“ความเงียบมีแค่ 6 ตุลาเท่านั้นไหม? ไม่ใช่ มันมีความเงียบมากมายที่ถูกอำนาจกดไว้ให้พูดไม่ได้ ความเงียบจากการอุ้มหาย ความเงียบจากการค้ามนุษย์ ความเงียบเหล่านี้ดังพอหรือยังในสังคมไทย”
ความเงียบแปลตรงตัวหมายถึง ภาวะที่ปราศจากเสียงดัง อื้ออึง หรือเสียงรบกวน หรืออาจแปลได้ว่าความไม่รู้ ไม่ทราบ ไม่ครอบครองคำตอบเลยไม่มีถ้อยคำใดหลุดจากปาก ขณะที่ความทรงจำเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ สิ่งที่คนๆ นั้นเคยผ่านพบ ทั้งสุข ทุกข์ เศร้า หรือเปรมใจ แต่ถ้าในระดับสังคมทรงจำนั้นจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ ที่ผู้อยู่ในสังคมจดจำร่วมกันและสร้างความเกี่ยวโยงกัน
แต่สำหรับ ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา และอดีตแกนนำนักศึกษาในสมัย 6 ตุลา 2519 ไม่ใช่ความทรงจำทุกอย่างที่จดจำแล้วจะถูกพูดออกมาได้ เพราะความจำบางอย่างถูกทำให้เงียบเสียงด้วยอำนาจ กฎหมาย ค่านิยม ตลอดจนบรรยากาศบางอย่าง เช่นเดียวกับความเงียบของนักเรียนที่รอฟังอาจารย์พูด
The MATTER สรุปคำบรรยายสาธารณะ “ประวัติศาสตร์ความเงียบ” อะไรคือประวัติศาสตร์แห่งความเงียบ ปัจจัยอะไรที่ทำให้คนจดจำมันได้ แต่รู้สึกร่วมกันว่าพูดไม่ได้ และปัญหาดังกล่าวจะนำไปสู่ปัญหาอะไรตามมาบ้าง
ทรงจำที่ไม่ลืม แต่ถ่ายทอดไม่ได้
ธงชัยเริ่มต้นด้วยการพูดถึงภาพยนต์ Memoria ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เขาเพิ่งดูก่อนขึ้นพูดในงานวันนี้ โดยหนังเรื่องนี้เล่าผ่านตัวเอกที่รับบทโดย ทิลดา สวินตัน ซึ่งในหนังเธอเดินทางไปสถานที่ต่างๆ พร้อมกับเสียง “Bang” ในหัว
นักวิชาการประวัติศาสตร์สะท้อนว่า เสียงดังกล่าวใน Memoria ดูเหมือนจะไม่ใช่ความทรงจำของตัวละครเอง แต่เป็นของคนอื่น ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ที่เป็นความทรงจำร่วมของสังคม ที่ผู้คนในสังคมเรียนรู้ต่อกันมา นอกจากนี้ ความทรงจำยังมีลักษณะคล้ายกับเสียงดังกล่าวในภาพยนต์ มันมีความฉาบฉวย แตกแยกสัดส่วน เป็นจิ๊กซอร์ชิ้นเล็กๆ แต่เมื่อผุดขึ้นมา ผู้ครอบครองย่อมจดจำมันได้เสมอ แม้จะผ่านมานานหรือกระจัดกระจายเพียงไร แต่ที่ยากคือการส่งต่อความทรงจำนั้นให้กับคนอื่น เพราะต้องอาศัยทั้งทักษะการเรียบเรียง ตีความ และสื่อสาร เช่นเดียวกับในสังคมไทย สังคมที่เต็มไปด้วยความทรงจำที่อึกทึกครึกโครม ต่างคนต่างจดจำเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นได้ เพียงแต่การส่งต่อบทสนทนาไม่เกิดขึ้น เพราะถูกจำกัดด้วยภาวะบางอย่าง
เขาเรียกภาวะดังกล่าวว่า “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 (การล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – ผู้เขียน) ที่ทั้งฝ่ายก่อการ, นักศึกษา หรือผู้มีอำนาจต่างจำมันได้ดี แต่ไม่มีใครอยากหยิบมาพูดถึง
