เคยไหมครับ? ชอบเขาแต่เขาไม่ชอบเรา ชอบแล้วก็เลิ่กลั่กไม่รู้จะทำตัวยังไง ถามเพื่อน เพื่อนก็ไม่ได้รู้ดีไปกว่าเรา ถามผู้ใหญ่ เขาก็ยิ้มขำ ถามกูรูก็เห็นๆ อยู่ว่าเราไม่ได้รูปร่างหน้าตาบุคลิกดีแบบเขา สุดท้ายก็ได้แต่ทอดถอนใจว่าเราคงต้องชวดรักอกหักอีกแล้ว
กลับมามองที่วิชา ‘เพศศึกษา’ ในโรงเรียนที่สอนเราเรื่องการป้องกันตัวไม่ให้ติดโรค ไม่ให้ท้อง แต่ไม่ได้สอนให้เราป้องกันตัวจากการอกหัก ทั้งๆ ที่มันเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญที่สุด เป็นเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดที่สุด สิ้นหวังที่สุด ในชีวิตของใครหลายๆ คน ถ้าคุณเคยรู้สึกไม่มีเสน่ห์ สิ้นหวังที่จะมีคู่ ไม่รู้จะทำตัวยังไงให้เขาสนใจ อย่ามัวโทษตัวเองครับ โรงเรียนคุณก็มีส่วนผิด เพราะโรงเรียนไม่ได้สอนคุณให้มีเสน่ห์
ผมใช้คำว่า ‘เสน่ห์’ ในความหมายหยาบๆ ที่หมายถึงคุณสมบัติที่ทำให้ผู้อื่นอยากเข้าใกล้ อยากใช้เวลาด้วย อยากเป็นคู่ครอง บางคนอาจทักว่าผมพูดเรื่องไม่จำเป็น เสน่ห์ตามธรรมชาติก็เกินพอแล้ว แค่ว่าบางคนอาจจะต้องล้มลุกคลุกคลานหน่อย แต่ในที่สุดทุกคนก็หาคู่ได้เองแหละ
ซึ่งทั้งหมดนั้น ไม่จริงเลยครับ
เสน่ห์ตามธรรมชาติก็พอ?
อาจจะจริงครับว่าในที่สุดทุกคนก็หาคู่ได้ แต่เรารู้ได้แน่ๆ ว่าหลายๆ คนไม่ได้รู้สึกแบบนั้น เป็นเรื่องปกติที่วัยรุ่นจะปรึกษาเพื่อน (ที่ก็ไม่ค่อยรู้อะไร) อ่านนิตยสาร ฟังไลฟ์โค้ช (ที่ก็ไม่รู้ว่าอันไหนเชื่อถือได้ อันไหนไม่เหมาะกับตัว) หรืออย่างน้อยที่สุดก็ยึดสื่ออย่างหนัง ซีรีส์ การ์ตูน เป็นพระคัมภีร์ (โดยไม่รู้ว่าหลายๆ คู่ไม่สมจริง ใช้อ้างอิงไม่ได้ หรือเป็นความสัมพันธ์ที่ดูสนุก ต้มมาม่าได้ซี้ดปาก แต่จริงๆ เจ็บปวดรวดร้าวมาก)
เพราะฉะนั้น อย่างน้อยคนกลุ่มนึงก็มองว่าสิ่งที่เขามีตามธรรมชาตินั้นยังไม่พอ เขาต้องออกไปหาเพิ่ม และแหล่งที่เขาเข้าถึงได้ง่ายก็ไม่ค่อยน่าเชื่อถือ กระนั้น บางคนอาจจะแย้งว่าแม้มันจะมีปัญหานี้จริง แต่เกี่ยวอะไรกับการสอนของโณรเรียน โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ทางวิชาการ แต่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องวิชาการ ดังนั้นนี่ไม่ควรเป็นพื้นที่ของโรงเรียน
ซึ่งก็อยากบอกว่า ไม่จริงเลยครับ
