เราอาจกำลังถกเถียงกันเรื่องวัคซีน ว่าการจัดการรับมือเรื่องวัคซีนของรัฐไทยนั้นดีพอหรือยัง เอื้อประโยชน์ใครหรือเปล่า กลไกมีประสิทธิภาพและผูกขาดหรือเปล่า แต่อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสที่ควรพูดถึง – ก็คือเรื่องการกลายพันธุ์ของมัน
สำหรับสิ่งมีชีวิตทั่วไป การกลายพันธุ์มากๆ อาจไม่ใช่ผลดีต่อการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ แต่กับไวรัสอาจไม่เป็นเช่นนั้น เพราะไวรัสนั้น ‘เกือบ’ ไม่มีชีวิต ดังนั้นการกลายพันธุ์หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของมันจึงอาจเป็นคำตอบต่อการอยู่รอดของตัวมันเองมากกว่าด้วยซ้ำ
ในช่วงที่ผ่านมา โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ฮือฮากันว่ากลายพันธุ์จน ‘ติดต่อง่าย’ (หรือมี Transmissibility สูง) และเราอาจได้ยินชื่อบ่อยๆ ก็คือโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ หรือ UK Variant ที่ว่ากันว่าติดต่อง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ
ที่จริงแล้ว ไวรัสกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมากนัก แม้ว่าในปีที่ผ่านมา จะมี ‘ข่าวปล่อย’ ประเภทที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเฟคนิวส์ พูดถึง ‘ไวรัสนินจา’ ที่อาจจะสร้างความเสียหายร้ายแรงเพราะการกลายพันธุ์ออกมาหลายต่อหลายครั้ง แต่ข่าวเหล่านี้ไม่ได้มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด เรียกได้ว่าเป็นแนวคิดประเภท doomsday desire ก็ว่าได้
อย่างไรก็ตาม โคโรนาไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ (ที่จริงๆ แล้วใช้ชื่อนี้อาจไม่ยุติธรรมนัก เพราะมันไม่ได้แพร่ระบาดเฉพาะในอังกฤษเท่านั้น) ที่ติดต่อง่ายขึ้นนี้ ถือเป็น ‘การกลายพันธุ์ใหญ่’ ที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงได้มากกว่าแค่ ‘ติดง่ายขึ้น’ เฉยๆ เท่านั้น เพราะหากประมาท ไม่ได้ควบคุมดูแลอย่างระมัดระวังจริงๆ ก็อาจกลายเป็นหายนะครั้งใหญ่ได้
ถ้าใครเคยเล่นเกมโรคระบาดอย่าง Plague Inc. จะพบว่าเชื้อโรคต่างๆ สามารถพัฒนา (หรือกลายพันธุ์) ได้สองสามทางใหญ่ๆ อย่างแรกก็คือ ทำให้ตัวมันนั้น ‘อันตราย’ (lethal) มากขึ้น คือใครติดปุ๊บ ไม่นานก็อาการหนักและอาจถึงแก่ชีวิตได้ อย่างที่สองก็คือ ทำให้ตัวเองมีความทรหดอดทนมากขึ้น เช่น ทนร้อน ทนหนาว ทนกรด ฯลฯ ได้มากขึ้น จึงอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อตัวเองได้นานขึ้น ฆ่ายากขึ้น กับอย่างที่สามก็คือสามารถติดต่อได้ง่ายขึ้น ซึ่งก็สัมพันธ์กับอย่างที่สองด้วย เช่น ติดต่อทางอากาศ ทางน้ำ ทางการสัมผัส ฯลฯ ได้หลายๆ ช่องทาง เรียกว่ามี transmissibility สูงขึ้น
