยนิยมพูดอะไรกันตรงๆ (แต่เปิดโหมดนินทานี่บ่อยเลย) และเราไม่ค่อยแยกระหว่างวิจารณ์เนื้อหาความคิดกับการโจมตีไปที่ตัวบุคคล แบบที่ฝรั่งจะใช้คำว่า take it personally ซึ่งเวลาที่เราวิพากษ์วิจารณ์กัน คำวิจารณ์แบบไทยๆ มันจะเลื่อนเลยไปที่ตัวบุคคลอยู่เรื่อย เช่นมันเป็นฝ่ายไหน หรือเป็นเพศอะไร เป็นคนภาคไหน หรือสถาบันการศึกษา และก็มักจะลืมวิจารณ์เนื้อหาไปซะเฉยๆ
คำว่า ‘วิจารณ์’ มาจากคำว่า critic รากศัพท์ภาษากรีกคำว่า kritikós หมายถึงคนที่ละเลยไม่ได้ ซึ่งหมายถึงบุคคลที่เสนอคำตัดสินที่มีเหตุมีผล หรือการวิเคราะห์ การตัดสินที่มีความหมาย การตีความหรือการสังเกตการณ์ หลังจากนั้นการวิจารณ์หรือนักวิจารณ์เองก็ถูกตั้งคำถาม โดยที่มีเหล่านักคิดนักปรัชญาช่วยกันครุ่นคิดกันอย่างหนัก นักคิดคนสำคัญ Immanuel Kant บอกว่ามันคือการสำรวจตรวจสอบสิ่งต่างๆ ด้วยองค์ความรู้ทั้งหลาย
แกนสำคัญของการวิจารณ์ที่ดีคือการทำอย่างตรงประเด็น ทำอย่างมีเหตุผล และทำด้วยองค์ความรู้ทั้งหลาย การวิจารณ์เลยมีส่วนที่สังคมเราจะกลัวกันหน่อยๆ คือการตัดสินให้ค่านี่แหละ เพราะการหาจุดที่เราจะตัดสินอะไร ได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล นุ่มนวล และตรงเป้าตรงประเด็น มันต้องอาศัยพลังจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้หรือศิลปะของการเขียนก็ตาม
ทำไม่ได้อย่างเขาก็อย่าวิจารณ์ การวิจารณ์เป็นแค่ปลิงจริงดิ
จากที่พูดถึงการวิจารณ์ ดังนั้นเวลาเราวิจารณ์อะไรสักชิ้นให้เป็นการวิจารณ์ที่ดี มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะอย่าลืมว่าการวิจารณ์ที่มาวิจารณ์งานวิจารณ์อีกทีมันก็มี(โอ๊ย งง!) และในภาพที่กว้างขึ้น เนื่องด้วยการวิจารณ์คือการให้ความรู้และมุมมองที่อ่านงานทั้งหลายได้มากเป็นพิเศษ งานวิจารณ์หลายชิ้นมันไม่ได้หยุดแค่ตัวหนังหรืองานเขียน แต่เป็นบทวิจารณ์ที่พูดว่างานศิลปะพวกนี้มันมีความสัมพันธ์กับสังคมอย่างไร มันทำให้ผู้อ่านเข้าใจทั้งตัวงานไปจนถึงสังคมรอบข้างมากขึ้นด้วย หรือกลับไปที่เพจวิจารณ์หนังทั้งหลาย ก็ต้องใช้ฝีมือในการเขียนหรือเล่าต่อแบบแซ่บๆ จนบางทีแซ่บนำตัวหนัง อ่านแล้วสนุกกว่าดูหนังไปซะอีก
ในระดับเรียบๆ สังคมที่กลัวการวิจารณ์ และเลือกที่จะเงียบแทนการอธิบาย หากมองแบบสุดโต่ง คือไม่มีการวิจารณ์เลย วงการต่างๆ ย่อมแน่นิ่งและไม่มีการก้าวไปข้างหน้า ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นวงการไหนก็ตาม การได้รับคำวิจารณ์ที่ดี หรือการที่ส่งเสริมการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมีเหตุผล มันย่อมนำไปสู่ความงอกเงยทางปัญญา มากกว่าจะเป็นความแน่นิ่งตายตัวของความกลมเกลียว
ดังนั้น เราอาจจะต้องคิดกันใหม่ อย่างประเด็นเรื่องการวิจารณ์ นัยของการวิจารณ์มันไม่ค่อยดี แต่ถ้าเราทำมันดีๆ ความขัดแย้งหรือความเห็นแย้ง มันอาจจะปัจจัยสำคัญของความงอกเงย มากกว่าความถดถอย