“คนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากรร้าย เป็นพลเรือนผู้บริสุทธิ์ เป็นแค่ ‘เหยื่อ’ ของสงคราม เป็นเหยื่อของความคิดชาตินิยมสุดโต่ง” – พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า ส่งผลให้มีผู้คนชาวโรฮิงญาบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความสะเทือนใจให้กับเพื่อนมนุษย์หลายคน รวมถึงความวิตกกังวลต่อชะตากรรมอันไร้ทิศทางของชาวโรฮิงญาผู้รอดชีวิต
ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธยะไข่ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่กับชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 มีการปะทะกันระหว่างทั้งสองชุมชน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และมีประชากรที่พลัดถิ่นฐานนับแสนคน ภายหลังเหตุการณ์ปะทะกันครั้งนั้น รัฐบาลพม่าได้นำชาวโรฮิงญาที่พลัดถิ่นจำนวนนับแสนคนไปกักบริเวณไว้ในพื้นที่ของเมืองซิดเหว่ (Sittwe) ที่เป็นเมืองหลวงของรัฐยะไข่หรืออาระกัน มีการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง จำกัดเสรีภาพในการหางานทำ
การอพยพของชาวโรฮิงญาครั้งใหญ่ในปีนี้ เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์โจมตีป้อมยามของตำรวจพิทักษ์ชายแดนของพม่า กองทัพพม่าได้ตอบโต้ด้วยการรวมตัวกับกลุ่มชาวบ้านที่เป็นชาติพันธุ์ยะไข่ วางเพลิงบ้านเรือนของชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายร้อยหมู่บ้าน (จากการยืนยันด้วยภาพถ่ายดาวเทียม) มีการใช้ปืนยิงสังหารประชาชนโดยไม่เลือกเป้าหมาย ทั้งเด็กและคนชรา และมีการข่มขืนกระทำชำเราผู้หญิง
การปราบปรามทางทหารของกองทัพพม่าครั้งนี้ ถือเป็นปฏิบัติการ ‘กวาดล้างให้สิ้นซาก’ (scorched earth campaign) โดยมุ่งทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สิน เรือกสวนไร่นา ปศุสัตว์ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่ากองทัพพม่าได้วางกับระเบิดตามแนวพรมแดนติดกับบังคลาเทศ ทั้งนี้เชื่อว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีข้ามพรมแดนไปแล้ว กลับมายังที่ทำกินของตนเองได้อีก กับระเบิดเหล่านี้ส่งผลให้ชาวโรฮิงญา รวมทั้งที่เป็นเด็กและผู้หญิงเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บหลายคน (รายงานข่าวสามมิติ)
ตามข้อมูลของหน่วยงานบรรเทาทุกข์กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาสี่แสนกว่าคนเป็นเด็ก และสองในสามเป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง 13% อยู่ระหว่างตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร นอกจากนี้ยังมีผู้สูงวัยอีกจำนวนมาก และ UNICEF พบเด็กชาวโรฮิงญากว่าพันคนที่เดินทางหลบหนีมาถึงบังคลาเทศเพียงลำพัง ไม่มีพ่อแม่มาด้วย ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เรียกปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าครั้งนี้ว่า เป็นการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ตามตำรา (textbook ethnic cleansing) ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชากรทุกกลุ่มและทุกวัย รวมทั้งพลเรือนผู้บริสุทธิ์ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการโจมตีด้วยอาวุธของกลุ่มโรฮิงญาสุดโต่ง (ARSA) เลย
ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นต้นมา ทางการพม่าสั่งห้ามหน่วยงานบรรเทาทุกข์ไปให้ความช่วยเหลือในรัฐยะไข่ ทั้งยังมีการออกข่าวโจมตีว่าหน่วยงานบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา เป็นเหตุให้การดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกิดขึ้นได้เฉพาะฝั่งประเทศบังคลาเทศ และผู้ลี้ภัยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องหาทางกระเสือกระสนข้ามแม่น้ำไปยังฝั่งบังคลาเทศให้ได้แม้จะขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์หรือพาหนะในการเดินทาง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเรือคว่ำหลายสิบคน รวมทั้งที่เป็นเด็ก
คำถามคือ ในฐานะประชาชนคนไทย เราควรมีส่วนร่วมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อบุคคลเหล่านี้อย่างไร เพราะในอนาคตอันใกล้ แทบไม่มีความเป็นไปได้ที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาเหล่านี้จะสามารถเดินทางกลับไปพำนักอาศัยในบ้านเกิดของตนเองในพม่าได้ ท่ามกลางกระแสความเกลียดชังของกลุ่มชาตินิยมสุดโต่งในพม่า และกระแสเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ที่ลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็ว
กลุ่มเพื่อนผู้สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพลี้ภัยชาวโรฮิงญา (กลุ่มเพื่อนเพื่อมนุษยธรรม) จึงรวมตัวกันออกมาส่งสาส์นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและลดอคติทางชาติพันธุ์ รวมทั้งชวนเพื่อนมนุษย์ทุกคน ร่วมส่งผ่านความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะทำได้
“คำว่า ‘ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม’ ไม่ใช่การเข้าข้าง แต่มันคือการให้ความช่วยเหลือพื้นฐานที่สุด ที่มนุษย์คนหนึ่งพึงกระทำต่อมนุษย์อีกคนหนึ่ง ในสถานการณ์ลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างเลวร้าย”
– วิจักขณ์ พานิช, สถาบันวัชรสิทธา
ร่วมส่งข้อความแห่งมนุษยธรรมและลงชื่อได้ที่ https://goo.gl/forms/M76mYdFktaQRogmv2
สำหรับผู้ที่ต้องการบริจาคเงินช่วยเหลือสามารถโอนเงินผ่านบัญชี
มูลนิธิเสฐียรโกเศศ – นาคะประทีป
ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเจริญนคร บัญชี ออมทรัพย์ เลขที่ 024-2-59705-9
แล้วแนบหลักฐานการโอนเงินมาที่
อีเมล์: thaihumanitarian@gmail.com
อ่านจดหมายจาก ‘กลุ่มเพื่อนเพื่อมนุษยธรรม’ ได้ที่ facebook.com/thematterco/posts/1938606649688061