ไวรัสสายพันธุ์อังกฤษ (จริงๆ ต้องบอกว่าเป็นสายพันธุ์ B.1.1.7) เป็นไวรัสที่กลายพันธุ์จนมีคุณสมบัติข้อที่สามอย่างเด่นชัดและมีนัยสำคัญ ซึ่งบางคนบอกว่า แค่แพร่ระบาดง่าย ไม่ได้แปลว่าอันตรายเสียหน่อย
แต่ที่จริงแล้ว ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง
การแพร่ระบาดง่ายอาจเป็นเรื่องอันตรายกว่าเสียอีก
บทความชื่อ The Mutated Virus is a Ticking Time Bomb ของ Zeynep Tufekci ใน The Atlantic บอกว่าไวรัสที่มีอัตราการแพร่สูงนั้น จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่เติบโตแบบทวีคูณหรือ Exponential Growth ในขณะที่ไวรัสที่อันตรายโดยตัวมันเอง (คือมีความรุนแรงหรือ Severity สูง) นั้น จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่เติบโตแบบเส้นตรงหรือ Linear Growth
บทความนี้อธิบายความเสี่ยงที่จะเกิดความเสี่ยงสองแบบนี้ด้วยการคำนวณของ Adam Kucharski ซึ่งเป็นนักวิชาการอยู่ที่ London School of Hygiene & Tropical Medicine เขาใช้การวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์เพื่อเปรียบเทียบว่า ถ้าไวรัสหนึ่งมีการกลายพันธุ์โดยเพิ่มความอันตราย (หรือ Severity หรือ Lethality คือเป็นแล้วตายง่ายขึ้น) 50% กับไวรัสอีกตัวหนึ่งที่เพิ่มการแพร่กระจาย (Transmissibility) 50% เท่ากัน เขาได้ข้อสรุปว่า จากจุดตั้งต้นเท่าๆ กัน ถ้าเป็นการกลายพันธุ์แบบแรก จะทำให้มีคนตาย 193 คนในหนึ่งเดือน แต่ถ้าเป็นการกลายพันธุ์แบบหลัง พบว่าในหนึ่งเดือนจะมีคนตายมากถึง 978 คน
ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะ ถ้าตัวไวรัสทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงแบบที่เห็นได้ทันที ก็จะเกิดการกักตัวหรือการป้องกันด้วยวิธีต่างๆ ทำให้ตัวเชื้อแพร่ระบาดไปได้ไม่กว้างขวางนัก แต่ถ้าเชื้อไม่ได้อันตรายอะไรสักเท่าไหร่ แต่มีอัตราการแพร่ระบาดเร็ว คนจะระวังตัวน้อยกว่า ทำให้เชื้อแพร่ไปได้ในวงกว้างมากกว่า ดังนั้น โอกาสที่จะมีจำนวนคนติดเชื้อจึงเยอะกว่ามาก ผลลัพธ์ก็คือ ถึงแม้มันจะร้ายแรงน้อยกว่า แต่ถ้ามีคนติดเชื้อมากกว่า สรุปสุดท้ายแล้ว ตัวเลขผู้เสียชีวิตโดยรวมก็จะมากกว่า และอาจมากกว่าได้หลายเท่าตัวด้วยซ้ำ
คำถามก็คือ แล้วที่บอกว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อังกฤษนี้
แพร่ได้เร็ว มันเร็วแค่ไหนเล่า?
