สำหรับบ้านเรา มหาวิทยาลัยหลายที่ยังคงใช้ระบบสุ่มสมาชิกหอ รูมเมทที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันอีกพักใหญ่จึงเป็นอะไรที่เราต้องลุ้นเหมือนลุ้นหวย เพื่อนร่วมห้องของเราจะเป็นยังไง เราตีกันเรื่องจุกจิกมั้ย หรือจะกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน
ล่าสุดด้วยเฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียร์ทั้งหลาย เหล่านักเรียนนักศึกษาเลยมีการประกาศหารูมเมท มีการพบปะพูดคุยก่อนจะตกลงปลงใจแชร์ห้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ทาง Duke University ออกประกาศล่าสุดว่าจะนำเอาระบบ ‘สุ่ม’ เพื่อนร่วมหอกลับมาใช้อีกครั้ง ทางมหาวิทยาลัยบอกว่ามหาวิทยาลัยต้องการส่งเสริมประเด็นเรื่องความหลากหลาย มีงานศึกษาบอกว่าการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนที่ตัวเองไม่รู้จัก โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติและเพศสถานะถือเป็นการเรียนรู้ความแตกต่าง
ข่าวคราวจาก Duke University เกิดจากประเด็นว่า รูมเมท—การใช้ชีวิตร่วมกับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะในวัยกำลังโตถือเป็นประสบการณ์สำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อความคิด ต่อตัวตนของเรา ใครที่เคยมีรูมเมทก็คงพอนึกออกว่า รูมเมทมีผลกับเราทั้งชีวิตในช่วงนั้น ไปจนถึงนิสัยและทัศนคติของเราในตอนนี้
รูมเมทที่รักยังคงติดอยู่ในใจเสมอ
คงด้วยทางมหาวิทยาลัยเองก็เห็นว่าชีวิตความเป็นอยู่นักศึกษาเป็นส่วนสำคัญของการสร้างคนในระบบการศึกษา ในทางวิชาการจึงมีการสำรวจและศึกษาเรื่องรูมเมทกันพอสมควร บางส่วนถือเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยจะได้นำไปกำหนดแนวนโยบายเพื่อพัฒนาการศึกษาต่อไป
การอยู่หอ—และมีเพื่อนวัยเดียวกันใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้ถือเป็นก้าวใหญ่ก้าวหนึ่งในชีวิตของเรา รูมเมทถือเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นที่เราไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยคนแรกๆ โดยที่ไม่ได้เป็นคนในครอบครัว และเป็นส่วนหนึ่งของการทดลองใช้ชีวิตด้วยตนเอง แถมวัยเข้ามหาวิทยาลัยยังเป็นช่วงเวลาที่เราเข้าสู่วัยรุ่น เป็นวัยที่เราก่อร่างตัวตน ลักษณะนิสัยบางอย่างที่อาจติดตัวเราไปตลอดก็เริ่มก่อตัวขึ้นช่วงนี้แหละ
ความสัมพันธ์กับเราและรูมเมทถือเป็นความสัมพันธ์เฉพาะต่างกับเพื่อนฝูงโดยทั่วไป ด้วยความที่เป็นคนแปลกหน้าที่มาใช้ชีวิตร่วมกัน รูมเมทเป็นเพื่อนคนที่เราเจอบ่อยแทบจะที่สุดคนหนึ่ง เป็นคนที่เราต้องจัดการ ประนีประนอม และต่อรองกันในประเด็นปลีกย่อยต่างๆ เช่น ระดับเสียง เวลาการเข้านอนและตื่นนอน เพื่อนส่วนตัวของแต่ละคน การแบ่งปันข้าวของ และการตกแต่งห้องโดยรวม
รูมเมทมีผลแค่ไหนกับตัวเรา
สรุปแล้วรูมเมทมีผลกับตัวเราและการเรียนมากน้อยแค่ไหน—และมหาวิทยาลัยควรใช้การสุ่มจับคู่นักศึกษาเพื่อสร้างสังคมที่หลากหลายไหม งานศึกษาสำคัญหนึ่งคืองานศึกษาในปี 2009 ของ Duke University บอกว่านักศึกษาปีหนึ่งผิวขาวเพศชายที่มีเพื่อนผิวดำมีแนวโน้มจะเปิดใจกว้างและเลือกรูมเมทผิวสีในปีต่อๆ ไปมากขึ้น
ในส่วนนักศึกษาหญิงพบว่า ถ้านักศึกษาหญิงสุ่มเจอรูมเมทที่ค่อนข้างอ้วน ตัวนักศึกษาคนนั้นมักมีแนวโน้มที่น้ำหนักจะไม่ค่อยขึ้นเท่าไหร่ เนื่องด้วยนักศึกษาคนนั้นจะติดนิสัยการกินจากเพื่อนที่ค่อนข้างระมัดระวังเรื่องอาหารมากจากการคุมน้ำหนัก นึกภาพถ้าเพื่อนร่วมห้องเราไดเอท เราก็อาจติดนิสัยการกินจากเพื่อนและระวังเรื่องน้ำหนักแม้ว่าเราจะผอมก็ตาม
มีผลการศึกษาที่หนูๆ อาจจะไม่อยากรับรู้เท่าไหร่ คือ ถ้าหอพักห้องไหนที่มีเครื่องเกม นักวิจัยจาก The University of Western Ontario สรุปว่า นักศึกษาที่รูมเมทมีเครื่องเกมมีแนวโน้มจะใช้เวลาทบทวนบทเรียนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยครึ่งชั่วโมง และผลของการใช้เวลาที่น้อยก็ไปปรากฏในผลการเรียน คือคนที่มีเพื่อนเป็นเกมเมอร์จะได้เกรดน้อยกว่าคนที่รูมเมทไม่มีเครื่องเกมที่ 0.2 หน่วย
ใช้ชีวิตอยู่กับใคร เราก็มีแนวโน้มที่จะซึมซับพฤติกรรมนั้นมา ยิ่งเป็นช่วงวัยรุ่นก็เป็นไปได้ที่เพื่อนจะพาเราไปในทางใดทางหนึ่ง นอกจากเรื่องเกมแล้ว ยังมีงานศึกษาที่พบว่าอิทธิพลของเพื่อนทั้งในทางลบและทางบวกส่งผลกับเราพอสมควร ทั้งผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ไปจนถึงพฤติกรรมการดื่ม แต่อีกด้านหนึ่ง ผลการสำรวจจาก Wellesley College บอกว่า รูมเมทไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่มีผลกับผลการเรียนอย่างมีนัยสำคัญขนาดนั้น
จะว่าไป รูมเมทก็ถือเป็นคนหนึ่งที่มีความสำคัญกับชีวิต เป็นประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับตัวตนของเราไม่มากก็น้อย อย่างน้อยที่สุด ถ้ายกประเด็นเรื่องรูมเมทขึ้นมาคุย คนที่เคยมีเพื่อนร่วมห้องมักจะมีเรื่องมาคุยกันได้อย่างไม่รู้จบ
อ้างอิงข้อมูลจาก