แน่นอนว่าช่วงนี้เรื่องไวรัส การติดเชื้อ และการระบาดกำลังอยู่ในความสนใจทั้งโคโรนาไวรัสที่กำลังเป็นที่จับตา และโดยบังเอิญ บ้านเราก็มีกระแสเรื่อง HIV ที่ก็เป็นอีกหนึ่งการติดเชื้อไวรัส แต่สองการติดเชื้อนี้ดูจะมีความต่างกันอยู่บ้าง การติดเชื้อแบบโคโรนาเป็นการติดเชื้อที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสหายได้ ในขณะที่ HIV เป็นการติดเชื้อที่มีความซับซ้อน จากการเอาชนะจึงกลายเป็นการ ‘อยู่ร่วม’ กับไวรัสหรือโรคร้าย—ที่ไม่ใช่หมายความว่าจะเน้นแพร่เชื้อให้ชาวบ้านไปทั่ว
ถ้าเรามองโลกกลมๆ ใบนี้ มองระบบนิเวศที่มีสิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน เกื้อกูลกันบ้าง ทำร้ายกันบ้าง นอกจากสัตว์เป็นตัวๆ แล้ว มนุษย์เราเองก็ยังมีปฏิสัมพันธ์ กระทั่งมีจินตนาการบางอย่างกับสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่นว่าเราเห็นพวกมันในนามของเชื้อโรค เป็นภาพตัวยึกยือที่ไม่พร้อมจะเข้ามาทำลายสุขภาพเรา ก็รอวันที่เราใช้สบู่หรือน้ำยาล้างห้องน้ำไปราดเพื่อทำลาย
ยุคหลัง จากภาพโฆษณา จากจินตนาการและจากนิยามที่เรามีต่อเชื้อโรค ในภาพรวมถือว่าค่อยๆ เปลี่ยนไป จากการเหมารวมในนามขอเชื้อโรค เราก็เริ่มแยกแยะว่า เอ้อ พวกมันคือจุลชีพนะ แบคทีเรียก็มีทั้งที่ก่อโรค บางส่วนก็เป็นเพื่อนเรา อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่บ้าง เห็ด รา ยีสต์ทั้งหลายก็มีประโยชน์ สปีชีส์ทั้งหลายก็มีทั้งทีมีคุณและมีโทษ
ยกเว้นก็แต่เจ้าสิ่งมีชีวิตสปีชีส์เราที่เรียกว่า ‘ไวรัส’ นี่แหละ
ในบรรดาทุกสายพันธุ์ ‘ไวรัส’ ดูเหมือนจะเป็นสายพันธุ์ศัตรูคู่อาฆาต เป็นสิ่งที่ถ้าพบเจอแล้วย่อมนำพาหายนะ เป็นสิ่งที่เราต้องป้องกัน กำจัด ขุดรากถอนโคนไปให้ได้มากที่สุด แถมในบรรดาเรื่องเล่าที่ว่าภัยหายนะ โลกถล่ม มนุษย์ล้มตาย ถ้าไม่ใช่ภัยพิบัติแต่มีโรคบางอย่าง โรคนั้นไม่ว่าจะเป็นซอมบี้ แวมไพร์ ไปจนโรคพิลึกกึกกือทั้งหลาย ก็เดาได้เลยว่ามักมีไวรัสเป็นหัวใจของการติดต่อ เป็นศูนย์กลางการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์
ประเด็นสำคัญของความเป็นไวรัส ส่วนหนึ่งเกิดจากเรื่องเล่าการระบาด (outbreak narrative) ที่แน่ล่ะว่าเป็นสิ่งมาคู่กับเจ้าไวรัส ซึ่งเรื่องเล่าการระบาดเหล่านี้มันมาส่งผลกระทบกับวิธีคิดและวิธีรับมือการระบาด โดยเฉพาะการปฏิบัติตัวต่อผู้ติดเชื้อ การเหมารวม อย่างที่เราเริ่มเห็นภาพการเหมารวมคนจีนบ้าง การรังเกียจแบ่งแยก ที่โอเคการติดเชื้อมันเป็นเรื่องจริงแหละ แต่ก็ต้องยอมรับว่าบางส่วน มันก็สัมพันธ์กับภาพของการติดเชื้อ ของโรคระบาด ของความอันตรายที่จะกัดกินกันผ่านการสัมผัส
การระบาดเป็นเรื่องของสังคมมนุษย์
ไวรัสก็คือไวรัสเนอะ ปกติเราก็อยู่ร่วมกับไวรัสกันมาโดยตลอด มีการติดเชื้อบ้าง หายเองได้บ้าง ไวรัสจะไม่น่ากลัวถ้าไม่มีการระบาด และการระบาดนั้นจะเริ่มเกิดขึ้นได้ ก็เมื่อมนุษย์เริ่มวิวัฒน์ เริ่มมีการรวมตัวกัน มีประชากรที่หนาแน่น ไปจนถึงมีการประกอบกสิกรรม การระบาดและการติดเชื้อไวรัสจึงดูจะเป็นญาติ เป็นผลพวงในความเจริญของพวกเราเอง
ในประวัติศาสตร์สังคม (social history) ของไวรัสบอกว่าการระบาดของเริ่มต้นขึ้นในช่วงยุคหินใหม่ (Neolithic) ในยุคนั้นมนุษย์เริ่มรวมตัวและสร้างสังคมขึ้น ประชากรที่หนาแน่นขึ้นพร้อมๆ การพึ่งพาเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ทำให้มนุษย์สัมผัสกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สามารถแพร่เชื้อจนเกิดเป็นการระบาดได้ โรคเช่นฝีดาษและโรคหัด ถือเป็นโรคระบาดที่เก่าแก่และพบได้ในประวัติศาสตร์อารยธรรมทั่วไป
ถ้าเราลองนึกย้อนดู โรคระบาดสำคัญๆ ล้วนเกิดขึ้นจากสังคมเมือง—ที่อาจจะยังไม่ได้มีแนวคิดเรื่องการสาธารณสุข โรคพิษสุนัขบ้าก็เกิดจากการติดเชื้อจากค้างคาวหรือสุนัข ฝีดาษเกิดจากการสัมผัสกับหนู การระบาดของโรคส่วนหนึ่งนอกจากการเกิดขึ้นของเมืองแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการล่าอาณานิคม เมื่อมนุษย์เริ่มการเดินทางเคลื่อนย้ายไปรอบโลกได้ เราอาจคิดภาพชาวยุโรปเอาไปโรคแปลกๆ มาจากดินแดนห่างไกล แต่ในทางกลับกัน เช่นในการพิชิตโลกใหม่ ในตอนนั้นชาวยุโรปเองก็ได้เอาไวรัสเช่นไข้หวัดใหญ่ติดและไปแพร่จนเกิดการระบาด ทำให้ชนพื้นเมืองที่ไม่มีภูมิเสียชีวิตจากไวรัสของคนผิวขาว
ปัญหาของการระบาด และความเข้าใจที่น้อยนิดต่อไวรัส
เราอยู่ในยุคที่กลับมาสนใจประเด็นเรื่องนิเวศน์ กลับมาลดทอนตัวตนของมนุษย์ และหันไปทำความเข้าใจภาพกว้างขอโลกใบนี้ที่มีเราเป็นส่วนเล็กๆ ในนิเวศของสายพันธุ์อื่นๆ แต่ตรงนี้แหละคือปัญหา ด้วยความที่เราเกลียดไวรัส เราที่แม้จะศึกษาด้วยก็ให้ภาพของไวรัสเองจำกัดอยู่ในฐานะโรคและการระบาด ภาพของไวรัสมักถูกกำกับโดยเรื่องเล่าของการระบาดที่ พริสซิลลา วาลด์ (Priscilla Wald) อาจารย์ทางวรรณคดีที่ Duke University อธิบายเรื่องเล่าโรคระบาดว่าจะเกี่ยวข้องกับ 3 เหตุการณ์สำคัญคือ 1. เกิดการติดเชื้อขึ้น 2. เกิดการแพร่ระบาดขึ้นไปในระดับโลกผ่านการติดต่อสัมผัสกัน 3. มีการควบคุมและกำจัดการระบาดนั้น ซึ่งเรื่องเล่าการระบาดนี้ส่งผลกับมุมมองและการมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าไวรัสที่มักอยู่ในนามของศัตรูระดับสายพันธุ์
ชาร์ล็อต บรีฟส์ (Charlotte Brives) นักวิจัยทางมานุษยวิทยาการแพทย์ที่สนใจเรื่องจุลชีพเขียนบทความว่าด้วยไวรัสในฐานะสายพันธุ์ร่วม—คือไม่ถึงขนาดเป็นมิตร แต่ก็เป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกับเรามา บอกว่า จริงอยู่ว่านับตั้งแต่เรารู้จักไวรัสมา มีการศึกษาและองค์ความรู้เกี่ยวไวรัสเกิดขึ้นมากมาย แต่จริงๆ แล้วเรากลับเข้าใจพวกมันน้อยมาก เราแทบไม่เข้าใจเจ้าสิ่งมีชีวิตที่ทั้งอ่อนแอเมื่ออยู่นอกโฮสต์ แต่กลับแข็งแกร่งจนสามารถล้มอารยธรรมเราได้ ทั้งๆ มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอบตัวเรา แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ปรับตัวเก่งมากที่สุด และส่วนใหญ่ไวรัสไม่ได้มีภัยอะไร อย่างที่เวลาเรานึกถึงคำว่า ‘ไวรัส’ ในภาพรวม
แน่นอนว่าไวรัสเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เรามีสภาพ มีวิทยาการอย่างที่เราเป็นอยู่ในทุกวันนี้ ในระดับชีววิทยา ไวรัสทำให้เกิดวิวัฒนาการ เกิดภูมิคุ้มกันที่ส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่นได้ และในทางสังคมเอง ไวรัสก็ดูจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เราพัฒนาองค์ความรู้ทั้งในทางการแพทย์ การสาธารณสุข เรื่องเมืองและอนามัย แถมตัวไวรัสเองยังนำไปสู่วิทยาการทางชีวภาพต่างๆ
ในทางกลับกัน เราอาจจะเริ่มมองไวรัสในมุมอื่นๆ อย่างน้อยก็อาจจะทำให้จินตนาการเรื่องการติดเชื้อ ภาพของโลกที่ค่อยๆ ล้มลง การแยกตัว กักกัน ท่าทีรังเกียจที่ออกจะเกินไปก็อาจจะบางเบาและกลายเป็นการระวังในระดับที่สมเหตุสมผลมากขึ้น คือเราปฏิเสธไม่ได้ว่าการเหยียดคนจีน การแยกแยะแบบสุดโต่งส่วนหนึ่งก็เกิดจากความกลัวและจินตนาการที่ซ้อนมาจากในหนังนี่แหละ
สุดท้าย เรื่องไวรัสก็ถือเป็นอีกเรื่องน่าสนใจ ที่สิ่งมีชีวิตที่เกือบจะเล็กที่สุด สามารถล้มเราที่ถือตนว่าเป็นสายพันธุ์บนสุดของห่วงอาหารได้
อ้างอิงข้อมูลจาก