: แก คือชั้นมีเรื่องจะปรึกษาว่ะ
: ว่าไง เรื่องอะไรหรอ
: ก็แบบ (มองซ้ายขวา พร้อมหรี่เสียงจนแทบจะกระซิบ) เรื่อง ‘อย่างว่า’ อะ
: อย่างว่านี่อย่างไหนอะ
: ก็อย่างว่าอะแก เวลาผู้ชายผู้หญิงเขา ‘ทำอันนั้น’ กันอะ
: อันนั้นแล้วอันไหนเล่า
‘เซ็กซ์’ หนึ่งพยางค์สั้นๆ ง่ายๆ แต่ทำไมยากที่จะพูด แม้จะเป็นกิจกรรมหนึ่งในชีวิต เมื่อมนุษย์เข้าสู่ช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่ง แต่ทำไมเราถึงอายที่จะคุยกันตรงๆ
เมื่อเราอายจะพูดคุย ‘เรื่องอย่างว่า’
ในบ้านเมืองที่มี sex worker มีอยู่แทบทุกย่านแต่ปิดตาทำเป็นมองไม่เห็น วิชาสุขศึกษาเน้นสอนแต่ให้รู้จักรักนวลสงวนตัว และการซื้อขาย sex toy ยังคงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเราไม่กล้าพูดคุยเรื่องเซ็กซ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะสังคมขัดเกลาให้เราอยู่ออกห่างจากมันให้ได้มากที่สุด
ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่เกิดจากการที่พ่อกับแม่มีเซ็กซ์กัน
แต่เมื่อหยิบเรื่องเซ็กซ์ขึ้นมาเป็นท็อปปิกในวงสนทนา
กลับถูกมองว่าเป็นคน ‘ทะลึ่ง’ หรือ ‘หมกมุ่น’
โดยเฉพาะการพูดคุยกับคนใกล้ตัว พ่อ แม่ ผู้ปกครอง เข้าใจว่าตัวลูกเองก็คงไม่กล้าเดินไปปรึกษาพวกเขาเมื่อมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น เพราะกลัวจะถูกซ้ำเติมมากกว่าให้คำแนะนำ ส่วนคนเป็นผู้ปกครองคงจะเข้าใจดีว่าถ้าจู่ๆ ลูกหลานเดินมาถามเรื่องการมีเซ็กซ์ ตัวเองก็คงจะอ้ำอึ้งอยู่ไม่น้อย ไม่รู้จะตอบว่าอะไรเลยเลือกที่จะบอกปัดไปว่า “ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องรู้ ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงานไปก่อน”
แต่การไม่เคยหยิบเรื่องนี้มาพูดคุยหรือปรึกษาใครเลย บางครั้งก็นำไปสู่การมีเซ็กซ์แบบผิดๆ หรือความเชื่อประหลาดๆ เช่น จะต้องทำแรงๆ เท่านั้นอีกฝ่ายถึงจะถึงจุดสุดยอด หรือที่อีกฝ่ายครางแปลว่าอีกฝ่ายมีความสุข ทั้งๆ ที่มันมีพฤติกรรมที่เรียกว่า fake orgasm หรือการแกล้งเสร็จอยู่ เหล่านี้ไม่เคยถูกพูดถึงในตำราสุขศึกษาที่เราร่ำเรียนกันมา หากแต่อยู่ในวงสนทนาแบบ deep conversation ที่บางครั้งอาจจะต้องยกเบียร์สัก 2-3 แก้ว ถึงค่อยรู้สึกกล้าที่จะพูดมากขึ้น
ซึ่งถ้าหากเรามีพื้นที่ปลอดภัยพื้นที่หนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องละลายพฤติกรรมอะไรมากนัก ผู้คนก็ยินดีที่จะเปิดใจพูดคุยเรื่องเซ็กซ์กันอย่างไม่เขินอาย ก็น่าจะทำให้หลายคนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น
‘พื้นที่สบายใจ’ ให้เรากล้าจะแลกเปลี่ยน
