ช่วงก่อนหน้านี้กลาโหมและกองทัพไทยที่ประกาศตนมาตลอดว่าเป็นผู้รักษาความมั่นคงของชาติดูเหมือนจะปริวิตกสะดุ้งสะเทือนหวั่นไหวไปหมด ทั้ง ผบ.ทบ. และ รมว.กลาโหม เที่ยวไล่คนนั้นคนนี้ไปฟังเพลง “หนักแผ่นดิน” เดี่ยวสั่งให้เปิดให้ปิดเพลง เลอะเทอะไปถึงขั้นโฆษกกระทรวงกลาโหมออกกล่าวว่าช่วงนี้มีความพยายามลิดรอนเกียรติภูมิทหารและกองทัพ ซึ่งเป็นสถาบันหลักด้านความมั่นคงของประเทศและเป็นที่พึ่งของประชาชน
จนกระทั่งมีเพลง “ประเทศกูมีคนหนักแผ่นดิน” ที่ราวกับเป็นเพลงกล่อมปลอบประโลมกันเองระหว่างนายพลให้หายกระจองอแง
เหตุการณ์สืบเนื่องมาจากพรรคการเมืองหาคะแนนเสียงด้วยการชูนโยบายตัดงบกระทรวงกลาโหมไปพัฒนาประเทศด้านอื่นแทน ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ขณะเดียวกันพฤติกรรมของบรรดานายพลทั้งหลายและความสุรุ่ยสุร่ายของกองทัพก็ทำให้ประชาชนเริ่มตระหนักได้ว่างบประมาณกองทัพนั้นมากเกินไป และเป็นภาระแผ่นดินหนักเกินความจำเป็น เช่นเดียวกับความต้องการปริมาณพลทหารที่เกินความจำเป็นกับกิจการความมั่นคง
เพราะภัยความมั่นคงก็ไม่ได้หมายถึงแต่สงครามที่ใช้กำลังและอาวุธหนักแต่อย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังมีโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ยาเสพติด ค้ามนุษย์
ในขณะที่โลกของค่ายทหารไทยในปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นเรื่องของการฝึกทหารที่เน้นแต่การใช้กำลังเพื่อตอบรับความมั่นคงในความหมายแบบเก่า
และเป็นเสียเช่นนี้เสมอไปทุกครั้งเมื่อกองทัพเริ่มถูกตรวจสอบและตั้งคำถามจากโลกนอกค่ายที่เสมือนจักรวาลคู่ขนาน ก็ต้องมีใครสักคนออกมาอ้างความมั่นคงผ่านอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังพล สงครามในอดีตที่มาจากตำราประวัติศาสตร์ ที่หลายคนกังขาถึงวิชาประวัติศาสตร์ของสถาบันการศึกษาทหาร ที่เน้นแต่ลัทธิทหารนิยม (militarism) ปลุกใจรักประเทศชาติ (patriotism) ด้วยเรื่องเล่าของทหารและสงครามขึ้นมาเพื่อสร้างความภาคภูมิใจแบบหลับหูหลับตา หรือเพื่อทวงบุญคุณประชาชน
เพราะขนาดนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เรียนจบ จปร. รุ่นที่23 ยังกล่าวว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตเลย หรือมีความพยายามสร้างเรื่องว่าเขาคือทหารเอกของพระนเรศวร ตัวละครสำคัญในประวัติศาสตร์กลับชาติมาเกิดเพื่อกอบกู้แก้ไขปัญหาบ้านเมือง
ฟังดูราวกับว่าทหารเป็นร้าน Antique ขายความโบราณ สิ่งตกค้างจากโลกเก่าทั้งสถาบันและโลกทัศน์ ยกระดับเพดานความคิดไม่ทันโลกนอกค่าย ขนาดกลุ่มก่อการร้ายยังพัฒนารูปแบบกว่า ทั้งๆ ที่จุดกำเนิดของกองทัพนั้น อยู่ในฐานะองค์กรสมัยใหม่เพื่อตอบรับการเริ่มค่อยๆ กลายเป็นรัฐสมัยใหม่ (แต่ก็ใหม่เมื่อประมาณ 130 ปีที่แล้ว) พร้อมกับการก่อตั้งกรมยุทธนาธิการ ในปี 2430 และปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน 2435 ที่ทหารใช้เป็นหมุดหมายเริ่มต้น “สยามใหม่”[1] เป็นหน่วยงานทหารแบบตะวันตก ไม่ใช่ระบบเกณฑ์ไพร่ไปรบไปตายอย่างแต่ก่อนที่ทั้งหละหลวมและไร้ประสิทธิภาพ และต่อมาก็นำไปสู่การตั้งเป็นกระทรวงกลาโหม[2]
