ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวใหญ่ ข่าววงใน เราจะเชื่อได้ยังไงว่าข่าวไหนเป็น ‘ข่าวจริง’?
ในยุคที่ไม่ต้องรอรายงานข่าวจากสื่อกระแสหลักอย่างหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ในยุคที่ทุกคนเป็นผู้ส่งสารผ่านแอ็กเคาท์โซเชียลมีเดียส่วนตัวได้ เราสามารถเชื่อมั่นได้แค่ไหนว่า ข่าวที่รู้มาเป็นเรื่องจริง 100% ยิ่งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตครั้งใหญ่ การไหลบ่าของข้อมูลข่าวสารที่ถูกมองว่าเป็น ‘ข่าววงใน’ ก็จะยิ่งได้รับความสนใจและถูกส่งต่อมากขึ้นเรื่อยๆ
น่าสนใจว่าอะไรทำให้บางครั้งเราปักใจเชื่อข่าวจากกลุ่มคนที่ไม่ใช่สื่อสารมวลชน และยิ่งไปกว่านั้น พอมีข่าวยืนยันจากสื่อกระแสหลักออกมาอย่างเป็นทางการแล้วกลับกลายเป็นว่า คนไม่เชื่อในสิ่งที่สื่อนำเสนอแต่เลือกที่จะยึดโซเชียลมีเดียและกูรูข่าววงในที่ส่งต่อกันเป็นทอดๆ เพื่อตั้งรับกับสถานการณ์วิกฤตมากกว่า
กระแสธารของข่าวลือในยุคนี้เป็นแบบไหน ทำไมสื่อมวลชนจึงไม่ได้รับความไว้วางใจจากคนเสพข่าว รัฐบาลมีส่วนลดทอนความเชื่อมั่นที่มีต่อประชาชนด้วยหรือไม่ แล้วประชาชนล่ะ…จะรู้เท่าทัน-คัดกรองข้อมูลปริมาณมากๆ ในสถานการณ์อันตรายแบบนี้ได้ยังไงบ้าง
ข่าวลือกับวิกฤตเป็นของคู่กัน?
ปริมาณข่าวลือข่าววงในจำนวนมากมาพร้อมกับสถานการณ์วิกฤตจริงไหม? ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นเฉพาะบ้านเรารึเปล่า? ถ้าลองสำรวจดูคร่าวๆ จากช่วงเวลาวิกฤตในประเทศอื่นๆ จะพบว่า ลักษณะการแพร่สะพัดของข่าวลือที่คู่ขนานมากับช่วงวิกฤตนั้นเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก
บทความจาก The Psych Central เว็บไซต์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตของสหรัฐอเมริการะบุถึงผลการศึกษาข่าวลือที่มาพร้อมกับเหตุการณ์วิกฤต 3 ช่วงเวลา ได้แก่ เหตุการณ์โจมตีผู้ก่อการร้ายในเมืองมุมไบ ปี ค.ศ.2008 เหตุการณ์กราดยิงในเมืองซีแอตเทิล ปี ค.ศ.2012 และการเรียกคืนรถยนต์จำนวน 4 ล้านคันเนื่องจากอุบัติเหตุคันเร่งรถทำงานผิดปกติเมื่อปี ค.ศ.2009 และ ค.ศ.2010
จากกรณีศึกษาทั้งสามพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวทวิตเตอร์ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแพร่กระจายข่าวหรือที่ในเว็บไซต์ระบุว่าเป็น “lead social reporting” ทำให้ช่องทางการตามข่าวถูกเปลี่ยนจากสำนักข่าวสู่สื่อโซเชียลมีเดียแทน
ตรงนี้เองที่ทำให้การส่งต่อข้อมูลเป็นไปในลักษณะที่มีความเกินจริง และเกิดความผิดพลาดในการรายงาน การส่งต่อข้อมูลในโซเชียลมีเดียไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนเท่านั้นแต่รายงานนี้ยังพบว่า มันยังสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นด้วย
“เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติและวิกฤตการณ์เช่นการโจมตีจากผู้ก่อการร้ายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ข่าวลือแพร่กระจายมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ ทำให้สถานการณ์ที่แย่อยู่แล้วยิ่งเลวร้ายลงไปอีก โดยเฉพาะการดำเนินการใดๆ ที่เป็นขั้นตอนฉุกเฉิน และแน่นอนว่าข่าวลือจะยิ่งทำให้เกิดความตื่นตระหนกในหมู่ประชาชนเองด้วย”
บทความยังพูดถึงปรากฎการณ์รายงานข่าวจากทวิตเตอร์ด้วยว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข่าวจากผู้ใช้งานในทวิตเตอร์ได้รับความสนใจมากกว่าสื่อหลักเป็นเพราะในช่วงวิกฤตผู้คนต้องการข่าวที่เร็วและมีความ ‘local’ ขณะที่สื่อกระแสหลักเสนอข้อมูลที่พยายามเข้าใจกับสถานการณ์แบบภาพรวม แต่ข้อมูลจากผู้ใช้งานในทวิตเตอร์สามารถใช้ในการประกอบการตัดสินใจควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตแต่ละวันได้
ด้านสำนักข่าว First Draft วิเคราะห์ไว้อย่างน่าสนใจเช่นกันว่า ข่าวลือในช่วงวิกฤตเกิดจากการที่ผู้คนต้องการพื้นที่ในการแชร์ประสบการณ์ร่วมกัน เพราะเมื่อพวกเขากำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ความหวาดกลัวและความเศร้าทั้งหมดจะถูกแทนที่ด้วยการเชื่อมต่อเข้าหากันบนโลกออนไลน์
การได้แชร์ข้อมูลบนแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยสะท้อนความรู้สึกที่มีร่วมกัน และเมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายกำลังอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กันก็ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อกันด้วย บวกกับอีกเหตุผลหนึ่งที่ในบทความระบุว่า เป็นเพราะผู้คนต้องการทำความเข้าใจโลกให้มากขึ้น ข้อมูลข่าวสารในสื่อออนไลน์ที่ไหลได้รวดเร็วกว่าสื่อหลักจึงค่อนข้างตอบโจทย์ในส่วนนี้
“ข่าวลือเกิดขึ้นเพื่อเติมเต็มช่องว่างของความรู้และข้อมูลที่ขาดหายไป ตัวข่าวลือจึงทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในสถานการณ์ที่อันตรายและมีความกำกวม ข่าวลือจึงมาช่วยเติมเต็มในส่วนนี้ได้ดี”
แล้วถ้าเป็นเหตุการณ์ในบ้านเราจะใช้คำอธิบายแบบไหนได้บ้าง? เราสอบถามเรื่องนี้ต่อไปยัง พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงสาเหตุและความเกี่ยวโยงของข่าวลือและสถานการณ์วิกฤตในไทยที่กำลังเกิดขึ้น
พิจิตราเริ่มต้นอธิบายให้ฟังว่า เวลาเกิดเหตุการณ์วิกฤตโดยเฉพาะวิกฤตที่มีลักษณะ ‘ฉับพลัน’ นั้น จะยิ่งทำให้ข่าวสารลื่นไหลและมีความไม่แน่นอนสูง สาเหตุหลักๆ มีอยู่สองสาเหตุคือ ข่าวจากสำนักข่าวทางการส่งมาไม่ทันในขณะที่สังคมเองก็มีความตื่นตระหนักอยู่
ด้วยความที่สื่อทางการอาจจะต้องรอคอนเฟิร์มแหล่งข่าวหลายขั้นตอน จึงนำมาสู่สาเหตุที่สอง คือ การเข้ามามีบทบาทของสื่อโซเชียลมีเดียที่มีความรวดเร็ว และเป็นข้อมูลจากฝั่งของ ‘UGC’ หรือ user generated content ซึ่งก็คือการผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวผู้บริโภคเอง
“ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงมันออกมาไม่ทันก็เป็นการเปิดโอกาสให้ข่าวลือออกมาเยอะพอสมควร ตัวสถานการณ์ที่มีความรุนแรง มีความกระทันหัน และมีผลกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่จึงนำมาสู่ช่องว่างให้ข่าวลือทำงานได้ จะเห็นว่า ฝั่ง demand หรือความต้องการข่าวสารค่อนข้างเยอะ แต่ฝั่ง supply ที่เป็นข้อเท็จจริงอาจจะยังไม่ออกมาหรือออกมาไม่ทันก็เลยมีคนสร้างข่าวอะไรต่างๆ คนอยากได้ข่าวแต่มันไม่มีข่าวตอนนี้ ก็เลยทำให้ในระหว่างวิกฤตมีทั้งข่าวลือและข่าวลวงเกิดขึ้น”
สื่อไทยสั่นคลอน การเข้ามาของโซเชียลมีเดีย รัฐบาลที่ไม่น่าเชื่อถือ—โจทย์ใหญ่ของปัญหา ‘ข่าวลือ’
พิจิตราขยายภาพการรับสารให้ฟังต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ข่าวลือแพร่สะพัดและดูมีน้ำหนักมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการไหลเวียนของข่าวสารในโซเชียลมีเดีย ที่บางครั้งผู้รับสารเองก็แยกไม่ออกว่าตัวสารนี้มาจากสำนักข่าวหรือผู้บริโภคกันแน่ บวกกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่เอื้อให้เกิดสำนักข่าวที่อุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาด้วย จึงทำให้ความก้ำกึ่งของข่าวจากสองช่องทางอยู่ในลักษณะที่ทับซ้อนกัน สถานะของข่าวจากสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลมีเดียจึงค่อนข้างเท่ากันพอสมควร
ความทับซ้อนที่อาจารย์พูดถึงเกิดจากการที่สื่อหลักเองก็หยิบประเด็นในสื่อโซเชียลมีเดียหรือในทวิตเตอร์มานำเสนอเองด้วย เพราะถ้ามองในเชิงธุรกิจแล้วการที่สื่อหลักต้องรอการคอนเฟิร์มจากแหล่งข่าวต้นทางก็อาจทำให้สูญเสียผลประโยชน์บางอย่างไป ซึ่งสื่อหลักเองก็โดน ‘disrupt’ จากสื่อออนไลน์และต้องเล่นกับความเร็วมากๆ บางครั้งจึงไปลดทอนความน่าเชื่อถือของสื่อจนเกิดการเล่นประเด็นแบบ ‘คลิกเบต’ ทำให้สื่อกลายเป็น ‘bad journalism’
“ต้องยอมรับว่า ข่าวก็เป็นธุรกิจอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่ข่าวเองก็ต้องนำเสนอและรับผิดชอบต่อผลประโยชน์สาธารณะด้วย พอเกิดวิกฤตก็คล้ายๆ ว่าเป็น prime time ในช่วงกอบโกยพอสมควร พอมีวิกฤตข่าวก็ขายได้ ฉะนั้นพอสื่อไปอยู่บนโซเชียลก็มีการนำเสนอแบบนี้ ต้องการให้คนมา engaged เยอะๆ เล่นเป็นคลิกเบต หัวข้อกับเนื้อข่าวที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกันทำให้สื่อกลายเป็น bad journalism”
อาจารย์ยกตัวอย่างเหตุการณ์วิกฤตกรณี ‘ถ้ำหลวง’ ที่มีการตั้งวอร์รูมและศูนย์ปฏิบัติการข่าวอย่างชัดเจนเพื่อสะกัดการแพร่กระจายของข่าวลือคล้ายๆ กับเป็นมาตรฐานว่า ข่าวที่เชื่อถือได้ต้องออกมาจากศูนย์ข่าวนี้เท่านั้น รัฐจึงเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อการกระจายข่าวลือในสังคม
ในกรณีของกระแสข่าวไวรัสโคโรนาเองก็เหมือนกัน การที่หลายคนต้องมานั่งคาดเดาว่าสรุปแล้วตอนนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อกี่ราย มีผู้เสียชีวิตกี่คน นั่นแปลว่า เราไม่มีความมั่นใจกับสถานการณ์เลย ถ้าหากรัฐต้องการแสดงความจริงใจและความรับผิดชอบ ก็ควรจะมีมาตรการที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเข้าใจประชาชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ข่าวลือสะท้อนปัญหาทั้งระบบ
เริ่มตั้งแต่ตัวผู้รับสารหรือคนเสพข่าวเอง การเชื่อข่าวลืออย่างสนิทใจโดยยังไม่ผ่านการกลั่นกรองนั้นสะท้อนถึงปัญหาความรู้เท่าทันสื่อของประชาชน เพราะเราพร้อมจะเชื่อข่าวโดยที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบใดๆ
ส่วนต่อมาอาจารย์มองว่า ด้วยความที่สื่อโดน disrupt เยอะ ปัญหาจึงไม่ได้เกิดกับสื่อใดสื่อหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของอุตสาหกรรมสื่อโดยรวม เมื่อสื่อหลักล้มลงจากการเข้ามาของออนไลน์มีเดีย สื่อหลักบางเจ้าจึงเลือกที่จะเล่นข่าวคลิกเบตเรียกยอดไลก์ยอดแชร์ ทำให้สื่อไม่สามารถอยู่ในสถานะของ ‘trust media’ ได้อีกต่อไป
อีกประเด็นคือ การวางกรอบนโยบายจากภาครัฐ เช่น การที่รัฐบาลออกมาบอกว่าให้เริ่มต้นด้วยการช่วยเหลือตัวเองก่อนตั้งแต่ปัญหาฝุ่นจนมาถึงปัญหาไวรัสโคโรนานั้น ทำให้เกิดความสับสนในสังคมเพิ่มขึ้น อย่างเรื่องของฝุ่นเองก็ไม่ได้เกิดจากโรงงานใดโรงงานหนึ่งที่เป็นตัวการปล่อยควันพิษ
ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า ‘externality’ คือเป็นผลกระทบภายนอกที่กระทบกับคนทั้งสังคม ประชาชนต้องการการกำหนดทิศทางในภาพใหญ่ แต่เมื่อไม่มีการวางกรอบในลักษณะที่ว่าเกิดขึ้น ซ้ำร้ายคนของภาครัฐบางส่วนยังออกอาการหัวร้อนใส่ประชาชนก็ยิ่งทำให้สถานการณ์บานปลายมากขึ้นด้วย
ส่วนสุดท้าย พิจิตราพูดถึงการ ‘set agenda’ ของรัฐ คือ สิ่งที่ทั้งสื่อและผู้รับสารเองต้องรู้ให้เท่าทันรัฐ ซึ่ง ‘lead agenda’ เป็นเหมือนการยกประเด็นบางอย่างขึ้นมาเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจหรือการตั้งคำถามจากภาคประชาชน
ในกรณีที่มีรัฐมนตรีบางท่านออกมาแสดงความเห็นด้วยอาการฉุนเฉียวนั้น อาจารย์มองว่า หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ต่อไปสื่อเองก็ควรหลีกเลี่ยงการหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็น หรือประชาชนเองก็ไม่ต้องไปรู้สึกว่า ทำไมเขาถึงพูดแบบนั้นแบบนี้แต่ควรโฟกัสไปที่ปัญหาเชิงนโยบายมากกว่า บางครั้งรัฐเองก็ใช้การ set agenda คือการเบี่ยงความสนใจผู้คนไปอีกทางหนึ่ง เพื่อกลบประเด็นที่ใหญ่กว่าและมีผลกระทบมากกว่า
“ไม่ต้องบอกให้คนรับสารรู้ทันสื่อหรอก แต่ควรสอนให้นักข่าวหรือคนที่ทำข่าวรู้เท่าทันนักการเมืองก่อน รู้เท่าทันการ set agenda ก่อน ผู้รับสารบางทีเขาก็ไม่ได้มีหน้าที่คัดกรองหรือเลือกข่าว ถ้ามันมี journalism ที่ดีก็คงไม่ต้องไปคัดกรองขนาดนั้น”