ลองคิดดูนะครับว่าถ้าครูเลข ครูวิทย์ ครูสังคม ครูศิลปะ ครูคอมฯ ครูไทย ครูสุขศึกษา และครูพละ ร่วมกันทำวิชาสร้างโปรไฟล์หาคู่ออนไลน์ ครูเลขสอนการวัดความนิยมของโปรไฟล์น่าเชื่อถือทางสถิติ ครูวิทย์อธิบายเชิงทฤษฎีวิวัฒนาการว่ารูปร่างหน้าตาที่ได้รับความนิยมมีเหตุผลทางชีวภาพอย่างไร ก่อนที่ครูสังคมจะวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ร่วมกับครูศิลปะว่าค่านิยมเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงและหลากหลายมากกว่าที่เราคิดผ่านภาพวาดและภาพถ่ายในยุคก่อนๆ จากนั้นครูศิลปะและครูคอมฯ ก็มาสอนเทคนิคการถ่ายภาพ และการตัดต่อเพื่อให้นักเรียนเห็นว่าช่องว่างระหว่างตนเองกับคนหน้าตาดีอาจจะไม่ได้กว้างขนาดที่หลายๆ คนกลัว ครูภาษาไทยอาจช่วยตั้งข้อสังเกตเรื่องการเขียนคำประกอบในโปรไฟล์แล้วทำเวิร์กช็อปการเขียนโปรไฟล์แนะนำตัวที่สะท้อนเสน่ห์ของนักเรียนแต่ละคนออกมา ก่อนที่ครูสุขศึกษากับครูพละจะช่วยกันพูดถึงการมีรูปร่างในอุดมคติของนักเรียนเพื่อป้องกันการลดน้ำหนักที่อันตราย ส่งเสริมการออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ
มันจะไม่มีประโยชน์ทางวิชาการได้อย่างไร? นักเรียนได้เรียนรู้สถิติ ทฤษฎีวิวัฒนาการ ประวัติศาสตร์ความงามและศิลปะ การจัดองค์ประกอบและตัดต่อภาพ ทักษะการสำรวจจุดเด่นของตัวเองและการเขียนเล่านำเสนอตัวเอง ธรรมชาติของกล้ามเนื้อ ไขมัน และน้ำหนักตัว เรื่องเหล่านี้ล้วนไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่เป็นวิชาการที่มีประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและการต่อยอดในอนาคตทั้งสิ้น อย่างน้อยที่สุด พวกเขาได้ทักษะการสื่อสารที่ดี และไม่ถูกหลอกให้ทดลองยาหรือเทคนิคการคุมน้ำหนักที่อันตราย
อย่างไรก็ตาม บางคนอาจจะกังวลว่าแม้มันจะมีประโยชน์ทางวิชาการ แต่นี่น่าจะไม่ใช่วิชาการที่โรงเรียนควรเข้าไปดูแล เราไม่ควรเอาเรื่องพัฒนาเสน่ห์เข้ามาอยู่ในพื้นที่ของโรงเรียน ปัญหาคือ ผมไม่ได้นำเสนอให้เราเอามันเข้าไปในโรงเรียนครับ
มันอยู่ในโรงเรียนอยู่แล้ว
โรงเรียน : พื้นที่พัฒนาเสน่ห์ของนักเรียน
ปัจจุบันนี้โรงเรียนเป็นพื้นที่พัฒนาเสน่ห์ของนักเรียนอยู่แล้ว เพียงแต่พวกเขาเรียนมันจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น เพื่อน นิตยสาร นิยาย YouTube ฯลฯ
