ว่ากันด้วยเรื่องของ ‘ข่าวลือ’ มันก็มีมานานนม ตั้งแต่สมัยที่เรายังพูดกันปากต่อปาก มาจนสมัยที่แค่พิมพ์อะไรลงไปสักอย่างก็มีคนเข้ามาอ่านได้นับพันนับหมื่นภายในไม่กี่วินาที แล้วพอยิ่งเป็นยุคที่ข้อมูลมันวิ่งไปไวขึ้นมากขนาดนี้ ข่าวลือยิ่งวิ่งเข้ามาหาเราง่าย ยิ่งชวนให้รู้สึกว่าข่าวลือทุกวันนี้มันเยอะกว่าสมัยก่อน
การศึกษาทางจิตวิทยามักจะแบ่งข่าวลือออกเป็น 3 ประเภท คือข่าวลือเกี่ยวกับความกลัว ข่าวลือเกี่ยวกับความหวัง และข่าวลือสร้างความแตกแยกในหมู่ผู้คน และยังดูเหมือนข่าวลือประเภทสุดท้ายจะเห็นได้บ่อยที่สุดอีกด้วย
วงจรของข่าวลือมีทั้งขึ้นและลง แต่เราจะเห็นการแพร่กระจาย
ของข่าวลือมากเป็นพิเศษในสถานการณ์ที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน
ยากต่อการเข้าใจ และอาจเป็นอันตราย
เพราะในสถานการณ์แบบนี้เองที่คนต้องการข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่เมื่อหาข่าวกระแสหลักที่น่าเชื่อถือมากพอไม่ได้ หรือหาได้ยาก นั่นก็เป็นเวลาของข่าวลือที่จะออกทำงานทดแทน
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเสนอผลงานวิจัย ซึ่งเป็นการร่วมกันระหว่างคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ดร.พีรพล เวทีกูล ในการสร้างเครื่องมือประมวลผล และวิเคราะห์ข้อความบนทวิตเตอร์ เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจปรากฏการณ์ข่าวลือในสังคมไทย
ขั้นตอนคร่าวๆ ของการวิจัยครั้งนี้ คือ ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์จะใช้ข้อมูลที่ได้จากทางบริษัท Thoth Zocial มาพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ ‘CU.TWEET’ เพื่อใช้ในการประมวลผลข้อมูล หลังจากนั้นทางคณะนิเทศศาสตร์ก็ใช้ผลจากการประมวลนั้นมาวิเคราะห์และสรุปผล ผ่านกรณีข่าวลือ 7 กรณีที่ปรากฏบนทวิตเตอร์ ภายในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา
ข้อสรุปของ ‘ลักษณะร่วมของข่าวลือ’ คือเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นและแพร่กระจายได้ตลอดเวลา ไม่เคยหายไปจากกระแสการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะเรื่องของที่มาและต้นตอของข่าวลือที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลนั้น พบว่าส่วนใหญ่แล้วต้นตอของข่าวลือมักจะมาจากคนธรรมดา แต่คนที่ทำให้ข่าวลือเผยแพร่ออกไปจะเป็น Influencer ต่างๆ ที่นำข่าวลือมาพูดต่อ จะว่าไปมันก็เหมือนเวลาที่เราเล่นกระซิบกับเพื่อน ที่กว่าข้อความจากหัวแถวจะถูกส่งต่อไปท้ายแถว ข้อมูลก็ถูกบิดจนเพี้ยนไม่เหลือเค้าเดิมอีกต่อไป บางข่าวลือในสังคมทวิตเตอร์ก็เริ่มจากอะไรแบบนั้นเหมือนกัน ซึ่งอันที่จริงถ้าเราไม่ได้อยู่ในเกมกระซิบกระซาบ เราจะไม่ส่งต่อข้อความนั้นก็ได้ใช่ไหม แต่แล้วสุดท้ายมนุษย์เรามันก็จะมีความอยากเป็น ‘วงใน’ ว่าถ้าฉันเผยแพร่ข่าวนี้ต่อ ก็เท่ากับฉันรู้ก่อนคนอื่นอะไรแบบนี้ หรือถ้าเราเจอข่าวลือไม่ดีๆ ของฝ่ายตรงข้าม มันก็มีแนวโน้มที่เราจะส่งต่อ แม้จะรู้ดีก็ตามว่าอาจจะเป็นแค่ข่าวลือ
แล้วยิ่งในยุคนี้ที่สังคมออนไลน์มันทับซ้อนกับโลกแห่งความจริง นั่นแปลว่าความซับซ้อนของมันยิ่งทำให้การแพร่กระจายของข่าวสักข่าวไปได้ไกลและกว้างกว่าที่เราคิด ยิ่งกลุ่มผู้ใช้แพลตฟอร์มแต่ละแพลตฟอร์มก็มีพฤติกรรมการใช้ การเผยแพร่ที่แตกต่างกันออกไป มันอาจยิ่งยากที่เราจะนิยามผู้ใช้ทั้งหมด ภายใต้กรอบกรอบเดียว
พูดง่ายๆ ว่าเราก็คงไม่อาจไป Stereotype ชาวเน็ตแต่ละรูปแบบได้
ถึงอย่างนั้น ด้วยพฤติกรรมของชาวทวิตเตอร์ ที่ถูกพบว่ายอดรีทวีตข่าวลือที่ยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงน่าเชื่อถือพอนั้นถือว่าน้อยมากทีเดียว ถ้าเทียบกับยอดรีทวีตของการแก้ข่าว ซึ่งมันก็บอกกับเราได้เหมือนกันว่าชาวทวิตเตอร์มีความระมัดระวังการผลิตซ้ำของข่าวอยู่เหมือนกันนะ
ก็อย่างที่บอกว่าข่าวลือมันไม่เคยตายหรือหายไปไหน พอถึงช่วงที่เหมาะๆ มันก็จะโผล่ตัวขึ้นมามีฟังก์ชั่นตามแต่ที่สังคมเรียกร้องหา ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ตาม ท้ายที่สุดมันก็ต้องกลับมาพูดถึงเรื่องที่หลายคนก็น่าจะรู้กันจนพรุนแล้วว่า ในเมื่อเราไม่สามารถลบล้างมันออกไปได้อย่างแท้จริง ก็คงได้แต่ต้องเสพข่าวและเผยแพร่ข่าวอย่างมีสติ ซึ่งก็เห็นกันจนเบื่อแล้ว แต่มันก็มีแต่อะไรแบบนี้ล่ะเนอะที่จะช่วยควบคุมการแพร่กระจายของข่าวลือได้
เพราะเรื่องแบบนี้ แม้แต่กับเทคโนโลยีก็ยังตรวจจับได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ถึงจะบอกว่าเทคโนโลยีมันไปไกลแล้ว แต่มนุษย์เราก็จะหนีมันไปไกลกว่านั้น เรื่องนี้เอง ทางคณะวิจัยก็เสนอแนวทาง ‘Crowsource’ ที่เป็นการใช้พลังจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในการช่วยกันตรวจสอบกันเอง ร่วมกับองค์กรทางการที่ช่วยตรวจสอบข่าวเท็จต่างๆ สื่อมวลชน และ Influencer ในการสร้างสังคมออนไลน์ที่รู้เท่าทัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://psychology.iresearchnet .com/social-psychology/group/rumors