เวลาเราพูดคำว่าการหลอกตัวเอง ในแง่นึงเป็นคำกล่าวหาที่ร้ายแรงอยู่เหมือนกัน คำสอนสำคัญก็จะบอกว่าจะหลอกใครก็ได้ แต่สุดท้ายเราหลอกตัวเองไม่ได้
ทว่า ไม่นับเรื่องการหลอกลวงชาวบ้านไปจนหลอกตัวเองจนสร้างความเสียหาย อันที่จริง การหลอกตัวเองนั้น – ในมุมทางจิตวิทยาก็อาจจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ คือจิตใจของเราหลอกตัวเราเองได้จริงๆ ซึ่งในทางจิตวิทยานั้นมองเห็นว่าอันที่จริงเรานั้นหลอกตัวเอง เก่งกว่าหลอกคนอื่น ซึ่งในการหลอกตัวเองของเรานั้นเนียนเราเองไม่รู้ตัว
ในทาทงจิตวิทยาและในหลายมุมมองนั้น มองว่า ไอ้การที่เราหลอกตัวเองนั้นส่วนหนึ่งเหมือนกลไกการป้องกันตัวของเราเอง และเป็นวิธีที่เราใช้เพื่อเติบโตขึ้นผ่านการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับตัวเองเป็นหลัก ในบางงานศึกษาก็มองเห็นว่าการหลอกตัวเองนั้นเป็นเหมือนกลยุทธ์อย่างหนึ่ง เช่นกลยุทธ์ในการสร้างความมั่นใจและการเติบโตทางสังคม (social strategy) และไม่นานมานี้ก็เพิ่งมีงานศึกษาเสนอว่าเราเองนั้นอาจจะหลอกตัวเองอยู่บ่อยๆ เพื่อเป็นการรับมือกับความน่าพึงพอใจของโลกใบนี้
ก่อนจะเข้าเรื่อง อันที่จริงการหลอกตัวเองนั้นก็มีหลายระดับ บางส่วนนับว่าเป็นลักษณะทางบุคลิกภาพที่อาจจะไม่ดีนัก แต่ในบทความนี้จะพูดถึงแง่มุมที่ค่อยไปในทางจิตวิทยาในฐานะกระบวนการทางจิตใจที่เราเองอาจจะไม่ทันรู้ตัว และบางส่วนของการหลอกตัวเองนั้นก็อาจจะทำให้เรามองเห็นปัญหาว่าจิตใจของเราอาจจะบิดเบือนมุมมองของเราอยู่บ้างจากสิ่งที่เกิดขึ้น
หรือเราหลอกตัวเองกันเก่งกว่าหลอกชาวบ้าน
ประเด็นเรื่องการหลอกตัวเองอันที่จริงค่อนข้างซับซ้อน ทั้งมิติของการรับรู้ความจริง ว่าเอออะไรคือความจริงแบบจริงๆ ไปจนถึงการครุ่นคิดว่า เออ การหลอกตัวเองในที่สุดมันเดือดร้อนคนอื่นรึเปล่า ส่วนสำคัญหนึ่งของการหลอกตัวเอง ในมุมจิตวิทยาและวิวัฒนาการมนุษย์นั้นค่อนข้างมองว่าการหลอกตัวเองสัมพันธ์กับการรับรู้ตัวตนของตัวเอง ในแง่ดีคือเป็นการสร้างความมั่นใจอันเป็นแรงขับเคลื่อนพื้นฐานของเรา แต่ในทางกลับกันพวกหลอกตัวเองมากๆ รับรู้ตัวเองไปจนถึงเข้าใจโลกจนบิดเบี้ยวก็อาจสร้างปัญหาต่อคนอื่นๆ ได้
ในระดับเบื้องต้น ถ้าเราทบทวนตัวเองอย่างจริงจัง มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะรู้สึกดีกับตัวเอง ในฐานที่ว่าเราแอบรับรู้ว่าเออ เรานี่ก็พิเศษกว่าคนอื่น ดูดีกว่าชาวบ้านอยู่หน่อย โชคดีกว่านิดๆ ตัดสินใจทำอะไรก็คมคายเหมาะสม ชีวิตไม่เลว แน่นอนว่าการรับรู้โลกของเรานั้นมีความซับซ้อน นักจิตวิทยาเองก็ทำการศึกษาและอธิบายว่าเราเองมีวิธีการหลอกตัวเองอยู่เสมอกว่าที่เราจะได้ตัวตน มุมมองโลก เช่นในงานศึกษา Self-deception facilitates interpersonal persuasion ในปี ค.ศ. 2007 รวบรวมวิธีการหลอกตัวเองในการรับรู้โลกของเราว่ามีความโน้มเอียงที่จะเข้าข้างตัวเองไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับข้อมูลบางอย่าง การให้เหตุผลที่เราเลือกรับและเลี่ยงอย่างซับซ้อนเพื่อยืนยันความเชื่อเดิม
ตรงนี้เองนักวิทยาศาสตร์และนักจิตวิทยาจึงมองว่าการหลอกตัวเองเป็นพฤติกรรมและกลไกพื้นฐานของมนุษย์ เบื้องต้นการหลอกตัวเองที่ธรรมดาที่สุดคือการมองเห็นตัวเองใหญ่กว่าปกติ(self enhancement) โดยการที่เรามองตัวเองพิเศษใส่ไข่นั้นทำให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง ซึ่งการรู้สึกดีนั้นไม่ได้รู้สึกดีเปล่าๆ แต่มันจะเป็นตัวผลักดันให้มนุษย์ก้าวไปสู่ความสำเร็จใหม่ๆ และจุดที่น่าประหลาดใจคือนักจิตวิทยาพบว่าคนที่หลอกตัวเอง- มั่นใจในตัวเองมากๆ อาจนำไปสู่การสร้างการรับรู้พิเศษต่อคนอื่นได้(พูดอย่างฟังดูไม่ค่อยดีคือหลอกไปจนถึงคนอื่นด้วย ว่าคนนี้มันพิเศษนะ เก่งนะ ก้าวไปข้างหน้านะเป็นต้น)
การหลอกตัวเองสัมพันธ์กับคนอื่นกับ กับวิธีการที่ นั่นมันเรานี่นา
ทีนี้ ในงานศึกษาว่าด้วยการหลอกตัวเองที่มีมากมายก็มีงานศึกษาที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งชื่อ Social strategies in self-deception ที่งานศึกษานี้เสนอว่าไอ้การหลอกตัวเองไม่ได้เป็นแค่เรื่องภายใน แต่เป็นกระบวนการและกลยุทธ์ทางสังคมอย่างหนึ่ง คือไปสัมพันธ์กับคนอื่น สัมพันธ์กับการจัดการและรับรู้ในบริบทรอบๆ ของคนๆ หนึ่งด้วย
งานศึกษาชิ้นนี้นอกจากจะพูดเรื่องการหลอกตัวเองแล้ว ตัวงานศึกษายังค่อนไปในมิติทางปรัชญาและจริยศาสตร์ คือไปทำความเข้าใจว่าเรามีวิธีการรับรู้ความจริง เลือกสรรและจัดการมุมมองอย่างซับซ้อนมาก โดยหนึ่งในข้อมูลน่าสนใจคือการแยกแยะวิธีการหลอกตัวเองของเราในมิติเชิงสังคมที่นักวิจัยเสนอไว้สองลักษณะใหญ่ๆ คือการหลอกตัวเองทางสังคมด้วยการจัดวางตำแหน่ง(Situating Social Self-Deception) และการหลอกตัวเองด้วยการโน้มน้าว (Persuasive Social Self-Deception)
ฟังดูงง แต่ไม่งงแน่นอน เพราะเราเองก็อาจจะทำอยู่ การหลอกตัวเองด้วยการจัดวางตำแหน่ง ในแง่นี้คือการจัดวางตำแหน่งทางสังคมเพื่อเป็นการจำกัดหรือส่งเสริมการรับรู้บางอย่าง ในแง่นี้มิติทางสังคม คือการเข้าสังคม การเลือกกลุ่มทางสังคมที่เราจะไปคบหาสมาคมนั้นในที่สุดเป็นส่วนหนึ่งที่เรากำลังหลอก- การรับรู้ตัวเองและโลกในบางแง่ โดยภาพรวมเมื่อเราคบหากับคนที่คิดอะไรเหมือนๆ กัน ในที่สุดในการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เรามองว่าเป็นข้อเท็จจริงนั้น เราเองก็กำลังเก็บจากกลุ่มคนที่ค่อนข้างจำกัดและคิดไปในทางเดียวกัน ในแง่นี้สังคมจึงสัมพันธ์กับการบิดเบือนการรับรู้ ข้อมูลที่ไม่น่าพึงใจหรือไม่สอดคล้องกับมุมมองของเราจึงถูกตัดออกไปโดยปริยาย
กระบวนการหลอกอีกรูปแบบที่สัมพันธ์กับคนอื่น ตามชื่อคือการโน้มน้าว(persuade) การโน้มน้าวเป็นเหมือนการยืนยันความคิดด้วยการสร้างเงื่อนไขบางอย่าง โดยที่อันที่จริงแล้วเราเองเป็นคนวาง หรือโน้มโน้วคนอื่นให้คิดหรือตอบสนองไปในทางที่เราต้องการ เพื่อกลับมาโน้มน้าวใจหรือความเข้าใจของเราอีกที- ฟังดูงง ความซับซ้อนตรงนี้เกิดจากว่าเรามักคิดถึงตัวเราเองโดยผ่านว่าคนอื่นคิดกับเราอย่างไร แต่อันที่จริงการที่คนอื่นคิดกับเราอย่างไรนั้น มันก็มีการโน้มน้าวหรือวางเงื่อนไขบางอย่างที่เราเองทำ- เพื่อในที่สุด ยืนยันความคิดบางอย่างที่มีต่อตัวเราเอง
ในบทความวิจัยเสนอกระบวนการที่ค่อนข้างเรียบง่าย และใครๆ ก็ทำ เช่น นาย ก ไปเที่ยวมา แล้วถ่ายรูปมาเยอะเลย ในบรรดารูปนั้นมันก็มีหลายรูปที่นาย ก นั้นดูแย่ อืดบ้าง หน้าพังบ้าง นาย ก กลับมานั่งดูก็แอบเฟลกับตัวเอง แต่สิ่งที่นาย ก ทำ คือการคัดเลือกรูปดีๆ และทิ้งรูปพังๆไป อาจจะแต่งภาพบ้างอะไรบ้าง ก่อนที่จะโพสลงโซเชียล ผลคือเพื่อนก็ชื่นชมว่าภาพสวย นายแบบหล่อ ท้ายที่สุดแล้ว นาย ก ก็ที่จะเชื่อว่า เออ เรานี่มันหล่อจริงๆ
นาย ก นี่มันเราชัดๆ
การหลอกตัวเองเพื่อให้อยู่รอด กับกลยุทธ์ 4 รูปแบบ
นอกจากว่าเราเองจะมีการหลอกตัวเองบ้างเล็กๆ น้อยๆ ในกระบวนการหลอกตัวเองที่นักวิจัยสนใจคือวิธีการที่บิดหรือเลือกรับความจริงบางอย่างที่เกิดขึ้น ล่าสุดในปี 2022 ก็เพิ่งมีงานศึกษาจากทางแขนงปรัชญาร่วมจิตวิทยาในวิจัยชื่อ Self-deception in the predictive mind: Cognitive strategies and a challenge from motivation ตัวผู้วิจัยเสนอว่าการหลอกตัวเองนั้นเป็นกลยุทธ์ที่เราใช้รับมือความจริง ทำให้เราอยู่กับความจริงที่โหดร้าย หรือจัดการกับบางสถานการณ์ได้ ในงานศึกษาสนใจในมิติว่าช่วงวิกฤตินั้นการหลอกตัวเองมีบทบาทในการผลักดันให้เราทำหรือไม่ทำเพื่อเอาตัวรอดต่อสถานการณ์ต่อไปได้ผ่านการบิดการรับรู้เพื่อให้เข้ากับการตัดสินใจที่ค่อนข้างยาก
ในบริบทเช่นการระบาดของโควิดที่ผ่านมา ผู้วิจัยชี้ให้เห็นว่าการหลอกตัวเอง- ในแง่ดีมีบทบาทในการตัดสินใจเช่นการรับวัคซีนหรือไม่ ผู้วิจัยเสนอว่าตัวอย่างเช่นกรณีวัคซีน การหลอกตัวเองเล็กๆ เป็นสิ่งที่เราทำเพื่อเลือกในการรับวัคซีนในช่วงที่ความเข้าใจเรื่องผลของวัคซีนยังไม่ชัดเจน การหลอกตัวเองในแง่นี้คือการเลือกรับ และหยั่งความรู้สึกผ่านการจัดการความเสี่ยง การหลอกตัวเองในแง่นี้ทำให้เราลดการตอบสนองด้วยความตระหนกตกใจหรือ panic reaction ได้
ในงานศึกษาล่าสุดของปีนี้นั้นในงานวิจัยก็พูดถึงกระบวนการที่เราหลอกตัวอย่างซับซ้อน หลักๆ แล้วพูดถึงวิธ๊การที่จัดการ สร้าง ปฏิเสธ ตีความสิ่งต่างๆ เข้ามาเป็นข้อเท็จจริงที่มีความโน้มเอียง โดยเสนอไว้ 4 วิธีการ คือ
1. หลอกตัวเองด้วยการจัดเรียงความเชื่อขึ้นใหม่(reorganisationof beliefs)
ตรงนี้เป็นระบบการให้เหตุผลกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อชุบชูใจ หรือปฏิเสธความจริงบางแง่ นักวิจัยยกตัวอย่างคุณพ่อที่ลูกเรียนได้เกรดห่วย คุณพ่ออยากจะเชื่อว่าลูกไม่มีปัญหาก็อาจจะคิดว่าวิชานั้นไม่สำคัญหรือครูสอนไม่ดี
2. หลอกตัวเองด้วยการเลือกรับความจริงจากการกระทำที่เฉพาะเจาะจง(selecting facts through purposeful action)
พอแปลแล้วฟังดูยาก พูดง่ายๆ คือ การกระทำต่างๆ ของเราบางครั้งสัมพันธ์การรักษาความเชื่อ นักวิจัยยกตัวอย่างคุณพ่อคนเดิม เมื่อรู้ว่าลูกเกรดห่วย คุณพ่อก็อาจจะเลี่ยงความจริงด้วยการเลี่ยงสถานที่ต่างๆ ไม่ไปงานโรงเรียน หรือเดินหลบคุณครูเมื่อบังเอิญเจอ
3. หลอกตัวเองด้วยการปฏิเสธข้อเท็จจริงด้วยการสงสัยในความน่าเชื่อถือ(casting doubt on the credibility of the source)
เป็นวิธีการพื้นฐานที่เราทำกันในแว่บแรก คือไม่เชื่อไว้ก่อนเพราะข้อมูลยังไม่คอนเฟิร์ม เช่นลูกมาบอกก็อาจจะยังไม่เชื่อจนกว่าจะเห็นรายงานเกรดหรือได้คุยกับครู
4. หลอกตัวเองด้วยการตีความข้อเท็จจริงจากความคลุมเครือ(generating facts from an ambiguous state of affairs)
น่าสนใจที่ใช้คำว่าเราสร้างความจริงขึ้นจากความคลุมเครือ พูดง่ายๆ คือเรามีแนวโน้มจะดึงเอาแง่มุมบางอย่างที่มันถูกใจเราจากสิ่งที่ไม่ชัดเจน เช่นคุณพ่อคนเดิมพอได้มาคุยกับครูแล้ว ครูก็อาจจะเป็นคนดี พูดอ้อมๆ พูดด้วยความนุ่มนวล ในท่าทีที่ไม่ชัดเจนคือไม่บอกว่าลูกคุณมันไม่ได้เรื่อง คุณพ่อผู้หลอกตัวเองก็ตีความความสุภาพของครูว่าภาวะของลูกไม่ได้น่ากังวลอะไร ยังดีอยู่เนอะ
จากงานศึกษาทั้งสองชิ้นเรื่องการหลอกตัวเองนั้นทำให้เราอาจจะจับสังเกตตัวเองได้ว่า เราแอบหลอกตัวเองทั้งเพื่อให้เรามั่นใจและเติบโตต่อไป หรือกระทั่งในภาวะวิกฤติที่เราอาจจะไม่อยากออกไปข้างนอก แต่ก็บอกตัวเองว่าเราชอบอยู่บ้าน ไม่ไปร้านยาเพราะไม่อยากตรวจ atk ตรวจเจอแล้วก็เชื่อมั่นว่าไม่ติดนะทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าอาจจะไม่แม่น และอื่นๆ อีกมากมายที่เราให้เหตุผล เลือกรับความจริง จัดเรียงความรู้เพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ อย่างยอกย้อนและซับซ้อน
ท้ายที่สุดส่งท้ายว่า การหลอกตัวเองอาจเป็นสิ่งที่เราทำเสมอ แต่อย่างว่าระดับการหลอกตัวเอง บิดเบือนความจริงก็มีหลายระดับ ระดับที่บิดจนหลงอยู่ในโลกของตัวเอง และคิดว่านั่นคือโลกทั้งใบและสัจธรรมทั้งหมด ไปจนถึงการหลอกที่สัมพันธ์กับความเดือดร้อนของคนอื่นก็เป็นการหลอกตัวเองอีกระดับที่ไม่พึงประสงค์นัก
ด้านหนึ่งเมื่อการรับความจริงของเรามันมีการบิดเบือนอย่างซับซ้อน การตั้งคำถาม ย้อนคิด ทบทวนเพื่อเข้าใจตัวเองให้มากขึ้น เข้าใกล้ ‘ความจริง’ อีกซักนิดหนึ่ง ออกจากโลกลวงอีกก้าว หลายครั้งก็เป็นเรื่องจำเป็น
อ้างอิงข้อมูลจาก