โดยเพื่อนก็เป็นคนวัยเดียวกับเขา ก็อาจจะลองผิดลองถูกไปด้วยกัน นิตยสาร นิยาย และโซเชียลมีเดียอาจจะมีคำตอบดีๆ รออยู่ แต่คำตอบเหล่านั้นอาจจะเป็นคำตอบที่ไม่เหมาะกับเขาก็ได้ อาจจะเป็นคำตอบที่แก้ปัญหาให้คนบางคนได้ แต่ใช้ไม่ได้เลยกับอีกคนก็ได้ เพราะมันเป็นคำตอบแบบเหมารวม ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อเขา ซึ่งถ้าพูดถึงตรงนี้ หลายคนคงจะทักว่า “นี่ไงๆ เราจึงควรให้เป็นเรื่องของที่บ้าน จะมีใครรู้จักเด็กดีไปกว่าพ่อแม่เขาเอง?” อาจจะจริงครับ แต่เราคาดหวังให้ผู้ปกครองรู้ทันทุกเรื่องของวัยรุ่นไม่ได้ ทว่าเราคาดหวังให้ผู้ชำนาญการรู้ทันบางเรื่องของวัยรุ่นได้
เราสามารคถคาดหวังให้ครูศิลปะรู้ทันแฟชั่นของวัยรุ่น มองออกว่าคนรูปร่างแบบหนึ่ง ผิวแบบหนึ่ง จะเหมาะกับการแต่งตัวแบบไหน ตัดผมทรงไหนได้ ทักษะการมองแบบนี้คือสิ่งที่ครูศิลปะสามารถถ่ายทอดให้เด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราสามารถคาดหวังให้ครูภาษา ดูหนังรักที่กำลังมาแรงในหมู่วัยรุ่นได้ เราคาดหวังให้ครูสามารถอธิบายให้ชัดเจนได้ว่าความสัมพันธ์ที่ปรากฏในหนังเป็นความสัมพันธ์ที่ดี หรือเป็น toxic relationshi
เราสามารถคาดหวังให้ครูวิทย์ ครูสังคม และครูเลข ร่วมกันสอนทักษะการใช้เหตุผล การคิดวิพากษ์กลั่นกรองว่าคำแนะนำที่ปรากฏตามสื่อต่างๆว่าน่าเชื่อถือหรือไม่
ซึ่งก็อาจจะมีคำถามอีกว่าโรงเรียนควรเป็นกลางในเรื่องชีวิตส่วนตัวพวกนี้ จริงๆ ทั้งหมดที่ว่ามาก็ไม่ได้เสนอให้โรงเรียนไม่เป็นกลาง เพราะโรงเรียนเองก็ไม่ได้เป็นกลางแต่แรกแล้ว
เพศศึกษาในฐานะวิชาที่ให้ข้อมูลเชิงชีววิทยาอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับทุกฝ่าย
หลายๆ คนคงช็อกหากโรงเรียนสอนว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นแค่กระบวนการทางชีวภาพที่ไม่มีความหมาย เราอยากจะมีอะไรกับใครก็ได้ขอแค่อีกฝ่ายยินยอม เด็กนักเรียนจะมีอะไรกับครูที่แต่งงานแล้วก็ไม่แปลก สังคมคงออกมาโวยวายหากครูสอนแบบนี้ ซึ่งแปลว่าเราไม่ได้พอใจกับวิชาเพศศึกษาที่ให้แค่ข้อมูลเชิงชีววิทยา เราต้องการอะไรมากกว่านั้น อาทิ จริยธรรมเบื้องต้น
หลายๆ คนคงตอบว่า ใช่ ต้องสอนจริยธรรมเบื้องต้นด้วย แต่ก็จบแค่นั้นพอ นอกจากนี้ไม่ใช่พื้นที่ของโรงเรียนแล้ว
ถึงอย่างนั้นหลายๆ คนก็น่าจะอยากให้โรงเรียนสอนมากกว่าจริยธรรมด้วยเหมือนกัน เช่น สอนการยอมรับในตนเอง เพราะมองว่าถ้าโรงเรียนไม่สอนให้เกย์ยอมรับตัวเองว่าเป็นเกย์ แล้วปล่อยให้เกย์คนนั้นหลอกตนเองไปจนอายุ 35 แต่งงาน มีลูก แล้วค่อยตระหนักได้ว่าเป็นเกย์จริงๆ เลยหย่า เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่เพศศึกษาน่าจะสอนหรือไม่
