“ตราบใดที่ฝ่ายซ้ายและขวาไม่สามารถจับมือกันในการเลือกตั้งได้ ตราบนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือผู้ชนะ และจะชนะไปเรื่อยๆ ..ความแตกแยกเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเผด็จการ”
ในวันที่การเลือกตั้งใหญ่จะต้องเกิดขึ้นไม่เกิน 1 ปีข้างหน้า ก็มีพรรคการเมืองใหม่ๆ ก่อกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน หนึ่งในนั้นคือพรรค ‘รวมไทย ยูไนเต็ด’
เพื่อให้รู้จักพรรคน้องใหม่ซึ่งเพิ่งเปิดตัวไปช่วงปลายปี 2564 นี้มากขึ้น The MATTER ไปนั่งคุยกับ วรนัยน์ วานิชกะ อดีตคอลัมนิสต์ นักข่าว นักเขียน รวมถึงบรรณาธิการนิตยสารและสื่อดังหลายสำนัก หนึ่งในผู้ก่อตั้งและปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรครวมไทย ยูไนเต็ด ถึงจุดยืน อุดมการณ์ นโยบาย รวมไปถึงคำถามสำคัญ คือเหตุผลที่ตั้งพรรคชื่อคล้ายทีมฟุตบอลนี้ขึ้นมา
รวมไทย ยูไนเต็ด ..คำถามอาจไม่ใช่ว่า รวมไปทำไม ..แต่เป็น รวมไปเพื่ออะไร
ทำไมถึงตั้งชื่อพรรคว่า ‘รวมไทย ยูไนเต็ด’
รวมไทย ยูไนเต็ด ชื่อก็มาจากคล้ายๆ ทีมฟุตบอล เพราะว่าคนไทยชอบฟุตบอลอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องรวมไทย ยูไนเต็ด ก็ต้องดูบริบทของประเทศไทยในช่วง 15-20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยคือประเทศที่แตกแยก disunited ซึ่งการแตกแยกไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี ถ้าบริบทของเราเป็นประชาธิปไตย ทุกประชาธิปไตยจะมีฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ห้ำหั่นกันไป ทะเลาะกันไป โต้เถียงกันไป ในบริบทประชาธิปไตย ทุก 4 ปีก็มาเลือกตั้งในกฎกติกาที่ยุติธรรม 1 คน ต่อ 1 เสียง ใครชนะก็ชนะไป อีก 4 ปีค่อยว่ากันใหม่ บางครั้งฝ่ายซ้ายชนะ บางครั้งฝ่ายขวาชนะ แต่สุดท้ายแล้วมันก็มีความสมดุลทางอำนาจเกิดขึ้น
แต่ปัญหาของประเทศไทย คือเราไม่ได้อยู่ในบริบทประชาธิปไตย ใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา เรามีการทำปฏิวัติรัฐประหาร 2 ครั้ง เรามีรัฐบาลทหาร 2 ครั้ง และครั้งล่าสุดยาวนานถึง 5 ปี แล้วก็มีการสืบทอดอำนาจโดย ส.ว. 250 เสียง ซึ่งแต่งตั้งขึ้นมาเพื่อที่จะเลือกหัวหน้าคณะรัฐประหารมาเป็นนายกฯ ต่อ
สิ่งที่เรามีอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย มันคือระบบ 250 ส.ว. สืบทอดอำนาจเผด็จการ
เมื่อบริบทเป็นอย่างนี้ ประชาชนจะเอาชนะคณะรัฐประหารยังไง เราจะต้อง ‘รวมไทย ยูไนเต็ด’ เพราะผมพูดได้เลยว่า ตราบใดที่ฝ่ายซ้ายและขวาไม่สามารถจับมือกันในการเลือกตั้งได้ ตราบนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คือผู้ชนะ และจะชนะไปเรื่อยๆ ผู้ที่ได้อำนาจมาโดยไม่เป็นธรรม พวกเขาได้มาซึ่งอำนาจก็เพราะความแตกแยกอำนวยความสะดวกให้เขา เขาสามารถใช้ประชาชนกลุ่มหนึ่งเข้าห้ำหั่นกับประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งได้ตลอดเวลา และเขาสามารถมีข้ออ้างว่า ประชาชนกลุ่มนั้นสนับสนุนให้เขาเข้ามาทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ ปล้นอำนาจ และทำให้เขาอยู่ต่อได้ เพราะฉะนั้นความแตกแยกเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเผด็จการ
ดังนั้น ฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา ถ้าคุณไม่สุดโต่งทางใดทางหนึ่ง เราควรที่จะมาร่วมมือกัน โค่นอำนาจนี้ไปให้ก่อน เพราะถ้ายังไม่โค่นอำนาจนี้ไป สิ่งที่เราต้องการให้เกิดการปฏิรูปจะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ ภารกิจแรกโค่นอำนาจนี้ก่อน ต้องอาศัยรวมไทย ยูไนเต็ด ..นี่คือที่มาของชื่อ
คำว่า ‘รวมไทย’ นี้ รวมใครบ้าง
เรามีประชากร 70 ล้านคน ก็รวมทั้ง 70 ล้านคน นั่นคือความใฝ่ฝัน แน่นอนมันเป็นไปไม่ได้ ในสังคมสังคมหนึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดเหมือนกัน และจริงๆ ก็ไม่ควรจะคิดเหมือนกันด้วย เพราะถ้าคิดเหมือนกันก็กลายเป็นสังคมซอมบี้
ที่เราอยากจะรวบรวมก็คือ เราเชื่อว่าประชาชนไม่ว่าฝ่ายไหน ประชาชนส่วนมากของประเทศไทย หลังจากบทเรียนที่ได้รับใน 5 ปีภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ กับอีก 2 ปีที่ผ่านมาภายใต้ระบบ 250 ส.ว. ประชาชนชาวไทยตื่นแล้ว ตื่นที่จะรู้ว่าเราจะซ้ายหรือขวา พูดตรงๆ เราจะปฏิรูปสถาบันฯ หรือเราจะปกป้องสถาบันฯ (สถาบันพระมหากษัตริย์) เรามาทำกันในบริบทประชาธิปไตยดีกว่า กฎกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ความสมดุลทางอำนาจจะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น เราเชิญชวนคนไทยทุกคนที่เชื่อว่าเราควรจะเดินหน้าในระบบประชาธิปไตย เข้ามาร่วมกัน เราก็ขอเชิญคนไทย ซึ่ง ณ ตอนนี้อาจจะยังไม่คิดแบบนี้ แต่ในวันหน้าคุณอาจจะคิดแบบนี้ก็ได้ เพราะว่าสิ่งที่สำคัญในฐานะมนุษย์ เราต้องให้โอกาส ทุกวัน ทุกนาที ของชีวิตคือบทเรียนที่เราสามารถเรียนรู้ได้ ผมอายุ 48 ปีแล้ว ทั้งชีวิตไม่ได้คิดถูกทุกเรื่อง ถ้าคิดถูก ผมก็ไม่ใช่คน เป็นเทวดาไปแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ บทเรียนที่เราต้องเรียนรู้ให้ได้ เพื่อเอามาใช้ในปัจจุบันนี้
