ประชากรไทย 47 ล้านคนมีแอคเคาท์เฟซบุ๊ก และอีก 12 ล้านคนใช้ทวิตเตอร์ เรามีช่องว่างเหนือปุ่ม post และ tweet สำหรับพิมพ์ข้อความ เรื่องราว ความคิดเห็น และความรู้สึกต่อเรื่องต่างๆ นับตั้งแต่เรื่องส่วนตัวไปจนถึงประเด็นข่าวสารบ้านเมือง
หากจะบอกว่าเราอยู่ในสังคมที่ไม่มี ‘ช่องทาง’ ในการออกเสียงหรือความคิดความเห็นคงไม่ตรงประเด็นนัก ในเมื่อเรามีเครื่องมือที่เรียกว่า ‘โซเชียลมีเดีย’ อยู่ในมือ แต่ขณะเดียวกัน คำถามที่ตามมาคือใน ‘ช่องว่าง’ ที่เราพูดหรือโพสต์ข้อความกันนั้น มันมี ‘พื้นที่’ ที่ที่เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับการแสดงความเห็นในสังคมไทยจริงหรือเปล่า?
The MATTER ได้มีโอกาสพบปะกับ ‘ณัฐ ศักดาทร’ ในฐานะที่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่เลือกใช้ช่องทางอย่างโซเชียลมีเดีย ในการตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ ในสังคม เราจึงชวนณัฐพูดคุยถึงเรื่องการแสดงความคิดเห็นในสังคมไทย การสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเป็นเพื่อนหรือภัยอย่างไรบ้าง รวมไปถึงว่าเราจะสามารถสร้างพื้นที่ที่เหมาะกับการพูดและรับฟังกันในสังคมของเราได้อย่างไร
ในฐานะดาราหรือคนมีชื่อเสียง การใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็น มันแตกต่างจากการสื่อสารผ่านสื่อหลักยังไง
เวลาพูดคุยผ่านโซเชียลมีเดีย เราคือคนกำหนดหัวข้อ และเราคือคนกำหนดวิธีนำเสนอทั้งหมดเอง เพราะฉะนั้นเราจะพูดเรื่องอะไรก็ได้ ตั้งแต่เช้านี้กินอะไร ไปจนถึงเรื่องจริงจังอย่างการเลือกตั้ง แต่ว่าสำหรับสื่อหลัก ส่วนใหญ่พอขึ้นชื่อว่าเป็นดารา เขาก็จะโฟกัสไปที่เรื่องไม่กี่เรื่อง ผลงาน ความรัก หรือข่าวฉาวที่มีอยู่ พื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นที่กว้างกว่านั้นมันจะไม่ค่อยมีเท่าไหร่ เว้นแต่จะเป็นบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร ก็จะทำให้ได้ตอบคำถามหลากหลายขึ้น มีพื้นที่ในการแสดงตัวตนมากขึ้นหน่อย แต่ปริมาณคนอ่านก็จะไม่เท่ากับพวกข่าวรักๆ เลิกๆ หรือข่าวฉาวอยู่แล้ว
จริงๆ สมัยนี้สื่อหลักก็ปรับตัวมากขึ้น แต่คนเองก็เปลี่ยนไป สนใจสื่อหลักน้อยลง เพราะเขามีช่องทางในการติดตามศิลปินดาราที่ชื่นชอบได้โดยตรง ตอนนี้ดาราแต่ละคนเลยไม่ได้เป็นแค่ศิลปินแล้ว แต่ต้องทำ pr ทำการตลาด ทำแบรนด์ให้ตัวเองด้วย เพราะทุกคอนเทนต์ที่เราลงในโซเชียลของเรา มันสะท้อนกลับมาที่ภาพลักษณ์ของเราหมด คนที่ใช้เครื่องมือนี้เก่ง ก็จะไปได้ดีในยุคนี้ พลังของสื่อมันอยู่ในมือตัวบุคคลมากกว่าสื่อหลักแล้ว
แต่ฟีดแบคของโซเชียลมีเดียก็เป็นเรื่องที่ต้องรับมือตามมาใช่ไหม
ใช่ครับ ถ้าในข้อดีคือเราก็สะท้อนความเป็นตัวเราได้ชัดเจนขึ้น แต่ข้อควรระวังอย่างหนึ่ง ก็คือฟีดแบคที่มาแบบทันที แล้วถ้าใครจิตอ่อนก็พังทลายได้ง่ายมาก
เคยเจอฟีดแบคที่รู้สึกว่าหนักหนาสาหัสบ้างไหม แล้วมีวิธีรับมือยังไง
อืมมม.. เราอยู่มา 10 ปีแล้วมั้ง เราเลยภูมิต้านทานสูง คอมเมนต์ประเภทที่ทำเหมือนรู้จักเราดีแต่จริงๆ ไม่ได้รู้จักเลย จะทำอะไรเราไม่ได้แล้ว อย่างปีที่แล้วที่ถ่ายแบบเยอะๆ ก็มีบางคนมาบอกว่า “ไม่มีงานแล้วล่ะสิ ต้องมาแก้ผ้าถ่ายแบบ” จริงๆ ก็คือเปล่านะ เราแค่สนุก เราแค่อยากทำ แล้วเราก็ยังมีงานทำมาถึงทุกวันนี้ไง (หัวเราะ)
คือมันจะมีคนประเภทที่อาจจะสนุกหรืออะไรไม่รู้กับการคอมเมนต์ทำลายคนอื่น แต่เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะไม่ใส่ใจกับคนเหล่านี้ เพราะเขาเป็นคนกลุ่มที่ไม่ได้ส่งผลอะไรกับอาชีพการงานของเรา แต่ก็มีนะ ศิลปินที่เข้ามาในวงการใหม่ๆ แล้วเจออะไรแบบนี้ มันก็เป๋ไปได้ง่ายๆ เหมือนกัน
เราต้องเรียนรู้วิธีที่จะกรองข้อมูลที่จะรับเข้ามาว่าอันไหนมีประโยชน์จริง อันไหนเป็นคำวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์ อันไหนเป็นการระบายอารมณ์ของบางคนเท่านั้น หน้าที่ของเราคือต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะให้ออก เราถือหลักอย่างหนึ่งว่า ถ้าเราเปลี่ยนแปลงคนอื่นไม่ได้ เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงที่ตัวเราเอง ในเมื่อเราเปลี่ยนแปลงวิธีพูด วิธีแสดงความคิดเห็นของคนเหล่านั้นไม่ได้ เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดวิธีรับของเรา
ที่บอกว่าสมัยนี้ดาราต้องใช้โซเชียลเพื่อ pr ตัวเอง ทำให้สิ่งที่ออกมาพูด กับสิ่งที่อยู่ในใจจริงๆ ไม่ตรงกันหรือเปล่า
ถ้าเอาตามตรง ในแง่การทำงาน บางครั้งเราก็ต้องพูดในสิ่งที่ไม่ได้เชื่อ 100% อย่างเช่นเวลาต้องช่วยโฆษณาสินค้าบางอย่าง เราอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับทุกคุณสมบัติของสินค้า หรือบางคนไม่ได้ใช้สินค้านั้นด้วยซ้ำ
ส่วนในแง่อื่นๆ ที่เลือกจะไม่พูด เลือกจะเก็บเอาไว้มันก็ต้องมีอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่การเมืองหรอก เรื่องอื่นๆ ที่คนทวีตมาแล้วเราไม่สบอารมณ์ ถ้าเราพิจารณาแล้วว่าการพูดน่าจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลบวก เราก็เลือกที่จะเงียบดีกว่า แต่ถ้าเรื่องไหนเรามองว่าการพูดอาจจะช่วยกระตุ้นความสนใจของผู้คนในเรื่องนั้น และอาจเกิดประโยชน์ต่อคนอื่นหรือสังคมได้ ก็พูด ต่อให้จะมีผลเสียกับเราบ้าง ก็ไม่เป็นไร
อย่างกรณีล่าสุดที่เป็นข่าว หลังจากที่ทวีตไป มีกระแสตอบกลับมายังไงบ้าง
ฟีดแบคนี่เกินคาดไปเยอะเลยครับ (หัวเราะ) จริงๆ ที่เราทวีตเรื่องที่แตะการเมืองบ้าง เราก็แค่อยากให้คนที่ติดตามเราได้ตื่นตัวในประเด็นเหล่านั้น แล้วก็ชวนเขาคิดไปด้วยกัน แต่บางครั้งพอมันถูกรีทวีตไปเยอะๆ มันก็อาจจะไปถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้ติดตามเราอย่างใกล้ชิด และอาจจะไม่ได้รู้จักเราว่าเรามีความคิดเห็นอะไรยังไง เป็นคนลักษณะไหน มีมุมมองแบบไหน แล้วเขาก็หยิบเอาแค่บางความคิดเห็นที่เราทวีตไป เฉพาะแค่ที่เขาได้เห็น มาตั้งเป็นประเด็นและสรุปความคิดทั้งหมดของเราจากตรงนั้น มันก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากนะในยุคโซเชียล ในแง่ของการกระจายมันก็ไปไกลกว่าที่เราคิดเยอะ แต่ก็ดีตรงที่ทำให้เราเห็นว่า จริงๆ แล้วคนก็ตื่นตัวเรื่องการเมืองกว่าที่เราคิดไว้เยอะ
กระแสตอบกลับที่เกินคาดแบบนี้ มีผลต่อหน้าที่การงานด้วยไหม
ทุกคนพูดกับเราหมดเลยว่าเป็นดาราอย่าไปแตะเรื่องการเมือง ทุกคนเตือนมาตลอดการทำงาน 10 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยความที่ว่าเราโตมาในสังคมอเมริกัน เราเห็นคนมีชื่อเสียงที่อเมริกา ไม่ว่าจะแวดวงไหน เขาก็สามารถแสดงความคิดเห็นของเขาได้เต็มที่ เราก็รู้สึกว่าน่าจะเป็นแบบนั้นได้บ้างในเมืองไทย เราก็เลยทวีตบ้าง คุยเรื่องนี้บ้าง
สำหรับตัวเรานะ ไม่มีผลทางลบในแง่การงานเลย เราก็ยังมีงานปกติ ไม่มีงานไหนถูกแคนเซิล ไม่มีใครตีตัวออกห่างจากเรา ก็เลยรู้สึกว่ามันอาจจะไม่ได้น่ากลัวเท่าที่หลายคนคิด หรือเปล่า? ในแง่หนึ่งคือมีคนสนใจอยากจะให้เราออกไปพูดเรื่องนี้มากขึ้น กลายเป็นได้งานเพิ่มขึ้นด้วยมั้ง (หัวเราะ) มีบางสื่อมาติดต่อเราให้ไปออกรายการพูดคุยวิเคราะห์การเมืองเลย แต่เราก็ต้องขอปฏิเสธไป เพราะเราไม่ได้ลึกในเรื่องนี้ขนาดนั้น เราไม่ใช่นักการเมือง เราแค่แสดงความคิดเห็นเท่าที่เรารู้สึก สนใจ และมีข้อมูล ถ้าจะให้ไปนั่งวิเคราะห์ภาพรวมและเจาะลึกเรื่องต่างๆ ขนาดนั้น เราก็ไม่มีคุณสมบัติ เราพูดอยู่ในพื้นที่ของเราก็พอ
ความคิดเห็นต่างๆ ที่เราแสดงออกไป เราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้ทำร้ายใคร เราพูดจากสิ่งที่เราเห็นว่าเกิดขึ้น บวกกับความรู้สึกส่วนตัวของเรา โดยที่เราไม่ได้ไปบอกว่าใครผิดใครถูก เราไม่ได้ตั้งตัวอยู่ฝ่ายไหน เพราะเราก็ไม่ได้มีฝ่ายจริงๆ ถ้าจะมีฝ่าย เราก็อยู่ได้ฝ่ายเดียว คือฝ่ายที่อยากจะให้ประเทศเจริญเท่านั้นแหละ
แต่มันก็เคยมีกรณีที่ดาราออกมาพูดแล้วกระทบกับหน้าที่การงานจริงๆ ไม่ใช่เหรอ
ก็มี แต่เราว่าส่วนหนึ่งมันอยู่ที่วิธีในการสื่อสารด้วย การอยู่ในพื้นที่สาธารณะก็ต้องระวังตัวอยู่แล้ว แต่ยังไงเราก็มองว่าเรื่องการแสดงความเห็นเรื่องสังคม เรื่องการเมือง มันไม่ใช่ทำไม่ได้นะ มันเป็นทางเลือกของแต่ละคนมากกว่า แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าทำยังไงด้วย ใช้คำพูดแบบไหน ติเพื่อก่อไหม แต่มันไม่มีคำว่า ‘ไม่ได้’ หรอก มันจะ ‘ไม่ได้’ จากอะไรบ้างล่ะ
ถ้ามองวงการบันเทิงในต่างประเทศ เราก็เห็นการที่ศิลปินดาราออกมาพูดคุยเพื่อต่อสู้ต่อรองกับอำนาจ มองว่าเป็นไปได้ไหมหรือควรไหมที่วงการบันเทิงไทยจะสามารถแสดงออกในระดับเดียวกัน
ถ้าพูดถึงกรณีอย่าง #metoo ที่พูดเรื่องการเคยถูกละเมิดทางเพศ นี่เราว่ามันค่อนข้าง extreme นะ เรื่องแบบนี้คงเกิดขึ้นได้ยากในไทย อาจจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมด้วย ที่ปกติคนไทยอาจจะไม่ค่อยพูดเรื่องเพศเรื่องเซ็กซ์ในที่สาธารณะสักเท่าไหร่ มันคงทำให้การออกมารณรงค์เรื่องนี้จนเกิดเป็นกระแสสังคมระดับนั้นเป็นไปได้ยาก แต่เรื่องอื่นๆ เรามองว่าเป็นไปได้
อย่างของเมืองนอกนี่เวลามีเลือกตั้ง ดาราเขาก็ออกมาประกาศได้เลยนะว่าฉันสนับสนุนคนนี้ ไม่เห็นด้วยกับคนนี้ ชัดเจนมาก ต่อให้การเลือกตั้งจบลงแล้วคนที่เขาสนับสนุนไม่ชนะ เขาก็ยังทำงานได้ต่อแบบสบายมาก มันไม่ได้มีผลอะไร แต่ของเมืองไทยมันมีความกลัวอะไรบางอย่างอยู่ แต่คือจะพูดว่าดาราไทยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย มันก็ไม่ถูกนะ ในอดีตก็มีดาราออกมาเคลื่อนไหวด้านการเมืองกันหลายคน
เราเชื่อว่าสำหรับแต่ละคน ถ้ามันถึงจุดที่เขารู้สึกว่าต้องพูดอะไรสักอย่าง ต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เขาก็คงพูดเองแหละ
ถามถึงอำนาจต่อรองของดาราเหรอ อืม.. อำนาจอาจจะไม่ใช่คำที่ถูก ดาราแค่มีพลังในการกระจายความคิดไปสู่มวลชน แต่อำนาจต่อรองที่แท้จริงอยู่ที่มวลชนมากกว่า เราเป็นแค่ช่องทางเท่านั้นแหละ สุดท้ายแล้วการจะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง มันต้องได้พลังมวลชนอะ
แต่ก็มักจะมีคนบอกว่า การเป็นคนมีชื่อเสียง พูดอะไรก็มีคนฟังมากกว่า สร้างแรงกระเพื่อมได้มากกว่า
ถึงจะเป็นคนมีชื่อเสียง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราออกมาพูดคนเดียวแล้วมันจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนนะ การจะทำให้อะไรสักอย่างเป็นกระแสสังคมที่มีแรงกระเพื่อมมากพอ มันต้องอาศัยปัจจัยและกำลังอีกมหาศาล
จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ต้องทำให้คนเรียนรู้นะว่าความคิดเห็นของทุกคนสำคัญ แล้วมันก็สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ หลายคนยังไม่เชื่อนะ เพราะเวลาเราทวีตไป ก็มีคนมาบอกว่า “ดีที่คนอย่างพี่ออกมาพูดบ้าง เพราะว่าคนอย่างหนูทำอะไรไม่ได้หรอก” หลายคนคิดว่าเสียงตัวเองไม่มีความหมาย ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่
ข้อดีของโซเชียลมีเดียอย่างหนึ่งก็คือไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณก็สามารถมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมได้ มันไปถึงทุกคนได้ ไม่ว่าจะอยู่จุดไหน ทำอาชีพอะไร เราก็ควรใช้ประโยชน์จากตรงนี้ให้มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะเรามีเครื่องมืออยู่ในมือแล้ว
สิ่งสำคัญคือ เราต้องหาวิธีช่วยกันทำให้ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกฐานะ เชื่อมั่นมากขึ้นว่าเสียงและความคิดของเขามีความหมายจริง
มองว่าการที่คนที่เลือกจะไม่พูด เก็บไว้ ไม่แสดงความเห็นดีกว่า เป็นอันตรายไหม
เมื่อก่อนเราก็เป็นแบบนั้นนะ (ยิ้ม) เราเลือกที่จะข้ามๆ ไป ไม่ใส่ใจ แต่หลังๆ เราเริ่มรู้สึกว่าปัญหาสังคมหลายๆอย่างมันใกล้ตัวกว่าที่คิด แล้วถ้าเราเริ่มพูดอะไรสักอย่างได้ มันอาจจะช่วยจุดประเด็นอะไรบางอย่างให้คนมาช่วยกันคิดกับเรา ก็เลยเริ่มพูด
การเงียบและปล่อยผ่านมันไม่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดได้ก็คงช้ามาก รวมไปถึงว่าความต้องการที่แท้จริงของสังคมก็จะไม่ถูกสื่อสารออกไป ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ก็อาจจะสะท้อนความต้องการของคนที่เสียงดังเท่านั้น แต่ไม่ใช่ความต้องการของคนทั้งหมด มันเกิดอคติได้ง่ายด้วย เป็นไปได้ว่าเสียงที่ส่งออกมาอาจจะเป็นเสียงของคนแค่ 10% ที่ดังมากๆ อีก 90% เราไม่รู้ชัดว่าคิดอะไรกันอยู่ แล้วจะปล่อยให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ไม่ตอบรับกับความต้องการของคนส่วนใหญ่เหรอ ก็ไม่น่าจะดีนะ
แต่เราก็ไม่มีสิทธิ์ไปว่าอะไรคนที่ไม่พูด ไม่แสดงความคิดเห็นนะ ถ้าสมมติหน้าที่การงานหรือครอบครัวมีความสำคัญอันดับหนึ่งในชีวิตของเขา แล้วถ้าเขาพูดอะไรออกไปอาจมีผลกระทบกับสิ่งเหล่านั้นในทางใดทางหนึ่ง ก็ไม่ได้ผิดที่เขาก็ต้องคิดถึงอาชีพหรือคนใกล้ตัวของเขาก่อน เพราะว่า priority แต่ละคนไม่เหมือนกัน เราก็ต้องเคารพเขาในตรงนั้น เราจะไปเรียกร้องให้เขาออกมาพูดมันก็ไม่ได้ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะไปจัดเรียงลำดับความสำคัญของสิ่งต่างๆ ให้ชีวิตเขา
ส่วนคนที่ออกมาพูด การพูดก็เสี่ยงว่าถ้าพื้นที่ที่พูดมันยังไม่ปลอดภัยหรือเอื้อต่อการแสดงความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ ก็คงอันตรายกับคนที่พูดมากกว่า
พื้นที่ปลอดภัยหรือพื้นที่ที่เหมาะกับการพูดมีลักษณะยังไง แล้วเราจะสร้างมันขึ้นมาได้ไหม
เราว่า ‘ปลอดภัย’ มันคือพื้นที่ที่เราพูดได้ ต่อให้เราคิดไม่เหมือนกัน มันต้องมีการยอมรับและเคารพซึ่งกันและกันในความต่าง คือตอนนี้เราอยู่ในยุคของโลกออนไลน์ที่ ทุกคนต่างคิดว่าตัวเองมีสิทธิในแง่ของ free speech เต็มที่ จะพูดอะไรก็ได้ จะระบายอะไรก็ได้ จะด่าอะไรก็ได้ แต่ลืมไปหรือเปล่าว่า free speech ที่มันจะก่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ มันต้องไม่ใช่ hate speech ในคราบของ free speech บางทีคอนเทนต์ที่พูด มีแต่การเหยียดด่าแรงๆ ว่าคนอื่นไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แบบนี้มันไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา
คิดง่ายๆ ว่าถ้าเราเดินไปหาใครสักคนแล้วพูดกับเขาแบบนี้ ใครจะอยากคุยกับเรา บทสนทนามันจะไปต่อได้ไหม ในบทสนทนาเราน่าจะใจเย็นกันกว่านี้ ไม่ได้หมายถึงว่าต้องนุ่มนวลคะขาเป็นภาษาดอกไม้ แต่น่าจะเป็นการพูดที่อิงหลักเหตุและผลมากกว่าที่จะใช้อารมณ์ การพูดคุยด้วยอารมณ์มันไม่ได้ช่วยอะไรใคร แล้วการใช้ถ้อยคำรุนแรงสาดใส่กัน แล้วอ้างว่านี่คือ free speech มันอาจจะทำให้เกิดผลตรงข้าม คือกลายเป็นว่าคนอื่นๆ จะยิ่งถอยห่างจาก free speech ไป เพราะเห็นว่ามันเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ที่น่ากลัว ไม่ปลอดภัย ไม่พูดอะไรดีกว่า
ดังนั้น พื้นที่ที่ปลอดภัยไม่ได้ขึ้นอยู่แค่กับคนคุมพื้นที่และกฎระเบียบ แต่ยังขึ้นอยู่กับทุกคนที่อยู่ในวง ซึ่งก็คือเราทุกคนเองด้วย ถ้าเราต่างคนต่างเอาแต่ด่ากัน จับผิดกัน สร้างบรรยากาศที่น่ากลัวหรือไม่น่าพูดคุยด้วยให้กันและกัน มันก็ยากที่ free speech จะเกิดขึ้น ในทางกลับกัน ต่อให้มีความคิดความเชื่อที่ไม่ตรงกัน แต่ถ้าพูดกันด้วยเหตุและผล แบบไม่โวยวายใส่กัน บทสนทนาก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น ซึ่ง ณ ตอนนี้ พื้นที่แบบนั้นยังไม่เยอะและมีแวดวงค่อนข้างจำกัด
มันคงต้องสร้างความตระหนักเรื่องการพูดการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ เอาง่ายๆ เลย ตอนนี้คนจำนวนมากยังแยกแยะไม่ค่อยออกเลย ระหว่างคนพูดตรงกับคนพูดหยาบ ถ้ายังแยกเรื่องแบบนี้ไม่ได้ ก็น่าจะยังอีกไกลเลยนะ เราไม่ได้บอกให้ใช้ภาษาโลกสวยนะ แต่ควรเป็นคำพูดที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะไม่มีใครอยากจะคุยกับคนที่ไม่ให้เกียรติเรา หรือดูถูกเราอยู่ตลอดเวลาหรอก
ในเมื่อความคิดเห็นของคนเปลี่ยนแปลงได้ การพูดหรือคำที่พูดไปแล้วจะกลายเครื่องผูกมัดเราไหม
เราว่าคงไม่มีใครคิดเหมือนเดิมตั้งแต่เกิด ถ้าเราเป็นแบบนั้น เราจะรู้สึกแย่กับตัวเองมากเลย เพราะหมายถึงว่าเราไม่เรียนรู้ ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ถ้าเราอายุ 30 แล้วยังเชื่อเรื่องที่เราเคยคิดว่าจริงตอนอายุ 10 ขวบ ทั้งที่ทุกคนเขารู้หมดแล้วว่ามันไม่จริง มันคงประหลาดแล้วล่ะ ถ้าเราจะมาพยายามบอกว่ามันยังจริงอยู่ แต่อีกอย่างที่ประหลาดคือคนที่ว่าเราว่าเชื่อแบบนั้นได้ไงตอนนั้น อ้าว ก็ตอนนั้นเรารู้แค่นั้น เห็นแค่นั้น ก็คิดแค่นั้นไง
อีกอย่างคือเรารู้สึกว่า มันต้องกลับไปตรงที่ว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามในช่วงเวลาหนึ่ง มันก็อาจจะไม่ได้มีคำตอบแค่ถูกหรือผิด แต่เราอาจจะมองมันด้วยคำถามที่ว่า อะไรคือทางออกที่แย่น้อยที่สุด ณ เวลานั้น แล้วความหมายของคำว่า “แย่น้อยที่สุด” ของแต่ละคน มันก็ต่างกันไปอีก ขึ้นกับว่าใครมองจากมุมไหน แล้วใครถูกใครผิดล่ะ มันก็ตอบไม่ได้นะ
แล้วพอเหตุการณ์ผ่านไป 10 ปี มันจะมานั่งย้อนดูว่า อ๋อ เพราะตอนนั้นเลือกแบบนั้น ตอนนี้มันถึงเป็นแบบนี้ มันก็ไม่มีใครรู้ไงว่ามันจะเป็นแบบนี้ ไม่มีใครรู้อนาคตแน่นอน มานั่งโทษกันย้อนหลังก็ดูจะไม่น่าจะมีประโยชน์ เราว่าบทสนทนาที่มีประโยชน์มันควรโฟกัสที่เรื่องที่จะเกิดขึ้นข้างหน้ามากกว่าไหม เราเรียนรู้จากอดีตได้ เอามันมาคุยวิเคราะห์กันในปัจจุบันได้ เพื่อให้เกิดคำตอบที่ดีสำหรับอนาคตได้ แต่เราไม่ควรจะมัวแต่มานั่งเถียงกันว่าใครถูกใครผิดในเรื่องของอดีตจนไม่เดินหน้า
ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้หนึ่งสิ่งที่หลายคนต้องการเหมือนกันคือการเลือกตั้ง งั้นเราเอาเวลาตรงนี้มาช่วยกันคิดดีกว่าไหม ว่าจากวันนี้ถึงวันนั้น เราจะทำยังไงให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ใช่แค่การเลือกตั้งแบบที่ผ่านมา จะทำยังไงให้เกิดการเลือกตั้งที่มีประสิทธิภาพที่สุด จะช่วยกันอุดช่องโหว่ต่างๆ ยังไง ต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้ทุกคนมีข้อมูลผู้ลงสมัครต่างๆ อย่างเป็นกลางที่สุด จะช่วยกันป้องกันการซื้อสิทธิ์ขายเสียงให้ดีกว่าที่ผ่านมาได้ยังไง เราเอาเวลามาพูดคุยเรื่องเหล่านี้กันเถอะ
มองเรื่องของการพูดการฟังในสังคมไทยเป็นอย่างไรบ้าง
เรารู้สึกว่าหลายๆ คนยังมองอะไรเป็นขาวดำอยู่ ทั้งที่มันอาจจะไม่ได้มีคำตอบแค่ผิดหรือถูก บางเรื่องที่เกิดขึ้น มันน่าจะชวนกันตั้งคำถามก่อน แทนที่จะรีบชี้ว่าใครผิดใครถูกในเรื่องนี้ ในเรื่องเดียวกัน ถ้ามองในแง่จริยธรรม มองในแง่วิทยาศาสตร์ มองในแง่กฎหมาย คำตอบมันเป็นไปได้ว่าจะต่างกันหมด เพราะมันคือการใช้ไม้บรรทัดคนละแบบ ยิ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคมที่เราต้องอยู่ร่วมกัน ยิ่งควรช่วยกันมองให้ครบทุกมิติ ไม่ใช่พอพูดถึงเรื่องนี้ปุ๊บ ฉันถูกเธอผิด มันไม่ได้มีแค่นั้น