“ภาวะ “ลืมไม่ได้ จำไม่ได้ลง” มันเป็น Limbo หรือภาวะกึ่งระหว่างสองสถานะของการลืมและการจำ ดังนั้น ความทรงจำที่ลืมไม่ได้ จำไม่ลง อยู่ตรงข้ามกับหนังของอภิชาติพงศ์ เพราะมันไม่สามารถส่งออกมาจากความจำได้ มันคือภาวะไร้ตัวตน (Nothingness) ที่ดำรงอยู่ เพียงแต่ส่งออกมาไม่ได้”
เขาอธิบายต่อว่าในช่วงแรก หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ฝ่ายก่อการมีความภูมิใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ ขณะที่ฝ่ายนักศึกษาหันหน้ามุ่งเข้าหาป่า แต่เมื่อวันเวลาดำเนินไป บริบทเปลี่ยน บรรยากาศแตกต่าง ความทรงจำต่อเหตุการณ์ดังกล่าวก็เปลี่ยนรูปแบบไปเช่นกัน
อดีตแกนนำนักศึกษาในวันนั้นอธิบายว่า หลังมีการออกคำสั่ง 66/ 2563 นิรโทษกรรมคนที่เข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. บรรยากาศในบ้านเมืองก็เริ่มเปลี่ยนไป สังคมร้องหาความสมานฉันท์ ทำให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์หลีกเลี่ยงจะพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว บวกกับสภาวะจิตใจของผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ยังคงความรู้สึกผิด (Guilty) ที่ “พาคนไปตาย” จึงพยายามไม่เอ่ยถึงเหตุการณ์ในวันนั้น และหลีกเลี่ยงพูดถึงปัญหาสังคมและการเมือง ยกเว้นถูกถามขึ้นมา
“ในขณะที่ฝ่ายที่เจ็บปวดก็ไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์นั้น (6 ตุลาคา 2519 – ผู้เขียน) ในที่สาธารณะ เพราะตื้นตันจากความเจ็บปวดที่สูญเสียเพื่อนฝูง คนที่รัก ทั้งในป่าและในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแม้อาจมีการพูดคุยกันบ้างในวงเล็กๆ แต่แทบไม่เคยพูดคุยกันนอกวง”
“และในคนรุ่นผมยังมีความรู้สึก Guilty ไม่อยากพูดถึงเหตุการณ์ที่แล้วมา ไม่อยากพูดถึงการเมือง เพราะเคยพาคนอื่นไปสูญเสียมามากแล้ว ดังนั้น คนเหล่านี้จึงเงียบ”
ธงชัยยอมรับว่าทุกวันนี้ความทรงจำต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาได้เคลื่อนตัวไปมากแล้ว แต่หากมองย้อนกลับไป มันสะท้อนว่าต้องใช้เวลากว่า 40 ปีทีเดียวที่ความทรงจำในเหตุการณ์นั้นจะสามารถพูดได้ถึงจุดนี้
ความอื้ออึงที่ถูกทับไว้ใต้อำนาจ
ธงชัยอธิบายต่อว่า เราสามารถมองความเงียบผ่านมิติของรัฐศาสตร์ได้ เพราะแง่หนึ่งความเงียบของสังคมต่อเหตุการณ์ไม่ปกติ สะท้อนว่ามีอำนาจบางอย่างกดทับมันอยู่ให้พูดไม่ได้ ถ้าพูดแล้วจะอันตราย จึงควรพูดถึงเรื่องอื่นที่ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งมากกว่า
เขายกตัวอย่างความเงียบที่เกิดเพราะอำนาจอุดปากไว้ อาทิ ความเงียบในปรากฎการณ์ถูกอุ้มหาย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่้เต็มไปด้วยกฎหมายความมั่นคง ความเงียบในธุรกิจค้ามนุษย์ ที่ทำให้ ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญาปี 2558 ที่ต้องลาออกจากราชการตำรวจและขอลี้ภัยไปออสเตรเลีย ความเงียบเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นเพราะอำนาจบางอย่างกดทับไม่ให้มีเสียงออกมา
เขาเน้นหนักที่แวดวงสื่อมวลชน ที่มีหน้าที่พูดคุยกับสาธารณะวันละหลายชั่วโมง กลับยิ่งเลวร้ายที่ “จำยอม” หรือ “สมรู้ร่วมคิด” ต่อความเงียบและอำนาจที่กดไว้ และเลือกพูดในสิ่งอื่นที่ไม่สำคัญ หรือสำคัญกับสังคมน้อยกว่าแทน
“คนในวงการสื่อมวลชน นักข่าว บก.ข่าว คุณเงียบจนพอหรือยัง สื่อมีเวลาพูดคุยกับสาธารณะเป็นชั่วโมง แต่กลับไม่มีเสียงอะไรออกมาเลย วงการสื่อมวลชนจำยอมหรือสมรู้ร่วมคิด หรือเคยชินจนสมรู้ร่วมคิดต่อความเงียบที่เกิดขึ้นจากอำนาจแล้วหรือเปล่า”
ภาพกลับของความเงียบคือคำปลอบประโลม
ธงชัยตั้งข้อสังเกตว่า ที่ทุกวันนี้สังคมไทยเรียกร้องหาการปลอบประโลม ทั้งจากป้ายข้อความส่งกำลังใจในที่สาธารณะ หรือการกระทำของผู้อื่น อาทิ การวิ่งของ ตูน – อาทิวราห์ คงมาลัย ซึ่งไม่ได้แปลว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ผิด เพียงแต่เป็นภาพสะท้อนว่าสังคมไทยหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาถึงโครงสร้างฐานราก แต่เลือกจะปลอบประโลมและเยียวยาตัวเองมากกว่าแก้ปัญหา
“ทุกวันนี้บิลบอร์ดบ้านเราเต็มไปด้วยข้อความให้กำลังใจ ซึ่งสังคมที่ต้องการของพวกนี้มักจะมีอาการร่วมกันคือ “ไม่วิพากษ์วิจารณ์” เพราะรู้ว่ามันจะนำภัยมาสู่ตัว เลยช่วยกันคิดบวกไว้ก่อน”
“สังคมที่ต้องการคำพูดปลุกขวัญกำลังใจคือ สังคมที่กลบเกลื่อนความเงียบที่อึดอัดสารพัด กลบเกลื่อนความพิการของสังคมที่ซ่อนอยู่ เพราะในสังคมปกติเขาจะพูดถึงปัญหา แล้วร่วมกันแก้มันต่างหาก”
ถอดความเงียบให้เป็นเสียงพูด
“ความทรงจำไม่ได้มีแต่เสียง แต่เต็มไปด้วยความเงียบสารพัดชนิด ซึ่งถ้าเราศึกษาจะเข้าใจสภาพสังคมได้ชัดเจนมากกว่านี้”
ธงชัยเชื้อเชิญให้สังคมไทยหันมามองความทรงจำที่ถูกทำให้เงียบอยู่สังคมไทย มองมันให้ชัด ศึกษาเพื่อนำพาสังคมออกจากปัญหาที่ถูกซุกไว้มากมายในปัจจุบัน มิฉะนั้น เหตุการณ์รุนแรงและเลวร้ายอาจเกิดขึ้นอีกครั้ง
“ถ้าเราไม่ตระหนักถึงความเงียบที่เราอยู่ทุกวัน และหาทางคลี่คลายออกมาให้ได้ เราคงเลี่ยงการระเบิดไม่พ้น และวันนั้นมันคงดังลั่น”
“และได้แต่หวังว่าการระเบิดจะนำไปสู่การกำเนิดครั้งใหม่ของสังคมปกติ ที่พูดถึงปัญหาได้อย่างตรงไปตรงมาสักที” เขาทิ้งท้าย
สามารถรับฟังบรรยาย “ประวัติศาสตร์ของความเงียบ” ได้ที่:
https://www.facebook.com/tusocant/videos/489236806044478
Illustrator By Waragorn Keeranan