ผมเชื่อว่าหลายคนอยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ซึ่งภายในร่มของประชาธิปไตยนี้ คุณจะซ้ายหรือขวาก็ไม่มีใครถูกหรือผิด จะปฏิรูปหรือปกป้องก็ไม่มีใครผิด และกฎหมายจะเป็นอย่างไร การเมืองจะเป็นอย่างไร ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะเดินเข้าคูหาและลงคะแนนเสียง ส.ส. ให้แคนดิเดตคนนี้หรือพรรคการเมืองนี้ สุดท้ายแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็เอาไปนับคะแนน โดยไม่ต้องใช้เครื่องคิดเลขที่ใช้เวลาคำนวณถึง 2 เดือน นับคะแนนเสร็จ ทุกคนเท่ากัน ก็ได้มาเป็น ส.ส. เข้าไปในสภา ไปขับเคลื่อนการเมืองด้วยการร่างกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย เสนอกฎหมายอะไรก็แล้วแต่ ภายใน 4 ปี ถ้าผลงานของรัฐบาลไม่เป็นที่พึงพอใจ คุณเลือกใหม่ได้ คุณไล่รัฐบาลออกได้ทุก 4 ปี เพราะรัฐบาลคือพนักงานของคุณ นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยต้องมี
อยากให้คุณวรนัยน์ อธิบายถึงความเป็นพรรครวมไทยฯ และสิ่งที่อยากทำให้ฟังหน่อย
สิ่งที่อยากทำอย่างแรก คือสร้างบริบทประชาธิปไตยให้กับประเทศไทยก่อน เพราะฉะนั้น ภารกิจอันแรกก็คือต้องเอาชนะ พล.อ.ประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งแน่นอนพรรคเราพรรคเดียวไม่สามารถทำได้ มันต้องอาศัยหลายๆ พรรคการเมืองมาร่วมมือกัน ต้องอาศัยประชาชนประมาณ 75-80% ของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งมาเลือก ส.ส.ที่คนไทยมั่นใจว่าจะไม่ยกมือให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ นั่นคือสิ่งแรกที่ต้องทำ
หลังจากที่เรามีรัฐบาลประชาธิปไตย ในบริบทประชาธิปไตยแล้ว เราก็จะสามารถขับเคลื่อนประเทศได้ คำพูดหรูหราที่หลายคนชอบใช้กัน ไม่ว่าจะเป็น metaverse, innovative economy, soft power หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมการันตีเลยว่าไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าเราไม่สร้างบริบทประชาธิปไตยให้กับประเทศก่อน เพราะไม่งั้น ผู้ที่มีอำนาจก็จะเป็นผู้ที่ไม่มีทักษะ ไม่มีศักยภาพ ไม่มีวิสัยทัศน์ที่ขับเคลื่อนประเทศ ในบริบทสังคมของผู้นำประชาธิปไตย ทุกคนมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ดังนั้น ต้องวางคนให้ถูกต้อง
อุดมการณ์ของพรรคและนโยบายคร่าวๆ ตอนนี้ เป็นยังไงบ้าง
นโยบายของพรรคเราคือ ต้องปฏิรูประบบโครงสร้างประเทศ ระบบราชการ ทุกวันนี้เราอยู่ในโครงสร้างอุปถัมภ์ซึ่งมันไม่ผิด เมื่อ 100 ปีที่แล้ว ทั่วโลกก็เป็นอย่างนี้ ทุกสังคมมาจากโครงสร้างอุปถัมภ์หมด แต่ถ้าดูประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาปรับเปลี่ยนโครงสร้างไม่ใช่อุปถัมภ์อีกต่อไป เป็นโครงสร้างอื่นๆ เช่น ประชาธิปไตย ดังนั้น เราต้องเอาโครงสร้างอุปถัมภ์ออกก่อน
โครงสร้างอุปถัมภ์คืออะไร คือการเมืองที่เอื้ออำนวยผลประโยชน์ให้กับพวกตัวเองเข้ามาทำมาหากิน ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณมีสัมปทาน แล้วเขาก็ซื้อสัมปทาน เอกชนประมูลไป 100 บาท 30% คุณต้องให้นักการเมือง อีก 10% คุณต้องให้นักการเมืองเอาไปแจกจ่ายข้าราชการ ค่าน้ำชา 20% ต้องเก็บไว้เป็นรายได้ เป็นกำไรของตัวเองซึ่งก็ถูกต้องแล้ว เขาต้องมีกำไร เหลืออีก 30% ค่อยเอามาทำงานชิ้นนั้น สุดท้ายแล้วประเทศก็ได้รับแค่ 30% นั่นคือการเมืองอุปถัมภ์
การเมืองธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ คือการเมืองที่เอกชนวาง 100 บาท เอา 20 บาทเป็นกำไรของตน เหลืออีก 80 บาท นั่นคือเอามาปรับปรุงแก้ไขซ่อมแซมอะไรก็แล้วแต่ ดังนั้น ความแตกต่างระหว่าง 30 บาท กับ 80 บาท คือความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศไทย
แล้วจะแก้โครงสร้างอุปถัมภ์ได้อย่างไร
ประการแรก เราต้องมีกลุ่มผู้นำที่ไม่ยึดโยงต่อโครงสร้างอุปถัมภ์ ก็พูดตรงๆ ว่า ถ้าคุณเป็นกลุ่มการเมืองเก่าแก่ คุณก็ยึดโยงกับโครงสร้างนั้น เพราะมันเป็นมาอย่างนี้ตั้งนานแล้ว แล้วคุณจะแก้ยังไงล่ะ ก็พวกพ้องคุณทั้งนั้น รายได้การทำมาหากินของคุณทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราต้องมีกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดโยงกับระบบนี้
ประการที่สอง เราจะต้องปรับโครงสร้างราชการ การเมืองเอกสาร ให้เป็น digital government อย่างจริงจัง ไม่ใช่การพูดด้วยปากแต่ไม่ทำจริง ลองสังเกต พล.อ.ประยุทธ์เวลาพูด digital government เขาจะพูดในแง่ที่ว่า อ๋อ เป็นการเอาทุกอย่างมาลงโลกดิจิทัลเพื่อให้เราได้พีอาร์ ประชาชนจะได้รับรู้ถึงผลงานของเรา digital government คือระบบเทคโนโลยีที่จะสร้างความโปร่งใส ประชาชนสามารถกดปุ่มไม่กี่ปุ่มในคอมพิวเตอร์ของตัวเองแล้วก็เข้าถึงข้อมูล พอโปร่งใส เข้าถึงข้อมูลได้ คุณก็จะทุจริตคอร์รัปชั่นได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือไปจากการอำนวยความสะดวก และเป็นสิ่งที่จะทำให้ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองได้
