ทุกวันนี้ เราอาจจะคุ้นเคยกับกระเป๋าหนังจระเข้ราคาแพงตามโฆษณาในนิตยสารหรือเว็บไซต์แฟชั่นมากกว่าจระเข้จริงๆ แต่เชื่อไหมว่า ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว ประเทศไทยเคยมีสัตว์ตระกูลนี้อาศัยอยู่อย่างชุกชุม และเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตอย่างแยกไม่ออก นิทานพื้นบ้านยอดนิยมอย่างเรื่องไกรทองและขุนช้างขุนแผน ตอนพลายชุมพลปราบจระเข้เถรขวาด สะท้อนความจริงในเรื่องนี้ได้อย่างดี (ถึงแม้ว่าจระเข้จะเป็นเพียงบอสให้ตัวละครเอกเก็บเลเวลก็เถอะ) หรือแม้แต่ตำนานของจระเข้ขนาดใหญ่ที่ดุร้ายเป็นที่เลื่องลืออย่าง “ไอ้ด่างเกยชัย” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่แม้เวลาผ่านไปนานเท่าใดก็ยังคงเป็นที่สนใจแกมสยองในความรู้สึกเสมอ
ปัจจุบัน ประชากรจระเข้ตามธรรมชาติในประเทศไทยเหลืออยู่น้อยเต็มที (โดยเฉพาะจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย (Siamese crocodile, Crocodylus siamensis) ที่จัดว่าอยู่ในภาวะวิกฤติระดับโลกและแทบจะสูญพันธุ์จากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติไปแล้ว)[i] นานๆ จะได้ยินข่าวกันสักครั้งหนึ่ง และอาจเป็นเพราะจระเข้ไม่ใช่สัตว์หน้าตาน่ารักอุดมขน ปฏิกริยามวลชนจำนวนหนึ่งเมื่อเห็นข่าวจระเข้น้ำเค็มโผล่ที่หาดภูเก็ตจึงออกไปในแง่ลบมากว่าบวก
ถึงจะได้ชื่อว่า “จระเข้น้ำเค็ม” แต่ saltwater crocodile หรือ estuarine Crocodile (Crocodylus porosus) สามารถอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม แต่โดยมากมักอาศัยอยู่บริเวณน้ำกร่อยและป่าชายเลนมากกว่าในทะเลเปิด จระเข้น้ำเค็มยังมีการกระจายพันธุ์กว้างมาก ครอบคลุมตั้งแต่อินเดียตะวันออกไปจนถึงสิงคโปร์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และตอนเหนือของออสเตรเลีย[ii] และเป็นสัตว์ที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยเป็นปรกติ ดังนั้น โอกาสที่เจ้าตัวที่ภูเก็ตจะเป็นจระเข้ตามธรรมชาติจริงๆ นั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีซะเลย
คนกับจระเข้
จระเข้น้ำเค็มเป็นสัตว์ผู้ล่าในระดับบนของห่วงโซ่อาหาร การมีอยู่ของมันจึงเป็นตัวบ่งชี้ หรือ indicator ที่ดีว่าระบบนิเวศนั้นๆ มีความอุดมสมบูรณ์อย่างเพียงพอ ในพื้นที่ที่มันเคยแทบจะหมดไปแล้วอย่างในประเทศสิงคโปร์ การกลับมาอีกครั้งของจระเข้น้ำเค็มในพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นเรื่องน่ายินดีของคนท้องถิ่น ซึ่งเห็นการไปชมจระเข้น้ำเค็มตามธรรมชาติเป็นกิจกรรมที่น่าตื่นเต้นในวันหยุด และนอกจากประชากรเดิมแล้ว จระเข้น้ำเค็มที่พบได้ในสิงคโปร์ยังมีประชากรที่เคลื่อนย้ายไปมาระหว่างช่องแคบยะโฮร์จากมาเลเซียอีกด้วย[iii]
แม้มนุษย์จะไม่ใช่เหยื่อตามธรรมชาติของจระเข้ แต่ในพื้นที่ที่มีจระเข้อยู่ชุกชุมและเส้นแบ่งระหว่างคนกับจระเข้นั้นเบาบางอย่างทางเหนือของออสเตรเลีย การเฝ้าระวัง ให้ความรู้กับพลเมือง และปักป้ายเตือนเพื่อลดการเผชิญหน้าดูจะได้ผลดี แต่อย่างไรก็ตาม เหตุสลดก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อตกอยู่ในความประมาท
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2016 มีหญิงชาวออสเตรเลียวัย 47 ปี ถูกจระเข้คาบไป ระหว่างลงไปว่ายกับเพื่อนในแหล่งน้ำธรรมชาติของรัฐควีนส์แลนด์ตอนสี่ทุ่ม ปล่อยให้คุณเพื่อนที่พยายามช่วยอย่างไร้ผลตกอยู่ในอาการช็อค ถ้าหากว่าคุณคิดว่าเรื่องนี้จะทำให้เกิดการกวาดล้างจระเข้ครั้งใหญ่แล้วล่ะก็ มาดูกันว่า คุณ Warren Entsch สส. ประจำรัฐมีความเห็นอย่างไร
“คุณไม่มีวันจะบัญญัติกฎหมายขึ้นมาเพื่อคุ้มครองคนจากการกระทำที่ไม่ฉลาดของพวกเขาเองได้หรอก เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นโศกนาฏกรรมก็จริง แต่คุณสามารถที่จะหลีกเลี่ยงได้ และ [ในรัฐควีนส์แลนด์] ก็มีป้ายห้ามลงน้ำอยู่ทั่วไป [..] ถ้าคุณออกไปว่ายน้ำตอนสี่ทุ่ม มันก็แน่อยู่แล้วที่คุณจะถูกกิน [..] เราอย่าใช้เรื่องนี้มาล้างบางประชากรจระเข้กันเลย ทุกวันนี้หลายๆ ครอบครัวที่พานักท่องเที่ยวออกชมจระเข้ในถิ่นของพวกมันก็ทำมาหากินกันลำบากมากพออยู่แล้ว คนเราควรจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขาเองบ้างนะ”
(“You can’t legislate against human stupidity. This is a tragedy but it was avoidable. There are warning signs everywhere up there. [..] If you go in swimming at 10 o’clock at night, you’re going to get consumed. [..] Let’s not start vendettas. It’s hard enough for some families to make a quid up there in the Daintree, showcasing crocs in their environment. People have to have some level of responsibility for their own actions.” Warren Entsch, MP for Northern Queensland.)[iv]
ถ้าเจอจระเข้ต้องทำอย่างไร?
สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน จระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย, จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง (Malayan gharial, Tomistoma schlegelii) ทั้งสามชนิดจัดว่าเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ห้ามล่า ห้ามค้า ห้ามครอบครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต หรือเพื่อปกป้องตนเองหรือผู้อื่นหรือทรัพย์สิน หรือเหตุอื่นที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ[v] และเพราะจำนวนเหลือน้อยเต็มที รวมทั้งจระเข้มักหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับมนุษย์เช่นเดียวกับสัตว์ป่าทั่วไป การจะพบตัวจริงในธรรมชาติจึงเกิดขึ้นได้น้อยมาก
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพบเข้าจริงๆ ควรทำดังนี้[vi]
1. อยู่ในความสงบ และค่อยๆ ถอยออกห่างจากจระเข้
จระเข้ที่กำลังนอนผึ่งแดดเพื่อรักษาอุณหภูมิในร่างกายแบบสัตว์เลื้อยคลานทั่วไป อาจมีการอ้าปากเพื่อระบายความร้อน ไม่ใช่เพื่อแสดงความดุร้ายหรือเตรียมพุ่งเข้ากัดแต่อย่างใด
2. อย่าเข้าหา ยั่วยุ หรือให้อาหารจระเข้ …และอย่าพยายามเข้าไปเซลฟี่กับจระเข้
3. โทรหาหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น กู้ภัย หรือกรมประมง เมื่อต้องการความช่วยเหลือ อย่าพยายามจัดการจระเข้ที่อาจจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ของคุณด้วยตัวเอง
ข่าวการปรากฏตัวของจระเข้ที่ภูเก็ตอาจจะเป็นเรื่องดูน่าหวาดเสียวไปบ้าง แต่ก็น่าแปลกใจเช่นกัน ก็ในเมื่อเราเห็นฝูงจระเข้ตามสวนสัตว์และฟาร์มเป็นเพียงสัตว์ที่เลี้ยงเอาไว้กินโครงไก่และเอาแล่เอาหนังกันจนเฉยชา แม้กระทั่งเด็กเล็กก็ยังชอบไปชม แต่จระเข้เป็นๆ เพียงตัวเดียวในระบบนิเวศที่เคยเป็นของมันมาแต่เดิมกลับทำให้เกิดกระแสความตื่นเต้นในระดับประเทศเลยทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
[i] http://www.iucnredlist.org/details/5671/0
[ii] http://www.iucnredlist.org/details/5668/0
[iii] http://www.straitstimes.com/singapore/crocodiles-in-singapore-sightings-and-fast-facts
[iv] https://www.theguardian.com/australia-news/2016/may/30/mp-warren-entsch-blames-queensland-crocodile-attack-human-stupidity
[v] http://www.dnp.go.th/wildlifednp
[vi] https://www.nparks.gov.sg/gardens-parks-and-nature/dos-and-donts/animal-advisories/estuarine-crocodiles