เด็กๆ บางคนอาจจะชอบวิชาพละ อย่างน้อยก็เป็นคาบหนึ่งที่ทำให้เราได้อู้จากการเรียน ได้ออกมาจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมอันแสนน่าเบื่อ บางคนก็สนุกกับวิชานี้ แต่สำหรับบางคน คาบพละเป็นอะไรที่แสนจะเกลียด และคาบพละอาจจะไม่ได้มาตรฐานสำหรับทุกคน
จริงอยู่ว่าในประเด็นของการให้การศึกษา จะเน้นไปที่การให้การศึกษาแต่สติปัญญาไม่ได้ โฆษณาบอกไว้ ใจพร้อมแล้วกายต้องพร้อมด้วย ดังนั้นการฝึกฝนร่างกายจึงเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการศึกษาทั่วไป คาบพละจึงดูจะเป็นสวรรค์ของเด็กกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่อีกกลุ่มก็เป็นยาขมไปเลย ซึ่งในโลกของโรงเรียนก็เหมือนกับห่วงโซ่อาหาร มีทั้งเด็กแข็งแรงและเด็กที่อ่อนแอ หลายครั้งคาบพละก็กลายเป็นโอกาสของการล่าและการกลั่นแกล้งกันอย่างที่เรามักจะเห็นฉากการรังแกในห้องล็อคเกอร์ ไปจนถึงการปาบอลอัดหน้ากัน (ยอมรับเถอะตอนเด็กๆ ก็มีบ้างแหละ)
นอกจากการล่ากันเองแล้ว บางทีผู้สอนเองก็อาจจะลืมเรื่องความหลากหลาย หลายครั้ง เหล่าคุณครูสายโหดอาจจะเผลอนึกไปว่าเด็กทุกคนต้องแข็งแรงเหมือนกัน สามารถฝึกฝนต่อเนื่องได้ เด็กๆ บางคนพาลเกลียดวิชาพละและการออกกำลังกายก็เพราะรู้สึกโดนดูถูกกดดันว่า เฮ้ย ทำไมแค่นี้ทำไม่ได้ เพื่อนยังทำได้เลย
แน่นอนว่าการพัฒนาร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการศึกษา และคาบพละเองดูจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่กระตุ้นให้เด็กๆ มีกิจกรรมขยับร่างกาย เพราะการเล่นกีฬาร่วมกันย่อมนำไปสู่การพัฒนาทักษะและศักยภาพด้านอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย มีงานศึกษาที่พยายามอธิบายว่าทำไมเด็กถึงเกลียดคาบพละ และไม่นำไปสู่การพัฒนาทางร่างกาย เช่น เด็กก็ยังอ้วนอยู่ดี ซึ่งคาบพละไม่ควรหยุดอยู่แค่การทดสอบทักษะและสมรรถภาพทางร่างกายเท่านั้น
เพราะวิชาพละเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา
ในสมัยโบราณ การเข้าเรียนเป็นเรื่องของการฝึกฝนร่างกาย โลกยุคก่อนเป็นดินแดนของผู้แข็งแกร่ง เป็นโลกที่บู๊และบุ๋นอยู่รวมกันเสมอ ในสมัยกรีกโบราณ ปลายทางและความต้องการของรัฐคือ ต้องการทหารหรือไม่ก็นักกีฬา เด็กชายชาวกรีกเมื่ออายุได้ 7 ขวบจึงต้องเข้ารับการฝึกหัดทักษะทางร่างกาย เช่น ทักษะการต่อสู้ มวยปล้ำ ขับรถม้า ไปจนถึงทักษะทางการกีฬาอื่นๆ อันเป็นพื้นฐานของการรบและการใช้อาวุธต่อไป
คาบพละแบบที่เราคุ้นกันเริ่มต้นในอเมริการาวปีค.ศ. 1820 โรงเรียนในสหรัฐฯ ให้ความสนใจกับยิมนาสติก ให้ความรู้กับเด็กๆ ว่าด้วยร่างกาย ความยืดหยุ่น ความแข็งแรง ไปจนถึงความสะอาดและพัฒนาการทางกายภาพ ต่อมาในปีค.ศ. 1950 สถาบันระดับอุดมศึกษาจึงเริ่มเปิดสอนวิชาพละเป็นสาขาวิชาเอก เริ่มมีการให้ความสำคัญกับการกีฬาในฐานะกิจกรรมทั้งภายในและหว่างสถาบัน หลังจากนั้นในหลายรัฐจึงเริ่มออกกฏบังคับให้โรงเรียนบรรจุคาบพละลงในหลักสูตรด้วย
สำหรับคาบพละบ้านเรา ถ้ายังจำกันได้ เราจะได้เรียนและฝึกทักษะที่เกี่ยวกับความยืดหยุ่น การม้วนหน้า ม้วนหลัง ซึ่งเราก็พอเข้าใจได้ว่าการเหยียดตัวและความยืดหยุ่นเป็นพื้นฐานหนึ่งของความแข็งแรงทางกาย และยังเกี่ยวข้องกับการล้มที่ถูกต้อง เป็นการป้องกันการบาดเจ็บไปในตัว และด้วยสายเลือดนักสู้ เราเลยต้องเรียนกระบี่กระบองด้วย
ย้อนเวลาได้ก็อยากจะฟิตตั้งแต่ตอนนั้น
สำหรับบ้านเราคาบพละถือเป็นคาบโบนัส ถ้าไม่คิดอะไรมากก็เป็นอีกคาบที่สนุก ได้เกรดดีด้วย บางวิชาก็ตลกดี มีรำกระบี่กระบอง เต้นลีลาศ แต่บางคนก็แอบบอกว่า ได้เรียนทั้งทีน่าจะได้องค์ความรู้อื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าจบมาแล้ว ตอนโตถึงเพิ่งมาเข้าใจว่าเราจะมีสุขภาพดีได้ยังไง หรือเรื่องอาหารการกิน โรคภัย ความเข้าใจร่างกาย ไปจนถึงทักษะความชอบทางการกีฬาที่เราน่าจะได้พัฒนาความรู้ตรงนี้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ โตขึ้นจะได้ไม่ต้องอ้วนหรือป่วยไปก่อนค่อยมาเข้าใจ ฟิตตั้งแต่เด็กมาเลยงี้
ในต่างประเทศเองก็มีข้อวิจารณ์ทำนองเดียวกัน นอกจากนี้ อย่างที่เราเห็นในหนัง บางทีเด็กก็แกล้งกันแรงและใช้โอกาสในคาบพละในการเล่นงานกัน เด็กจำนวนไม่น้อยเลยเกิดอาการอยากโดดคาบพละ และพาลเกลียดกิจกรรมที่ส่งเสริมสมรรถภาพทางร่างกายไปโดยปริยาย ในปีค.ศ. 2012 ทาง National Survey of Children’s Health พบว่าคาบพละวิชาเดียวไม่ทำให้เด็กมีกิจกรรมขยับตัวเพิ่มขึ้น เพราะยังมีภาวะอ้วนเท่าเดิม ในปีค.ศ. 2015 พบว่าคาบพละส่งผลกับทักษะทางร่างกายเล็กน้อย แต่ไม่ส่งผลอะไรกับดัชนีมวลกายและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
ข้อวิจารณ์สำคัญคือคาบพละแบบคลาสสิกมักจะเน้นไปที่การให้ ‘ทักษะ’ และทดสอบทักษะนั้นกับเด็กๆ เช่น สามารถเดาะบอลได้ตามจำนวนหรือยัง สามารถวิ่งรอบสนามภายได้ในเวลาเท่าไหร่ สุดท้ายแล้วการเน้นฝึกทักษะบางอย่างและสอบให้เสร็จๆ ก็นำไปสู่ความรู้สึกที่มีต่อการเล่นกีฬาว่า ‘ทำไปเพื่อ?’ เด็กๆ จึงสูญเสียความสนใจและทำไปขำๆ มากกว่าจะรู้สึกว่าสุขภาพและการเล่นกีฬามันดีอย่างนี้นี่เอง
แต่จริงๆ ก็แล้วแต่กีฬา แล้วแต่ทักษะ พละบางคาบก็ว่าด้วยกีฬาที่ได้เล่นเป็นทีม ได้ลองแข่งขันกัน บางทีเราก็มีประสบการณ์ดีๆ ในการเล่นกีฬาและกลายเป็นชอบกีฬาเรื่อยมา ระยะหลังคาบพละก็เลยพยายามปรับวิธีคิด เน้นเปิดเป็นชั่วโมงที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้ มีปฏิสัมพันธ์กัน ฝึกการเล่นเป็นทีม รู้แพ้รู้ชนะผ่านกีฬาและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ
สรุปแล้ว ถ้ามองย้อนกลับไป หลายคนในวัยกลางคนที่เพิ่งจะหันมารักสุขภาพ เพิ่งเริ่มรักการกีฬา ก็คงแอบรู้สึกว่า แหม่ ถ้าเราหัดออก หัดดูแลสุขภาพตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ต้องมาลำบากขนาดนี้ ถ้าไม่นับแค่สุขภาพดี อย่างน้อยเรื่องความแซ่บ หุ่นเซี้ยะ ถ้าได้ฝึกฝนตั้งแต่ตอนเด็ก อะไรก็คงง่ายกว่ามาเริ่มตอนวัย 30 นี่เนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก