จวนจะสิ้นปีแล้ว ช่วงปีใหม่ก็ควรได้พักผ่อนกันบ้าง พูดถึงเรื่องส่งท้ายปี หนึ่งในกิจกรรมที่เรานิยมกันเสมอก็คืองานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่นิยมกันในหมู่นักฉลองอยู่แล้ว
ทางญี่ปุ่นก็คล้ายๆ กับบ้านเราที่หน่วยงานหรือบริษัทต่างๆ ก็มักจะฉลองส่งท้ายปีเก่ากัน หรือที่เรียกว่า โบเน็งไค 忘年会 คันจิสามตัวนี้ก็น่าสนครับคือ ลืม ปี งานพบปะกัน ก็เหมือนงานฉลองเพื่อลืมปีที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั่นละครับ พอเป็นงานเพื่อ ‘ลืม’ หลายต่อหลายครั้งก็เรียกได้ว่าเป็นงานปล่อยผี และพอถึงยุคปัจจุบันที่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก เรื่องราวฉาวๆ ต่างๆ ในงานเลี้ยงส่งท้ายปีก็ค่อยๆ โผล่มาให้เห็นเรื่อยๆ
หลายคนคงได้ผ่านตาข่าวพนักงานบริษัทบันเทิงโดนนายสั่งให้ทำอะไรตลกๆ ให้ดูหน่อย แล้วไปๆ มาๆ ก็โดนจับเอาหน้ากดใส่หม้อชาบูที่ยังติดไฟอยู่ไปสองรอบ จนต้องรักษาตัวไปค่อนเดือน ก่อนจะกล้าออกมาแฉเมื่อเวลาผ่านไปเกือบสามปี แต่ก็ยังดีที่สุดท้ายเป็นข่าวใหญ่พอที่จะทำให้อดีตเจ้านายต้องไปให้ปากคำที่โรงพัก และต้องมาคอยดูรูปคดีต่อไป นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้อำนาจกดขี่ลูกน้อง หรือที่เรียกว่า power harassment ซึ่งก็กลายมาเป็นประเด็นปัญหาในสังคมญี่ปุ่นที่ถูกเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ และหนึ่งนั้นก็คืองานเลี้ยงส่งท้ายปี
ในวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นมีคำหนึ่งที่เรียกว่า Nominication ซึ่งก็เป็นการเล่นคำระหว่าง nomimasu (รูปสุภาพของคำว่า Nomu ที่แปลว่า ดื่ม) และ communication
โดยไอเดียคือการไปดื่มกันกับเพื่อนร่วมงานหลังเลิกงาน เพื่อที่จะได้รู้จักเพื่อนร่วมงานในแง่มุมอื่นนอกจากในการทำงานมากขึ้น อันนี้ก็อาจจะคล้ายๆ คนไทย แต่สไตล์ของญี่ปุ่นคือไปกันทั้งแผนก ไม่เว้นชายหรือหญิง จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่คนทำงานครับ สมัยเรียนปริญญาโท อาจารย์ประจำวิชาก็ชอบพานักเรียนทั้งห้องไปเลี้ยงเหล้าที่อิซาคายะ มันก็ได้บรรยากาศที่ดีที่เราได้รู้จักอาจารย์ในอีกแง่ และได้คุยอะไรน่าสนใจนอกชั้นเรียนด้วย
แต่แน่นอนว่าตอนที่ไอเดียแบบนี้เกิดขึ้นเป็นช่วงหลังสงครามโลก ซึ่งยังเป็นยุคที่ส่วนใหญ่คนทำงานคือผู้ชาย แต่ในปัจจุบันที่ผู้หญิงหันมาทำงานกันมากขึ้นเรื่อยๆ Nominication ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เพิ่มความเสี่ยงเกิดเรื่อง sexual harassment ได้มากขึ้น ดื่มหนักๆ ก็อ้างว่าเมา ทำอะไรไปก็ยกโทษให้แล้วกัน เจ้านายชายบางคนก็ขอให้พนักงานสาวอยู่นานๆ บังคับให้รินเหล้า มานั่งคุยด้วย แบบที่เพื่อนผมเจอก็มานอนหนุนตักโดยเจ้าของตักยังงงๆ เลยครับ แถมหลายต่อหลายครั้ง ไอ้การไปดื่มหลังเลิกงานก็กลายเป็นกิจวัตรที่ทำกันถี่เกินจนเป็นผลเสียต่อการทำงานด้วย แทนที่จะได้กลับบ้านพักผ่อนหลังเลิกงาน ก็ต้องไปดื่มเหมือนกับเป็นส่วนหนึ่งของงานแทน
ไอ้การ Nominication ก็จะมาพีคเอาช่วงปลายปีที่มีงานส่งท้ายปีเก่านี่ละครับ เพราะถือเป็นการปล่อยผีสั่งลาลืมปีเก่า ดังนั้นจะดื่มกันอย่างเต็มสูบแน่นอน แถมสไตล์ญี่ปุ่นคือ ดื่มที่แรกแบบเป็นทางการหน่อยๆ ก่อน แล้วค่อยไปต่อร้านอื่น หมดช่วงดื่มแบบบุฟเฟต์ก็ออกไปต่อร้านอื่นเหมือนต่อโปรบุฟเฟต์ไปเรื่อยๆ ไม่แปลกที่หลายๆ คนก็จะเปิดวาร์ป ทิ้งสติไว้ที่ร้านที่เท่าไหร่ก็ไม่รู้
ฟังดูน่ากลัวขนาดนี้ แต่ทำไมคนยังไปดื่มกัน แหม ถามได้ครับ ก็กึ่งโดนบังคับให้ไปนั่นละ เด็กรุ่นน้องเข้ามาทำงาน พอเจอระบบอาวุโสของญี่ปุ่นเข้าไป คิดว่าจะปฏิเสธได้ง่ายๆ เหรอครับ นี่ก็กลายมาเป็นหนึ่งใน power arassment ที่พนักงานญี่ปุ่นรุ่นใหม่เริ่มส่งเสียงไม่พอใจกันในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนอกจากโดนบังคับให้ไปแล้ว หลายครั้งต้องออกเงินค่าร่วมงานด้วย ทั้งที่ไม่ได้อยากไปแท้ๆ
แถมพอไปแล้ว แทนที่จะได้ Nominication อย่างที่พูดไว้สวยงาม แต่จริงๆ แล้วเวลามีอีเวนต์แบบนี้ ส่วนใหญ่ที่พนักงานระดับล่างหรือพนักงานหน้าใหม่จะเจอคือ ต้องออกมาแสดงอะไรบางอย่างเพื่อเอนเตอร์เทนรุ่นพี่หรือหัวหน้างาน ซึ่งก็คล้ายๆ กับกรณีพนักงานโดนจับกดหม้อ เพราะทีแรกเขาก็โดนสั่งให้แสดงอะไรแบบนี้ แต่ดันทำไมได้ ไม่ฮา หัวหน้าก็เลยจัดให้ ด้วยการเอาหน้ากดหม้อชาบูเพื่อความฮานั่นละครับ ไอ้ของแบบนี้บางทีก็เหมือนการรับน้องของไทย คือหาคำพูดสวยงามมาอ้างว่าเพื่อสายสัมพันธ์ แต่เอาจริงๆ เมาไม่ค่อยสนใจจะดูและกันเอง แต่ก็บังคับให้ออกไปแสดงให้อาย แถมช่วงไหนมีตลกคนไหน มุขดังๆ เลียนแบบง่ายๆ เด็กใหม่ก็จะโดนสั่งให้เล่นมุขแบบนี้ซ้ำไปมา ตัวอย่างชัดๆ ก็อย่างมุก PPAP ของ Pico Tarou ที่ฮิตกันช่วงท้ายปี จนกลายเป็นคำสั่งยอดนิยมของหัวหน้างาน และมีคำเรียกว่า Pico Tarou Harassment กันเลยทีเดียว
ส่วนเรื่อง sexual harassment ปกติที่เป็นปัญหาอยู่แล้ว ก็ยิ่งมาพีคขึ้นอีกในช่วงฉลองหนัก อะไรๆ ก็โทษเหล้าไว้ก่อน
พอไปสัมภาษณ์เหล่าผู้หญิงทำงานบริษัท ก็พบว่ากว่า 39% บอกว่าเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งในนั้นก็บอกว่า เกิดขึ้นในงานกินเลี้ยงของบริษัทถึง 42.6% เลยทีเดียว แม้โอกาสเกิดการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างทำงานจะมีสูงกว่า ไม่ว่าจะด้วยการแซวหรือแตะต้องตัว แต่พอเกิดในการเลี้ยงฉลองนี่อันตรายกว่าอีกครับ เพราะว่าระดับมันเพิ่มสูงได้ทันทีที่มีแอลกอฮอล์เข้าไปในกระแสเลือด
ผมขอยกตัวอย่างบทสัมภาษณ์ของอดีตพนักงานหญิงบริษัทโฆษณาที่ออกมาเล่าว่า งานส่งท้ายปีเก่าเล่นเอาเธอตัดสินใจเปลี่ยนงาน เพราะที่ผ่านมาถึงจะพยายามคิดว่า การดื่มบ่อยของบริษัทโฆษณาคงเป็นเรื่องธรรมดา แต่ฟางเส้นสุดท้ายก็มาถึง เมื่อในงานเลี้ยงส่งท้ายปีที่เธอไปกับบริษัท ตอนไปถึงร้านที่ 3 คนร่วมงานก็เพิ่มเป็น 15 คน และก็เริ่มดื่มแบบ อิคคิโนะมิ 一気飲み หรือดื่มรวดเดียวหมดนั่นละครับ หมดแก้วนี่คงไม่เท่าไหร่ แต่ปัญหาคือ ดันล่อจากเหยือกกันทุกคน แถมสั่งเครื่องดื่มให้กำลังมารัวๆ จนสุดท้าย 15 คน ซัดกันไป 50 ขวด พอได้ที่กันเต็มสูบ ฝ่ายชายบางคนก็ได้ที ไล่กอดฝ่ายหญิงที่ดูท่าจะเล่นด้วย ผู้หญิงบางคนก็เมาจนไม่รู้เรื่อง ให้ฝ่ายชายยืนเรียงกันแล้วไล่หอมแก้ม บรรยากาศนี่จัดว่าเอาเรื่องเลย ส่วนคนในบทสัมภาษณ์คือแกล้งทำเป็นฟุบหลับคาโต๊ะ พอคนอื่นเมาสลบหมดค่อยออกไปห้องน้ำ ก็เจอชายหญิงคู่นึงสลบคากองอ้วกอยู่ทางหนีไฟแต่ก็ปล่อยไว้ จนคิดได้ว่าเดี๋ยวโดนร้านคาราโอเกะด่า เลยไล่ปลุกเพื่อนร่วมงาน จนค่อยๆ ฟื้นสภาพลากกันกลับบ้าน
ที่หนักกว่าคือ พอจะกลับ ดันมีพนักงานชายกับหัวหน้าหญิงรุ่นพี่ที่แต่งงานแล้วแวบไปอีกทาง เพื่อนร่วมงานสงสัยก็เลยตามไป กลายเป็นว่าแอบไปเข้าม่านรูดต่อ จนคนทั้งบริษัทเอาไปเมาท์กันรอเปิดทำงานหลังปีใหม่เลยทีเดียว แต่ปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้เธอตัดสินใจเปลี่ยนงานคือ หัวหน้าแผนกที่ควรจะใหญ่สุดในงานฉลองวันนั้น กลับมาทำงานโดยที่จมูกหัก พอถามว่าไปทำอะไรมา เจ้าตัวก็หัวเราะระหว่างเล่าว่า จำไม่ได้ วันที่ฉลองกันรู้ตัวอีกทีก็อยู่ที่สถานีรถไฟ รองเท้าก็หายไปไหนไม่รู้ แล้วจมูกก็หักแบบนี้ล่ะ ฮ่าๆ แล้วคนในแผนกก็หัวเราะเฮฮากัน เธอเลยรู้ตัวว่า อยู่นี่ต่อมีหวังตายก่อนแหงๆ เลยรีบเปิดเว็บหางานใหม่ทันที เฮ่อ ฟังแล้วก็น่ากลัวนะครับ
มานั่งนึกถึงงานเลี้ยงส่งท้ายปีเก่าที่เคยเจอก็รู้สึกดีหน่อยที่ไม่ได้โหดอะไร ยังถือว่ามีสติกัน แต่ถ้าเจอแบบที่ต้องถองกันหนักขนาดนี้ก็คงต้องขอลาล่ะครับ ยังดีที่คนทั่วไปในปัจจุบันมีโอกาสส่งเสียงว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ปัญหาแบบนี้ก็คงจะค่อยๆ ลดลงไป แทนที่จะปล่อยให้หยวนๆ กันไปเรื่อยๆ
ท่านผู้อ่านคนไหนจะฉลองปีใหม่ก็ขอให้ฉลองอย่างปลอดภัย ไม่มีเหตุให้ห่วง แล้วเจอกันปีหน้าครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก