เด็กพวกนี้ดูแสบจัง ยิ่งสำหรับสายตาของ ‘ผู้ใหญ่’ ที่อยู่ในอำนาจตอนนี้ ดูจะรับไม่ค่อยได้เพราะความเป็นผู้ใหญ่ถูกเอามาล้อเลียน ในช่วงสองสามปีมานี้ เหล่าผู้มีอำนาจยิ่งต้องจ้องตาเขียวมาที่เหล่านักศึกษา แถมมีการสั่งการตรวจตราอย่างเข้มงวด ในทางกลับกัน เด็กๆ เองก็อาศัยความสามารถและความสดใหม่พลิกแพลง จนปีนี้ก็มีท่าทีออกมาบอกว่า บางเรื่องอย่าพูดนะ ตรงนี้พวกเราๆ ท่านๆ ก็ยิ่งตั้งตารอการปะทะของคนสองรุ่น สองสถานะ
ในสังคมไทยเรามักคาดหวังให้เด็กๆ อยู่เงียบๆ แต่ในทางกลับกันเมื่อเราพูดถึงการเป็นนักศึกษา เราต่างคาดหวังว่าพวกเขาควรจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคม ทุกปีเราจึงรอ…หรือถ้าเป็นผู้มีอำนาจก็อาจจะมีรอปนระทึกว่า เหล่าวัยรุ่นในมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าจะแสดงออกเพื่อวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างไร เด็กๆ พวกนี้สนใจการเมืองในแง่ไหน พวกเขาจะคิด บิด ล้อ และสร้างสรรค์ขบวนพาเหรดหุ่นล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ออกมายังไง และจะใช้วิธีหรือวาทศิลป์แบบไหนในการล้อเลียน ‘ผู้ใหญ่’ ให้น่ารัก
อีกไม่นานก็ใกล้จะถึงวันงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 72 กันแล้ว (ซึ่งจริงๆ ก็คือวันพรุ่งนี้ 3 ก.พ. 2018) The MATTER จึงชวน ‘ทรัมเป็ต—ลัทธพล ยิ้มละมัย’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประธานกลุ่มอิสระล้อการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาคุยถึงวิธีการส่งสารแบบเด็กๆ ที่ดูจะเป็นการล้อเลียน แต่นั่นก็เพื่อแสดงออกปัญหาให้ผู้ใหญ่ในสังคมมองเห็น
ในฐานะนักศึกษามองกิจกรรมนี้อย่างไร เป็นหน้าที่ของนักศึกษาธรรมศาสตร์ไหมที่จะต้องแสดงออกทางการเมือง
จริงๆ มหาวิทยาลัยมันก็มีกิจกรรมหลายๆ รูปแบบ ทั้งร้องเพลง เชียร์ลีดเดอร์ เต้น เล่นดนตรี ส่วนกิจกรรมเกี่ยวกับการเมืองอาจจะเป็นกิจกรรมที่โดดเด่น ผมมองว่ามันเป็นพื้นที่ที่คนรับรู้ว่ากิจกรรมนี้จะได้ไปแสดงในงานฟุตบอลประเพณี ซึ่งเป็นงานใหญ่ของมหาวิทยาลัย คนก็เลยรู้สึกว่าอยากมีส่วนร่วมกับงาน ไม่ได้มองว่ามันเป็นหน้าที่
‘ล้อการเมือง’ ก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ดึงดูดคนให้มาสนใจ ในฐานะที่เรียนอยู่ในคณะรัฐศาสตร์ ผมมองว่าการเมืองมันเกิดขึ้นในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับประเทศ ทั้งนโยบาย ออกกกฎหมาย ในห้องเรียนก็มีการสร้างกติกา ในกลุ่มเพื่อนมีการตกลงกันในเรื่องต่างๆ ผมมองว่าเป็นการเมืองหมดแหละ แต่ทีนี้ด้วยความที่การเมืองระดับประเทศมันดูชัดเจนถึงความเป็นการเมือง บวกกับสิ่งที่มหาวิทยาลัย (ธรรมศาสตร์) เป็น ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือผูกพันธ์กับการเมือง แล้วคนก็จะเข้าใจไปว่ามหาลัยมีนักศึกษาที่ความผูกพันธ์กับการเมืองไปในตัว
ผมว่าล้อการเมืองเป็นพื้นที่ที่คนก็จะเลือกทำหรือแสดงกิจกรรมทางการเมือง หากมีพื้นที่อื่นรองรับ พวกเขาก็อาจจะไปอยู่ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ล้อการเมืองก็ได้ เพียงแต่ในสถานการณ์ที่มันไม่ได้ถูกเปิดกว้างสำหรับนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่อยากมีกิจกรรมทางการเมือง ตรงนี้เลยเป็นพื้นที่ของคนที่อยากจะทำกิจกรรม
ช่วยอธิบายพื้นที่ของ ‘ล้อการเมือง’ หน่อยว่ามีจุดเด่นอะไร ทำไมเราถึงมาทำตรงนี้
อธิบายจากชื่องานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หรือธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ก่อนล่ะกัน จะสังเกตเห็นคำว่า ’ประเพณี’ ถูกไหมครับ ประเพณีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว ทำต่อกันมาอย่างเป็นเรื่องปกติ มีคุณค่า มีคุณงามความดีในตัวของมัน งานฟุตบอลประเพณีก็จะมีเรื่องของกิจกรรมความสนุกสนานอย่างการเชียร์ มีการแสดงของกองสันทนาการ มีการเล่นฟุตบอล แล้วก็มีการแสดงออกทางการเมืองเหมือนกัน เราเห็นว่าประเพณีแบบนี้มันเต็มไปด้วยความหลากหลาย แล้วความหลากหลายนั้น มันก็มีเรื่องการเมืองเข้ามาด้วย
การพูดถึงการเมืองมันอาจจะพูดไม่ได้ทุกที่ ตอนนี้ก็อาจจะเป็น หลายๆ คนก็คงมองอย่างนั้น แต่ด้วยพื้นที่ประเพณีตรงนี้มันยังรักษาการแสดงออกทางการเมืองให้เราอยู่ ที่อื่นคุณชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน คุณก็โดนจับ แต่ทำไมงานฟุตบอลประเพณีฯ คนเป็นร้อยมาแบกหุ่นล้อการเมืองกลับไม่เป็นอะไร แสดงว่ามันมีการเคารพพื้นที่ประเพณีตรงนี้อยู่ รัฐเองก็ยังต้องเคารพพื้นที่ประเพณีนี้
ผมว่าจุดเด่นคือมีสิ่งที่คนเข้าใจตรงกันว่าการเเสดงออกทางการเมืองสามารถทำให้เป็นเรื่องปกติได้ เห็นได้ชัดเจนในงานฟุตบอลประเพณีฯ นี่แหละครับ ถ้าเกิดว่าพื้นที่ประเพณีตรงนี้มันขยายออกไปเรื่อยๆ ไม่เฉพาะแค่จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ทุกมหาลัย ทุกจังหวัดในประเทศ คนก็สามารถแสดงออกได้ แฮปปี้ มีความสุข
การแสดงออกทางการเมืองมันมีตลอดแหละ ไม่จำเป็นต้องรองานฟุตบอลประเพณีฯ ก็สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ แต่คุณก็เห็นแล้วนี่ว่ามันไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรเสียหายเลย นักศึกษาก็มาแบกหุ่นปลดปล่อยความคิดของตัวเอง จบ
แสดงว่าตัวงานฟุตบอลประเพณีฯ เป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลไม่สามารถเข้ามาจัดการได้?
