เราอยู่ในโลกที่เราวิจารณ์กันเสมอ ล่าสุดนักแสดงและพิธีกรก็ออกมาสาดอารมณ์ใส่กัน ต่างฝ่ายต่างวิจารณ์อีกฝ่ายกันอย่างออกรส แต่เนื้อหาที่วิจารณ์ก็อาจจะไม่พ้นจากสิ่งที่เราชาวบ้านวิจารณ์กันเท่าไหร่ อย่างเรื่องหน้าตาบ้าง ฐานะบ้าง เหมือนที่เราๆ เมาท์มอยกันว่าแกคนนั้นมันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งในที่สุดแล้วคำวิจารณ์เหล่านั้นกลับ ‘ไม่ได้นำไปสู่อะไรเท่าไหร่’
บ้านเราเป็นสังคมที่มีปัญหากับ ‘การวิจารณ์’ พอสมควร เรามีวัฒนธรรมรักษาหน้า คือไม่ค่อยมีการพูดหรือมีการวิจารณ์กันต่อหน้า คือพูดถึงข้อดีข้อเสียกันอย่างเป็นเหตุผล อย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นการวิจารณ์ส่วนใหญ่เลยถูกย้ายไปทำกันโดยลับหลังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การวิจารณ์เองก็ถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการพัฒนา คือเราจะเก่งขึ้นได้ เราก็ต้องได้รับคำติชมต่างๆ
ด้วยความที่เราไม่ค่อยชินกับการวิจารณ์กันเท่าไหร่ และแน่นอนว่าการถูกวิจารณ์เองก็ถือว่าเป็น ‘เรื่องยาก’ อย่างหนึ่งเหมือนกัน คือถึงจะรู้ว่าคำวิจารณ์มันคือสิ่งที่ทำให้เราพัฒนาขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการถูกวิจารณ์ก็เป็นเหมือนยาขมที่กินยากพอสมควร และแน่ล่ะว่าถ้าเราเกิดพอจะมีชื่อเสียงขึ้นมาแล้ว การตกเป็นเป้าของการวิจารณ์จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
จะรับคำวิจารณ์คงต้องแยกแยะคำวิจารณ์ก่อน
สังคมไทยเราไม่ค่อยพูดอะไรซึ่งหน้า แถมการวิจารณ์ที่เราเจอกันบ่อยๆ ก็มักจะมาจากรายการบันเทิง เป็นการที่สื่อบันเทิงจะออกมา ‘เมาท์’ ดารา อย่างกรณีที่ดราม่ากันก็เริ่มจากการไปบอกว่าอีกคนหน้าตาแย่สุดในวง แถมหน้าก็แก่ขึ้นเรื่อยๆ ไอ้การวิจารณ์แบบนี้มัน ‘ไม่ค่อยสร้างสรรค์’ เพราะมุ่งวิจารณ์ตัวบุคคล การไปบอกว่าคนนี้หน้าตาแย่ แล้วจะให้ทำยังไงให้หน้าตาดีขึ้น แล้วถ้าหน้าตาดีขึ้นหรือไม่มีวันแก่ลงจะมีประโยชน์อะไรกับสังคมไหม
การวิจารณ์เลยถือเป็นกิจกรรมที่คนทำต้อง ‘ฉลาด’ และมีความเข้าอกเข้าใจในระดับหนึ่งถึงจะสามารถให้คำวิจารณ์อย่าง ‘สร้างสรรค์ (constructive)’ ได้ เพราะการที่เราจะให้คำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์กับใครได้ต้องเกิดจากความปรารถนาดีที่เราอยากให้อีกฝ่ายหนึ่งเก่งขึ้นหรือฉลาดขึ้นเป็นพื้นฐาน และแน่ล่ะว่าเราก็ต้องมั่นใจว่าเรามีคำแนะนำที่ดีมากพอที่จะทำให้อีกฝ่ายนำไปสู่การพัฒนายิ่งขึ้นไป
ในทางกลับกันถ้าเป็นคำวิจารณ์ที่ ‘ทำลาย (destructive)’ ที่พูดแค่เอาสนุกแถมความหมายยังไปทำร้ายอีกฝ่ายให้เจ็บช้ำน้ำใจ คำวิจารณ์ทำนองนี้ถ้าไม่นำไปสู่อะไรก็ควรจะปาทิ้งไปซะ บางกรณีคนที่วิจารณ์อย่างทำลายล้างก็ต้องเข้าใจว่า ถ้าส่งคำติไปแบบไม่ฉลาด ก็อาจจะถูกสวนมาได้ไม่ต่างกัน
การรับคำวิจารณ์มันยาก นักเขียนระดับเทพยังนอย
ในการทำงานเชิงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือศิลปิน การถูกวิจารณ์เป็นสิ่งที่ยังไงก็ต้องเจอ ขนาดนักเขียนมือระดับเทพทั้งหลายก็ยังรู้สึกว่าการรับคำวิจารณ์เป็นเรื่องสำคัญและต้องจัดการอย่างเหมาะสม ซึ่งท่าทีของแต่ละคนต่อคำวิจารณ์ก็แตกต่างกันไป บางคนก็บอกว่าหลีกเลี่ยง บางคนก็บอกว่าคำวิจารณ์นี่แหละเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ต้องฟังอย่างระมัดระวัง
ทรูแมน คาโพตี (Truman Capote) นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของนวนิยายเรื่อง Breakfast at Tiffany’s บอกว่า โอเคเราต้องแกร่งและเก่งขึ้นเพื่อสู้กับความเห็นทั้งหลาย แต่ว่าสิ่งหนึ่งที่คาโพตียืนยันคืออย่าทำให้ตัวเองแย่ลงด้วยการไปตอบโต้เหล่าคนที่มาวิจารณ์เรา โอเคเราอาจจะคิดคำพูดหรือวิธีตอบโต้ต่างๆ ในหัวได้ แต่อย่าได้ลงมาเขียนหรือทำออกมาอย่างเป็นรูปธรรม คือเราพัฒนาหรือเก่งขึ้นจากคำวิจารณ์ แต่อย่าเสียเวลาไปตอบโต้โดยตรง ถ้าเป็นสมัยนี้ก็อาจจะรวมการโพสต์พวกเฟซบุ๊กด้วย
อัลดัส ฮักซลีย์ (Aldous Huxley) นักเขียนแนววิทยาศาสตร์ระดับตำนานบอกว่าไม่สนใจเสียงวิจารณ์ทั้งหลายเลย เพราะพี่แกไม่อ่านไม่รับฟัง ฟังดูเป็นคนถือตัวเองเป็นใหญ่เนอะ แต่พี่แกให้เหตุผลว่างานใดๆ ที่พี่แกทำขึ้นมา ฮักซลีย์ถือว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว พอดีที่สุดแล้ว ปล่อยออกไปแล้ว ก็แล้วกัน
สรุปแล้ว พวกข้อแนะนำเรื่องการรับคำวิจารณ์ หลักๆ คือการเรียนรู้ที่จะเก็บเกี่ยวหรือตอบสนองต่อคำวิจารณ์ในเชิงบวก (positive) ดังนั้นต่อให้เป็นคำวิจารณ์เชิงลบเราก็ไม่จำเป็นต้องลบตาม สมมุติเขาบอกว่าเราผิด เราก็เอามาปรับปรุงซะ ต่อให้คำวิจารณ์นั้นร้ายกับเรา เราอาจจะระงับการตอบโต้ตามที่คาโพตีบอก หรืออย่างน้อยๆ ก็อย่างเพิ่งตอบโต้ทันที เพราะถ้าแรงมาเราก็อารมณ์กลับแน่นอน คำแนะนำที่น่าสนใจอันหนึ่งคือการตอบรับด้วยพลังบวกๆ คือการรับคำวิจารณ์ด้วยคำขอบคุณ ซึ่งเอาจริง การที่จะตอบสนองคำวิจารณ์แย่ๆ ด้วยการฟาดกลับ ในโลกความจริงก็ถือว่าชอบธรรมเนอะ
การวิจารณ์ต่อกันถือว่าเป็นส่วนประกอบสำคัญในการเติบโตขึ้นของเรา และในอีกทางการออกความเห็นเรื่องชาวบ้านก็ดูจะเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์
อาจารย์ทางการวิจารณ์ท่านหนึ่งเคยบอกว่า บางคนวิจารณ์เพราะอยากให้เราฉลาด บางคนวิจารณ์เพราะอยากให้เราเห็นว่าเขาฉลาด ถือเป็นข้อสรุปที่ดีในการรับมือคำวิจารณ์ที่ปากันไปปากันมาในชีวิตประจำวัน