การพูดคุยเรื่องเซ็กซ์ยังคงเป็นเรื่องลำบากใจที่จะพูดออกมาท่ามกลางสาธารณะ แต่ในเมื่อเซ็กซ์ก็ยังคงเป็นหนึ่งในกิจวัตรที่เราทำอยู่บ่อยๆ ไม่ต่างจากการช้อปปิ้ง สังสรรค์ ดูหนัง หรือออกกำลังกาย กิจกรรมที่เราทำเพื่อกระตุ้นให้สารเคมีแห่งความสุขหลั่งออกมา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องมี ‘พื้นที่’ ที่ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูลและสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้บ้าง ซึ่งก็ถือว่าในระยะหลังมานี้มีพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นอยากเห็นได้ชัด อย่างเพจ echo ที่มักจะทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเซ็กซ์บ่อยๆ เช่น รีวิวเซ็กซ์ทอย ดาราหนังโป๊ การช่วยตัวเองและการเสร็จของผู้หญิง เป็นต้น
เมื่อเซ็กซ์ก็ยังคงเป็นหนึ่งในกิจวัตรที่เราทำอยู่บ่อยๆ
ไม่ต่างจากการช้อปปิ้ง สังสรรค์ ดูหนัง หรือออกกำลังกาย
กิจกรรมที่เราทำเพื่อกระตุ้นให้สารเคมีแห่งความสุขหลั่งออกมา
จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องมี ‘พื้นที่’ ที่ใช้แลกเปลี่ยนข้อมูล
และสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้บ้าง
และจากการเข้าร่วมกลุ่ม ‘เพศ’ (ก่อตั้งโดยเพจ SPECTRUM) บนเฟซบุ๊กมาเป็นระยะเวลาเกือบปี ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งที่ให้ผู้คนเข้ามาถามตอบ พูดคุย และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และก็ได้เห็นว่าจริงๆ แล้วปัญหาเรื่องเพศของผู้คนนั้นมีหลากหลายมิติมาก ตั้งแต่สุขภาพ สุขอนามัย การมีเพศสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ ไปจนถึงสุขภาพจิต ไม่ใช่ชุมชนของคนที่หมกมุ่นจะมีเพศสัมพันธ์อย่างที่ใครเข้าใจผิด
“มีความต้องการทางเพศวันละ 3-4 รอบ แบบนี้ถือว่าปกติมั้ย?”
“แฟนชอบถามเร่งว่าใกล้เสร็จยัง ทำให้หมดอารมณ์ไปต่อ มีวิธีแก้ไขยังไงบ้าง?”
“เราเป็นคนเดียวหรือเปล่าที่ไม่ชอบให้แฟนออรัลเซ็กซ์ให้?”
“แฟนไม่ยอมทำการบ้านเลย มีวิธีคุยกันยังไงบ้าง?”
เมื่อเรามองเซ็กซ์ให้เป็นพาร์ตหนึ่งหรือกิจกรรมหนึ่งในชีวิต คำถามเหล่านี้ก็คงไม่ต่างอะไรไปจาก “intermittent fasting ช่วยให้เราลดน้ำหนักได้ยังไง” “ร้านนั่งชิลร้านไหนน่าโดนที่สุดในช่วงนี้” หรือ “คิดเห็นอย่างไรกับภาพยนตร์ใหม่ที่กำลังเป็นกระแส” เพราะจุดหมายปลายทางคือเราต้องการเพียงแค่ ‘คนแนะนำ’ หรือ ‘คนแลกเปลี่ยน’ ในประเด็นที่เราไม่กล้าพูดกับคนทั่วๆ ไป เพราะถูกสั่งสอนมาแต่อ้อนแต่ออกว่าเป็นเรื่องที่น่าอาย ไม่ควรพูดในที่สาธารณะ
นอกจากกลุ่มเพศที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีชุมชนออนไลน์ที่กระจัดกระจายอยู่ในแพลตฟอร์มอื่นๆ อีก เช่น ในทวิตเตอร์ซึ่งมีแอคเคาท์ @thaiconsent และ @sexasweseeit ที่มักจะทวีตเนื้อหาเกี่ยวกับการมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัย หรือการสำรวจความยินยอมของตัวเองในการมีเซ็กซ์อยู่เรื่อยๆ และด้วยแพล็ตฟอร์มทวิตเตอร์ที่หลายคนนิยมใช้รูปโปรไฟล์ที่ไม่ระบุตัวตนที่แท้จริง จึงทำให้พวกเขากล้าจะเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่างๆ มากขึ้น
