“ปะโล้ง ปะโล้ง ปะโล้ง โปงฉึ่ง โป๊ฉึ่ง ฉึ่ง ฉึ่ง โปะ โป๊ะ ฉึ่ง” คุณอ่านข้อความนี้โดยไม่ใส่จังหวะได้ไหม?
และเป็นเหมือนกันไหมที่ได้ยินเสียงดนตรีแบบข้างต้นแล้ว อยากขยับส่ายจังหวะด้วยท่าปะแป้ง, ดึงดาว, แจกไพ่, ตากผ้า, แทงปลาไหล หรือเซิ้งด้วยท่าอะไรก็ตามที่มันไหลออกมาจากตัวคุณเหมือนน้ำพุที่พวยพุ่ง
และถ้าคุณคุ้นเคยกับดนตรีและท่าเต้นเหล่านี้ คุณน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘รถแห่’ มาอยู่บ้าง แต่เคยสงสัยไหมว่ามันคืออะไร มีที่มาอย่างไร และสำคัญอย่างไรกับวัฒนธรรมของสังคมไทย
The MATTER ได้แอบเข้าร่วมฟังบรรยายพิเศษในคาบวัฒนธรรมประชานิยม ของคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ในหัวข้อ “รถแห่: วัฒนธรรม(ประชาชน)บันเทิงของคนชั้นกลางใหม่” ซึ่งได้เชิญ จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ บัณฑิตปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำวิทยานิพนธ์จบการศึกษาเรื่องรถแห่เข้ามาร่วมบรรยาย
รถแห่ 101
จารุวรรณเริ่มต้นด้วยการเปิดคลิปวีดีโอจากแชนแนล Bodin Studio เสียงกลองชุดให้จังหวะ ขณะที่เบสเดินคุมตาม มือคีย์บอร์ดเริ่มพรมตามเมโลดี้ และมือกีตาร์ก็สาดเอฟเฟคอย่างต่อเนื่อง นักร้องทักทายผู้ชมจากชั้น 2 ของตัวรถที่กำลังโยกย้ายไปมาไม่ยั้ง นักดนตรีทั้งหมดนั่งอยู่รวมกันบนชั้นสองของรถรูปร่างคล้ายรถทัวร์ หรือที่รู้จักกันในปัจจุบันว่า ‘รถแห่’
รถแห่คันหนึ่งแบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือชั้นล่างห้องคนขับ และชั้นบนแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ห้องควบคุมซาวด์ และห้องที่เสมือนเวที โดยมักเปิดโล่งสองข้างเพื่อให้นักดนตรีเอนเตอร์เทนคนดู
สมาชิกบนรถแห่มีประมาณ 8-12 คน ได้แก่ คนขับ (มักเป็นเจ้าของวง) นักร้อง 2-4 คน (ชาย-หญิงสลับกันร้อง), มือกลอง, มือกีตาร์ 1-2 คน, มีเบส, มือคีย์บอร์ด และทีมโปรดัคชั่น (บางทีคนเดียวทั้งถ่ายรูปและวีดีโอ) สำหรับยูนิฟอร์ม ทีมรถแห่ไม่มียูนิฟอร์มตายตัว ใส่อะไรก็ได้ แต่บ่อยครั้งที่เป็นเสื้อวงของพวกเขาเอง
รายได้หลักของรถแห่มาจากการรับงานมหรสพ ตั้งแต่งานบวช, งานเกษียณ, งานแต่ง, งานการเมือง (เลือกตั้งท้องถิ่น) ตลอดจนงานบุญใหญ่อย่างบั้งไฟ ประเด็นนี้ จารุวรรณเปิดคลิปวีดีโอหนึ่งขึ้นมา เป็นภาพงานบวชบาทหลวงของศาสนาคริสต์ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสกลนคร ซึ่งมีการจ้างรถแห่ไปในงาน จารุวรรณชี้ว่านี่คือภาพสะท้อนว่าเสียงดนตรีอีสานและรถแห่ ได้ข้ามขอบเขตของสังคมที่ผูกพันธ์กับศาสนาพุทธไปแล้ว
“ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด คนอีสานก็มักม่วนเหมือนกัน” จารุวรรณกล่าว
นอกจากรายได้จากการรับงาน รถแห่ยังมีรายได้เสริมอื่น เช่น แชนแนลยูทูป หรือลวดลายบนรถแห่ โดยเฉพาะสติกเกอร์บนตัวรถที่ทำหน้าที่หลายอย่างทั้งบ่งบอกชื่อวง, รายละเอียดการติดต่องาน (เบอร์โทรศัพท์, คิวอาร์โค๊ด), ผู้สนับสนุน อาทิ เครื่องดื่มชูกำลังหรือห้างร้านท้องถิ่น (ค่าโฆษณาราว 10,000 บาท) รวมถึงคุณภาพเครื่องเสียงที่ใช้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความน่าเชื่อถือของรถแห่ต่อผู้เช่าด้วย
ประเด็นนึงที่น่าสนใจคือ รถแห่นิยมติดสติกเกอร์ของค่ายเพลงที่ตัวเองซื้อลิขสิทธิ์มา ซึ่งจารุวรรณมองว่า มันคือภาพสะท้อนความตระหนักในเรื่องลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบการอีสานยุคใหม่
ไม่ใช่เพียงคนรถแห่เท่านั้นที่มีส่วนร่วมในธุรกิจนี้ ความเติบโตของธุรกิจประเภทนี้ยังทำให้เกิดอาชีพใหม่ เช่น อู่ทำรถแห่ ซึ่งขึ้นชื่อมากในจังหวัดชัยภูมิ
เนื้อเดิมในไส้ใหม่ของรถแห่
บัณฑิตสังวิทย์อธิบายว่า รถแห่คือการปรับตัวของคณะดนตรีอีสาน โดยเฉพาะในด้านการเคลื่อนที่ จากเดิมที่เป็นกลุ่มนักดนตรีแห่กลองยาว หรือคณะหมอลำซิ่งที่ไปแสดงตามงานอีเวนท์ต่างๆ กลายเป็นกลุ่มนักดนตรีที่รถ = เวที ทำให้ไม่ถูกจำกัดด้วยการเดินทาง และเมื่อทำงานเสร็จสามารถขับรถกลับหรือไปต่องานอื่นได้เลย
ถึงแม้เพลงบนรถแห่จะถูกนำมารีมิกซ์ให้ ‘จ้วดจ้าด (สนุก – ภาษาอีสาน)’ และเหมาะกับการเต้นมากยิ่งขึ้น แต่ดนตรีบนรถแห่ยังคงเป็นดนตรีที่คงกลิ่นไอของความเป็นอีสาน ไม่ว่าตัวริทึ่ม, ภาษาถิ่น, เมโลดี้ ตลอดจนเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งมักใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนจ้างนักดนตรีมาเล่น
เทคโนโลยียังเข้ามามีส่วนอย่างมากในวงการเพลงอีสาน และส่งให้วัฒนธรรมรถแห่ได้รับความนิยม เปิดตลาดใหม่ และทำให้ทีมรถแห่กับลูกค้าติดต่อกันง่ายขึ้น
ในเฟซบุ๊กมีกลุ่มหนี่งที่ชื่อว่า ‘ชมรมรถแห่มโหรีดนตรีสด’ กลุ่มนี้สมาชิกมากกว่า 110,000 คน (ข้อมูลวันที่ 31 ส.ค. 65) ประกอบด้วย เจ้าของรถ, นักดนตรี/ นักร้อง, ผู้ชอบ ตลอดจนผู้จ้างงาน โดยการดีลรถแห่เกิดขึ้นในกลุ่มนี้หลายต่อหลายครั้งในช่องคอมเมนท์ และทำให้รถแห่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องผ่านคนกลางเหมือนกลุ่มหมอรำแต่ก่อน
กลุ่มดังกล่าวยังได้สร้างเครือข่ายทางสังคมที่แข็งรงของชุมชนรถแห่ขึ้น โดยพวกเขาได้มีการเลือกตัวแทนในกลุ่มเพื่อเจรจากับค่ายเพลงสำหรับลิขสิทธิ์ หรือเจรจากับภาครัฐเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นโดยเฉพาะประเด็นทางกฎหมาย
เทคโนโลยียังส่งให้ดนตรีอีสานกลายเป็นวัฒนธรรมป็อปในภูมิภาคอื่น ภาพที่สะท้อนชัดเจนคือ การแสดงคอนเสิร์ตรถแห่นอกภาคอีสาน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและกรุงเทพฯ ปริมณฑล คอนเสิร์ตรถแห่กลายเป็นอีกช่องทางสำคัญในการหารายได้ของคนรถแห่นอกช่วงฤดูบุญ (ช่วงเข้าพรรษา) ซึ่งแต่เดิมเป็นข้อจำกัดของนักดนตรีอีสาน โดยบัตรคอนเสิร์ตราคาอยู่ที่ 140-160 บาท และยังมีการขายของชำล่วยเช่นเสื้อผ้าหรือสติ๊กเกอร์จากกลุ่มรถแห่ และเปิดรับสปอนเซอร์อีกด้วย
รถแห่ = วัฒนธรรมป็อป
ยอดวิวคลิปรถแห่ในยูทูป เช่น คลิปโชค ไทรถแห่ จอดเล่นบ้านกำนัล ณ บุรีรัมย์ ที่มียอดวิวถึง 14 ล้าน เป็นภาพสะท้อนที่ดีถึงความนิยมของวัฒนธรรมรถแห่ และในปัจจุบัน เรายังได้เห็นการโดดเข้ามาร่วมวัฒนธรรมรถแห่จากกลุ่มนายทุนใหญ่ เช่น รถแห่ ไผ่ พงศธร หรือ รถแห่ ศิริพร อำไพพงษ์ ซึ่งความนิยมนี้เองได้สร้างรายได้ เพิ่มการจ้างงาน และโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับคนอีสาน พร้อมกับที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอีสานจากภาพจำที่ผูกติดกับความยากจน ให้กลายเป็นผู้มีเงินหรือชนชั้นกลาง
ขณะเดียวกัน รถแห่ยังเติบโตไปพร้อมด้านอื่นของอีสาน ไม่ว่าคุณภาพชีวิต, เทคโนโลยี, การศึกษา, ดนตรี ซึ่งสะท้อนผ่านเรื่องเล่าแบบใหม่ในเนื้อเพลง อาทิ ลิลลี่ชมสวน – จ๋า เกวลิน ที่พูดถึงสวนที่เต็มด้วยผลไม้หลากชนิด (เชอร์รี่, แอปเปิ้ล, อโวคาโด, ลิลลี่) กระเป๋ากุชชี่ หรือรถปอร์เช่ แทนความแห้งแล้ง ยากจน หรือวาทกรรมโง่ จน เจ็บที่เป็นภาพจำโบราณของคนอีสาน
ที่สำคัญ รถแห่ยังทำหน้าที่เป็นเสากระจายวัฒนธรรมอีสานให้ออกไปจากภูมิภาคอีสาน ซึ่งถ้าพิจารณาจากยอดวิวและภาพรวมทั้งหมด คงสรุปได้แล้วว่า รถแห่ = วัฒนธรรมป็อปเรียบร้อยแล้ว
รับฟังบรรยาย “รถแห่: วัฒนธรรม(ประชาชน)บันเทิงของคนชั้นกลางใหม่” ได้ที่: