ผู้มีบุญ ขบวนการต่อต้านอำนาจสยามที่รัฐไม่อยากให้จำ
ในยุคที่ใครหลายคนตระหนักได้ว่า ‘ประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะ’ การตามหารายละเอียดจากอดีตเพื่อทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ให้มากกว่าเรื่องเล่าหลัก จึงเป็นกระบวนการที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีมานี้ การตื่นตัวทางการเมืองเป็นผลประกอบการสำคัญซึ่งทำให้ประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยถูกพูดถึง ปรากฏอยู่ทุกตารางนิ้วของเรื่องเล่าในสังคม
เช่นเดียวกันกับเรื่องราวซึ่งทำให้คนจากหลายพื้นที่มารวมตัวกันในวันแดดแรงของเดือนเมษายนที่ใจกลางผืนนาจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อบอกเล่าถึง ‘กบฏผู้มีบุญ’ กลุ่มคนชาติพันธุ์ลาวซึ่งอาศัยในริมสองฝั่งโขง ที่ลุกขึ้นต่อต้านอำนาจสยามในช่วงการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จากการจัดการเก็บส่วยและควบคุมไพร่พลในพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขง และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสก็ยึดครองพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเช่นกัน
ผ่านมาจนถึง 120 ปี เรื่องกบฏผู้มีบุญถูกจัดให้อยู่ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและประวัติศาสตร์นอกกระแส ในขณะที่พื้นที่เกิดเหตุอย่างตำบลสะพือ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี กลายเป็นพื้นที่ที่คนในหมู่บ้านส่งต่อความทรงจำกันอย่างกระท่อนกระแท่น และจดจำเรื่องราวนี้ในฐานะประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านด้วยชื่อ ‘ศึกโนนโพธิ์’ เท่านั้น ชาวบ้านสะพือจึงร่วมกับนักวิชาการที่สนใจประเด็นนี้ สร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่กำลังถูกทำให้ลืม ได้กลับมามีพื้นที่ให้จดจำอีกครั้ง
กบฏผู้มีบุญกับแรงต้านความขัดสนและอำนาจที่ไม่เท่าเทียม
“ฟ้าแพงฝนฝูงคนสิอดตาย
สัตว์สาไม้สิลนไหม้
เหลือแต่ไหง่ขี้เถ้า
ศพสิเน่าเหม็นเอ้า
เฮาจังเว่าต้านจา
แซงฟ้าห่ากิน
ฟ้าบ่เบิ่งแงงหล้า
โลกาสิไหวหวั่น
เพิ่นมาแย่งยื้อเอาน้ำเอาสินไปบ่คืน
พี่น้องเอ๊ย
นับแต่มื่อนี่
นับแต่มื่อนี่ฝูงผีสิลุกยืน
ฝืนต้านซ่วงซิง
ปืนสิแนยิงขึ้นฟ้า
ผา หลาวสิเล็งใส่
ให้เจ้าฮู้สำนึกธรรม
ฟังเอาเด้อพี่น้อง
ฟังเอาเด้อพี่น้อง
บ่มีดิน บ่มีฟ้า
บ่มีหญ้า บ่มีฝน
บ่มีไพร่ บ่มีเจ้า
ให้อยู่นำกันให้เทียมทอ
คันบ่เป็นแนวนี่ สิจองฟ้าลงใส่ดิน
สิจองฟ้าลงใส่ดิน
คั้นเอาน้ำ
แท้เยอ”
(วิทยากร โสวัตร นักเขียนและกวี กล่าวในการแสดงของคณะราษฎรัมส์และ Ubon Agenda ถ่ายทอดเรื่องราวของกลุ่มผู้มีบุญในพื้นที่ประวัติศาสตร์ ท่ามกลางชาวบ้านมาร่วมการแสดงในงาน MEMORY OF SAPUE) #Ubonagenda Memory of SAPUE
ความหมายจากบทกวีนี้ สรุปใจความได้ถึงภาวะที่กบฏผู้มีบุญต้องเผชิญในยุคการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองเข้าสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการรวมอำนาจของสยามไม่ได้ดำเนินด้วยความยินยอมของคนทุกกลุ่มอย่างที่เราร่ำเรียนกันในหนังสือประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะการรวมเขตแดนในส่วนตะวันออกเฉียงเหนือ
ในหนังสือสังคมวิทยาอีสาน โดย สุภีร์ สมอนา กล่าวว่าเดิมทีพื้นที่ ‘อีสาน’ อย่างที่เรารู้จักกันนี้เป็นพื้นที่ที่มีคนหลายชาติพันธุ์อาศัยอยู่ หลังยุคเจนละ สยามประเทศมีอิทธิพลทางการเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ค่อยๆ ขยายอำนาจมาถึงพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนจะคุมหัวเมืองต่างๆ ได้ในช่วงรัชกาลที่ 3 แต่สยามยังคงให้เจ้าเมืองท้องถิ่นมีบทบาทหลักในการปกครองอยู่
เมื่อเข้าสู่รัชกาลที่ 5 เริ่มมีการรวบอำนาจเข้าสู่ยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์และแบ่งการปกครองใหม่ ในงานศึกษากบฏผีบุญ: กระจกสะท้อนสังคมไทย โดย รศ.ดร. สมมาตร์ ผลเกิด ระบุว่า ปี 2433 รัชกาลที่ 5 ปฏิรูปการปกครองโดยแบ่งพื้นที่ลาวที่ขนาบข้างกับแม่น้ำโขงออกเป็น 4 ส่วน คือ หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก (ศูนย์กลางอยู่ที่จำปาศักดิ์) ฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (ศูนย์กลางอยู่ที่อุบลราชธานี) ฝ่ายเหนือ (ศูนย์กลางอยู่ที่หนองคาย) และฝ่ายกลาง (ศูนย์กลางอยู่นครราชสีมา) มีข้าหลวงจากสยามเข้ามากำกับดูแลทั้ง 4 หัวเมืองก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้าควบคุมพื้นที่ลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้ในปี 2436
ปี 2434 เปลี่ยนการปกครองเป็นหัวเมืองลาวกาว หัวเมืองลาวพวน หัวเมืองลาวพุงขาว และหัวเมืองลาวกลาง ต่อมาในปี 2437 หลังจากเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส จึงเปลี่ยนการปกครองเป็นมณฑลลาวพวน (เช่น เมืองหนองคาย โพนพิสัย นครพนม มุกดาหาร สกลนคร ขอนแก่น) มณฑลลาวกาว (เช่น เมืองนครจัมปาสัก อุบลราชธานี เขมราฐ ยโสธร สุวรรณภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ขุขันธุ์ กาฬสินธุ์) และมณฑลลาวกลาง (เช่น เมืองนครราชสีมา ปักธงไชย นางรอง ชัยภูมิ บุรีรัมย์)
เมื่อแบ่งพื้นที่การปกครองใหม่ จึงได้ปรับตำแหน่งเจ้าเมืองใหม่ ยกเลิกตำแหน่งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร เปลี่ยนมาเป็นผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง ทั้งหมดนี้แต่งตั้งมาจากสยาม มีบ้างที่จะให้คนท้องถิ่นดำรงตำแหน่งนั้น แต่สยามจะเป็นผู้เลือกด้วยตัวเอง
การแบ่งการปกครองยังส่งผลไปถึงการกำหนดอัตราค่าส่วยและการจัดระบบเลกหรือไพร่ รวมถึงการจัดเก็บภาษีที่ให้คนจากส่วนกลางเดินทางมาเก็บโดยตรงเพื่อส่งไปที่กรุงเทพฯ ในหนังสืออุบลราชธานี 200 ปี ระบุว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ซึ่งเป็นข้าหลวงหัวเมืองลาวกาวได้ประกาศห้ามให้เจ้าท้องถิ่นเก็บเงินไพร่ และกำหนดอัตราการเก็บภาษีใหม่ในปี 2442 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ขึ้นอัตราภาษีชายฉกรรจ์จาก 3.5 บาทต่อปี เป็น 4 บาทต่อปี