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือคลิปบน YouTube ซึ่งเป็นโซเชียลที่มีอัตราการใช้งานจากคนไทยเพิ่มขึ้นทุกปีๆ ทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์หลายคน ต้องการใช้ช่องทางนี้ทลายกำแพงค่านิยมเดิมเกี่ยวกับเซ็กซ์ เช่น ลองให้เด็ก 10 ขวบใส่ถุงยาง! ของช่อง ช็อคเกอร์บอย ที่ถ่ายทอดให้เราเห็นว่าเด็กชั้นประถมศึกษายังคงมีความเชื่อและความรู้ผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์หรือถุงยางอยู่ หรือ ‘let’s talk จิมิโกะ ของช่อง let’s girl ที่หยิบเอาความลำบากที่คนมีจิ๋มมักจะเจอมานำเสนอ เพราะฉะนั้น หากช่องเหล่านี้นำเสนอความรู้และข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แน่นอนว่าจะส่งผลต่อการรับรู้ของคนทุกเพศทุกวัยได้เป็นอย่างดี
หรืออย่าง Clubhouse แพล็ตฟอร์มใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน แต่นับว่าโด่งดังระดับหนึ่งในโซเชียลมีเดีย เป็นห้องแชตที่ผู้ดูแลห้อง (moderator) จะต้องกำหนดหัวข้อหนึ่งขึ้นมา แล้วผู้ฟัง (audience) ก็สามารถเลือกเข้าไปฟังในห้องไหนก็ตามที่ตัวเองสนใจ หรือจะยกมือขอเป็นผู้พูด (speaker) ในประเด็นนั้นๆ ก็ได้ ทำให้แพล็ตฟอร์มนี้เกิด consent ระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง เพราะการกดเข้าไปในห้องสนทนาใดสักห้อง นั่นแปลว่าเรายินดีจะรับฟังเนื้อหานั้นๆ ด้วยตัวเองโดยไม่มีใครบังคับ
แล้วเราก็ได้ไปเจอกับห้องสนทนาหนึ่งชื่อ ‘คุยทรามยามดึก 18+’ ไม่ต้องเดาก็คงจะรู้ว่าข้างในพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องอะไร แต่บรรยากาศในนั้นกลับดูผ่อนคลายกว่าที่คิด แม้เราจะเป็นเพียงผู้หญิงไม่กี่คนในห้องนั้นก็ตาม
ส่วนเนื้อหาในห้องสนทนานี้ ด้วยความที่ตอนเริ่มห้องนั้นมีแต่ผู้ชายซะส่วนใหญ่ ทำให้ปัญหาหลักๆ ที่นำมาพูดคุยปรึกษากัน มีแต่เรื่องของผู้ชายทั้งนั้น เช่น “ช่วยตัวเองบ่อยขนาดนี้ถือว่าผิดปกติมั้ย” “ไม่ชอบมีอะไรกับแฟนแต่ชอบใช้มือมากกว่าทำยังไงดี” ซึ่งในนั้นก็จะมีแพทย์ท่านหนึ่งคอยให้คำแนะนำในเชิงหลักการและทฤษฎี และมีกลุ่มผู้ฟังและผู้พูดอีกจำนวนหนึ่งคอยรับฟังและให้คำปรึกษาด้วยเช่นกัน
ซึ่งคำแนะนำของคนในห้องสนทนารวมไปถึงแพทย์ท่านนี้นี่เอง คือปัจจัยหลักที่ทำให้ห้องสนทนาดังกล่าวกลายเป็นพื้นที่สบายใจ เพราะไม่ว่าจะมีคนพูดถึงพฤติกรรมทางเพศที่แปลกประหลาดแค่ไหน ก็ไม่มีใครมีท่าทีเหมือนจะรังเกียจหรือตัดสินเลยสักคน พร้อมทั้งให้คำแนะนำเชิงปลอบประโลมว่า “ไม่แปลกครับ ผมเองก็เป็นเหมือนกัน คุณอาจจะเป็นโรคติดมือเฉยๆ” “คุณรู้จักวัฒนธรรม nofap มั้ย (การตั้งปณิธานว่าจะไม่ช่วยตัวเองภายในระยะเวลาที่กำหนด) จริงๆ แล้วการไม่ช่วยตัวเองก็ไม่ได้แย่เลยนะ เพราะมันทำให้เรามี self-concentration มากขึ้น เพราะเราตั้งใจจะทำตามเป้าหมายหนึ่งให้สำเร็จ” อะไรทำนองนี้ เพื่อไม่ให้คนถามรู้สึกแย่กับตัวเอง หรือคิดผิดที่เปิดประเด็นนี้ขึ้นมา
แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่ง ผู้ดูแลห้องก็พูดว่า “เห็นมีแต่ผู้ชายมาสักพักแล้ว ผู้หญิงสามารถยกมือขึ้นมาร่วมคุยกับพวกเราได้นะครับ เรามา normalize เรื่องเซ็กซ์กันเถอะ” ทำให้เราสังเกตเห็นว่าแพล็ตฟอร์มนี้อาจจะกลายเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่ผู้คนยินดีจะเข้ามาปรึกษาและเปิดใจพูดคุยกันเรื่องเซ็กซ์ได้แบบที่เขินอายน้อยลง
บางคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าสิ่งที่ตัวเองเป็น ใครๆ ก็เป็นกันได้ ไม่ใช่เรื่องผิด
บางคนไม่เคยรู้มาก่อนว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อมาตลอดนั้น อาจไม่ถูกต้องเสมอไป
จึงเป็นเหตุผลที่เราควรจะนำประเด็นนี้เข้าสู่พื้นที่สาธารณะมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เพื่อลดความกังวล ความอึดอัดภายในจิตใจของตัวบุคคล
แต่คงจะดีไม่น้อยถ้าหัวข้อนี้ย้ายจากสื่อกระแสรองหรือสื่อทางเลือก มาสู่สื่อกระแสหลักมากขึ้น แต่ถ้าพูดถึงสื่อกระแสหลักที่ช่วยสนับสนุน sex talk ซีรีส์เรื่อง ‘Sex Education’ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการส่งข้อความบอกกับคนดูว่า การเปิดใจพูดคุยเรื่องเซ็กซ์กับคนอื่นบ้างก็ดีเหมือนกันนะ เพราะในซีรีส์เราจะเห็นว่ามีวัยรุ่นจำนวนมากที่บอบช้ำจากปัญหาเรื่องเซ็กซ์ แต่ไม่ได้ถูกรับฟังหรือไม่มีช่องทางในการรับฟังเท่าที่ควร
จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเอก (ซึ่งเป็นนักเรียนไฮสคูลทั่วไป) ได้เปิดธุรกิจรับปรึกษาเรื่องเซ็กซ์ในพื้นที่ลับของโรงเรียน ด้วยความรู้ที่เขาสั่งสมมาและท่าทีการรับฟังอย่างความเห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสิน จึงเปรียบเสมือนการเปิดประตูต้อนรับผู้คนที่เข้ามาใช้บริการอย่างเต็มใจ ให้พวกเขารู้สึกอยากที่จะเล่าประสบการณ์ของตัวเอง โดยไม่สนว่าเรื่องนั้นจะน่าอายขนาดไหนก็ตาม เพราะนอกจากพื้นที่สบายใจจะหมายถึงบริบททางกายภาพแล้ว ยังหมายถึงตัวบุคคลที่น่าไว้วางใจอยากจะพูดคุยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การที่บอกให้เปิดใจกับประเด็นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะเที่ยวไปล้วงลับประสบการณ์เซ็กซ์ของใครแบบอุกอาจ หรือเดินดุ่มๆ เข้าไปถามว่า “เธอๆ ยังซิงอยู่หรือเปล่า” “ชอบเอากับแฟนท่าไหนเหรอ” อะไรแบบนั้นได้ เพราะการสนทนาเรื่องเซ็กซ์ก็เหมือนกับการมีเซ็กซ์ ที่จำเป็นจะต้องมี consent ของคนทั้งสองฝ่ายเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้บทสนทนานั้นลื่นไหลและเป็นพื้นที่สบายใจมากที่สุด
เมื่อสังคมมีพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น จนเซ็กซ์กลายเป็นเรื่องที่พูดคุยได้อย่างไม่กระอักกระอ่วนใจ เรื่องต้องห้ามบางเรื่องในสังคมไทย อย่างการใช้เซ็กซ์ทอย การมีคู่นอนแต่ไม่ใช่คู่ใจ การช่วยตัวเองของผู้หญิง หรือการมีเซ็กซ์แบบไม่ตรงตามสูตรสำเร็จของหนังโป๊ เหล่านี้ก็อาจจะถูกปลดล็อก และกลายเป็น ‘เรื่องปกติ’ ไปในที่สุด (ถึงแม้เดิมทีมันควรจะเป็นเรื่องที่ปกติอยู่แล้วก็ตาม)
Proofread by Pongpiphat Banchanont
Illustration by Kodchakorn Thammachart