เมื่อระบบเกณฑ์ไพร่ชายสังกัดมูลนายไปเป็นแรงงานเข้าเวรหลายเดือนถูกทดแทนด้วยระบบเกณฑ์ทหารใน พ.ศ. 2448 ตามพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร และการเก็บภาษีเฉพาะผู้ชายอันเป็นระบบแรงงานใหม่ของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เรียกเก็บเงินรายปีจากชายวัย 18-60 ปี แทนเกณฑ์ไพร่ หรือเป็นแรงงาน 20 วันในกรณีที่ไม่มีเงินจ่าย ที่ยังคงมีพื้นฐานจากระบบไพร่อยู่ ด้วยสำนึกที่ว่ารัฐสมัยนี้ก่อร่างสร้างมาด้วยผู้ชาย[3] เท่ากับว่ารัฐไม่ได้มีผู้หญิงอยู่ในสายตา เช่นเดียวกับการศึกษาสมัยใหม่ของรัฐที่ตั้งใจป้อนแรงงานชายเข้าสู่ภาคราชการ มากกว่าผู้หญิงที่เมื่อมีการศึกษาแล้วยังคงเป็นแรงงานแฝงของรัฐประกอบอาชีพภายนอกราชการ
หากเมืองลับแลเมืองผีแม่ม่ายในตำนานคืออาณาจักรของผู้หญิง สถาบันทหารก็คืออาณาจักรของผู้ชายๆ เหมือนกับการจำกัดความหมายของ ‘ทหาร’ ที่ผลักเพศหญิงออกไปตามสำนึกที่ว่า “ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร และทหารคือประชาชน ในยามสงบคนเหล่านั้นต่างทำมาหาเลี้ยงชีพของตนเอง…ต่อเมื่อเกิดสงคราม ชายฉกรรจ์จะถูกเรียกเกณฑ์เข้าประจำหมวดหมู่กรมกอง…”[4] เช่นเดียวกับโอวาทในพิธีพระราชทานกระบี่ ปริญญาบัตร และประกาศนียบัตรผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ และโรงเรียนนายเรืออากาศ ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อปี 2518 มีการอธิบายความหมายเกี่ยวกับทหารว่า “ตามศัพท์ ทหาร แปลว่าคนหนุ่ม ในความคิดของข้าพเจ้าหมายถึง คนไทยทุกคนที่มีความเข็มแข็ง มีกำลังกายกำลังใจพร้อมที่จะเสียสละรับใช้ ป้องกันรักษาผืนแผ่นดินไทยอันเป็นถิ่นกำเนิด ทหาร ซึ่งได้ทำชื่อเสียงไว้ในประวัติศาสตร์ไทย ไม่เคยแยกตัวเองออกจากประชาชน และประชาชนก็ไม่เคยคิดว่าทหารเป็นอื่น นอกจากเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของประชาชน…ยามใดบ้านเมืองมีความสงบสุขก็ทำหน้าที่เป็นพลเรือน ยามใดเกิดศึกสงครามก็ทำหน้าที่เป็นทหาร เช่นชาวบ้านบางระจัน…”[5]
แม้ว่าการมีอยู่ของเรื่องเล่าบางระจันจะเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ตามประวัติศาสตร์ก็ตาม เช่นเดียวกับเรื่องแต่งที่ว่าคนไทยมาจากอัลไต
แต่เมื่อลักษณะงานกองทัพเริ่มหลากหลายมากขึ้น “ในบางตำแหน่งจึงได้สามารถบรรจุผู้หญิงได้ ซึ่งเป็นการสนองตอบด้านสิทธิสตรีด้วย”[6] ซึ่งเป็นเพียง ‘การตอบสนอง’ ตามลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่การตระหนักได้หรือเข้าใจถึงเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศ และไม่ได้บรรจุในตำแหน่งอัตราที่มีหน้าที่ทำการรบโดยตรง เช่น ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ หากแต่บรรจุในเหล่าประเภท สารบรรณ การเงิน พัสดุ แพทย์ สื่อสาร ขนส่ง ช่างโยธา แผนที่ ถ่ายรูป การสัตว์ และถ้าหากตั้งครรภ์ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ให้งดแต่งชุดทหาร[7] นั่นเท่ากับว่าพัฒนาการเครื่องแบบทหารยังไม่ได้ก้าวไปถึงการปรับตัวให้เข้ากับผู้หญิง และธรรมชาติของเพศสรีระ
และแม้ว่าองค์กรทหารจะเป็นองค์กรหมกมุ่นเรื่องเครื่องยศ การจัดระดับชั้นผ่านเครื่องแต่งกายก็ตาม เช่นเดียวกับการแสดงความเคารพที่มีบทลงโทษชัดเจนสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎวินัยการจัดระดับช่วงชั้น[8] สังคมในกองทัพจึงเป็นสังคมที่หลีกเลี่ยงความเท่าเทียมในหลายมิติ ซึ่งรวมไปถึงเรื่องเพศด้วย แม้แต่การสอนมารยาทในการปฏิบัติตนต่อผู้อื่น คู่มือนายทหารสอนก็สอนให้ทหารพยายามแสดง ‘ความเป็นสุภาพบุรุษ’ ด้วยการช่วยเหลือผู้หญิง บนฐานความคิดว่าผู้หญิงอ่อนแอกว่าผู้ชาย[9]
ในบรรดาประเทศโลกที่ 3 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มักจะมีประสบการณ์รัฐประหารเพราะเป็น ‘ประเทศใหม่’ (the new nation) ที่ทยอยกันเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังได้รับเอกราชจากเจ้าอาณานิคม ซึ่งลักษณะการเมืองการปกครองของประเทศเหล่านี้ เปราะบางจนง่ายต่อการถูกกองทัพที่มีกองกำลังและอาวุธเข้ามามีบทบาทควบคุมการเมืองอย่างชัดเจน[10] ประเทศไทยก็เช่นกันในฐานะประเทศกึ่งอาณานิคม ที่เพิ่งจะสามารถแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนกลายเป็นเอกราชสมบูรณ์ ในทศวรรษ 2480 และก้าวเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 ในทศวรรษเดียวกัน
และด้วยผลพลอยได้ของสงครามเย็นที่ไทยปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงภายใต้นโยบายของสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้กองทัพเข้ามามีบทบาทต่อการเมืองโดยตรง นำไปสู่สำนึกผู้นำหรือรัฐบาลทหารเข้มแข็งและมีอำนาจมากกว่าพลเรือน และกองทัพสามารถก้าวเข้าสู่อำนาจทางการเมืองการปกครองได้[11]ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความขัดแย้ง แต่กองทัพก็มักจะฉวยโอกาสนี้สร้างอำนาจทางการเมือง ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนและระบอบการเลือกตั้ง จนทำให้ทั้งรัฐบาลพลเรือนและการเลือกตั้งอ่อนแอ[12] และกลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทหารจะคอยรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วแต่งรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ ตามด้วยการเลือกตั้ง รัฐสภา และรัฐบาลแบบที่ทหารลิขิต และเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ ก็กลับไปสู่รัฐประหารอีกครั้ง[13] จนทำให้กลายเป็นประเทศโลกที่ 3 ที่แม้ว่าเกิดขึ้นมานานแล้วก็ยังอ่อนแอ เพราะทหารเข้ามาแทรกแซงเสมอในนามของ ‘ความรักชาติ’
เมื่อลัทธิอำนาจทหารเข้มข้น ปิตาธิปไตยก็พลอยเข้มข้นไปด้วย
เหมือนกับคำว่า ‘รักชาติ’ ‘จงรักภักดี’ ที่ทหารชอบอ้างก็เป็นสำนึกรักชาติบ้านเกิดเมืองนอนแบบ patriotism ซึ่งรากมาจากคำกรีก ‘patrios’ ที่แปลว่า ‘ของพ่อ’ (‘พ่อ’ หรือ father ก็มีรากศัพท์มาจาก pater) สำนึกรักชาติพรรค์นี้จึงมักเชื่อมโยงประเทศชาติให้เป็นบ้านของพ่อมากกว่าจะเป็นของประชาชนร่วมกัน และปิตาธิปไตย (patriarchy) ที่มาจากรากเดียวกันเองก็เป็นการนิยามโครงสร้างสังคมที่มองว่าชุมชนตนเองคล้าย ‘ครอบครัว’ บ้านหลังนึงที่ปกครองแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ มีผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว มีอำนาจสูงสุดเป็นศูนย์รวมศรัทธา เป็นคุณพ่อผู้ประเสริฐและรู้ดี คอยให้โอวาท สั่งสอนว่าบาปชี้ผิดชี้ถูก ลูกหลานก็เชื่อฟังตามอย่างว่าง่าย อันเป็นสิ่งที่เฟมินิสต์พยายามคลื่อนไหวรื้อสร้างอยู่ตลอด
และสำนึกทหารนิยมนี่แหละ ทำให้ทหารกลายเป็นอาชีพเดียวที่ถูกให้ความหมายว่ารักชาติกว่าอาชีพอื่นๆ ผูกขาดความหมายของการรับใช้ชาติ ราวกับว่าอาชีพอื่นไม่ได้สัมพันธ์อะไรกับการพัฒนาชาติ ทำให้ชาติมั่นคง
ขณะเดียวกันก็นิยามให้เป็นหน้าที่หรือครั้งหนึ่งในชีวิตลูกผู้ชาย เป็นบทพิสูจน์ ‘ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย’ ที่รัฐปิตาธิปไตยเอามาค้ำคอให้ผู้ชายต้องถูกเกณฑ์เป็นพลทหารอดทนอดกลั้นต่อการถูกกดขี่กดทับในสังคมชนชั้นของทหาร
แต่เฟมินิสต์หรือขบวนการเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีไม่ค่อยจะปริปากเรื่องการเกณฑ์ทหาร อาจไม่เพียงคิดว่าการเกณฑ์ทหารเป็นเรื่องไกลตัว ไม่เกี่ยวกับผู้หญิง พูดไปสองไพเบี้ยนิ่งเสียตำลึงทอง เคลื่อนไหวไปจะพลอยซวยผู้หญิงถูกเกณฑ์ทหารไปด้วย ต้องไปเผชิญกับสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ตายจากการฝึกมากกว่าออกไปรบสละชีพเพื่อชาติเสียอีก แต่ส่วนหนึ่งก็อาจจะยังอิงกับสังคมที่ยินยอมให้ทหารเป็นใหญ่ มาปกครองบริหารประเทศ เพราะคุ้นชินกับตำราประวัติศาสตร์กึ่งนิทานที่ทหารมักออกไปรบเพื่อปกป้องประเทศ รักษาดินแดนกอบกู้เอกราช
ไม่ต้องไปคาดหวังเลยกับองค์กรสตรีประเภทสมาคมแม่บ้านทหารบก, สมาคมแม่บ้านทหารอากาศ, สมาคมภริยาทหารเรือ,สมาคมแม่บ้านกองบัญชาการกองทัพ ที่จะออกมาพูดเรื่องที่ยุติเกณฑ์ทหาร ซึ่งต่างเป็นสมาคมคุณหญิงคุณนายมีพลทหารรับใช้ตามบ้านไว้รองมือรองตีน
การเกณฑ์ทหารจึงเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างเป็นทางการและผลผลิตของปิตาธิปไตยที่ยังคงอยู่ยั้งยืนยง ในนามของความรักชาติและเกียรติภูมิทหาร แทนที่จะเปิดโอกาสให้ทุกเพศสามารถสมัครคัดเลือกทหารเอง โดยไม่ผูกขาดอยู่ที่เพศใดเพศหนึ่ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] เทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, พล. ต. หญิง สมเด็จพระ, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากับสยามใหม่ในช่วง พ.ศ. 2430-2475, การจัดการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากับสยามใหม่. เอกสารประกอบการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง หนึ่งศตวรรษ สยามใหม่กับเส้นทางสู่อนาคต จัดโดยโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าและสมาคมประวัติศาสตร์ ฯ วันที่ 14-16 กุมภาพันธ์ 2535, น. 1-11
[2]อัญชลี สุสายัณห์. (2552). ความเปลี่ยนแปลงของระบบไพร่และผลกระทบต่อสังคมไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพ: สร้างสรรค์บุ๊คส์, น. 277 – 289, 305– 309.
[3]ภัทรัตน์ พันธุ์ประสิทธิ์ และภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. (มกราคม-มิถุนายน 2561). อำนาจของสตรีสยามกับชายโสด: แรงงานชายขอบหลังเลิกทาสและไพร่. วารสารประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์, 5 (1), 227-281.
[4]กองบัญชาการทหารสูงสุด. (2543). คู่มือนายทหารสัญญาบัตร. กรุงเทพ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, น. 13.
[5]กระทรวงกลาโหม. (2526). คู่มือนายทหาร. กรุงเทพ: สำนักงานฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารสูงสุด, น. 7-8.
[6]กองบัญชาการทหารสูงสุด. (2543). คู่มือนายทหารสัญญาบัตร. กรุงเทพ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, น. 14.
[7]เรื่องเดียวกัน, น. 19-20.
[8]เรื่องเดียวกัน, น. 22-25.
[9]กระทรวงกลาโหม. (2526). คู่มือนายทหาร. กรุงเทพ: สำนักงานฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารสูงสุด, น. 147.
[10] Nordlinger, Eric A.. (1977). Soldier in Politics: Military Coups and Government. Englewood: Prentice-Hall, pp. 149-150.
[11] สุรชาติ บำรุงสุข. (2558). เสนาธิปไตย : รัฐประหารกับการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, น. 40.
[12]สุรชาติ บำรุงสุข. (2551). ไตรสรณคมน์ทหาร รัฐประหารและการเมืองไทย. กรุงเทพฯ : สถาบันปรีดี พนมยงค์, น. 50.
[13]เชาวนะ ไตรมาศ. (2543). ข้อมูลพื้นฐาน 66 ปี ประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพ: สถาบันนโยบายศึกษา, น. 23.