ถ้าพูดถึงเรื่อง ‘เพศ’ แล้ว ทุกคนรู้สึกยังไงกันบ้าง กลัว ตื่นเต้น สนใจ เขินอาย หรือรู้สึกเฉยๆ แน่นอนว่าช่วงนี้หลายคนอาจจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับซีรีส์ ‘Sex Education’ ที่บางคนมองว่านำเสนอเนื้อหาที่ดูไม่เหมาะสมต่อเยาวชน แถมมีคำพูดหรือภาพที่เกี่ยวกับอวัยวะโจ่งแจ้งเกินไป ว่าแต่คำพูดเหล่านี้มันจริงมากน้อยแค่ไหน แล้วสะท้อนให้เห็นว่าบ้านเรามองเรื่องเพศศึกษากันอย่างไรบ้าง
Young MATTER เลยไปสำรวจและชวนผู้คนหลากวัยไม่ว่าจะนักเรียน วัยรุ่น วัยทำงานมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดกันว่า เพศศึกษาที่เคยเรียนมานั้นเป็นอย่างไร และมีอะไรไหมที่อยากจะให้ปรับเปลี่ยนเพื่อเป็นแนวทางให้ใครอีกหลายๆ คนในอนาคต
ปุณยนุช มหารักษิต (มิ้นท์)
อาชีพ : ครีเอทีฟ
ครูจะแค่บรรยายตามหนังสือพวกเรื่องพัฒนาการทางเพศ พอช่วงให้นักเรียนถามก็จะไม่มีใครกล้าถามโดยเฉพาะผู้หญิง สำหรับเราเรื่องเพศศึกษาไม่ใช่แค่เรื่องเพศชายเพศหญิงต่างกันยังไง อวัยวะไหนเป็นยังไง แต่ยังรวมไปถึงเรื่องสิทธิทางเพศหรือเรื่องความหลากหลายทางเพศที่สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่เด็กเลย ไม่จำเป็นต้องมีวิชาเพศศึกษาด้วยซ้ำ แค่เปิดกว้างทางการสอนว่า ในสถานการณ์ต่างๆ เราควรสอนอะไร
ณัฐณิชา เปรมเดชา (มิลค์)
อาชีพ : นักศึกษา
ถ้าจะปรับเรื่องการเรียนการสอนก็ต้องปรับตั้งแต่ทัศนคติผู้ใหญ่ในกระทรวงที่ชอบมองว่าเด็กไม่ควรรู้เรื่องเซ็กส์ จริงๆ ไทยไม่ใช่ประเทศที่กระมิดกระเมี้ยนเรื่องเซ็กส์เลยนะ ถ้าสังเกตดูในวรรณคดีไทยหรือว่าเพลงเกี้ยวมันจะมีเรื่องเพศที่โจ่งแจ้ง บทอัศจรรย์ในพระอภัยมณีก็ค่อนข้างเปิดเผยในเรื่องเพศ จริงๆ เรายกเรื่องนี้มา Educate คนได้ หรือเรื่อง Gender Binary ที่กำหนดหน้าที่ชายหญิง ผู้ชายต้องเป็นอย่างนี้ ผู้หญิงต้องเป็นอย่างนี้ นี่ปี 2019 แล้วมันไม่ควรจะมากำหนดแล้ว รวมถึงเรื่องภัยจากเพศเช่นเรื่องข่มขืนด้วยที่ต้องสอนวิธีการรับมือและป้องกัน
ชุติมา เรืองอุตมานันท์ (เก๋)
อาชีพ : อาจารย์มหาวิทยาลัย
เราไม่สามารถห้ามไม่ให้เด็กเข้าถึงสื่อได้ ยิ่งปิดก็เหมือนยุให้ยิ่งอยากรู้อยากเห็น สู้เปิดแบบถูกวิธีจะดีกว่า ให้เขาได้เรียนรู้ ปรับตัวกันเอง และควรเริ่มเรียนตั้งแต่ช่วงมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะเด็กสมัยนี้โตไวในการเข้าถึงสื่อ และรู้เรื่องพวกนี้ดีกว่าหนังสือซะอีก สอนให้ไว ทำให้เข้าใจได้เร็ว ก็จะระวังตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งในระบบการศึกษาไทยอาจจะไม่ยอมรับในเรื่องนี้เลยตอบไม่ได้ว่าควรจะเรียนที่ไหน แต่ควรมีหน่วยงานทำสื่อออกมาเพื่อสอนเรื่องนี้ ถ้าทำเป็นตำราก็ดูเหมือนจะหนักไป ถ้าให้พ่อแม่สอนพ่อแม่สมัยนี้ก็ไม่ค่อยเข้าถึงลูกและลูกก็ไม่อยากจะเข้าถึงพ่อแม่ ส่วนใหญ่ก็จะถามกันเองกับเพื่อน แล้วก็จะได้คำตอบแบบคนในอายุช่วงเดียวกัน คำตอบจะไม่กว้างเท่ากับคนที่มีประสบการณ์มาตอบ
รัฐการ กมุทะรัตน์ (รัฐ)
อาชีพ : นักเรียนม.ปลาย
ตอนนั้นผมก็เรียนแบบทั่วๆ ไป อย่างการมีเพศสัมพันธ์เป็นยังไง แต่ไม่ได้มีการลงรายละเอียดลึกมาก ไม่ได้มีการสอนวิธีการป้องกันแบบจริงจัง ส่วนตัวคิดว่าควรเริ่มเรียนที่โรงเรียนนั้นแหละ จากคนที่มีความรู้และประสบการณ์จริงๆ ประมาณสัก ม.1 เพราะเป็นวัยที่เริ่มอยากรู้ อยากลอง อยากเห็น แล้วก็ในเรื่องการเรียนเพศศึกษาอยากให้เปลี่ยนทุกอย่างเลย เพราะทุกอย่างในตอนนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ห้ามพูดถึง เป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด ผู้ใหญ่มักบอกว่าโตไปเดี๋ยวก็รู้เอง แล้วพอเด็กมันโตไปพวกเขาก็จะมีความเข้าใจแบบผิดๆ จนเดินทางพลาด
ร่มฉัตร พุทธวงศ์ (อุ๊บอิ๊บ)
อาชีพ : นักศึกษา
เรื่องสื่อก็สำคัญ เราอาจจะทำเป็นสื่อพวกวิดิโอ หรือทำเป็นการ์ตูนให้เข้าถึงเด็กได้และให้เขาอยากจะเรียนรู้ ทำสื่อที่มันสามารถจะเข้าถึงได้ในทุกวัย พวกเราต้องพยายามปรับทัศนคติว่าคนที่สนใจหรือมีคำถามเรื่องเพศเนี่ยไม่ใช่คนที่ผิด หรือแปลกแยก ควรจะปรับ mind set ของเด็กให้ได้ ทางที่ดีควรจะสอนตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก น่าจะโอเคสุด คุณครูควรจะมีสื่ออื่นประกอบด้วยไม่ใช่แค่มาพูดหน้าห้อง แล้วก็ครูที่สอนเพศศึกษาควรจะเป็นคนที่เด็กกล้าเข้ามาปรึกษา กล้าเข้ามาคุย เวลาที่พวกเขามีปัญหา
ธนศิลป์ มีเพียร (โอ๊ต)
อาชีพ : Multimedia Journalist
ตอนเรามีเซ็กส์ เรายังต้องเสิร์ชเลยว่าวิธีการมีเพศสัมพันธ์เป็นยังไง แล้วคำตอบที่ได้จากอินเทอร์เน็ตก็ไม่รู้ว่าถูกต้องไหม เรารู้สึกว่าสังคมไทยยังไม่ยอมพูดเรื่องนี้กันจริงๆ จังๆ และมองเรื่องเซ็กส์เป็นเรื่องที่น่ากลัว เรื่องที่ไม่ดี ไม่ควรพูดถึง จริงๆ เรื่องนี้มันแทบจะเป็นหลายๆ ส่วนประกอบในชีวิตเลยนะ ถ้าปล่อยให้เด็กเรียนรู้เองผลออกมามันก็อาจจะแย่ลงก็ได้ และถ้าให้ปรับเราว่ายากอะ เราไม่รู้ว่าคนรุ่นนี้ หรือรุ่นต่อๆ ไปจะเปลี่ยนอะไรได้ไหม บางคนก็อาจจะปิดตัวเอง หรือปักใจเชื่อไปแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนยังไง หรือจริงๆ อาจเปลี่ยนอะไรไม่ได้แล้ว อาจจะต้องเป็นเราที่หาที่ที่ เหมาะสมกับตัวเองแทน
ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์ (นิว)
อาชีพ : กองบรรณาธิการเว็บไซต์
บอกได้เลยว่าสื่อที่เราเข้าถึง และจดจำได้ว่าเป็นสื่อที่สอนเพศสำหรับเราไม่ใช่โรงเรียน แต่เป็นหนังโป๊ จำได้ว่าที่โรงเรียนของเราสอนเรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สอนเรื่องโรคก่อนที่จะสอนเรื่องใส่ถุงยางอีกนะ พอโรงเรียนเริ่มสอนแบบนี้ ก็พูดถึงข้อเสียก่อนจะอธิบายว่ามันคืออะไร มันจะได้รับเซนส์ของความรู้สึกว่ามันคงเป็นสิ่งไม่ดี คนสอนอาจจะสบายใจว่าไม่ได้พูดให้เด็กไปในทางที่ไม่ดี แต่เมื่อเขาไม่สอน แล้วเด็กไปทำ อย่างแรกเลยเด็กจะรู้สึกผิด สองเด็กจะมีความเสี่ยงมากมาย สืบเนื่องจากการไม่พูด คนสอนควรมีทัศนคติว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องที่ต้องหลบ มันอาจจะต้องเริ่มจากปูตามวัยตอนเด็กอาจจะเริ่มปูเรื่องความหลากหลายทางเพศ เพศสภาพ เพศวิถีบอกให้ทราบว่าคืออะไร เพราะเพื่อนเราบางคนที่เป็น LGBTIQ ก็เริ่มสงสัยในตัวเองตั้งแต่ตอนเด็กแล้วว่าตามกรอบสังคมที่มีผู้หญิง ผู้ชาย แต่เราไม่ใช่ เด็กมีสิทธิ์ที่จะสงสัยในตัวเอง แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะรู้สึกแย่ เพราะฉะนั้นยิ่งเรารู้เร็วมากเท่าไร เราก็น่าจะยอมรับตัวเองได้มากขึ้น เดินทางตามสิ่งที่เราเป็นอย่างไม่มีปัญหามากขึ้น
ดูเหมือนว่ามีอีกหลากหลายประเด็นที่คนยังต้องการให้เพิ่มเข้าไปในการเรียนการสอนเรื่อง ‘เพศศึกษา’ แล้วพวกคุณล่ะมองเรื่องเพศศึกษายังไงกันบ้าง