ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเป็นเงินเป็นทอง เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยและประเทศเพื่อนบ้านไปกันถึงไหนแล้ว? และโอกาสอยู่ตรงไหน?
จากงานวิจัยของ e-Conomy SEA 2020 ของ Google, Temasek และ Bain & Company ที่ทำร่วมกัน ซึ่งปล่อยออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว ได้เจาะลึกถึงเศรษฐกิจดิจิทัลของ 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมประชากร 583 ล้านคน ได้แก่
- ไทย
- เวียดนาม
- ฟิลิปปินส์
- อินโดนีเซีย
- สิงคโปร์
- มาเลเซีย
โดยในรายงานได้สำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจดิจิทัลของ SEA ในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ความน่าสนใจอีกด้านของรายงานฉบับนี้คือการคาดการณ์เศรษฐกิจดิจิทัลของ SEA ในอีก 5 ปีข้างหน้าไปจนถึงปี ค.ศ. 2025
มีอะไรน่าสนใจ เทรนด์อะไรน่าเกาะติด ไทยเราอยู่ตรงไหนในขบวน เดี๋ยวเราพาไปเจาะประเด็นที่ควรรู้ให้ดูกันทีละข้อ
7 เทรนด์ธุรกิจน่าจับตา
รีเสิร์ชบอกถึงธุรกิจโลกออนไลน์ที่ได้รับความนิยมและทำรายได้ได้ดีในช่วงปีที่ผ่านมา และเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มไปได้ไกลในอนาคต โดยมีทั้งหมด 7 สาขา คือ
อี-คอมเมิร์ซ/ ท่องเที่ยวออนไลน์/ รถรับส่งและเดลิเวอรี่/ ออนไลน์มีเดีย/ ไฟแนนเชียลเซอร์วิส – นี่คือ 5 สาขาหลักที่เป็นดาวรุ่งมานาน
ส่วนอีก 2 สาขาในนั้นคือธุรกิจดาวรุ่งที่ได้อานิสงส์จาก COVID-19 อย่าง EdTech และ HealthTech หรือเทคโนโลยีการศึกษา และเทคโนโลยีด้านสุขภาพนั่นเอง
โดย e-Commerce คือเซ็กเตอร์ที่ได้รับการใช้งานและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงที่สุด โดยมีมูลค่ารวมของภูมิภาคสูงถึง 62,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของ SEA จะเติบโตสู่มูลค่า 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐภายในปี ค.ศ.2025 (จากในปี 2020 ที่ 105,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)
โดยในมูลค่า 3 แสนนั้น e-Commerce จะกินสัดส่วนมากถึง 172,000 ล้านเหรียญสหรัฐใน 5 ปีข้างหน้า
ก่อนหน้านี้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ไฮไลต์เรื่องการท่องเที่ยวมาก ทำให้พอเจอโรคระบาดหลายพื้นที่เจ๊งไปตามๆ กัน แต่รีเสิร์ชบอกว่า การเติบโตของ e-Commerceในช่วงการระบาด เป็นส่วนที่ช่วยทดแทนรายได้ที่ขาดหายจากการท่องเที่ยวไปได้บางส่วน
นั่นหมายความว่า e-Commerce เริ่มเข้ามาเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจภูมิภาคนี้แล้ว
ประเภทการซื้อของที่น่าจับตาคือในส่วนของ ‘ของชำ’ เพราะในช่วงล็อกดาวน์รอบแรก ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการซื้อของใช้ ของชำ ผ่านออนไลน์เพิ่มเยอะขึ้นมากๆ และต่อให้ COVID-19 หมดไป ทางรีเสิร์ชก็บอกว่า ยังไงพวกเขาก็จะยังซื้อผ่านออนไลน์ต่อ เพราะติดใจความสะดวกรวดเร็วไปแล้ว
เรียกได้ว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมใจ ช็อปเก่ง และจะช็อปเก่งยิ่งขึ้น
ในขณะที่ การท่องเที่ยวออนไลน์ แม้จะยังไม่ฟื้นตัว แต่การเที่ยวในประเทศก็ได้รับการตอบรับที่ดี โดยเฉพาะรูปแบบ Staycation ซึ่งพวกเขารีเช็กความปลอดภัยการจองห้องพักผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประชากร SEA ทุก 6-7 คนจาก 10 คน บอกว่าอดใจรอการเดินทางท่องเที่ยวไม่ไหวแล้ว แน่นอนว่าจะดันความต้องการในการจองที่พักและทริปท่องเที่ยวผ่านออนไลน์พุ่งปรี๊ดทันทีเมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ
ส่วน รถรับส่งและเดลิเวอรี่ หลังจากที่การสั่งอาหารออนไลน์กลายเป็นเรื่องปกติของทุกวันนี้ แน่นอนว่าในอนาคตจะเพิ่มความต้องการมากไปอีก ในขณะที่ ‘รถรับส่งผ่านแอปพลิเคชัน’ ในช่วงล็อกดาวน์ แม้ยอดเรียกจะตก แต่ในอนาคตเป็นที่ชัดเจนว่าความต้องการเดินทางผ่านแอปพลิเคชันจะเพิ่มมากขึ้นแน่ๆ และการแข่งขันของบริการประเภทนี้จะดุเดือดมากขึ้นไปอีกเพราะยังมีพื้นที่โอกาสอีกมากในภูมิภาคนี้ ที่รอคอยนักลงทุนหน้าใหม่อยู่
สำหรับ ออนไลน์มีเดีย การที่คนอยู่บ้านมากขึ้นในปีที่ผ่านมา ทำให้เอนเตอร์เทนเมนต์มีเดียได้รับความนิยมมาก เห็นได้จากยอด Subscription ของสตรีมมิ่งวิดีโอ สตรีมมิ่งเพลง และเกม เพิ่มสูงขึ้นในทั้ง 6 ประเทศ แน่นอนว่าปีนี้เราก็จะยังคงเห็นแนวโน้มการเติบโตที่ว่าอยู่
บริการด้านการเงินออนไลน์เองก็เป็นช่วงเวลาที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น และเป็นทิศทางที่เห็นได้ชัดว่า ในอนาคต ประชากรของ SEA จะใช้จ่ายเงินผ่านออนไลน์กันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ขณะที่อีกเรื่องที่ต้องจับตาคือ ‘การกู้เงินผ่านออนไลน์’ ซึ่งจากวิกฤติเศรษฐกิจโรคระบาด เหล่า SMEs ต้องดิ้นรนหาแหล่งเงินทุนมาหมุนเวียนธุรกิจ ซึ่งจะทำให้การกู้เงินผ่านออนไลน์ เป็นเรื่องที่จะได้รับความนิยมและแพร่หลายมากขึ้น
และที่ต้องพูดถึงคือ EdTech & HealthTech สองดาวรุ่งจากยุคล็อกดาวน์ เมื่อโรคระบาดทำให้คนคลายอคติจากการเรียนออนไลน์และการรักษาออนไลน์ กลายเป็นพร้อมเปิดรับความสะดวกสบายจากประสบการณ์ใหม่เป็นโอกาสที่ทำให้ทั้ง 2 เซ็กเตอร์นี้จะเติบโตต่อไป แม้จะหมดยุคโรคระบาดไปแล้วก็ตาม
ในภูมิภาค SEA ต่อจากนี้ นอกจากเงินลงทุนจำนวนมหาศาลที่จะไหลเข้ามาใน 2 เซ็กเตอร์นี้ สิ่งที่ต้องจับตาอีกข้อคือ ‘สตาร์ตอัพด้าน Edtech’ ที่ทาง Google มั่นใจว่าจะเพิ่มจำนวนอีกมากมายในช่วงเวลาหลังจากนี้
ไทยจะเป็นยังไง กับเศรษฐกิจดิจิทัลต่อจากนี้
ปัจจุบัน เศรษฐกิจดิจิทัลไทย มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 จากทั้งหมด 6 ประเทศ เป็นรองแค่อินโดนีเซียเท่านั้น
จากกราฟด้านบน จะเห็นได้ว่า ณ ปี ค.ศ.2020 เศรษฐกิจดิจิทัลไทยมีมูลค่า 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นรองจากอินโดนีเซียที่ 44,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
รีเสิร์ชระบุต่อว่า เศรษฐกิจดิจิทัลไทยจะโตถึง 53,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2025 โดยหลักมาจาก e-Commerce มากถึง 24,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ต้องยอมรับว่า การค้าออนไลน์เข้ามาช่วงพยุงเศรษฐกิจไทยจากการล่มสลายทางการท่องเที่ยวอย่างเห็นได้ชัดในช่วงโรคระบาด อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.2025 มองในแง่ดี การท่องเที่ยวออนไลน์จะกลับมาเป็นรายได้เชิงดิจิทัลอันดับที่สองของประเทศไทย ด้วยมูลค่า 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
การเปลี่ยนแปลงในวันนี้สำหรับเม็ดลงเงินทุนในภูมิภาค SEA หรืออาจจะทั่วโลกด้วยก็คือ – จากแต่ก่อนที่นักลงทุนกล้าได้กล้าเสียและลงทุนเสี่ยงเน้นกำไรสูง ในปีนี้พวกเขาจะลงทุนอะไรที่มั่นคง ช้าแต่ยั่งยืนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมเศรษฐกิจดิจิทัลจะขยายตัวขึ้น แต่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้ออกรายงานคาดการณ์ประจำปี ค.ศ.2021 หั่นจีดีพีปีนี้ลงเหลือ 4% และบอกถึงความน่ากังวลใจจากการระบาดที่ยังไม่จบลงง่ายๆ ทำให้คนจนจะยิ่งจนลง – แม้ภาพรวมเศรษฐกิจ 90% ของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หรือกำลังพัฒนาจะมีแนวโน้มเติบโต แต่รายได้ต่อหัวที่ลดลง จะผลักประชากรโลกหลายล้านกลับสู่ความยากจน
วัคซีนจึงอาจจะเป็นคำตอบสำคัญ ไม่น้อยไปกว่าการลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงโอกาสทางดิจิทัลของคนทุกกลุ่ม
รายงาน e-Conomy SEA 2020 ฉบับเต็ม
รายงาน Global Economic Prospects 2021 ฉบับเต็ม