เรื่องนี้นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังตอบไม่ได้แน่ชัดนัก แต่จากข้อมูลที่มีอยู่ ประมาณกันว่า มันน่าจะแพร่ได้เร็วกว่าโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ทำให้เกิด COVID-19 ดั้งเดิมราว 50-70 เปอร์เซ็นต์ นั่นเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมกับไวรัสมากผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณโปรตีนตรงผิวที่ยื่นออกมาจากตัวไวรัส อันเป็นจุดที่ไวรัสต้องใช้เพื่อเข้าสู่เซลล์ของเรา นักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ไวรัสมัน ‘หลอก’ ระบบภูมิคุ้มกันของเราได้เก่งขึ้น มันจึงสามารถจับกับเซลล์ของเราได้ดีขึ้น แต่นี่ยังเป็นเพียงสมมุติฐานเท่านั้น เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้กันแน่
แต่ด้วยความที่เรายังไม่รู้แน่นี่เอง มันจึงทำให้เกิดความไม่แน่ใจนัก ว่าด้วยเครื่องมือต่างๆ ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือภายนอกอย่างการใส่หน้ากาก การรักษาระยะห่าง การใช้ยาฆ่าเชื้อ หรือเครื่องมือภายในอย่างยาต่างๆ ที่เราใช้ต่อกรกับไวรัส – จะได้ผลมากน้อยขนาดไหน หรือควรต้องมีมาตรการอะไรเพิ่มขึ้นอีกหรือเปล่า แต่ความที่โคโรนาไวรัสสายพันธุ์นี้ยังโจมตีที่ระบบทางเดินหายใจอยู่ นักวิทยาศาสตร์จึงแนะนำให้เราใช้เครื่องมือพื้นฐานที่เราใช้อยู่ต่อไป และควรใช้อย่างเข้มข้นขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใส่หน้ากาก รักษาระยะห่าง หรือล้างมือบ่อยๆ
นักไวรัสวิทยาอีกคนหนึ่งชื่อ David Montefiori ร่วมกับนักชีววิทยาเชิงคำนวณ (Computational Biologist) ชื่อ Bette Korber ได้ศึกษาการกลายพันธุ์และการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัสเทียบกับ HIV ที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ และพบว่าโดยทั่วไปแล้ว โคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิด COVID-19 นั้น จะมีการกลายพันธุ์ในอัตราที่ช้ากว่า HIV (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.nature.com/articles/d41586-020-02544-6) โดยอัตราการกลายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสนี้จะเกิดช้ากว่าไวรัสที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ราวครึ่งหนึ่ง และช้ากว่าการกลายพันธุ์ของ HIV ราวหนึ่งในสี่
การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อังกฤษเกิดขึ้นที่เปลือกผิวตรงบริเวณ ‘หนาม’ (Spike) ซึ่งนักไวรัสวิทยาเรียกการกลายพันธุ์นี้ว่า D614G เป็นการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในอัตราสูงกว่าการกลายพันธุ์อื่น โดยทั้ง Montefiori และ Korber ได้เตือนเรื่องนี้มาตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วว่า การกลายพันธุ์แบบ D614G กำลังเพิ่มความถี่ขึ้นในอัตราที่น่าตกใจและเป็นเรื่องที่ต้องระวังอย่างมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่ออกมาโต้ว่า เรายังไม่รู้แน่ชัดว่าการกลายพันธุ์ D614G เป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้ไวรัสนี้แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้นจริงหรือเปล่า หรืออาจเกิดกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติอื่นๆ ที่ทำให้ไวรัสแพร่ระบาดได้มากขึ้นร่วมด้วยก็ได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ทำให้หลายคนเป็นกังวลเอามากๆ ก็คือ ขนาดโคโรนาไวรัสนี้กลายพันธุ์ค่อนข้างช้าแล้วเมื่อเทียบกับไวรัสไข้หวัดใหญ่และ HIV แต่กระนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ยังทำ ‘แคตตาล็อก’ การกลายพันธุ์ของจีโนมไวรัสออกมาได้มากถึงกว่า 12,000 แบบ และเริ่มเห็นอัตราการกลายพันธุ์ที่สูงขึ้นโดยยังอธิบายเหตุผลไม่ได้ด้วย การกลายพันธุ์บางอย่างไม่มีผลอะไรต่ออาการป่วยของมนุษย์ เพราะไมได้ไปเปลี่ยนรูปร่างของโปรตีนของไวรัส การกลายพันธุ์บางอย่างก็ทำให้ไวรัสมีพิษภัยต่อมนุษย์น้อยลง และการกลายพันธุ์บางอย่างก็อาจเป็นอันตรายต่อตัวไวรัสเองด้วยซ้ำ
แต่กระนั้นก็ดี นักวิทยาศาสตร์บอกว่า
เราวางใจไม่ได้เลย เพราะอย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ต้น
ว่าไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา
ถ้าจะพูดกันให้ถึงที่สุด ไวรัสที่อยู่ในตัวคนแต่ละคนอาจไม่เหมือนกันเลยก็เป็นได้ และต่อให้เป็นไวรัสที่ติดอยู่ในตัวคนเดียวกัน หากต่างเวลากัน แต่ละตัวก็อาจกลายพันธุ์มีจีโนมที่ไม่เหมือนกันได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นมันจึงเป็นเหมือนระเบิดเวลา ถ้าหากเกิดการกลายพันธุ์ที่ส่งผลต่อมนุษย์โดนคาดไม่ถึงขึ้นมาพร้อมกับไวรัสแพร่กระจายง่ายด้วย ก็อาจเกิดผลเสียหายใหญ่หลวงได้
Zeynep Tufekci บอกว่าถ้าจะให้เปรียบเทียบ ก็เหมือนกับเราคาดเดาได้ว่าคลื่นสึนามิกำลังมา และเรากำลังพาคนขึ้นเรือหนีสึนามิไปหาที่สูงขึ้นกว่าเดิม คนที่สามารถขึ้นท่ีสูงได้จะปลอดภัย แต่เรื่องไวรัสนี้ไม่เหมือนสินามิตรงที่คนที่ขึ้นที่สูงได้แล้วนั้น (เช่น ได้รับวัคซีนแล้ว) จะ ‘ดึง’ คนอื่นๆ ขึ้นไปด้วย เพราะยิ่งมีวัคซีนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมามากเท่านั้น ส่วนคนที่ยังอยู่ใกล้น้ำหรือขึ้นเรือไม่ทันนั้น ยิ่งอยู่ในที่ต่ำเท่าไหร่ก็จะยิ่งมีโอกาสถูก ‘ดึง’ ลงไปใกล้น้ำมากขึ้นด้วย เพราะไวรัสสามารถแพร่กระจายได้โดยการเติบโตแบบทวีคูณหรือ Exponential Growth
ดังนั้นทั้งหมดนี้จึงหมายความว่า – ยิ่งเราสามารถฉีดวัคซีนให้คนได้มากและเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดีเท่านั้น นั่นคือเหตุผลที่หลายฝ่ายยอมให้มีการฉีดวัคซีนโดยที่การทดลองยังไม่ได้ผลสำเร็จเต็มร้อย คือไม่ได้ทดลองไปถึงเฟสสาม (บางกรณีมีการทดลองถึงเฟสที่สี่ด้วยซ้ำ) เพราะสิ่งสำคัญคือการที่ประชากรในวงกว้างได้รับวัคซีนให้มากที่สุด แต่จะทำอย่างนั้นได้ แปลว่าต้องมีปรับปรุงทั้งการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างมาก โดยแต่ละรัฐควรทุ่มเทพลังงาน ทุน และความพยายามในการกระจายวัคซีนไปให้คนในวงกว้างที่สุด และ ‘เร็ว’ ที่สุดเท่าที่จะทำได้
ถ้ามองในมุมนี้ ข้อถกเถียงเรื่องการจัดการเรื่องวัคซีนของรัฐไทยนั้นดีพอหรือยัง เอื้อประโยชน์ใครหรือเปล่า กลไกมีประสิทธิภาพและผูกขาดหรือเปล่า – จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้อง ‘ถก’ กันในวงกว้างมากๆ เพราะมันนำไปสู่คำถามสำคัญถัดไปว่า, การจัดการเหล่านี้ทำให้วัคซีนกระจายไปได้กว้างขวาง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ได้ ‘จริง’ แค่ไหน ไม่ใช่ให้อยู่ในการตัดสินใจโดนวางอยู่บนผลประโยชน์ของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
เพราะทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่คือการต่อกรกับ ‘ระเบิดเวลาแห่งการกลายพันธุ์’ – ที่อาจระเบิดขึ้นได้ทุกเมื่อ