มนุษย์สร้างความเจริญจาก ‘ทราย’ แต่ทรายอาจกำลังขาดแคลน
เราอยู่ในมหานครที่ใหญ่โต อารยธรรมที่เกรียงไกรของเราต่างก็ต้องประกอบขึ้นด้วยส่วนเล็กๆ
‘ทราย’ ดูจะเป็นสสารขนาดจิ๋วที่ประกอบอยู่ในความยิ่งใหญ่และวัฒนธรรมของมวลมนุษย์ ทรายเป็นอนุภาคเล็กๆ ที่จำเป็นทั้งสำหรับสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย ตึกสูงเสียดฟ้า ถนนหนทาง ไปจนถึงกระจกบานใส และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทั้งหลายต่างก็มีเจ้าทรายเม็ดจิ๋วๆ นี้เป็นส่วนประกอบอยู่
ทรายเลยเป็นสิ่งที่แสนสำคัญ แต่อาจจะด้วยขนาดที่เล็กจนรอดตา ไปจนถึงว่าทรายดูจะเป็นสิ่งมีอยู่ทุกหนแห่ง จากชายหาดสุดลูกหูลูกตาไปจนถึงทะเลทรายเวิ้งว้าง ทรายเลยดูไม่น่าจะใช่ปัญหาที่เราต้องสนใจเท่าไหร่ แต่ล่าสุดก็ดูจะมีความกังวลเกี่ยวกับทรายว่า เอ้อ เจ้าสิ่งสำคัญในอุตสาหกรรมและการก่อสร้างของเรานี่มันกำลังก่อปัญหาอะไรอยู่รึเปล่า ไปจนถึงความต้องการการใช้ทรายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดโลกใบนี้อาจจะเข้าสู่ภาวะขาดแคลนทรายในที่สุด
อารยธรรมที่สร้างจากทราย
ทราย ก็เหมือนเพลงว่า คือก้อนหินหรือแร่ธาตุที่ถูกย่อยจนเป็นเม็ดละเอียด ทรายที่ชายหาดคืออนุภาคจำนวนมากของก้อนหินเหรือเปลือกหอยที่ถูกน้ำและลมทะเลกร่อนจนกลายเป็นเม็ดทรายเล็กๆ ทรายในทะเลทรายก็เกิดจากหินที่ถูกกร่อนโดยแสงแดด ลม และอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปมา
ในทางประวัติศาสตร์ดูเหมือนว่ามนุษย์เราจะรู้จักใช้ทรายเป็นส่วนประกอบของสิ่งปลูกสร้างกันมาอย่างเนิ่นนานแล้ว อย่างน้อยๆ ก็ในสมัยอียิปต์ เรื่อยมาจนกระทั่งถึงการประดิษฐ์และพัฒนาปูนซีเมนต์ที่ใช้ทรายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทนทานให้กับสิ่งปลูกสร้าง นอกจากปูน กระจกก็ยังถือเป็นผลผลิตสำคัญที่มนุษย์เรารู้จักใช้ทราย
ในช่วงศตวรรษที่ 15 ทรายกลายมาเป็นก้าวสำคัญของนวัตกรรมและโลกสมัยใหม่ เมื่อช่างฝีมือชาวอิตาเลียนสามารถคิดค้นการหลอมกระจกใส ซึ่งเจ้ากระจกใสนี่ก็นำไปสู่อุปกรณ์สำคัญอย่างกล้องจุลทัศน์และกล้องส่องทางไกล อันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในยุคเรอเนซองส์ ยุคสมัยอันเป็นรากฐานของโลกสมัยใหม่
ทรายประเภทต่างๆ จึงเป็นวัตถุดิบสำคัญของสิ่งรอบตัว ตึกรามบ้านช่อง น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องสำอาง ยาสีฟัน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
หรือเรากำลังจะขาดแคลนทราย
ทรายที่เราเห็นมีอย่างมากมาย ตอนนี้เริ่มมีความกังวลว่า โลกเราอาจกำลังเผชิญวิกฤติขาดแคลนทราย ซึ่งในหลายพื้นที่ของโลกเองก็เริ่มขาดแคลนทรายบ้างแล้ว
เวียดนามเป็นประเทศหนึ่งที่อาจประสบปัญหาทรายหมดจากความต้องการภายในประเทศที่มากเกินทรัพยากรทรายที่ตัวเองมี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาทางกระทรวงการก่อสร้าง (Ministry of Construction) ออกมาบอกว่า ด้วยปริมาณการใช้ทรายและปริมาณทรายที่มีอยู่ในประเทศในปัจจุบันสำหรับการก่อสร้างของเวียดนามจะหมดไปภายในปี 2020
จากการที่บางพื้นที่ของโลกที่ทรายร่อยหรอไปจนถึงการควบคุมปริมาณการทำเหมืองทรายแต่ความต้องการทรายกลับสูงขึ้น ทรายจึงกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีซื้อขายกันในระดับโลกและมีราคาที่พุ่งทะยานขึ้น ในแหล่งผลิตหลายพื้นที่ ทรายจึงมีค่าไม่ต่างจากทองคำ ในอินเดียเองก็ได้เกิดกลุ่มมาเฟียค้าดินและทรายผิดกฏหมายขึ้น ประเทศเกาะอย่างสิงคโปร์ที่ต้องนำเข้าและจัดการทรัพยากรทรายของตัวเอง ด้วยความขาดแคลนนี้เองทำให้สิงคโปร์เกิดข้อพิพาทกับหลายๆ ประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และกัมพูชา
แน่ล่ะว่าการไปขุดหรือดูดทรายมาในระดับอุตสาหกรรมย่อมทำให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่นั้นๆ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ เช่น ตลิ่งพัง น้ำท่วมง่ายขึ้น ส่งผลกระทบทั้งต่อสัตว์และผู้คนในพื้นที่บริเวณโดยรอบ มีงานศึกษาที่บอกว่าการทำอุตสาหกรรมทรายส่งผลกระทบต่อตะโขงอินเดีย ทำให้จำนวนประชากรของตะโขงถูกรุกรานจนเข้าขั้นวิกฤติ เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
‘ทราย’ อนุภาคเล็กๆ จากธรรมชาติที่ดูไม่สลักสำคัญและดูไม่มีวันหมด สุดท้ายอาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่าง อีกทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์เราไปสูบเอามาใช้สร้างความเจริญ จากความคิดและความเข้าใจของเราที่คิดว่าทรายยังไงก็ไม่มีปัญหาและไม่มีวันหมด แต่เม็ดทรายจำนวนมหาศาลอาจจะไม่มากพอจะถมความต้องการและความเจริญของมนุษยชาติได้ ทรายที่ไม่เคยเป็นเรื่องเป็นราว อาจจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาที่ต้องกลับมาคิดทบทวนและให้ความสำคัญ