ถ้ายกตัวอย่างง่ายๆ รวมไทย ยูไนเต็ดเราชอบฟุตบอล เราไปดูบอล วัฒนธรรมการแตะบอลเป็นยังไง คนเลี้ยงบอลมา วิ่งเข้ามา อยู่ดีๆ สะดุดยอดหญ้า หกล้มตีลังกาหลายตลบ เอามือกุมขา ร้องไห้ ฟ้องกรรมการแล้วชี้ไปที่ผู้เล่นฝั่งตรงข้ามซึ่งอยู่อีกไกล กรรมการเข้ามาไม่รู้เรื่องก็ให้ใบแดงคนที่เราชี้ แต่พอมีเทคโนโลยีเข้ามา มี instant replay ก็จะทำให้รู้ได้ว่า นักบอลคนนี้โกหกนี่นา นี่คือสิ่งที่นักการเมืองในโครงสร้างอุปถัมภ์ไม่ต้องการ และเป็นสิ่งที่นักการเมืองรุ่นใหม่ต้องการจะทำ
การปฏิรูปประเทศจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะมีเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีที่ทำได้ มันขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มผู้นำให้ทำหรือไม่ และการันตีได้เลยว่า กลุ่มผู้นำกลุ่มนี้ไม่มีวันให้ทำ
นอกจากเรื่องโครงสร้างอุปถัมภ์แล้ว มีสิ่งไหนที่อยากแก้ไขอีกไหม
เรื่องการกระจายอำนาจ อำนาจเป็นอะไรที่เซ็กซี่มาก คนถึงได้แก่งแย่งชิงดีกัน โครงสร้างประเทศไทยตอนนี้ เป็นแบบราชอาณาจักร กทม. ปกครองเมืองขึ้น 76 เมือง ผู้ว่าฯ ถูกจิ้มมากจากรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นหน้าตาของรัฐสมัยโบราณที่ไม่เอื้ออำนวยและไม่มีความยืดหยุ่น ที่สำคัญที่สุดไม่ยึดโยงต่อประชาชน ถ้าเรามีระบบเลือกตั้งผู้ว่า กทม.เราจะเปลี่ยนโครงสร้างทั้งประเทศทันที เราจะมีประชาธิปไตยมากขึ้น
ทำไมคน กทม. มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งก็ไม่มีสิทธิ์มานานแล้วนะ เดี๋ยวรอท่านนากยกฯ ก่อน (หัวเราะ) แต่ในรัฐธรรมนูญเรามีสิทธิ์ ต่างจังหวัดกลับไม่มี นี่เป็นความเหลื่อมล้ำที่จารึกไว้ในกฎหมายเลย ดังนั้น ถ้าเราให้อำนาจกับเขาว่า ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในจังหวัดไหนก็มีสิทธิ์ที่จะจ้างผู้ว่าฯ ของตัวเอง มีสิทธิ์ไล่ผู้ว่าฯ ออกถ้าเขาทำงานไม่มีประสิทธิภาพหรือทุจริต พอคุณมีอำนาจทางการเมืองแล้ว คุณก็จะสามารถมีสิทธิ์มีเสียงกับนโยบายในแต่ละจังหวัดได้ว่า จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังไง จะขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมยังไง เพราะว่าเสียงของคุณคืออำนาจ คุณมีส่วนร่วมในสังคม แทนที่จะเป็นแค่ชาวบ้าน คุณกลายเป็น stakeholder เป็นผู้ถือหุ้นให้จังหวัด การที่ทุกจังหวัดเลือกผู้ว่าฯ ได้เอง นั่นคือประชาธิปไตย
นิยามของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ในมุมมองของรวมไทยฯ คืออะไร
ทุกสังคมเริ่มต้นด้วยรัฐเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการโดยกษัตริย์ เผด็จการโดย high priest ไม่ว่าจะด้วยบริบทไหน มันคือเผด็จการที่อำนาจอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในสมัยนั้นเราเข้าใจได้ มันคือสังคมที่ยังไม่ได้พัฒนา แต่นับจากเมโสโปเตเมียมาถึงปัจจุบันมันคือช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้บทเรียนที่ได้มาของสังคมมนุษย์ ทุกวันนี้เราเข้าใจแล้วว่า การกระจายอำนาจ การมีประชาธิปไตย คือการสร้างพัฒนาสังคมได้ดีที่สุด
สักวันหนึ่ง มนุษย์อาจจะคิดค้นระบบที่ดีกว่านี้ แต่ในวันนี้ยังไม่มี ประชาธิปไตยคือสิ่งล่าสุดที่ดีที่สุด อำนาจในมือแต่ละคนเป็น 1 คน 1 เสียง แต่มันไม่ใช่แค่นั้น มันยังเป็นระบบการตรวจสอบที่สร้างความสมดุลทางอำนาจ
เพราะฉะนั้น สังคมประชาธิปไตยจะเป็นสามเหลี่ยม ข้างบนเป็นรัฐบาล มีอำนาจเต็มมือ มีทหาร มีตำรวจ มีภาษี และตามปรัชญาการเมืองก็คือ ยิ่งมีอำนาจเท่าไหร่ โอกาสในการทุจริตคอร์รัปชั่นยิ่งมากเท่านั้น ประชาธิปไตยคือการตรวจสอบ ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องมีฝ่ายค้าน การเลือกตั้งใหม่ทุก 4-5 ปี มีองค์กรอิสระ รวมถึงมีสื่อ ที่คอยตรวจสอบรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน เพื่อให้ข้อมูลประชาชน ข้อมูลความรู้คืออำนาจที่ประชาชนจะมาใช้ตัดสินว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะโหวตให้ใคร หรือหากคนที่อยู่ในอำนาจมีความผิดแปลกไป ประชาชนก็มีสิทธิ์ออกมาประท้วงบนท้องถนน และส่งเรื่องต่อให้ ส.ส.ในสภาช่วยตรวจสอบได้ เพราะระบบการตรวจสอบไม่เคยหยุดนิ่ง
นี่คือประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ มีธรรมภิบาล มีความโปร่งใส ทุกคนเข้าถึงข้อมูล มีการตรวจสอบ มีความสมดุลทางอำนาจ ขณะที่เผด็จการไม่ได้เป็นสามเหลี่ยม แต่เป็นเส้นตรงแนวดิ่ง ข้างบนเป็นรัฐบาล ข้างล่างเป็นประชาชน ตรงกลางมีสื่อที่มีหน้าที่แหงนคอ อ้าปากรับอุจจาระ-ปัสสาวะจากรัฐบาลแล้วส่งต่อให้ประชาชน เป็นเหมือนแค่การประชาสัมพันธ์ ไม่มีการตรวจสอบใดๆ ดังนั้น ในสังคมประชาธิปไตย สื่อต้องมีความเป็นอิสระ
สุดท้ายแล้ว ในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีความรับผิดชอบในสังคม การเมือง กฎหมายของประเทศ เพราะเสียงโหวตของคุณมีอำนาจ จะมานั่งหลับตาไม่รู้ไม่สนไม่ได้ ฉะนั้น อย่างน้อยที่สุด เราไม่สามารถที่จะบังคับใครได้ และไม่ควรจะบังคับใครด้วย อย่างน้อยที่สุด ถึงเวลาทุก 4 ปี เข้าไปโหวตและโหวตอย่างคนมีข้อมูล
เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่พูดมา พรรครวมไทย ยูไนเต็ดจะเคลื่อนไหวยังไงบ้าง
อันดับแรกต้องให้คนรู้จักเราก่อน เพราะเรายังเป็นพรรคใหม่ และเราจะพูดถึงจุดยืน อุดมการณ์ และนโยบายไปเรื่อยๆ
ถ้าเราเป็นรัฐบาล เราจะไม่เป็นรัฐบาลร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ เราก็จะปฏิรูป 3 อย่างคือการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ด้านการเมืองเราพูดไปแล้ว มาด้านเศรษฐกิจบ้าง ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ใช่ประเทศที่มีคนรวยเยอะ แต่เป็นประเทศที่ชนชั้นกลางมีประชากรเยอะที่สุด ต้องสร้างชนชั้นแรงงานให้ขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางให้มากที่สุด เพราะตอนนี้ไม่ว่าประเทศไหนก็มีชนชั้น
ยกตัวอย่าง ผมเคยไปพูดในงานของนักข่าวที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ขึ้นแท็กซี่แล้วแท็กซี่ก็บอกว่า อ๋อ ปีที่แล้วเขาก็พาครอบครัวมาเที่ยวเมืองไทย ทุกปีจะพาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศปีละครั้ง มันเป็นวัฒนธรรมของเขา ผมก็คิดว่า เอ๊ะ เวลาฝรั่งมาเที่ยวเมืองไทย ขึ้นแท็กซี่ แท็กซี่จะพูดกับฝรั่งไหมว่า ปีที่แล้วเขาพาครอบครัวไปเที่ยวซิดนีย์
ผมเติบโตที่รัฐเท็กซัส สหรัฐฯ จนถึงมหาวิทยาลัย ลุงทำงานเป็นผู้จัดการสาขาแมคโดนัลด์ ป้าเป็นเลขาหน่วยงานราชการนึง ก็คือ โดยอาชีพแล้วไม่ใช่ชนชั้นกลางด้วยซ้ำไป หากเรามองชนชั้นกลางแบบที่คนไทยมอง แต่ก็มีบ้านอยู่ชานเมืองทั้งสองชั้น ทั้งคู่มีรถขับ ผมก็ไม่เดือดร้อน พอผมอายุ 16 ปี ก็ทำงานอยู่ที่แมคโดนัลด์ กลับมาที่เมืองไทย ถ้าคุณขับแท็กซี่ ทำงานที่ร้านแมคโดนัลด์ คุณจะมีคุณภาพชีวิต มีความมั่นคงทางการเงินแบบนั้นได้หรือเปล่า ยากมากเลย ซึ่งไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นความผิดที่ผู้นำประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต พัฒนาความมั่นคงทางการเมืองได้
เวลาผมไปทำข่าวม็อบ นอกเหนือจากบนเวทีที่พูดเรื่องแรงๆ ก็จะมีเวทีเล็กๆ ที่น้องๆ เขาเวียนมาพูดกัน บอกตามตรงไม่ต้องไปถึงปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูป 112 ส่วนมากเขาพูดถึงแค่ชีวิตตน เช่น หนูจะเรียนจบแล้ว แต่ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง งานแรกเงินเดือน 15,000 บาท พอเขาทำงานไปสักพัก อายุใกล้ 30 เงินเดือนอาจจะขึ้นถึง 20,000-30,000 แต่เขาต้องคิดเรื่องแต่งงานมีลูกแล้ว ถ้าโชคดีได้มาเป็นผู้จัดการอาจจะ 50,000-60,000 แต่คุณมีครอบครัวมีลูกที่ต้องส่งเรียน นี่คือวงจรชีวิตของคนในยุคนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเมืองที่ไม่ดี
เศรษฐกิจ สังคม การเมือง มันแยกกันไม่ออกหรอก ถ้าจะมาบอกว่ามีนโยบายเศรษฐกิจเจ๋ง เปลี่ยนแปลงประเทศได้ ผมบอกเลยว่าเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน ในทางเศรษฐกิจเราจึงต้องสร้างประชากรชนชั้นกลาง สนับสนุน start-up และ SME ประเทศไม่ใช่นิวยอร์กมาเฟียสมัยก่อนที่จะคุมโดย 5 ครอบครัว
นอกจากนี้ เราต้องสร้างวิชาชีพ ผมมีโอกาสได้คุยกับแกนนำชุมชนที่ภาคเหนืออีกคนหนึ่ง เขาบอกว่า ถ้าพวกคุณได้เป็นรัฐบาล ผมอยากให้คุณ ‘ไม่ต้อง’ แจกเงินประชาชน แทนที่จะแจกเงินประชาชน ช่วยสร้างวิชาชีพให้ประชาชน สร้าง professional lessons คนไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ต่ำ ไม่ได้มีอาชีพที่เป็น professional จะทำงานตามฤดู เก็บเกี่ยวข้าว น้ำ เสร็จแล้วมาขับแท็กซี่ในกรุงเทพฯ รับจ้างนู่นนี่นั่น มันไม่สามารถที่จะพัฒนาเป็นวิชาชีพได้ ดังนั้น เราต้องกระจายโอกาส รายได้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจและชนชั้นกลางขึ้นมาให้มีประชากรมากที่สุดในไทย ถ้าวันนั้นเกิดขึ้นได้ ก็แสดงว่าเราเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว
ส่วนเรื่องสังคม เอาง่ายๆ ตามที่ผมบอกว่าคนต่างจังหวัดไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ แค่นี้ก็รู้แล้วว่าเหลื่อมล้ำ วิธีแก้ก็คือมีกลุ่มผู้นำที่เข้าใจในสิ่งนี้และยินดีที่จะขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้า
ด้วยบริบทของประเทศที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตย ตามที่พูดมา ยังต้องแก้ไขอะไรอีกไหม เพื่อให้ได้อยู่บนเส้นที่เท่าเทียมกับสังคมโลกจริงๆ
ในสังคมประชาธิปไตย เสาหลักคือรัฐธรรมนูญ รั้วคือทหาร หลังคาคือสิทธิเสรีภาพ เจ้าของบ้านคือประชาชน คนรับใช้คือนักการเมือง ถ้าเราจะมีประชาธิปไตยอย่างจริงจัง จุดเริ่มต้นคือเสาหลัก นั่นก็คือรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญที่ยึดโยงกับประชาชนรัฐธรรมนูญที่อยู่บนหลักการของสิทธิเสรีภาพ รัฐธรรมนูญที่ตั้งอยู่บนมนุษยธรรม
ทุกคนรู้ดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหาร มีการทำประชามติภายใต้รัฐบาลทหารที่ข่มขู่ จับกุม และคุมขังผู้ที่รณรงค์ต่อต้าน เราก็รู้ดีว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจ 250 ส.ว. มีอภิสิทธิ์ในการเลือกนายก มีกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ที่เข้ามาปล้นอำนาจประชาชน เพราะฉะนั้นคำถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประชาธิปไตยไหม คำตอบคือ ไม่ จะต้องฉีกทั้งฉบับมั้ย ก็อาจจะไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่มันต้องมีการเข้าไปดูในแต่ละมาตราแล้วตั้งคำถามว่ามันเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า เริ่มต้นจากตรงนี้ในการสร้างบริบทของประชาธิปไตย
ตอนนี้รัฐธรรมนูญปัจจุบันของญี่ปุ่นอายุ 75 ปีแลว เริ่มต้นปี ค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) ถูกเขียนโดยอเมริกันเพราะญี่ปุ่นแพ้สงคราม แต่เขาก็แทบไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเลย มีแค่ฉบับเดียวนี่แหละ ฉบับเดียวจริงๆ แล้วทั้งฉบับเนี่ยมีคำ อักษรอยู่ 5,000 กว่าคำเท่านั้นเอง อ่านง่าย ทั่วโลกรัฐธรรมนูญเนี่ย เฉลี่ยตัวอักษรอยู่ประมาณ 21,000 คำ
แต่ของประเทศไทย ตั้งแต่การปฏิวัติคณะราษฎร เมื่อปี ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 21 ฉบับ คิดได้ว่า 90 ปีมานี้ อายุของรัฐธรรมนูญเฉลี่ยแล้ว 1 ฉบับต่อ 4.2 ปี ความถี่ใกล้เคียงกับบอลโลก โอลิมปิก แล้วฉบับปัจจุบันมีประมาณ 279 มาตรา มีอักษรทั้งหมด 42,000 กว่าคำ มากกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกอีก
ดังนั้นแล้ว ถ้าจะสร้างบริบทประชาธิปไตย ตราบใดที่เรายังมีรัฐบาลนี้อยู่ ทุกอย่างไม่ว่าจะพูดเรื่องอะไร ไม่ว่าจะเดินถนนเส้นไหน มันกลับมาที่เดิม ไม่มีอะไรทำได้ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือระบอบประยุทธ์ยังคงอำนาจอยู่
จากที่พูดถึงความยาวของรัฐธรรมนูญ มองว่ามันสะท้อนให้เห็นอะไรในสังคมไทย
มันสะท้อนให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศไทย ทุกอย่างยาวไว้ก่อน ยากไว้ก่อน ทำให้สลับซับซ้อนไว้ก่อน นั่นคือการทำงาน โครงสร้างของรัฐแบบเก่า ตราบใดที่ประชาชนงง ตราบนั้นประชาชนรู้สึกว่าตัวเองโง่ ถ้าประชาชนรู้สึกงงและรู้สึกโง่ ประชาชนก็จะต้องฝากความหวังให้กับผู้ที่มีอำนาจ แล้วเขาก็จะขับเคลื่อนกันไปแบบเผด็จการ
อีกข้อหนึ่งก็คือถ้ายิ่งยาว ถ้ายิ่งยาก ถ้ายิ่งสลับซับซ้อน ช่องทางทำมาหากินยิ่งเยอะ คนไทยเรารู้ดี ไม่ว่าจะทำอะไรต้องมีนายหน้า คุณจะไปติดต่อหน่วยงานราชการ คุณก็จะต้องถามว่ารู้จักใครไหม ใครอำนวยความสะดวกได้มั้ย เดินเข้าหาผู้ที่มีอำนาจ คุณก็ต้องมีกระเช้า ตระกร้าไปฝาก ทุกอย่างต้องมีทางลัดต้องมีวิธีพิเศษเพื่อที่จะได้มาในสิ่งที่เราควรได้ง่ายๆ นี่คือการทำมาหากินของโครงสร้างอุปถัมภ์ของรัฐอุปถัมภ์
ระยะหลัง ประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มีประเด็นที่เห็นด้วยหรือว่าอยากเสริมเพิ่มเติมไหม
ผมเห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 272 (ตัดอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ) พูดตรงๆ ผมแก่พอที่จะรู้ถึงคุณค่าของการทำอะไรสักอย่าง ทีละก้าวๆ ถ้าคุณจะเอาทุกอย่างตรงนี้เลย ตอนนี้เลย คุณก็จะไม่ได้สักอย่าง เราต้องมีกลยุทธ์ เอา 250 ส.ว. ออกได้ก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้า คุณเปิดเกมใหม่เลยนะ ผมพูดถึงผู้ชุมนุมเลย เพราะผมอยู่ตรงนั้นตั้งแต่วันแรก ตั้งแต่มีแพนกวิน รุ้ง กับเพื่อนไม่กี่คนเดินวิ่งวุ่นอยู่แถวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนที่จะเป็นแฟชั่น ผมอยู่ตรงนั้นตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว 3 ข้อเรียกร้องที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ออกไป ยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ เอา 250 ส.ว. ออกไป เลือกตั้งใหม่ คนออกมาเป็นพัน เป็นหมื่น แล้วที่สนามหลวงตอนเดือน ก.พ.2563 เป็นแสน นั่นคือมีฉันทามติเกิดขึ้น
สิ่งอื่นที่เขาเรียกร้อง ผมไม่ได้พูดว่าเขาไม่ควรจะเรียกร้อง หรือเขาไม่มีสิทธิ์จะเรียกร้อง แต่ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นก็คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นผมฝากบอกคนไทยทุกคนเลย เหมือนเดิม ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายไหน ไม่ว่าคุณจะต้องการอะไร มันเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าคุณไม่ชนะระบบ 250 ส.ว. ก่อน แล้วสร้างฉันทามติระหว่างฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวา ผมมีเพื่อนที่อยู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเยอะมาก แต่ทุกคนพูดเหมือนกัน 250 ส.ว. นี่กูก็ว่าไม่ไหว คนเราทุกคนมันมีความเป็นธรรมอยู่ในใจแล้ว ต้องดึงคนพวกนี้เข้ามาร่วมลงคะแนนเสียง เพราะฉะนั้น เราถึงมองว่ารวมไทยฯ เป็นทางเลือก ที่จะโฟกัสทุกอย่างไปทีละขั้น แล้วทำให้ฝันเป็นจริง
สุดท้ายแล้ว เราต้องเป็น ‘ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข’ ไม่ใช่เรื่องแปลก ทั่วโลกเขาก็เป็นแบบนี้เยอะแยะ แล้วก็เป็นประเทศพัฒนาที่ดีด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราต้องการทำ หรือสิ่งที่เราต้องการได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก มันไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่ชาวบ้านเขาทำมาเป็นสิบๆ ปี เป็นร้อยๆ ปีแล้ว เราแค่ต้องการตามให้ทัน แต่ถ้าเราจะตามให้ทันเนี่ย ต้องมาทำความเข้าใจอันแรกก่อนก็คือเอาชนะ 250 ส.ว.
แล้วที่ผู้คนเรียกร้องกันเรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มองว่าอย่างไรบ้าง
มาตรา 112 มีประชาชนกลุ่มหนึ่งอยากแก้ อีกกลุ่มหนึ่งอยากยกเลิก อีกกลุ่มหนึ่งบอกห้ามแตะ ทุกกลุ่มบอกว่าประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับเขา แต่ประเด็นก็คือว่ามีใครถามประชาชนส่วนใหญ่รึยัง ไม่เคยมี ทุกคนเคลมได้หมด แต่ความเป็นจริงคืออะไร นี่คือทางตันของประเทศไทย พอมาถึงทางตันปุ๊บ ใครชนะ พล.อ.ประยุทธ์ ถ้างั้นทางออกคืออะไร ทางออกคือกลไกประชาธิปไตย การทำประชามติ ถามคนไทยจริงๆ เถอะ ว่าอยากได้อะไร ห้ามแตะ ยกเลิกไปเลย หรือแก้ แล้วถ้าแก้เนี่ย แก้ยังไง แก้อะไรบ้าง ใช้กลไกประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือในการหาทางออก
ทำไมถึงพูดอย่างนี้ คนไทยทุกคน รวมถึงผมด้วย ก็มีความรู้สึกส่วนตัวเกี่ยวกับกฎหมายนี้ แต่ความรู้สึกส่วนตัวคือความรู้สึกส่วนตัว ส่วนรวมคือส่วนรวม เราพูดถึงการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า การเอาความรู้สึกนึกคิดส่วนตัว มาครอบงำส่วนรวมนั่นคือเผด็จการ คุณจะซ้ายเผด็จการ ขวาเผด็จการ มันก็คือเผด็จการ ฉะนั้น ทางออกก็คือทำประชามติว่า ไม่ว่าจะออกทางไหน ผมพูดอย่างแฟร์ๆ เลย ไม่มีประชาธิปไตยประเทศไหนในโลกนี้ที่ทุกกฎหมายโคตรประชาธิปไตยเหลือเกิน มันต้องขึ้นอยู่กับว่าประชาชนต้องการอะไรด้วย เพราะฉะนั้น นี่คือมุมมองต่อมาตรา 112 ต้องมีประชามติ แต่อีกนั่นแหละ ไม่มีทางเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลนี้
เห็นเคยให้สัมภาษณ์ไว้ด้วยว่า ‘จะไม่หากินบนความแตกแยก’ ขยายความให้ฟังหน่อยได้ไหม
สิ่งที่นักการเมืองทำอยู่ทุกวันนี้ ก็คือการเมือง ถ้าคุณเชื่อมั่นในประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข คุณต้องเข้าใจว่าสถาบันเป็นจุดศูนย์กลางของความสามัคคี ของจิตใจของประชาชนชาวไทย เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับประชาชน อยู่ระหว่างสถาบันกับประชาชน นักการเมืองไม่เกี่ยว ไปเสือกอะไร ประชาธิปไตยในระบบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข การเมืองแยกจากสถาบันโดยสิ้นเชิง การเมืองแยกจากศาสนาโดยสิ้นเชิง นักการเมือง พรรคการเมือง ถูกเลือกมาโดยประชาชน รับเงินเดือนจากประชาชน ดังนั้น คุณรับใช้ประชาชน อย่าห่วงสถาบัน สถาบันอยู่บนที่สูงอยู่แล้ว มีหน่วยงานคอยปกป้อง ดูแล รับใช้อยู่แล้ว
นักการเมืองต้องเลิกโหนสถาบัน
ทั้งเรื่องสถาบันกษัตริย์และศาสนา สามารถแยกขาดจากการเมืองได้จริงๆ เหรอ
ได้สิ ทำไมถึงไม่ได้ล่ะ ประเทศอื่นเขาก็ทำไปแล้ว ทั้งญี่ปุ่น อังกฤษ ในแง่ความรู้สึกของสังคมมันแยกไม่ได้อยู่แล้ว แล้วก็ไม่ควรแยกด้วย แต่ในแง่การเมืองมันแยกได้ แล้วมันต้องแยกด้วย ถ้าคุณจะแก้ไขอะไรในระบบการเมือง ในระบบประชาธิปไตย สิ่งที่คุณแก้ไข สิ่งที่คุณปฏิรูป คือกฎหมายในรัฐธรรมนูญ คุณต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน คุณจะปฏิรูปกฎหมาย หรือปกป้องกฎหมายนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
คุณต้องเข้าใจให้ถูกก่อน เพราะในสังคมวัฒนธรรมไทย สถาบันเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างที่บอกว่าเป็นจุดศูนย์รวมทางด้านจิตใจของประชาชน เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฉกฉวยโอกาสก็จะใช้ตรงนี้แหละมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความแตกแยก
กลับไปที่เรื่องของชนชั้นกลาง เมื่อในประเทศนี้มีคนอีก 1% ที่เป็นกลุ่มทุนใหญ่ เราจะทำยังไงให้ผู้คนสามารถขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางได้
ทุกคนเป็นชนชั้นกลางไม่ได้ ทุกสังคมยังมีคนจนอยู่ แต่ให้ประชาชนที่เป็นชนชั้นกลางมีจำนวนมากที่สุดได้ มันคือโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ถ้าโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่อะไรๆ ก็เอื้อกับนายทุนใหญ่ นายทุนใหญ่ก็จะมีอำนาจสูงสุดไปเรื่อยๆ คำว่าเอื้อหมายความว่าไง หมายความว่า การให้สัมปทาน ให้ผูกขาด ซึ่งมันมาจากภาครัฐทั้งนั้น ว่าคุณจะเลือกให้ใครหรือไม่ให้ใคร
เพราะฉะนั้นการเมืองกับเศรษฐกิจก็ผูกโยงกัน ที่ผ่านมาทุกคนก็รู้ว่าการเมืองเอื้อนายทุนใหญ่ ไม่ได้หมายความว่านายทุนใหญ่ เลว ชั่ว หรือผิด ทุกคนทำงาน ทุกคนประกอบธุรกิจของตน ถ้าเขาได้มาอย่างสุจริตก็เป็นสิ่งที่ดี เขาก็ขับเคลื่อนธุรกิจของเขาไป แต่วิธีสร้างประชากรชนชั้นกลางก็คือหันมาพัฒนา SME อย่างจริงจัง หันมาพัฒนา start-up อย่างจริงจัง หันมาพัฒนาการศึกษาอย่างจริงจัง ทุกอย่างเริ่มต้นด้วยการศึกษา ผมเป็นอาจารย์ผมรู้ดี ผมเรียนมาทั้งเมืองไทยและเมืองนอก ผมรู้ดี ว่าการศึกษามันเป็นยังไง ต้องหันมาสร้างอีก 99% ของประเทศ แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่สำเร็จภายใต้รัฐบาลที่เป็นเผด็จการ