พูดอย่างนั้นก็อาจจะไม่ถูก เขาเข้ามาได้แหละ เขาจะสั่งปิดงานเลยก็ยังทำได้ แต่ว่าที่ไม่มีการมายุ่งกัน ไม่มีการมาบังคับใช้กฎหมายอะไรที่มันเข้มงวด ผมมองว่าเป็นความปกติ การแสดงออกทางการเมืองมันไม่มีพิษมีภัย ไม่ต่างอะไรกับเราไปเตะบอล เหมือนเราไปดูลีดฯ มันไม่มีพิษมีภัย การแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษาเหมือนกัน ถ้ามองอีกแง่หนึ่งมันก็ตลก น่ารัก นักศึกษามีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วเราก็ได้เห็นปัญหาในมุมมองของวัยเรา ใครเขาก็เห็นกันมาทุกปี การแสดงออกทางการเมืองไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ก็ทำกันได้ เพียงแต่ผู้มีอำนาจเขาอาจจะรับรูปแบบของการแสดงออกทางการเมืองได้ไม่มาก เราออกไปชูป้าย บางคนไปยื่นหนังสือก็อาจจะดูน่ารักหน่อย ถ้าเกิดหุ่นถูกแบกไปหน้าทำเนียบโดยไม่ใช่นักศึกษาของธรรมศาสตร์กับจุฬาฯ ผมว่าก็โดนนะ
จริงๆ คือผมว่าอาจจะเป็นเรื่องความเคยชิน เเล้วก็เรื่องความไม่เข้าใจกันมากกว่าว่า การแสดงออกทางการเมืองมันมีตลอดแหละ ไม่จำเป็นต้องรองานฟุตบอลประเพณีฯ ก็สามารถแสดงออกทางการเมืองได้ แต่คุณก็เห็นแล้วนี่ว่ามันไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรเสียหายเลย นักศึกษาก็มาแบกหุ่นปลดปล่อยความคิดของตัวเอง จบ
การแสดงออกในสังคมแบบปิดดูจะเป็นเรื่องยาก ‘ล้อการเมือง’ เป็นพื้นที่เดียวหรือเปล่าที่สามารถทำได้
ตอนนี้เรามี Facebook มีโซเชียลมีเดีย จะเห็นว่าคนพูดถึงการเมืองตลอด คนคอมเมนต์กระแนะกระแหนบ้าง เเซวบ้าง หรืออธิบายเป็นเหตุผล เป็นหลักการทางวิชาการเลยก็มี ผมว่าคนกำลังแสดงออกทางการเมืองอยู่ เพียงแต่ว่าพื้นที่มันก็ขยับขยายตามกาลเวลา ไปอยู่จุดนั้น จุดนี้บ้าง งานฟุตบอลประเพณีฯ ก็เป็นจุดหนึ่งที่ยังมีมาเรื่อยๆ
ประชาชนเขาก็พยายามจะพูดอะไรในสิ่งที่เขาคิดนั่นแหละ คือถ้าบอกว่าคนมีเสรีภาพเขาก็กำลังใช้เสรีภาพของเขาอยู่ รัฐก็ดูแลประชาชนต่อไป เพียงแต่ว่ารัฐบางรัฐอาจจะรับไม่ได้กับการแสดงออกของประชาชน พยายามล้ำเข้ามาในเส้นของประชาชน ล้อการเมืองก็มีเส้นว่าเราอยากนำเสนอประเด็นทางการเมือง เราจะไม่เน้นตัวบุคคลนะ เราจะไม่เอาองค์กรเขามาด่าเสียๆ หายๆ เรามีหลักวิชาการมารองรับทุกคำอธิบายของหุ่น นี่เป็นเส้นของเรา แต่ว่าผู้มีอำนาจเนี่ยจะล้ำเข้ามาในเส้นของเราหรือเปล่า เขาจะมองเราในฐานะคนที่มีสิทธิ์มีความคิดเห็นหรือเปล่า
เหมือนกัน เราไปโพสต์ Facebook ว่า “โอ้ย รัฐบาลทำรางรถไฟผ่านหน้าบ้านผม ไม่มีทางออกแล้วครับ ช่วยด้วยรัฐบาลทำร้ายผม” มองในแง่หนึ่งเขาอาจจะเรียกร้อง มองในแง่หนึ่งก็เป็นการให้ร้ายรัฐบาล อยู่ที่ว่ารัฐจะมองยังไงมากกว่า
การรับรู้ปัญหาเป็นคุณสมบัติแรกที่ผู้นำประเทศควรจะมี
‘ล้อการเมือง’ ดูจะเป็นศิลปะที่ต้องใช้ความพอดีในหลายๆ ด้าน เพื่อนำประเด็นทางการเมืองกับความตลกมารวมกัน มีวิธีหาจุดพอดีระหว่างความจริงจังและความสร้างสรรค์ยังไง
เราไม่ได้ตั้งต้นว่าอยากจะล้อใคร รูปแบบไหนที่ควรจะเอามาล้อ ควรจะทำให้หน้าเหมือนใคร เราตั้งต้นที่ว่าในรอบปีที่ผ่านมาหรือปัจจุบันมันมีเรื่องอะไรบ้างที่เป็นเรื่องสำคัญในสังคมการเมือง หรืออาจจะส่งผลถึงอนาคตและส่งผลต่อคนจำนวนมาก ทั้งหมดก็คือเรื่องที่รัฐทำเป็นนโยบายทั้งนั้น ไม่มีเรื่องส่วนตัว เช่น ผมไปกินข้าวที่ภัตตาคารราคาแพง นายก-รองนายกคนนั้นคนนี้ไปกินโรงเเรมหรูทุกวัน นั่นเรื่องส่วนตัวของเค้า แต่ว่าเรื่องที่ไม่ใช่ส่วนตัวก็คือนโยบายที่เขาออกมาในฐานะที่เขาเป็นรัฐบาล
แล้วถ้าเรื่องนี้เกิดผลกระทบกับคนจำนวนมาก เราก็มาดูว่าอันไหนสำคัญที่สุด ส่งผลกระทบยังไง แค่ไหน อาจจะเอางานวิจัย ตัวเลขทางสถิติมาดูว่า อ๋อ มันคือต้นเหตุของปัญหานะ เราก็เลือกมา แต่ทีนี้เราไม่เอาแบบปรินต์งานวิจัยเล่มใหญ่ๆ ไปให้อ่านไง คนบางคนเขาอยากเสพเรื่องการเมืองในรูปแบบต่างกัน เราก็เลยย่อยออกมาว่าประเด็นที่สำคัญเนี่ย จะทำยังไงให้ดูเข้าใจง่าย เราก็เลยนำเสนอออกมาในรูปแบบที่ว่าจะทำยังไงให้ดูตลก คนเห็นแล้วอยากรู้ต่อว่ามันเป็นเรื่องอะไรกันแน่ ก็เลยออกมาเป็นหน้าตาของหุ่นน่ารักๆ ป้ายผ้า คำกลอน อะไรแบบนี้
เรื่องการนำเสนอประเด็น รูปแบบ วิธีการ เราก็ยืนยันว่าจะทำด้วยความคิดของนักศึกษาที่ประชุมกัน ส่วนขอบเขตมันก็มีกฎหมายอยู่ อย่างเช่น กฎหมายหมิ่นประมาท แล้วทำป้ายมา นาย กอ ไก่ ขอ ไข่ กำลังโกงอยู่ อันนี้เท่ากับมีชื่อคนถูกไหมครับ แล้วก็มีคำตัดสิน ซึ่งไม่ใช่คำตัดสินจากศาลแต่เป็นคำตัดสินของ ‘ล้อการเมือง’ ซึ่งเราไม่ทำแน่นอน เรากำลังนำเสนอว่าเรื่องบางเรื่องอาจจะทำให้เกิดปัญหาบางอย่างหรือเปล่าในลักษณะนี้มากกว่า คือจริงๆ เราก็ดูขอบเขตของกฎหมายด้วย กฎหมายที่มันมีที่มาถูกต้อง ไม่ใช่กฎหมายที่เพิ่งออกมาบังคับใช้กับเราเป็นพิเศษ
แล้วกังวลบ้างไหมว่าสิ่งที่ ‘ล้อการเมือง’ ทำอยู่นั้นอาจจะผิด
ขอบข่ายที่เราดูตอนนี้ก็คือ การละเมิดเรื่องส่วนตัว ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเขา การใส่ร้ายป้ายสี ก็คือเราจะไม่ใส่คำอะไรก็ตามที่เป็นการตัดสินเขาลงไปนะครับ ส่วนเป็นเรื่องที่ผิดอย่างอื่นไหม ผิดใจอาจจะมี แต่ไม่ผิดกฎหมายครับ ผิดใจใครก็ต้องดูอีกทีนะครับ ถ้าผิดใจของคนที่อยู่ในฐานะผู้ดูแลประเทศ ผู้ดูแลประเทศต้องรับรู้ปัญหาอยู่แล้ว การรับรู้ปัญหาเป็นคุณสมบัติแรกที่ผู้นำประเทศควรจะมี
คิดยังไงถ้ามองสิ่งที่นักศึกษา ‘ล้อการเมือง’ ทำอยู่เป็นเหมือนการที่เด็กไปล้อเลียนผู้ใหญ่ กลัวถูกมองว่าเป็นวายร้ายในสายตาผู้ใหญ่รึเปล่า
ผู้ใหญ่เขาไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ใหญ่ เขาอยู่ในฐานะคนที่ต้องดูแลคุณภาพของชีวิตประชาชน ทำให้ประเทศนี้มันดีขึ้น ผู้ใหญ่ในที่นี้ไม่ใช่คุณพ่อ คุณแม่ คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย แต่ว่าเป็นคนที่ดูแลคนทุกคนในประเทศ เขาไม่ได้ออกเงินมาดูแลเรา เขาเอาเงินของเราไปจัดสรร เงินของเราในที่นี้ก็คือภาษี ไปจัดสรรเพื่อให้ทุกอย่างรอบตัวเราดีขึ้น ให้ประเทศนี้ดีขึ้น ซึ่งเจ้าของเงินทุกคนก็มีบุคลิกต่างกัน แต่ละคนแสดงออกต่างกันแล้วแต่สถานการณ์และเวลา รูปแบบการแสดงออกเลยหลากหลาย ทั้งในรูปแบบการล้อเลียนบ้าง ยื่นหนังสือบ้าง เพราะว่าเป็นไปไม่ได้หรอกจะให้ทุกคนไปเข้าพบท่านนายก ทีนี้ถ้าปัญหาไม่ถูกจัดการสักที และประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินเขาก็คงแก้ปัญหาด้วยช่องทางปกติก่อนแล้ว มันเลยผลักให้คนเอาปัญหาเดิมมาเปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่ ‘ล้อการเมือง’ ก็เป็นอย่างนั้น
อย่างแรกที่ผู้มีอำนาจควรรับให้ได้ก็คือ คุณไม่ใช่ผู้ใหญ่คุณเป็นคนเอาเงินของเขาไปดูแลเขาอีกที เขาก็ตอบแทนคุณด้วยเงิน ด้วยตำแหน่ง ด้วยสวัสดิการ ด้วยสิทธิต่างๆ หน้าที่ของผู้นำประเทศก็คือรับฟังว่าปัญหาของเขาคืออะไร ถ้าคุณบอกว่าคุณเป็นรัฐบาลมีหน้าที่พัฒนาประเทศ แต่ไม่รู้ปัญหาก็ไม่รู้ว่าจะแก้อะไร ไม่ตรงจุด เหมือนตาบอดเดินแก้ปัญหาไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากปฏิรูปเนี่ย เราก็ต้องมีข้อมูลก่อนว่าเราจะปฏิรูปอะไร ข้อมูลก็ต้องมาจากคนที่หลากหลาย วิธีการที่หลากหลายเหมือนกัน ก็ต้องรับให้ได้ว่าการแสดงออกทางการเมืองไม่ได้มีรูปแบบเดียว มันอาจจะดูก้าวร้าวไปหน่อยแต่มันก็เป็นการแสดงออกทางการเมือง การแสดงออกของปัญหา
ทีนี้ถ้าปัญหาไม่ถูกจัดการสักที และประชาชนที่เป็นเจ้าของเงินเขาก็คงแก้ปัญหาด้วยช่องทางปกติก่อนแล้ว มันเลยผลักให้คนเอาปัญหาเดิมมาเปลี่ยนวิธีการนำเสนอใหม่ ‘ล้อการเมือง’ ก็เป็นอย่างนั้น
จะตอบคนที่บอก ว่าสุดท้ายก็เอาแต่ล้อเลียน วิพากษ์วิจารณ์ แต่ไม่ออกมาทำอะไรว่ายังไง
เราอยู่ในฐานะที่ต่างกัน มีภาระที่จะต้องดูแลต่างกัน มีความเสี่ยงทางการเมืองที่จะรับได้ต่างกัน บางคนเป็นเด็กนักศึกษา เขายังมีเรื่องเรียน เรื่องอนาคต เขายังอยากทำงานนั่นทำงานนี่ แต่ด้วยความที่เขาตระหนักว่าเขาอยากแสดงออกทางการเมือง เขามีปัญหา เขาอยากมีส่วนร่วม เขาก็เลือกรูปแบบที่รับได้มากที่สุด แต่จะให้เหมือนกันทุกคนมันเป็นไปไม่ได้
ถ้าเกิด ‘ล้อการเมือง’ ไม่ได้อยากนำเสนอ คนเห็นว่าล้อการเมืองพูดจริง จะไปเลือกล้อการเมืองให้เป็นพรรคตั้งรัฐบาลแทน คสช. มันก็เกินภาระที่เราจะรับได้ ซึ่งนั่นจะผลักไปสู่เรื่องที่ว่า เอ้ย อาจจะพรรคการเมืองไงที่เขาเข้ามาทำตรงนั้น จุดประสงค์ของเราก็คือแสดงออกปัญหา จุดประสงค์จะแก้ปัญหาอย่างนี้เราแก้ไม่ได้อยู่แล้ว เราไม่มีอำนาจ จะแก้ปัญหาในประเทศเราต้องตั้งนโยบาย นโยบายก็คือกฎหมาย คนที่จะออกกฎหมายได้ก็คือรัฐบาลหรือใครก็ตามที่อยากเป็นรัฐบาล เราก็จะเห็นพรรคการเมืองออกมาเสนอว่าอยากทำอันนั้น อยากขึ้นค่าแรง อยากมีสวัสดิการนั่น สวัสดิการนี่ อันนี้ก็เป็นการแสดงออกเหมือนกัน
นึกภาพตอนเขาปราศรัยหาเสียง ยังงั้นไม่ดี จำนำข้าวแย่ ประกันราคาข้าวแย่ เขาก็เป็นการพูดถึงปัญหาเหมือนล้อการเมืองเลยนะ เพียงแต่ว่าปลายทางที่เขาเสนอ เขาเสนออะไร ปลายทางของล้อการเมืองคืออยากให้คนคิดต่อ ปลายทางของพรรคการเมืองที่เสนอปัญหาคือเลือกเขาเป็นรัฐบาล เขามีทรัพยากรเพียงพอ เขาอยู่ในฐานะผู้ใหญ่ที่พร้อมจะเข้าไปบริหารประเทศ เราอยู่ในฐานะนักศึกษาเรามีเป้าหมายตรงนี้ก็คือทำให้สังคมรับรู้ เราเป็นเด็ก ผมเรียนจบเดี๋ยวก็ต้องไปหางานทำ เราจะมาดูแลประเทศไม่ไหวหรอก เราก็ให้ผู้ใหญ่ท่านดูแลน่ะแหละ เพียงแต่เราบอกว่าอยากให้แก้อันนี้มากกว่า ไม่ได้บอกว่าเราจะไปทำเอง
