การจับกุมผู้ต้องหาผิดตัว จนคนบริสุทธิ์ต้องไปใช้ชีวิตในกรงขัง หรือที่เรียกกันว่า ‘แพะ’ ในคดีอาญา ไม่ได้มีแค่ในภาพยนตร์หรือละคร ทว่าเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย และปรากฏตามหน้าสื่ออยู่เรื่อยๆ เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาของกระบวนการยุติธรรมของไทย ซึ่งมีตัวละครสำคัญประกอบด้วยตำรวจ ทนายความ อัยการ และศาล
หนึ่งในคดีจับแพะที่โด่งดังที่สุด คือ คดีฆาตกรรม ‘เชอรี่แอน ดันแคน’ เหตุเกิดเมื่อปี 2529 ที่ผู้ต้องหา 4 คน ถูกนำไปไว้ในห้องขังระหว่างดำเนินคดีถึง 6 ปี บางคนเสียชีวิตคาคุก บางคนพิการแถมลูกเมียยังเสียชีวิตระหว่างถูกคุมขัง ก่อนที่ศาลฎีกาจะตัดสินยกฟ้อง และมีการจับกุมผู้กระทำผิดตัวจริงได้ในภายหลัง โดยพบว่ามีการปั้นพยานหลักฐานเท็จ และตำรวจที่ทำคดีนี้ถูกลงโทษทางวินัย
ผลของคดีเชอรี่แอน นอกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะถูกศาลแพ่งตัดสินให้จ่ายค่าเสียหาย 26 ล้านบาท ยังนำไปสู่การออก พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 เพื่อให้มีการจ่ายเงินชดเชยหรือเยียวยาแก่จำเลยในคดีอาญาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม
ทว่า เวลาผ่านไปกว่า 30 ปี ปัญหาเรื่องแพะก็ยังไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น The MATTER ขอชวนทุกคนไปติดตามเรียนลัดวิชาพิเศษ ว่าด้วย ‘แพะ’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย ว่ามีสาเหตุมาจากอะไร? ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาไปถึงไหนแล้ว?
มีโอกาสที่ ‘แพะ’ จะสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทย หรือไม่?
‘แพะ’ ในคดีอาญา มาจากไหน
‘แพะ’ จะเกิดได้ทั้งจากความผิดพลาดของตัวบุคคล และความบกพร่องของระบบ
เมื่อเกิดกรณีแพะขึ้น หลายครั้งที่ผู้เกี่ยวข้องมักอ้างว่าเป็นความบกพร่องส่วนบุคคล โดยเฉพาะพนักงานสอบสวนในการทำสำนวน แต่ก็มีงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่ยืนยันว่า ความผิดพลาดของระบบมีส่วนสนับสนุนทำให้เกิดแพะขึ้นได้เช่นกัน
อธิบายง่ายๆ ก่อนว่า ระบบยุติธรรมไทยประกอบด้วยต้นทาง-พนักงานสอบสวน หรือ ‘ตำรวจ’ กลางทาง-พนักงานอัยการ หรือ ‘อัยการ’ และปลายทาง ‘ศาล’ โดยมี ‘ทนายความ’ เป็นอีกตัวละครสำคัญ ในฐานะผู้ต่อสู้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลย
ในรายงาน “ความไม่เป็นธรรมในคดีและแนวทางแก้ไข” ซึ่งจัดทำโดยนายนิธิต ภูริคุปต์ อดีตเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม (ศนธ.ยธ.) กับพวก ได้แจกแจงปัญหาของระบบที่ทำให้เกิดแพะขึ้น
– พนักงานสอบสวนยังบกพร่องหรือใช้ความพยายามไม่พอในการรวบรวมพยานหลักฐาน จนทำให้ผู้บริสุทธิ์ถูกกล่าวหาทั้งๆ ที่มิได้กระทำผิด
– พนักงานอัยการ ตามกฎหมายไทย จะเข้ามามีบทบาทได้ก็ต่อเมื่อสำนวนคดีผ่านการสอบสวนของพนักงานสอบสวนแล้วเท่านั้น ไม่สามารถเข้าไปช่วยรวบรวมพยานหลักฐานได้
– ทนายความละเลยความรับผิดชอบในการต่อสู้คดีให้ลูกความอย่างเต็มที่ เช่น ไม่นำพยานหลักฐานบางอย่างมาสู้คดี แนะนำให้รับสารภาพทั้งที่ไม่ได้ทำผิด ฯลฯ
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า กระบวนการยุติธรรมในต่างประเทศไม่ได้แยกการสอบสวนออกจากการสั่งฟ้องเช่นเดียวกับของไทย ซึ่งมีการแยกอำนาจดังกล่าว ทำให้ขาดการกลั่นกรองที่รอบคอบตั้งแต่ชั้นเริ่มต้นทำคดี จึงขอเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้พนักงานอัยการเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ตอนเริ่มต้นคดี นอกจากนี้ ยังขอให้ปฏิรูปการทำงานของพนักงานสอบสวน มีองค์กรขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน รวมถึงตรวจสอบมารยาทของทนายความให้เข้มข้นขึ้น
จะเห็นได้ว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องแพะทำไม่ได้แค่เพียงลงโทษใครบางคนที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง
สารพัดวิธีช่วยเหลือแพะ
ความจริงประเทศไทยมีกฎหมายที่ชื่อว่า พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 ที่ให้สามารถนำคดีที่ตัดสินจบไปแล้วแม้ในชั้นศาลฎีกา สามารถนำกลับมาฟื้นคดีเพื่อพิจารณาใหม่ได้อีก แต่เชื่อหรือไม่ว่า นับแต่ใช้มา 33 ปีเศษ มีคดีแพะเพียง 3 คดีเท่านั้น ที่สามารถใช้กฎหมายนี้มาล้างมลทิน จนจำเลยกลายเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างที่ควรจะเป็น
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กล่าวว่า เหตุที่การรื้อฟื้นคดีเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเงื่อนไขในกฎหมายที่ระบุว่า จะต้องใช้ ‘พยานหลักฐานใหม่’ ที่ไม่เคยใช้มาก่อนในการพิจารณาคดีก่อนหน้านี้
แม้การรื้อฟื้นคดีจะเป็นไปได้ยาก แต่ พ.ต.อ.ดุษฎีก็มองว่า ปัจจุบันคนในกระบวนการยุติธรรมของไทยมีความเข้าใจเรื่องแพะมากขึ้น เห็นได้จากหลายๆ กรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลตัดสินยกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอ หรือข้อเท็จจริงยังเป็นที่สงสัย
และนับแต่ ยธ.จัดตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้นมาในปี 2549 ก็มีการนำเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชนในการต่อสู้คดี ทั้งเป็นค่าเงินประตัว ค่าทนาย ค่าธรรมเนียมศาลต่างๆ ฯลฯ ไม่ว่าท้ายสุด บุคคลดังกล่าวจะถูกตัดสินว่าผิดจริง หรือเป็นแพะ หรือไม่
ขณะที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จ่ายเงินช่วยเหลือแพะ ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ซึ่งเป็นผลพวงจากคดีเชอรี่แอน เฉพาะระหว่างปี 2557-2559 รวมกว่า 200 ราย เป็นเงินกว่า 40 ล้านบาท แบ่งเป็นในปี 2557 จ่ายให้จำเลย 110 ราย เป็นเงิน 23.5 ล้านบาท ปี 2558 จ่ายให้จำเลย 45 ราย เป็นเงิน 7.7 ล้านบาท และปี 2559 จ่ายให้กับจำเลย 60 ราย เป็นเงิน 10.3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ด้วยหลักเกณฑ์ที่กระทรวงยุติธรรมวางเอาไว้ ยังได้แบ่งแพะออกเป็น 2 แบบ คือ ‘แพะขาว’ นั่นคือ ศาลตัดสินว่าจำเลยมิได้กระทำผิด และ ‘แพะเทา’ คือ ศาลยกฟ้อง เพราะข้อเท็จจริงยังเป็นที่สงสัย โดยกรณีแพะขาวจะได้รับเงินช่วยเหลือแน่ๆ แต่ถ้าเป็นแพะเทา ในบางกรณีก็อาจจะไม่ได้
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าญาติพี่น้องหรือบุตรหลานตัวเองอาจเป็นแพะในคดีอาญา ปัจจุบันมีช่องทางขอความช่วยเหลือมากมาย ทั้งผ่านศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ 1111 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ศนธ.ยธ. ไปจนถึงสื่อมวลชน แต่ทั้งหมดจะมีการรวบรวมเรื่องส่งมาที่ ยธ. ให้ช่วยดำเนินการในท้ายที่สุด อยู่ดี
เป็นแพะแล้วได้ (และเสีย) อะไร
หากมีคำตัดสินออกมาว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นแพะจริง ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ รวมถึงประกาศ ระเบียบ กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้กำหนดให้จ่ายเงินช่วยเหลือไว้ 6 รายการ ประกอบด้วย
- ค่าทดแทนการถูกคุมขัง วันละ 500 บาท
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล จ่ายเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 40,000 บาท
- ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ จ่ายเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 50,000 บาท
- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ จ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดที่ทำงาน
- ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี เช่นค่าทนาย จ่ายจริงไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ จ่ายเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 40,000 บาท
- ค่าทดแทนในกรณีที่ถึงแก่ความตาย 100,000 บาท ค่าจัดการศพ 20,000 บาท ค่าขาดการอุปการะเลี้ยงดู ไม่เกิน 30,000 บาท และค่าความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ เห็นสมควร
สำหรับเงินช่วยเหลือข้างต้น เป็นอัตราใหม่ที่ถูกนำมาใช้แทนอัตราเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2546 หลังจากมีการแก้ไข พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายฯ ในช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมา โดยเพิ่มเงินช่วยเหลือหลายรายการ เช่น ค่าทดแทนการถูกคุมขัง จากวันละ 200 บาท เป็น 500 บาท, ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ จากวันละ 200 บาท เป็นจ่ายในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดที่ทำงาน หรือแปลว่าได้มากกว่าวันละ 300 บาทแน่ๆ เป็นต้น
แต่แม้จะเพิ่มเงินช่วยเหลือมากเพียงใด สิ่งที่คนเป็นแพะสูญเสียกลับมีมากไปกว่านั้น นอกไปเสียจากวันเวลาที่เสียไป
พ.ต.อ.ดุษฎี ระบุว่า เขาต้องเสียทุกอย่าง ออกจากคุกมาก็ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้กระทำความผิด เป็นคนขี้คุก ทั้งๆ ที่เขาไม่เคยรับสารภาพ แต่ศาลก็ยังตัดสินให้เขาติดคุก
ขณะที่ น.ส.สาธนา ขณะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา กล่าวว่า ความสูญเสียที่ประชาชนคนหนึ่งต้องติดคุกทั้งที่ไม่ได้กระทำความผิด ไม่ว่ารัฐจะชดเชยด้วยเงินมากมายเท่าไรก็คงจะไม่พอ แต่ถ้ารัฐจะชดเชยให้มากกว่านี้ งบประมาณก็อาจจะไม่เพียงพอ ดีที่สุดคือทุกภาคส่วนจะต้องไม่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ไปมองที่ต้นเหตุของปัญหา เพื่อหาทางป้องกัน น่าจะดีกว่า
ในสังคมใด ที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมที่แท้จริงให้กับประชาชนได้ โอกาสที่จะเกิด ‘แพะ’ ผู้รับบาปแทนคนอื่น ก็เป็นไปได้เสมอ
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.matichonweekly.com (ย้อนประวัติคดีเชอรี่แอน ดันแคน)
www.dsi.go.th (รายงาน “ความไม่เป็นธรรมในคดีและแนวทางแก้ไข”)
www.thairath.co.th (สกู๊ปเรื่องแพะของไทยรัฐ)
www.rlpd.go.th (ตัวเลขเงินช่วยเหลือแพะในคดีอาญา ระหว่างปี 2557-2559)