หรือหลายๆ คนก็อาจจะคิดแตกต่างกันก็ได้นะครับ เช่น บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับการสอนเรื่องเกย์ มองว่าวิปริตผิดธรรมชาติ ในขณะที่อีกกลุ่มมองว่าต้องสอนให้เกย์ภาคภูมิใจในความเป็นเกย์ด้วยซ้ำ
ประเด็นคือ ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายนี้ โรงเรียนต้องตัดสินใจ การเลือกสอนเรื่องคนรักเพศเดียวกันหรือไม่ สอนอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ไม่เป็นกลางแล้ว อย่างน้อยถ้าเราเข้าใจว่าการเป็นกลางหมายถึงไม่ตัดสินคุณค่า ไม่เข้าไปสอนคุณค่า ปล่อยให้แต่ละบ้านสอนกันเอง แต่ละคนเรียนรู้เอง
เรื่องเสน่ห์ก็เหมือนกัน การที่โรงเรียนไม่สอนเรื่องเสน่ห์ก็เป็นการตัดสินใจแล้ว มันเป็นการตัดสินใจว่า ‘การมีเสน่ห์’ เป็นเรื่องไร้สาระ ไม่วิชาการ ซึ่งหมายความได้ว่าเรื่อง ‘วิชาการ’ กับ ‘การมีเสน่ห์’ เป็นเรื่องที่แยกขาดออกจากกัน และแปลว่าเราเรียนหนังสือเพื่อเรียนต่อ จะได้หางานเท่านั้น
ซึ่งชวนคิดต่อไปว่าโรงเรียนกำลังทำให้เรื่องวิชาการกลายเป็นของไม่มีประโยชน์หรือไม่
เพราะการสร้างอัตลักษณ์ของตัวเองเป็นสิ่งที่สอนกันได้
อีกคำถามที่หลายคนอาจจะสงสัยคือ การสอนเพศศึกษาแบบนี้จะทำให้ทุกคนเหมือนๆ กันไปหมดหรือเปล่า ดูเหมือนอัตลักษณ์จะเลือนหายไป เหลือแต่คนมีเสน่ห์ที่คล้ายๆ กันไปหมด
แต่ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องตรงกันข้ามเลยครับ เพราะว่าการเรียนการสอนแบบนี้ต่างหากที่จะสร้างความหลากหลายที่แท้จริง ในความเป็นจริง นักเรียนเลียนแบบคนอยู่แล้ว เขาอาจจะเลียนแบบคนใกล้ตัวที่เขานับถือ หรือคนไกลตัวอย่างเซเลบ
ปัญหาคือการเลียนแบบเหล่านี้ไม่ได้เป็นการเลียนแบบจากการไตร่ตรองแล้วว่าสิ่งที่เลียนแบบมานั้นดีงาม เหมาะสมกับตัวเอง หลายๆ ครั้งเป็นการเลียนแบบเพราะเห็นว่าเขาทำแล้วดูดีเลยทำบ้าง อาทิ เห็นว่าเขาถ่ายเซลฟี่แบบนั้นแล้วดูดีเลยถ่ายตาม หารู้ไม่ว่าใบหน้าตัวเองไม่เหมาะกับองศาแบบนั้น ถ่ายมาเลยดูไม่ดี แล้วพาลคิดว่าตัวเองหน้าตาแย่
เพศศึกษาที่กำลังพูดถึงนี้ไม่ใช่การสอนสูตรสำเร็จสากล แต่เป็นการสอนวิธีการคิด การทำความเข้าใจ ทำความรู้จักตนเอง
นักเรียนจะเข้าใจอย่างถูกต้องว่าเขาสามารถเป็นคนมีเสน่ห์ สามารถพัฒนาเสน่ห์ได้ โดยไม่ต้องเป็นแบบเซเลบ ไม่ต้องเอาเซเลบที่ดังที่สุดมาเป็นมาตรวัดหรือเส้นชัย สามารถเห็นเสน่ห์ของคนผิวคล้ำ คนเตี้ย คนหน้าไม่สมมาตร ไม่ว่าจะเป็นเขาเอง หรือคนอื่น
แน่นอนว่าผู้สอนต้องรู้จัก ต้องเข้าใจนักเรียนดีพอสมควรจึงจะสามารถช่วยให้นักเรียนตระหนักในเรื่องเหล่านี้ได้ และหลายๆ คนก็อาจจะมองอีกว่า “มันฟังดูดีมากเลยนะ แต่มันทำจริงไม่ได้รึเปล่า”
ทำได้สิครับ
ยกตัวอย่าง ครูศิลปะควรให้คำแนะนำที่มีประโยชน์เกี่ยวกับการแต่งตัวได้ ครูภาษาไทยควรให้คำแนะนำที่มีประโยชน์เรื่องการหาประเด็นแชทได้ ครูสุขศึกษาควรให้คำแนะนำเรื่องการคุมน้ำหนักได้ดีกว่าคนทั่วไป
ซึ่งไม่ได้แปลว่าว่าครูศิลปะต้องแต่งตัวดีกว่าครูคนอื่นๆ แต่เขาควรจะมีความรู้ความสามารถที่ทำได้ (การไม่ทำเป็นสิทธิ์ของเขา)
ทีนี้ ถ้าบอกว่าครูทำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ มันชวนตั้งคำถามนะครับว่าเรามัวเรียนอะไรกันอยู่? หรือถ้าบอกว่าครูไม่พร้อม ต้องเตรียมการสอนก่อน อันนี้ในฐานะอาจารย์ ผมเห็นด้วยครับ แม้จะเป็นเรื่องความชำนาญของเราโดยตรง แต่ครูบาอาจารย์ก็ควรได้เวลาเตรียมการสอนสักเล็กน้อย
ปัญหาคือเราไม่ได้คิดกันแต่แรกด้วยซ้ำว่านี่เป็นเรื่องที่ควรสอน อย่าว่าแต่เตรียมการสอนเลย บางคนอาจจะอธิบายว่า มันทำได้ แต่คงทำได้ไม่ดี โรงเรียนบางโรงเรียนใช้ครูคนเดียวสอนเด็กหลายร้อยคน ให้เข้าไปทำความรู้จักขนาดนั้นไม่ได้หรอก
ก็จริงครับ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรเริ่ม ไม่ควรทำอะไรเลย ตรงกันข้าม เราควรจะเริ่มพัฒนาให้คนรุ่นใหม่ได้เจอชีวิตที่ดีกว่ารุ่นเราต่างหาก
เวลาเราเห็นเด็กผู้ชายแกล้งเด็กผู้หญิงที่ชอบ เพียงเพื่อให้เธอหันมาสนใจเขาบ้าง เราอธิบายว่าทั้งคู่ยังเด็ก ยังไม่รู้อะไร ยังแสดงออกไม่ถูก ฉันก็เคยเป็น โตมาถึงรู้ นั่นก็เพราะเราโตกันแล้ว เราเดินถางพงหญ้า ล้มลุกคลุกคลาน เจ็บกันมามากแล้ว ทำไมเราถึงปล่อยให้ลูกหลานเราเริ่มเดินถางพงหญ้าใหม่จากศูนย์ ทำไมไม่ให้เขาเดินตามหลังเรามาสบายๆ ก่อนจะมอบมีดพร้าให้เขากรุยทางให้กับคนรุ่นต่อไป ทำไมเราจะอยากให้เขาบาดเจ็บแบบเดียวกับที่เราเคยบาดเจ็บ?
ในชีวิตนี้ ยังมีอะไรน่ายินดีไปกว่าการได้เห็นพวกเขา ผู้ที่เราเคยปกป้อง เดินไปได้ไกลกว่าเราอีก?
อ้างอิงข้อมูลจาก
Ruensiri, Teerabhat. ‘Invitation to Reduce Stress in Adolescents: Rethinking Sex Education Interdisciplinarily’. The 2nd International Conference on Applied Liberal Arts (ICAA2019), 2019, pp. 322–28.