การบ้านเยอะจัง ขอลอกการบ้านหน่อยได้มั้ย ทำไม่ทันเลย
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องปริมาณการบ้าน ในความทรงจำของเราตอนเด็กๆ เราต้องแบกการบ้านเป็นกองๆ เพื่อกลับไปทำที่บ้าน ยอมรับเถอะว่าการบ้านมักจะเป็นเรื่องที่เราเบื่อ เรียนก็เรียนมาทั้งวันแล้ว ทำไมกลับบ้านยังจะต้องไปนั่งทำการบ้านกันต่อละเนี่ย
ใครนะเป็นคนช่างคิดว่า นักเรียนที่ดีแค่เรียนในห้องไม่พอ แต่ต้องกลับไปนั่งๆ นอนๆ ทำแบบฝึกหัดต่อที่บ้าน จริงๆ เป้าหมายหนึ่งของการสั่งการบ้านคือเด็กๆ จะได้กลับไปทบทวนฝึกฝนและไม่ลืมสิ่งที่เพิ่งเรียนไป แต่ระยะหลังๆ สังเกตได้ว่า ทำไมระบบการศึกษายิ่งโต การบ้านของนักเรียนดูจะยิ่งเยอะขึ้นตามกาลเวลา แล้วตกลงการให้การบ้านเยอะๆ จะทำให้เด็กๆ เรียนดีขึ้นจริงรึเปล่า หรือการบ้านที่เยอะเกินไปจะบั่นทอนความสามารถและความสนุกในการเรียนรู้กันแน่
การบ้านจากศตวรรษที่ 17
เชื่อกันว่าแนวคิดเรื่องการบ้านเริ่มต้นจากนักการศึกษาชาวเช็กในศตวรรษที่ 17 ชื่อ John Amos Comenius อาจารย์ Comenius บอกว่าการเรียนหนังสือต้องเป็นระบบ ต้องมีการฝึกฝน ดังนั้นเขาเลยบอกว่าการบ้านเป็นสิ่งจำเป็นในการเรียนการสอน จริงๆ มองย้อนกลับไป การเรียนในยุคโบราณก็มีการให้โจทย์กลับไปทบทวนโดยเฉพาะพวกวิชาว่าด้วยวาทศิลป์ต่างๆ แบบว่าเรียนแล้ว ก็กลับไปฝึกพูด ฝึกปาถกฐามาซิ
ช่วงศตวรรษที่ 19 ถือเป็นจุดกำเนิดจริงจังของการสั่งการบ้านพร้อมๆ กับระบบการศึกษาสมัยใหม่ Roberto Nevilis ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้คิดค้นการบ้านขึ้นในปี ค.ศ. 1905 และในตอนนั้น เขาคิดการบ้านขึ้นมาก็เพื่อเป็นบทลงโทษลูกศิษย์ หลังจากนั้น การสั่งการบ้านก็ค่อยๆ ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก
ห้วงศตวรรษที่ 19 นั่นเองที่ระบบการศึกษาปรับมาเป็นระบบสมัยใหม่และการบ้านเข้าเป็นส่วนสำคัญของการศึกษา การบ้านกลายเป็นจุดเปลี่ยนผ่านจากบทเรียนหนึ่งไปสู่อีกบทเรียนหนึ่ง พอจบบทเรียน ก็ต้องมีการบ้านเพื่อให้เด็กๆ กลับไปทดสอบและทบทวนบทเรียนที่เรียนไป ในช่วงนั้นการบ้านสำหรับเด็กๆ ถือว่ายังมีไม่มาก นึกภาพว่าสมัยก่อนเด็กๆ มีอะไรต้องทำ มีงานบ้าน ภาระทำกินต่างๆ การที่ต้องเจียดเวลาไปเข้าโรงเรียนก็กินเวลาแล้ว ดังนั้นครูจะสั่งการบ้านมากก็ไม่ได้ เพราะเด็กๆ ไม่มีเวลาทำ
มีงานวิจัยในปี ค.ศ. 2007 จาก University of Michigan พบว่า ยิ่งนานวันเข้า การบ้านของหนูๆ ก็ยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ เช่น พบว่าเด็กๆ อายุ 6-9 ขวบในยุคสมัยใหม่ใช้เวลาทำการบ้านมากกว่า 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ในช่วงปี ค.ศ. 1981 เด็กๆ ในยุคนั้นใช้เวลาแค่ 44 นาทีต่อสัปดาห์เท่านั้นเอง
สู้เพื่อการบ้านที่น้อยลง
คำว่า ‘การบ้านเยอะ’ พ่อแม่หรือใครหลายคนคงพอจำได้ว่า เยอะนี่เยอะจริงๆ ขนาดในสหรัฐที่การบ้านน้อยกว่าไทย ทางสหรัฐฯ เองก็มีกระแสที่บอกว่า เฮ้ย! การบ้านเยอะไปแล้ว การบ้านที่เยอะเกินไปมันอาจจะไม่ดีกับเด็กๆ ก็ได้ แต่นักการศึกษาบอกว่ายังไงก็ต้องมีการบ้านแหละ ซึ่งก็มีกฏกว้างๆ กฎหนึ่งเรียกว่ากฏ ’10 นาที’ หลักคิดเบื้องต้นคือเชื่อว่ายิ่งเด็กเล็กๆ ยิ่งควรใช้เวลาทำการบ้านน้อยๆ คือ เด็กเกรด 1 ควรใช้เวลา 10 นาทีต่อคืนในการทำการบ้าน แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นเป็น 20 – 30 – 40 ในช่วงชั้นถัดๆ ไปจนไปสิ้นสุดที่มัธยมว่าควรใช้เวลาทำการบ้านประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน
แต่เจ้ากฎ 10 นาทีก็ถูกท้าทายโดยนักการศึกษา ไปจนถึงแนวคิดที่ผู้ปกครองมีกับการศึกษายุคใหม่ด้วย Alfie Kohn ผู้เขียนหนังสือ Homework Myth ชวนตั้งคำถามกับเจ้าการบ้านที่เด็กๆ ต้องทำว่า ถ้าการบ้านมันกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อ การบ้านก็ดูจะเป็นส่วนที่ทำให้เด็กๆ ไม่สนุกกับการเรียนรู้ เป็นเรื่องของการบังคับ แถมแนวคิดเรื่องการบ้านยังสะท้อนความคิดที่ว่า การเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนกันทั้งวันอาจไม่พอ นอกจากนี้การบ้านอาจจะส่งผลต่อการใช้เวลาของเด็กๆ กับครอบครัว เสียโอกาสที่จะพัฒนาทักษะอื่นๆ (นอกจากการตอบคำถามตามโจทย์และทบทวนสิ่งที่เรียนมา) ทักษะเช่น การคิดเชิงวิพากษ์ พัฒนาการทางสังคม การคิดเล่นเห็นต่างกับเรื่องสารพัดในโลกนี้
ในแง่ของพ่อแม่ยุคใหม่ ไม่ว่าจะในชนชั้นไหนก็ดูเหมือนว่าเริ่มเห็นความสำคัญของการใช้เวลาที่พ้นไปจากเรื่อง ‘วิชาการ’ จนเริ่มตั้งคำถามกับการบ้าน เช่นว่า การบ้านที่ได้มันมากเกินไปมั้ย อยากมีเวลาให้ลูกๆ ไปทำกิจกรรมเรียนรู้หรือใช้เวลาร่วมกันบ้าง ในขณะที่บางพื้นที่เช่นที่ที่อาจจะมีความลำบากทางเศรษฐกิจ เด็กๆ บางคนต้องทำงานหาเลี้ยงช่วยเหลือครอบครัวด้วย การบ้านที่มากเกินไปก็ดูจะเป็นภาระที่ทับลงไปบนชีวิตเด็กๆ หนักเกินไปหน่อย
ข้อโต้แย้งบางข้อเกี่ยวกับเรื่องการบ้านนั้นก็มีการเทียบประเทศที่มีการบ้านเยอะกับประเทศที่มีการบ้านน้อยว่าแต่ละประเทศนั้นเด็กๆ ทำข้อสอบระดับชาติได้ผลสัมฤทธิ์มากน้อยแค่ไหน ผลสรุปโดยรวมมักชี้ไปว่า ประเทศที่มีการบ้านน้อย เช่น ญี่ปุ่นหรือเดนมาร์ก เด็กๆ กลับทำข้อสอบวัดผลระดับชาติได้ผลสัมฤทธิ์ดีกว่า ในขณะที่ประเทศที่มีการบ้านเยอะๆ เช่น ประเทศไทยและกรีซกลับมีคะแนนทดสอบต่ำกว่า ซึ่งจริงๆ สถิติแบบนี้ก็อาจต้องดูดีๆ เพราะอาจเป็นเรื่องการกระจายตัวทางการศึกษา ที่ปัญหาของประเทศด้อยพัฒนาอาจจะไปวัดกับประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้
การบ้านดูจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนการสอน แต่ปัญหาคือเรื่องของปริมาณ ไปจนถึงรูปแบบการให้การบ้านที่ช่วยพัฒนาให้เด็กๆ คิด และกระตุ้นให้นักเรียนสนุกที่จะกลับไปเรียนรู้และขบคิดไปจนถึงทำงานสร้างสรรค์ร่วมกันต่อไป การบ้านในโลกดิจิทัลดูจะเป็นเรื่องท้าทายและสนุกสนาน และจะว่าไปสำหรับหลายครอบครัว การนั่งทำการบ้านร่วมกันก็ดูจะเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาของครอบครัวไทยที่เราคุ้นเคยกันดี
อ้างอิงข้อมูลจาก