‘ล้อการเมือง’ มักจะถูกสอดส่องอยู่ตลอด ทางกลุ่มคิดและจัดการยังไงถ้ามีคนเข้ามาขัดขวางหรือขอสั่งแก้
ที่มีการสั่งแก้บ้าง อะไรบ้าง อาจจะเป็นเพราะไม่ได้คุยกันก่อนด้วยว่ารับได้แค่ไหน ห้ามมีหน้าคนนั้นคนนี้ ห้ามมีข้อความแบบนั้น คือถ้าเขาอยากรับรู้ว่า เรามีขอบเขตแค่ไหนก็ต้องลองมาคุยกัน แล้วมาดูว่าผู้มีอำนาจหรือรัฐ เขารับได้ไหมกับขอบเขตที่นักศึกษาเขาอยากทำกิจกรรมแบบนี้ ถ้าเกิดรู้สึกว่ารับไม่ได้เลย มันดูจะเป็นผลเสีย ซึ่งผมก็ยังมองไม่เห็นผลเสียนะ ลองมาบอกก่อนว่าอยากได้แบบไหน ไม่งั้นภาพที่ออกไปก็จะเป็นทหารปะทะกับนักศึกษาเพราะคุยกันไม่ลงตัว ผมว่าแบบนั้นไม่มีใครได้ประโยชน์ ทหารเขาก็เกิดภาพลบ ไม่เปิดโอกาส พวกเราที่ทำงานศิลปะมาแล้วก็ไม่ได้นำเสนอก็ไม่ได้ประโยชน์
แต่ถ้าประชาชนเห็นแล้วว่าเราต้องการนำเสนออะไร แล้วกันตรงนี้ออกไป ผู้ใหญ่ก็อาจจะโดนตั้งคำถามเองแหละว่า ปิดบังอะไรอยู่หรือเปล่า มันก็เรื่องปกตินี่ เราพูดถึงข้อเท็จจริงว่ามีเหตุการณ์นั้นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ในกฎหมาย ในรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอย่างนั้นอย่างนี้ เราพูดความจริงทั้งหมดถ้าคุณมายึดป้ายคุณกำลังกลัวคนรู้ความจริงอะไรอยู่หรือเปล่า เพราะเราก็พูดตามความเป็นจริง
ล่าสุดมีกระแสของการถูกสอดแนม รวมไปถึงสั่งห้ามทำหุ่นในบางประเด็น ทางล้อการเมืองจะรับมือยังไง
จริงๆ ก็มีเข้ามาพูดคุยเรื่อยๆ ครับ ว่าเป็นยังไง ทำอะไรบ้าง มีคนมาสอดส่อง มาบางทีก็บอก บางทีไม่บอก แต่ก็รู้แหละ มาทำเนียนคุยโทรศัพท์ มาถ่ายรูป เราก็เข้าใจได้แหละ เพราะเขาอยากให้มันราบรื่น ผมว่ามุมมองอาจจะไม่ตรงกัน เขาคงมองว่ามันจะสงบรึเปล่าวะ กับมุมมองของเราที่อยากจะแสดงออกถึงปัญหา ถ้าเราเข้าใจเเล้วไม่ทำให้มันป่วน ทุกอย่างก็โอเค ทุกฝ่ายก็วิน และก็น่าจะปรับความเข้าใจให้ตรงกันได้ นอกเสียจากว่ามีอะไรอยากปิดบังเลยต้องเข้ามากีดกันบ่อยๆ
…ส่วนจะเป็นยังไงนั้นก็รอติดตามกันดูครับ (หัวเราะ)