แล้วคิดว่าสวัสดิการรัฐเป็นสิ่งสำคัญขนาดไหน ต้องทำยังไงให้คนเข้าถึงสวัสดิการได้
เราต้องมองดูว่าเราจะเป็นรัฐสวัสดิการหรือไม่เป็น แล้วสวัสดิการนี่ควรจะจัดสรรยังไง สวัสดิการควรจะมีให้กับกลุ่มคนเปราะบาง คนชรา ผู้ที่พิการ ต่างๆ นานา สวัสดิการไม่ควรจะเป็นข้ออ้างให้กับคนที่จะไม่ทำงาน ผมโตมาจากเมืองนอก ขอเล่าให้ฟังว่า พอพูดคำว่าสวัสดิการ มันจะมองเห็นภาพเห็นคนที่วันๆ ไม่ทำอะไรเลย ไปนั่งรับเช็ค เป็นภาระของสังคม สิ่งนี้มันมีอยู่จริง
เพราะฉะนั้นสวัสดิการสำหรับผม ในบริบทประเทศไทยเป็นอะไรที่ต้องมองให้ลึกกว่านี้ว่าควรจะทำในขั้นตอนแบบไหน ในลักษณะยังไง แต่ผมมองว่าประเด็นไม่ใช่แค่สวัสดิการ ประเด็นคือ universal income ไม่ใช่พูดถึงแค่ 300 บาท มันสามารถไปถึงรายรับของจบปริญญาตรี โท เอก universal income สามารถพูดถึงได้ว่า ถ้าบริษัทของคุณมีเงินทุนประมาณนี้ ประมาณ 100 บาท เงินเดือนขั้นต่ำที่คุณจะให้ลูกจ้างควรเป็นเท่าไหร่
ผมเป็นคนเชื่อว่าคนเราต้องดูแลรับผิดชอบในตัวตน แต่ว่าภาครัฐต้องอำนวยโอกาส ต้องสร้างความเป็นธรรม สุดท้ายแล้วรัฐสวัสดิการที่จะต้องมี health benefits และ retirement benefits นี่เป็นสิ่งที่จะต้องการันตีว่าประชาชนทุกคนมี ซึ่งผมว่าเราก็มีอยู่แล้ว ปัญหามันแค่ระบบการจัดการเท่านั้นเอง ฉะนั้น ผมจะมองว่า แทนที่จะเป็นรัฐสวัสดิการ เป็นรัฐที่ให้โอกาสดีกว่า ให้ประชาชนแสดงศักยภาพได้มากขึ้น
เคยเป็นทั้งอาจารย์ นักข่าว มาทำงานทางการเมืองได้ยังไง
ในบริบทของนักข่าว ก็เป็นนักข่าวมา 20 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ lifestyle ยันเศรษฐกิจ การเมือง แล้วก็จะเขียนเรื่องการเมืองตลอดเวลา ค้นพบว่า 20 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เขียนก็เขียนเรื่องเดิมตลอดเวลา ยิ่ง 7 ปีให้หลัง ยิ่งแย่กว่าเดิม เพราะฉะนั้น สื่อที่ตรวจสอบเป็นสิ่งที่สังคมจำเป็น แต่ว่าแค่มีโอกาสมาทำการเมือง เราอยากเปลี่ยนแปลงประเทศจริงๆ แล้วพร้อมที่จะก้าวมาในจุดนี้ แล้วก็เข้าเรื่องธรรมดาเลย สังคมไทย สังคมเล็กๆ คนรู้จักกันก็แนะนำกันไปกันมา แล้วก็มีคนที่รู้จักระหว่างผมกับหลายคนที่เป็นผู้ก่อตั้งพรรค เขาก็แนะนำกันว่าผมคอการเมือง มีไอเดีย ก็เลยได้เข้ามาพูดคุยกัน แล้วก็อยู่ตรงกลางไปกันได้ วิสัยทัศน์ไปกันได้ ก็เลยร่วมมือกันจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้น
จากที่เคยเป็นนักข่าว อาจารย์ ผันเข้ามาสู่บทบาทใหม่แล้วเป็นยังไงบ้าง
จุดยืน วิสัยทัศน์ ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ผมพูดถึงการตรวจสอบความสมดุลทางอำนาจ ความโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูล อันนี้มาจากสายข่าวทั้งนั้น เพราะฉะนั้นการที่ผมเป็นสื่อ ผมรู้ เข้าใจสิ่งสำคัญเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง สักวันหนึ่งเป็นรัฐบาล ผมก็จะต้องยืนหยัดเพื่อสิ่งนี้ มีนักข่าวมาถาม ถามอะไรผมก็ต้องตอบ ถามข้อมูลผมก็ต้องตอบ ผมจะยืนชี้หน้าด่านักข่าวว่าไม่สร้างสรรค์ ไม่ช่วยโปรโมท พวกคุณไม่รักผมเลย มันจะไม่มีประโยคนั้นออกมา
การที่เป็นอาจารย์ ตอนที่ผมเป็นนักเรียนอยู่ในเมืองไทย นักเรียนทุกห้องก็เหมือนกัน นักเรียนนั่งอยู่ 40-50 คน คุณครูเดินเข้ามาพวกเราก็ สวัสดีค่ะ/ครับคุณครู เสร็จแล้วก็ไม่เห็นหน้าคุณครูอีกเลย เพราะคุณครูหันหลังให้แล้วก็จดบนกระดานจากหนังสือที่ถืออยู่ มาเห็นหน้าอีกทีตอนคุณครูหันกลับมา แล้วก็ สวัสดีค่ะ/ครับคุณครู แล้วคุณครูก็เดินออกไป ในช่วงระหว่างนั้นก็จดๆ ไม่รู้จดอะไร แต่ต้องจด เสร็จแล้วพอสอบก็ไม่รู้ว่าสอบอะไร ไม่รู้ท่องอะไร เพราะฉะนั้น การเป็นอาจารย์ ผมถือสุภาษิตตลอดว่า ผมจะพยายามที่สุด สอนให้คิด สอนให้วิเคราะห์ ผมจะบอกนักเรียนตลอดเวลา ผมอยากให้คุณถาม อยากให้เถียง อยากให้แสดงความคิดเห็น แล้วถ้าคุณสามารถพิสูจน์ได้ว่าผมใช้ข้อมูลผิด หรือพูดผิด ผมให้ A คุณเลย นั่นคือปรัชญาในการสอนของผม
ดังนั้น ในฐานะนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. รัฐมนตรี นายกฯ ผมจะขอบคุณประชาชน ที่ให้ผมมายืนจุดนี้ แล้วผมจะถามประชาชน ผมอยากให้ประชาชนเถียง ผมอยากให้ประชาชนชี้ในสิ่งที่ดีกว่านี้ ผมอยากให้ประชาชนบอกว่าถ้าผมทำอะไรผิดพลาด หรือทำอะไรได้ดีกว่านี้ นั่นคือประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่การเมืองซุปเปอร์แมน ที่จะมีเทพเจ้าจุติมาเป็นนายก ทำได้ทุกอย่าง มันคือการเมืองที่เราร่วมมือกัน
ตอนที่เป็นนักข่าวเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม เห็นหรือรู้สึกอะไรบ้าง เวลาเยาวชนพูดความคิดเห็นต่างๆ บนเวที
ผมคิดว่าเขาพูดจากใจ แล้วก็ต้องรับฟัง บางอย่างอาจจะมีเหตุผล บางอย่างอาจจะไม่มีเหตุผล มันเป็นเรื่องธรรมดาเวลาคนเราพูดจากใจ ผมคิดว่าหน้าที่ของผู้ใหญ่ก็คือรับฟัง แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไข มีอะไรที่เด็กรู้เยอะกว่าเรา มีอะไรบางอย่างที่เด็กอาจจะต้องอาศัยเรา เพราะสุดท้ายแล้วรวมไทย ยูไนเต็ด เด็กกับผู้ใหญ่ก็ต้องไปด้วยกัน
ผมวัยกลางคนแล้ว แต่ก็ยังจำได้ว่าตอนเด็กตัวเองเป็นยังไง ตอนนี้ก็เข้าใจผู้ใหญ่แล้วเหมือนกัน สิ่งที่เข้าใจมากที่สุดก็คือ สิ่งที่เด็กให้เราได้คือความคิด นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งคนอายุอย่างผมตามไม่มีวันทัน แต่สิ่งที่คนอายุอย่างผมให้ได้ก็คือประสบการณ์ บทเรียนต่างๆ นานา ความรอบคอบ ความสุขุม ซึ่งเด็กแค่โดยวัยยังมีไม่เท่า นั่นคือสัจธรรมของมนุษย์
ถ้าเด็กกับผู้ใหญ่จับมือกันได้ รวมมือกันได้ สังคมไทยไปได้ไกลแน่ แต่ถ้าเด็กกับผู้ใหญ่ อาจจะไม่ได้มองแค่อายุ มองที่วิสัยทัศน์ ไม่สามารถจับมือกันได้ ประเทศก็ไม่ไปไหน เพราะมันต้องอาศัยทั้ง 2 อย่าง
พอมีประสบการณ์ทำข่าวมาตั้งแต่ยุคเสื้อเหลือง เสื้อแดง จนตอนนี้ มีอะไรที่เปลี่ยนไปบ้าง หรือมีอะไรไม่เคยเห็นมาก่อนในสังคมไทย
สิ่งที่เหมือนเดิมทุกอย่าง คือการที่ผมไปทำข่าวผู้ชุมนุม ผมไม่ค่อยทำข่าวแกนนำ ไม่ค่อยสนแกนนำเท่าไหร่ ผมรู้ว่าแกนนำคืออะไร ไม่ว่าแกนนำฝั่งไหน แต่ผมชอบคลุกคลีกับคนธรรมดาที่ออกมา ผมพูดได้เลยไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง กปปส. หรือชุมนุมปัจจุบัน คนที่ออกมาธรรมดา เขาออกมาด้วยใจจริง ที่อยากเห็นอะไรดีกว่านี้ ที่อยากเห็นประเทศได้ดีกว่านี้ ไม่ว่าจะคอร์รัปชั่นน้อยกว่านี้ ไม่ว่าจะมีประชาธิปไตยมากกว่านี้ ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ เขามาจากใจ นี่คือสิ่งที่เหมือนเดิม ผมจะไม่มองประชาชนที่มาด้วยใจเป็นเรื่องที่ผิดเลย นั่นคือสิ่งที่ผมมองเห็น
แต่สิ่งที่แตกต่างจากปัจจุบันกับอดีต ผมมองแกนนำในการชุมนุมปัจจุบันเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความเชื่อมั่น มีแรงกล้า ไม่ใช่แกนนำแบบเก่าที่รับใช้เจ้านาย เจ้านายสั่งมา มาทำงานให้เจ้านาย นั่นคือข้อแตกต่าง เพราะฉะนั้นผมพูดได้เลยว่า ไม่ต้องพูดก็ได้ แค่ไป google บทความเก่าๆ ที่เขียนใน Bangkok Post ก็ได้ ไม่ว่าจะแกนนำ กปปส. ไม่ว่าจะแกนนำเสื้อเหลือง เสื้อแดง แกนนำอะไรก็แล้วแต่ ผมไม่เคยให้ความไว้วางใจ แต่ผมเลื่อมใสประชาชน มวลชน แต่ในยุคปัจจุบัน ผมมองว่าเด็กๆ ที่เป็นแกนนำที่เราเห็น เขามาด้วยใจจริง เขาไม่ได้มีเจ้านายสั่งเขามา เขาไม่ได้มีใครเสี้ยมเขามา แล้วผมหวังว่าผมคิดถูก เพราะผมไม่ใช่ผู้รู้ทุกอย่างในโลกนี้
ณ ตอนนี้ แกนนำหลายคนก็ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ทั้งที่ศาลยังไม่ตัดสิน มองว่ายังไงบ้าง
พวกเขาควรได้รับสิทธิประกันตัว กฎหมายที่เขาถูกกล่าวหาว่าทำผิด มันไม่ใช่อาชญากรรม ไม่ใช่การฆ่าคน ไม่ใช่การปล้นสะดมเงินเป็นล้านๆ ร้อยล้าน มันเป็นเรื่องของความคิดเห็น การแสดงออก หรือเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.ความสะอาด มันไม่ใช่เรื่องที่จะไม่ให้สิทธิประกันของเขา ถ้าคุณเข้าใจประชาธิปไตย คุณต้องเข้าใจว่าคนพวกนี้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย จนกว่าศาลจะตัดสินว่าเขาผิด ทุกวันนี้เขาคือผู้บริสุทธิ์ในทุกข้อกล่าวหา จนกว่าศาลจะตัดสินว่าเขาผิด เมื่อศาลตัดสินผิด จองจำคือจองจำ เพราะฉะนั้น ณ ตอนนี้ ไม่มีใครทำอะไรร้ายแรงจนถึงขั้นไม่ให้สิทธิประกัน
ส่วนตัวคุณมี role model (ต้นแบบ) ทางการเมืองไหม
ผมเป็นคนไม่ชอบมี role model เพราะว่ามันคือการมองคนอีกคนเป็น idol แต่มนุษย์สักคนหนึ่ง เราจะรู้จักเขาได้มากแค่ไหน แต่ละคนมีตื้นลึกหนาบางไม่เหมือนกัน เช่น ผมชอบบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ แต่ผมแค่ชอบเขาในฐานะที่เป็นผู้นำ ยืนอยู่บนเวทีและสร้างแรงบันดาลใจให้คน ความเป็นไปได้และความหวัง ซึ่งสำคัญมากในการเป็นผู้นำประเทศ มีคลิปนึงที่เขาเดินขึ้นเฮลิคอปเตอร์แล้ว เขาลืมทักทหารที่ดูแล เขาเลยเดินกลับลงมาไปทักก่อน นั่นคือผู้นำประชาธิปไตย ให้ความใส่ใจ ไม่ถือตน เรียกว่าสันดานประชาธิปไตยแล้วกัน คุณต้องรู้ว่าประชาชนทุกคนไม่ใช่ลูกน้องคุณ ไม่ใช่ค่ารับใช้คุณ
เทียบกับนักการเมืองไทย ไม่ว่าจะไปไหนก็มีข้าราชบริพารห้อมล้อม ประชาชนต้องกราบไหว้ราวเทพเจ้า อันนี้เป็นสันดานเผด็จการ
[ หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2564 ]