มุกหยอกล้อเล่นหยอกเอิน บางครั้งก็สร้างมิตรสร้างบรรยากาศกันเอง ทำให้สนิทกันเร็วขึ้น แต่บางครั้งมันก็ไม่สร้างมิตร หากแต่ไปลดทอนคุณค่าให้อีกคนเป็นตัวตลกไว้ถ่มเสียงหัวเราะใส่ หรือวัตถุสนองอารมณ์บางประการ แต่ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจหรือปฏิกิริยาจะออกมาเช่นไร มันสะท้อนผู้เล่นมุกนั้นไปแล้วว่า มีสำนึกเช่นไร มีอารมณ์ขันภายใต้กรอบแนวคิดแบบใด และกำลังจัดวางสถานะผู้พูด กับผู้ถูกพูดในระดับใด
และเรื่องลามกมุกทะลึ่งตึงตังก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความขำขัน บรรยากาศสนุกในวงเม้าท์มอย เพราะการนำเรื่องส่วนตัวมาเล่าในวงสนทนาย่อมแสดงความสนิทชิดเชื้อไว้วางใจไปอีกขั้น แต่ในบางจังหวะก็กลายเป็นความไร้รสนิยมหรือสร้างความไม่สบายใจให้กับคู่สนทนาด้วยเหมือนกัน
หากเราตระหนักได้ว่า ลูกของคุณไม่ได้น่ารักสำหรับทุกคน หรือหมาของคุณก็ไม่ได้เป็นน้องในสายตาใครก็ได้ มุกตลกของคุณบางครั้งมันก็ไม่ขำ ไม่รู้เวล่ำเวลา สร้างความอึดอัดใจในวงสนทนา
ดังนั้น “ห อ ม” มันจึงไม่หอม เพราะมันเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์จากอารมณ์ขัน เพิ่มช่องว่างในการตีความที่จะใส่ความหมายอะไรก็ได้ต่อผู้ถูกกล่าว ที่คนใช้คนฟังคนอ่านก็เข้าใจได้ในระดับสามัญสำนึกว่าความหมายที่ซ่อนอยู่ระหว่างช่องไฟหรือระหว่างบรรทัดคือสื่อถึงอะไร “ห อ ม” จึงไม่เพียงแปลว่าแค่ “หอม” อย่างตรงตัว แต่เป็นความต้องการ objectify มนุษย์คนอื่นอย่างตั้งใจ โดยอิงแอบคำตามลายลักษณ์อักษรของคำ จนทำให้คำที่มีความหมายบวกกลายเป็นคำที่คุกคามทางเพศ จากความหมายของการได้กลิ่นหอม การจุ๊บ หรือพืชประเภทหัว กลายเป็นเห็นรูปผู้หญิงแล้วรู้สึกถึงระยะประชิดจนได้กลิ่นร่างกายอวัยวะนั้น ๆ ของพวกเธอ หรืออุปมาความอูมของอวัยวะเพศหญิง
และเมื่อมีคนรู้สึกไม่ปลอดภัยแสดงปฏิกิริยากับ “ ห อ ม” ว่านี่คือการคุกคามทางเพศ มีเฟมินิสต์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิ ก็ไปด่าว่าเป็นเฟมินิสต์ประสาทแดกไม่มีอารมณ์ขัน เปราะบาง สมาทานรักษาวาทกรรมเพศหญิงเป็นเพศที่อ่อนแอ แตะนิดแตะหน่อยไม่ได้ ชมนิดชมหน่อยก็จะดิ้นตาย
ถามจริง ๆ เหอะ ไม่ได้คิดอะไรจริงๆ เหรอกับคำว่า “ห อ ม”
ชวนให้นึกถึง #menaretrash ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ.2017 ในบริบทที่ผู้หญิงหลายคนอดทนไม่ไหวโกรธแค้นกับความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นที่อันตรายถึงชีวิตทั้งข่มขืน ทารุณกรรมและฆาตกรรมจากพวกผู้ชายที่แวดล้อมพวกเธอ โดยเฉพาะชายคนรักในแอฟริกาใต้มีสถิติที่หญิงสาวและเด็กผู้หญิงถูกฆาตรกรรมเฉลี่ย 1 คน ทุกๆ 4 ชั่วโมง บางรายหายตัวไปก่อนจะพบเป็นศพถูกไฟไหม้จนสภาพศพไม่สามารถจดจำบุคคลได้และถูกฝังในทุ่งร้างจุดชนวนต่อสู้ด้วย hashtag นี้ซึ่งก็ขจายไปอย่างรวดเร็ว [1]
อย่างไรก็ตาม #menaretrash ถูกโต้กลับว่าเป็น hate speech ที่ผู้หญิงเองก็กำลังใช้ความรุนแรงต่อผู้ชาย ว่าแต่การโต้ตอบความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศและการคุกคามทางเพศต้องออกมาในรูปแบบไหนหรอที่ผู้ชายจะเห็นด้วยกับขบวนการ ? เสียงร้องของความเจ็บปวด โกรธแค้น ของผู้ถูกกดทับถูกกระทำต้องเปล่งเป็นเสียงแบบไหนหรอ?
และการส่งเสียงน่ารักน่าทนุถนอมไม่เกรี้ยวกราดก็เป็นอีกความคาดหวังของสังคมชายเป็นใหญ่ที่อยากให้ผู้หญิงทำ พอๆ กับความสยบยอมต่ออำนาจผู้ชาย และท่าทีตระหนกตกใจกับ #menaretrash มากกว่าตระหนกตกใจกับการตายของผู้หญิงเป็นผักเป็นปลา ด้วยเหตุแห่งเพศ โดยมีวาทกรรมโครงสร้างทางสังคมคอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ก็สะท้อนให้เห็นถึงการจัดลำดับความกังวลใจที่สถานภาพทางเพศของผู้ชายมาเป็นอันดับแรกก่อน
การไปพรรณนาในเชิงเพศถึงเนื้อตัวร่างกายเฉพาะจุดหรืออวัยวะแสดงเพศของผู้อื่นเป็นเรื่องสนุกขบขันหยอกเย้า ที่บอกให้ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่ออดทน หยวนๆ ไป ก็ไม่ต่างกัน ขณะเดียวกันก็มีกระแสออกมาปกป้อง defend ให้กับ “ห อ ม” นำไปสู่การตั้งคำถามเปรียบเทียบว่า ทีผู้ชายถูกเกี้ยวบ้างว่า “อยากได้เป็นพ่อของลูก” “เห็นแล้วน้ำเดิน” “ยอมให้ปล่อยใน” ทำไมไม่คิดบ้าง ก็ยิ่งตอกย้ำถึงความไม่รู้สี่รู้แปดของบริบทสังคม
เพราะในโลกกระทัศน์แบบ ‘ความเป็นชาย’ เป็นใหญ่ แม้ว่าเฟมินิสต์จะเคลื่อนไหวมายาวนานเป็นศตวรรษ มีหลายสำนักหลายขบวนการ แต่สถานภาพทางเพศในมิติสังคมวัฒนธรรมมันก็ยังไม่เท่ากันอยู่ดี ต่อให้พวกเธอจะเริ่มเท่าเทียมกับผู้ชายบ้างในบางเรื่อง แต่นั่นก็ไม่สามารถจะหลงลืมสถานะของ ‘ความเป็นหญิง’ ที่มีประวัติศาสตร์การถูกกดทับ ลิดรอนศักดิ์ศรีมายาวนานพร้อมๆ กับความพยายามปลดแอก ขณะที่สถานะของ ‘ความเป็นชาย’ มีประวัติศาสตร์และสถาบันต่างๆ สนับสนุนอำนาจที่เหนือกว่า มีอิสรภาพทางเพศ และเสรีภาพในการสนองความต้องการทางเพศมากกว่า
ด้วยสถานะที่ต่างกัน การส่งเสียงของผู้หญิงกับผู้ชายจึงไม่เหมือนกัน แม้แต่การแซวและเล่นมุกเรื่องเพศ ที่ผู้ชายมันมีน้ำเสียงของการคุกคาม และผู้หญิงมันเป็นการท้าทายโครงสร้างปิตาธิปไตย ต้องการขบถกรอบศีลธรรมจริยธรรมทางเพศที่เลือกเข้มงวดกับผู้หญิงมากกว่า และพยายามปลดแอกตัวเองออกจากสถานะความเป็นรองของพวกเธอ
การสลับเพศของผู้ถูกกระทำและผู้กระทำ
มันจึงส่งผลต่างกัน เพราะโครงสร้างสังคมที่ไม่ได้ให้ความเท่าเทียมกันแต่แรก
ยกตัวอย่างง่ายๆ ในออฟฟิศหนึ่ง นายจ้างกระเซ้าเย้าแหย่ลูกจ้าง ลูกน้องล้อเล่นหัวหน้า เพื่อนร่วมงานที่อาวุโสกว่ากับอาวุโสน้อยกว่า รุ่นน้องกับรุ่นพี่ในที่ทำงาน ความหมายของการกระทำก็ต่างกัน
การอดทนได้ต่อการแซวเรื่องเพศของแต่ละเพศจึงต่างกัน จากการเก็บสถิติของบริษัทการตลาดและการทำผลสำรวจ Ipsos MORI ร่วมมือกับ the Global Institute for Women’s Leadership และ King’s College London สัมภาษณ์ผู้บรรลุนิติภาวะ 20,204 คน ใน 27 ประเทศ พบว่ามีผู้หญิง 16 % ที่ยอมรับได้กับมุกแบบนี้ได้ ผู้ชายมี 28 % และมีผู้หญิงที่กล้าติเตียนเพื่อนร่วมงานรุ่นพี่ที่เหยียดเพศมี 48 % ขณะที่ผู้ชายอยู่ที่ 53 %[2]
และอีกกระแสของความพยายาม defend ให้กับ “ห อ ม” กล่าวว่า ถ้าเช่นนี้คำว่า “หอม” ก็เป็นคำหยาบหมดสิ เอาไปแต่งเพลงก็ไม่ได้ ต่อไปนี้จะพูดจะชมใครว่าหอมก็ไม่ได้เพราะเท่ากับคุกคามทางเพศ กลายเป็นคำอธิบายตื้นๆ จนราวกับกำลังดูถูกสติปัญญารอยหยักสมองตนเอง ที่คิดอะไรซับซ้อนไม่ได้ กลายเป็นความสูญเปล่าทางการศึกษาเหมือนที่ครั้งหนึ่ง มีพวกบอกว่าผู้ชายถูกกดขี่และผลักให้เป็นชายขอบเหมือนกับคำว่า “ชายหาด” “ชายแดน” ขณะที่มีคำว่า “แม่ทัพ” “แม่น้ำ” ที่เป็นความคิดที่ไม่เพียงผูกโยงผู้หญิงว่ามีความหมายคือเป็นแม่เท่านั้น ยังไม่มีความรู้ภาษาไทยระดับประถมศึกษาการศึกษาภาคบังคับ ที่สอนคำพ้องรูปพ้องเสียง เช่น ตา ก็มีความหมายทั้งอวัยวะ กับหมายถึงผัวของยายเธอ พ่อของแม่เธอน่ะแหละ
ในโลกของภาษาที่มันมีวิวัฒนาการอยู่ตลอด คำแสลงและคำใหม่ๆ จึงเกิดขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ เมื่อถูกใช้กันมากเข้าก็เป็นที่ยอมรับ หากแต่เห็นชัดแล้วว่า “ห อ ม” ไม่อยู่ทนอยู่นาน ไม่ถึงสัปดาห์ก็ไม่เป็นที่นิยม เพราะมันเข้ากันไม่ได้กับสังคมที่กำลังพัฒนาในเรื่องความเท่าเทียมการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งการใช้คำว่า “ห อ ม” นั้นมันให้ภาพไม่ต่างอะไรไปจาก scene ละคร ที่กุ๊ยข้างถนนเดินเข้าไปทักตัวละครหญิงว่า “ไปไหนจ๊ะน้องสาวคนสวยให้พี่ไปส่งไหม” ที่ไม่ว่าเพดานความคิดความอ่านจะได้รับการยกระดับมากน้อยแค่ไหน ก็เข้าใจได้ว่า นี่ไม่ใช่คำชม ไม่ใช่การแสดงมิตรจิตมิตรใจ มีน้ำใจจิตอาสาพาไปส่งบ้าน
การใช้ “ห อ ม” ก็เหมือนกุ๊ยข้างถนนตามสามแยกปากหมา เพียงแต่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในโลกเสมือนจริงแบบออนไลน์เท่านั้น แต่ถ้ายังไม่แยแสว่า “ ห อ ม” คือคำพูดที่กำลังคุกคามทางเพศคนอื่น แล้วแสร้งว่านี่เป็นเพียงคำชมเฉยๆ ก็อยากให้คนพวกนี้ คิด วิเคราะห์ แยกแยะบ้าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] https://www.okayafrica.com/real-story-behind-menaretrash-south-africas-viral-hashtag/
[2] https://www.kcl.ac.uk/giwl/assets/international-womens-day-2020.pdf