เจ้าเมืองท้องถิ่นเกิดความไม่พอใจขึ้นจากการแบ่งเงินภาษีในจำนวนต่างจากเดิม กรมการเมืองผู้ใหญ่จะได้รับเงินเบี้ยหวัดเป็นรายปีและจะได้รับตามตำแหน่ง ผู้ว่าราชการได้ 8 อัฐ (ประมาณ 12 สตางค์) ปลัดเมืองได้ 4 อัฐ (ประมาณ 6 สตางค์) ยกกระบัตรเมืองได้ 3 อัฐ (ประมาณ 4.5 สตางค์) ผู้ช่วยราชการเมืองได้ 1 อัฐ (ประมาณ 1.5 สตางค์) และกรมการเมืองรองได้คนละ 2 อัฐ (ประมาณ 3 สตางค์) พระญาณรักขิต เจ้าคณะมณฑลอีสานและผู้อำนวยการศึกษาอีสาน ได้ระบุไว้ว่าข้าราชการหัวเมืองขัดสนกันมาก เพราะเสียเปรียบ
การลดอำนาจบทบาทของเจ้าเมืองท้องถิ่น และการเก็บส่วยที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนเพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและการค้าสัตว์ต้องผ่านกระบวนการของราชการสยามที่ยุ่งยาก จึงส่งผลให้ผู้นำบางคนออกมาตั้งกลุ่มต่อต้านสยาม โดยใช้แนวความเชื่อทางศาสนาและไสยศาสตร์มานำเสนอแนวคิด ทำให้เกิดการรวมกลุ่มชาวบ้านได้มากขึ้น
งานศึกษาเรื่องความเชื่อที่ปรากฏในขบวนการผู้มีบุญ พ.ศ. 2444-2445 กรณีศึกษากลุ่มองค์มั่น โดย รัตนกร ฉัตรวิไล อธิบายว่าในขบวนการผู้มีบุญขับเคลื่อนด้วยแนวคิด ‘พระศรีอารีย์’ รวมกับความเชื่ออื่นๆ ของคนในพื้นที่ เป็นแนวความเชื่อว่าพระศรีอาริย์ หรือพระศรีอาริยเมตไตรย จะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าเมื่อศาสนาพุทธที่คนยึดถือเข้าสู่ปีที่ 5,000 ในยุคนี้ทุกอย่างจะสุขสบาย มีความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นความหวังหนึ่งของชาวบ้านที่จะได้เห็นชีวิตที่ดีกว่าเดิม โดย ‘ผู้ที่จะมาสร้างสังคมใหม่นั้น ต้องเป็นผู้ปกครองคนใหม่ที่มีบุญบารมีมากกว่าผู้ปกครองคนเก่า การเกิดขบวนการผู้มีบุญทุกครั้ง จึงนำเอาความเชื่อดังกล่าวมาเป็นตัวเชื่อมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนเข้าร่วมขบวนการเพื่อต่อสู้ หรือต่อต้านความไม่ชอบธรรมในสังคม’
แนวคิดเหล่านี้ถ่ายทอดออกมาเป็นกลอนลำและจดหมายลูกโซ่ ซึ่งในเอกสารหอจดหมายเหตุ หจช. ม.2.18/11 กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ส่งสารถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า กลุ่มผู้มีบุญเดิมเป็นหมอลำส่งข้อความและสารต่างๆ ให้ประชาชนผ่านคำพญาหรือกลอนลำ ในขณะนั้น ขบวนการผู้มีบุญแบ่งออกเป็น 3 สายคือ สายหนึ่ง-ไปทางเดชอุดมและขุขันธ์ สายสอง-ไปทางศรีสะเกษและสุรินทร์ สายสาม-ไปทางเขมราฐ อำนาจเจริญ เกษมสีมา และอุบลราชธานี
หนังสืออุบลราชธานี 200 ปี ระบุว่ากองกำลังผู้มีบุญมี 3 กลุ่มคือ กองอ้ายบุญจัน มีกองกำลัง 6,000 คนในปี 2444 เนื่องจากกลุ่มผู้นำคือ อ้ายบุญจัน ซึ่งเป็นน้องชายพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ร่วมมือกับท้าวทัน บุตรพระยาขุขันธ์ และหลวงรัตน ซึ่งเป็นกรมการเมืองมาก่อนจึงเป็นที่รู้จักในชาวบ้าน
กองอ้ายเล็ก หรืออ้ายเหล็ก ตั้งกองกำลังที่บ้านหนองซำ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เมืองสุวรรณภูมิ โดยอ้ายเล็กขึ้นเป็นผู้นำกองในฐานะพระยาธรรมิกราช ได้เดินทัพและชวนให้ราษฎรเมืองกาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ และเสลภูมิไปรวมกับกองอ้ายมั่นที่อำเภอโขงเจียม
กองอ้ายมั่น หรืออ้ายมาน เคยร่วมมือกับองค์แก้วที่อยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้วตั้งทัพที่บ้านกระจีน เมืองเขมราฐ มีกองกำลัง 2,000 คน โดยมีอ้ายมั่นขึ้นเป็นผู้นำกองในฐานะองค์หาสาตรทอง
แนวทางทัพของกองกำลังผู้มีบุญเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จากการเข้าตีเมืองต่างๆ ซึ่งมีแผนที่จะเข้าตีเขมราฐ เกษมสีมา ตระการพืชผล และจะเข้าตีเมืองอุบลราชธานี ส่วนแผนการใหญ่นั้น องค์เลืองสน หัวหน้ากลุ่มผู้มีบุญกล่าวว่าจะตีเมืองทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเพื่อรวมเป็นราชอาณาจักรใหม่ โดยไม่อยู่ใต้อำนาจของกรุงเทพฯ และฝรั่งเศส
อย่างไรก็ตาม กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ในฐานะข้าหลวงจากส่วนกลางที่เข้ามาดูแลพื้นที่มณฑลอุบล ได้ส่งกองกำลังเข้าปราบปรามระหว่างที่กลุ่มผู้มีบุญเคลื่อนทัพและเข้าตีเมืองต่างๆ แต่ก็ยังไม่สามารถปราบปรามได้ จึงขอให้ส่วนกลางและเมืองนครราชสีมา ส่งทหารและอาวุธปืนมาปราบปราม พร้อมวางกองกำลังให้สกัดกลุ่มผู้มีบุญในพื้นที่ต่างๆ เพื่อชะลอไม่ให้ตีเข้าเมืองอุบลฯ สำเร็จ
หลังจากนั้นร้อยเอกหลวงชิตสรการ (จิตร) อดีตทหารปืนใหญ่และร้อยตรีอิน ได้นำกำลังทหารและพลเมือง พร้อมอาวุธปืน 100 กระบอกมาปราบกบฏ โดยในวันที่ 4 เมษายน ร้อยเอกหลวงชิตสรการได้ใช้กำลังปืนใหญ่ซุ่มยิงกลุ่มผู้มีบุญขององค์มั่น ในขณะที่กลุ่มผู้มีบุญมีมีด ดาบ หอก และปืนคาบศิลา จึงไม่สามารถสู้อาวุธของสยามได้ ทำให้มีคนถูกฆ่าตาย 200-300 คน คนที่ได้รับบาดเจ็บส่วนหนึ่งถูกจับไปที่ทุ่งศรีเมือง ในเมืองอุบลราชธานี บางส่วนที่หนีออกมาได้ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ก็สั่งการให้สืบจับกุมคนที่หนีหายไปหรือคนที่เคยสมรู้ร่วมคิดด้วย และได้สั่งประหารคนที่ตั้งตัวเป็น ‘องค์’ ต่างๆ
แม้ว่าการปราบปรามกลุ่มผู้มีบุญด้วยอาวุธในช่วงปี 2444-2445 จะถือว่าเป็นการกวาดล้างด้วยความรุนแรงที่ใหญ่ที่สุด แต่ก็ไม่อาจห้ามการลุกต่อต้านของผู้คนได้ทั้งหมด หลังจากนั้นกบฏผู้มีบุญยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงช่วงรัชกาลที่ 9
จดจำสะพือ: ปฏิบัติการทางความทรงจำและการสร้างอนุสรณ์สถาน
เมื่อเทียบเอกสารเรื่องเล่าเกี่ยวกับกบฏผู้มีบุญจากทางการและผู้วิจัยต่างๆ ชาวบ้านจดจำเรื่องราวในรูปแบบ ‘ศึกโนนโพธิ์’ เป็นพื้นที่ตั้งทัพของผู้มีบุญอยู่บริเวณ ‘โนนโพธิ์’ ในหมู่บ้านสะพือ ชาวบ้านหลายคนจำได้เพียงว่าผู้มีบุญเป็นเรื่องเล่าขานที่ผู้ใหญ่ส่งต่อถึงเด็ก ประกอบด้วยความกลัว ตำนาน และความเชื่อ มีเพียงชาวบ้านบางส่วนเท่านั้นที่พอจะรู้รายละเอียดถึงการต่อสู้ระหว่างกลุ่มผู้มีบุญกับส่วนกลาง
“เมื่อก่อนแม่ใหญ่จะไม่ให้ไปเล่นตรงนั้น เพราะมีคนเคยขุดเจอกระดูก และมีคนบอกว่าเคยมีแมงกุดจี่ไปกินซากศพตรงนั้นก็ไม่ให้ไปหาแมงกุดจี่ตรงนั้นมากิน ยายก็จำได้เท่านี้แหละลูกเอ๊ย” หญิงสูงวัยในหมู่บ้านเล่า
นราสิทธิ์ วงษ์ประเสริฐ อาจารย์สาขาวิชาภาษาอังกฤษและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลงพื้นที่สำรวจความทรงจำของชาวบ้านพบว่า นอกจากคำว่า ‘ศึกโนนโพธิ์’ แล้ว คำที่อยู่ในความทรงจำของชาวบ้านคือ ‘ผีหัวหล่อน’ หรือ ‘ไร่ผีหัวหล่อน’ หมายถึงพื้นที่ที่มีกะโหลกคน เนื่องจากมีการไถที่นาไปเจอกับกะโหลกนั่นเอง
ช่องว่างที่ชาวบ้านจดจำได้เพียงเหตุการณ์ตอนหลังจากการปราบปรามแล้วจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเติมเต็มและทำให้ถูกจดจำอีกครั้ง ในปี 2565 ถนอม ชาภักดี นักวิชาการและนักปฏิบัติการศิลปะ ร่วมกับนักวิชาการ นักเขียน และชาวบ้าน จัดทำโครงการสร้างอนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์ ซึ่งออกแบบโดย ศ.ดร. ชาตรี ประกิตนนทการ และพัชรพงศ์ กุลกาญจนาชีวิน เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาจดจำและศึกษาประวัติศาสตร์นี้อีกครั้ง
ปี 2565 เป็นปีแรกที่จัดทำบุญให้ขบวนการผู้มีบุญ ณ วัดศรีชมภู ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณโนนโพธิ์ มีการตั้งคณะกรรมการจัดสร้างอนุสรณ์สถานศึกโนนโพธิ์ มีชาวบ้านเข้ามาดูแลโดยเปิดบัญชีให้ผู้ที่สนใจสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนในการก่อสร้างสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้ ก่อนที่จะจัดปฏิบัติการศิลปะต่อเนื่องในตัวเมืองจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ความทรงจำของกลุ่มผู้มีบุญกระจายตัวถึงผู้คนในเมืองอุบลด้วย
ปี 2566 จึงเป็นปีที่ 2 ของการจัดงานทำบุญและปฏิบัติการศิลปะ แต่เป็นปีแรกที่ได้เชิญศิลปินจากพื้นที่ต่างๆ มาร่วมถ่ายทอดความทรงจำเป็นงานศิลปะและการแสดงโดยมีชาวบ้านมาร่วมปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสั้น หรือปฏิมากรรมเศียรพระ ศิลปินได้ร่วมกันสร้างชิ้นงานกับชาวบ้าน นอกจากนี้ชาวบ้านก็ยังคงเข้ามาชมและทำบุญต่อเนื่องจากปีที่แล้ว
“รูปทรงของอนุสรณ์สถานเปรียบเสมือนกลุ่มชาวบ้านที่รุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐส่วนกลาง (สื่อผ่านดาบที่ประกอบเข้าเป็นแคน) ที่แม้ว่าสุดท้ายจะถูกจับกุมและปราบปราม (สื่อผ่านขื่อคาโลหะ) แต่ก็ยังยืนหยัดโดยท้าทายต่ออำนาจที่เข้ามาจัดการ (สื่อผ่านตัวแคนโลหะที่พุ่งขึ้นสู่ฟ้าทะลุขื่อคาขึ้นไป)” ชาตรีอธิบายการออกแบบไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัว
“อนุสรณ์สถานแห่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องประวัติศาสตร์และตัวตนของผู้คนที่อยู่นอกการครอบงำทางประวัติศาสตร์และความทรงจำของรัฐส่วนกลาง” ชาตรีกล่าวสรุปในแนวคิดการออกแบบอนุสรณ์สถานนี้