ว่ากันว่าความเงียบในความสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องปกติ แต่การโดนปล่อยให้แชตหนักขวา 5 ชั่วโมงจะเข้ามาตอบสักทีหนึ่ง กลับบ้านมาแล้ว ไม่มีบทสนาระหว่างเรา หรือทะเลาะกันทีไรโดนเมินไป 3 วัน ความเงียบเหล่านี้มันปกติจริงเหรอ
ในความสัมพันธ์ เราไม่จำเป็นต้องคุยกันตลอดเวลาก็จริง บางครั้งเราคนใดคนหนึ่งก็ยุ่งหรือเหนื่อยเกินกว่าจะคุยกัน ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง ถ้าว่างแล้ว หรือพักผ่อนจนหายเหนื่อยแล้วก็กลับมาคุยกันเจื้อยแจ้วเหมือนเดิม เล่าเรื่องราวในชีวิตให้กันฟัง มีการโต้ตอบกัน ไม่ได้มีใครคนใดคนหนึ่งพูดอยู่ฝ่ายเดียว ก็นับว่าความเงียบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ความสัมพันธ์ที่ดีคือความสัมพันธ์ที่เรามีโมเมนต์ ‘สบายใจที่จะเงียบ’
แต่ก็ยังมีความเงียบที่หลายคู่อาจแยกไม่ออกว่าเป็น ‘ความเงียบที่เป็นพิษ’ กับความสัมพันธ์ เมื่อมันเริ่มสะสมเป็นเวลานานก็อาจกลายเป็นปัญหาความสัมพันธ์ที่ยากเกินจะแก้ได้ อย่างการที่ทะเลาะกันแล้วเงียบใส่กันเป็นวัน การที่ไม่รู้จะคุยอะไรกันอีกต่อไป หรือแม้แต่แชตหนักขวาเองก็อาจนับว่าใช่เหมือนกัน
ทะเลาะกันแล้วไม่คุยกันเป็นวัน พิษร้ายแรงของความสัมพันธ์
การเป็นคนใกล้ชิดกัน คุยกันได้ทุกเรื่อง เป็นตัวเองได้เต็มที่ มันจะต้องมีกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่ความสัมพันธ์ที่ดีคือเมื่อเราทะเลาะกัน เราจะปรับความเข้าใจกันในทันทีหลังจากนั้น ไม่ปล่อยคาราคาซังเป็นวันจนไม่สบายใจ และกระทบชีวิตในด้านอื่น
บางคนอาจคิดว่าการหลีกเลี่ยงไม่คุยกันไปก่อนอาจทำให้ดีขึ้น แต่การหนีปัญหาและเงียบใส่กันนั้นอาจไม่ใช่เรื่องดี เพราะอีกฝ่ายจะเริ่มสับสนในสถานการณ์ คิดไปเอง และเริ่มโทษตัวเองในที่สุด การเงียบใส่อีกฝ่ายไม่ใช่แค่การ ‘ลงโทษ’ อีกฝ่ายให้อยู่กับความคิดลบ แต่เป็นการลงโทษตัวเองด้วย
อย่างน้อยถ้าได้ลองพูดในสิ่งที่อยากพูด หรือถ้าไม่มีอะไรจะพูดจริงๆ ก็อย่าเมินกัน อย่าเงียบใส่กันเลย อย่าทำให้คนรักของเราต้องมาขอร้องให้เราพูดกับเขา เพราะความเงียบที่เดาไม่ได้ของเราจะค่อยๆ เติมไฟความวิตกกังวลที่มีอยู่ในใจของเขาอยู่แล้ว และข่าวร้ายก็คือ เรื่องพวกนี้มันสะสมได้ ถ้าความเงียบแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย สักวันมันจะระเบิดออกมา ดังนั้นเมื่อทะเลาะกัน ขอแค่พูดกันบ้าง
บางครั้งการเงียบใส่ก็เป็นวิธีในการเลี่ยงไม่ให้พูดอะไรที่ทำให้สถานการณ์การทะเลาะกันของเราแย่กว่านี้ การใช้ความเงียบเพื่อสงบสติอารมณ์ในเวลาที่เรายังสับสนกับความรู้สึกสักแป๊บนึง (หลักนาทีก็พอนะ) แล้วค่อยกลับมาคุยกันนั้นเป็นเรื่องปกติ
แต่บางคนก็ใช้การนิ่งเฉย เมิน มึนตึง เข้ามาเป็นเครื่องมือที่ทำให้อยู่เหนืออีกฝ่าย สร้างระยะห่างทางอารมณ์ ปัดความรับผิดชอบ และพลิกสถานการณ์ให้พวกเขากลายเป็นผู้ถูกกระทำแทน ซึ่งถ้าพวกเขาใจจืดใจดำขนาดที่ว่าเมินเราได้เป็นสัปดาห์ นั่นนับว่าเป็น ‘การทำร้ายทางจิตใจ’ แล้ว
มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการถูกเมินบ่อยครั้งสามารถทำให้การเห็นคุณค่าในตัวเองของเราลดลง และผลกระทบนี้จะส่งผลรุนแรงขึ้นเมื่อการถูกเมินนั้นเป็นการลงโทษจากคนใกล้ชิดที่เราไว้ใจ
เราไม่คิดจะตอบข้อความกัน ไม่แม้แต่จะบอกว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้นะ
ถ้าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ช่องทางในการคุยกันก็น่าจะเป็นข้อความ หรือการโทรหากัน บางครั้งก็อาจมีการไม่ได้ตอบข้อความกันบ้าง ถ้าเป็นการไม่ได้ตอบข้อความแต่มีการบอกเอาไว้ก่อนว่า“เดี๋ยวจะไม่ได้ตอบสักแป๊บนึงนะ ขอขับรถก่อน” หรือเป็นการไม่ได้ตอบข้อความแต่เรารู้ดีว่าอีกฝ่ายกำลังทำอะไร นี่บ่ายโมงนี่นา น่าจะติดประชุมประจำสัปดาห์ หรือนี่เย็นวันเสาร์ อีกฝ่ายน่าจะเตะบอลกับเพื่อนอยู่ ก็เป็นการไม่ตอบข้อความที่สามารถเข้าใจกันได้
แต่ถ้าอีกฝ่ายปล่อยแชตหนักขวา ไม่มีการตอบโต้อะไรกลับมาหลายชั่วโมงโดยไม่ได้บอกเอาไว้ก่อน และเราเองก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรอยู่ ทำไมถึงไม่ตอบ ถึงจะเริ่มไม่ปกติ เมื่อเราถูกดองแชตไว้นานหลักหลายชั่วโมง ความคิดลบจะเริ่มมาทักทายจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นความคิดเป็นห่วงที่ว่า เขาหายไปไหน เกิดอุบัติเหตุอะไรกับเขา หรือความคิดโทษตัวเองว่า เมื่อกี้เราพูดอะไรผิดไปให้เขารำคาญมั้ยนะ แบบนี้ก็เริ่มเป็นพิษแล้ว
Fumi ผู้ให้คำแนะนำด้านความสัมพันธ์เคยเล่าประสบการณ์ส่วนตัวผ่านทาง TikTok ของเธอเอาไว้ว่า ตอนเธออายุ 23 เธอเคยฝึกงานอยู่ที่ทำเนียบขาวในสมัยของ บารัค โอบามา มีอยู่ครั้งหนึ่งที่เหล่าเด็กฝึกงานได้เข้าคลาสกับ มิเชล โอบามา ระหว่างที่คลาสดำเนินอยู่ ก็มีเสียงเครื่องบินดังขึ้นเหนือหัวของพวกเขา ในตอนนั้นมิเชลหยุดการสอน และพูดว่า “บนเครื่องบินนั่นน่าจะเป็นบารัค เขาเพิ่งบอกฉันว่าเขาจะออกเดินทางในไม่กี่นาทีนี้นี่แหละ”
เธอจึงสรุปให้จากเหตุการณ์ที่เล่ามาว่า ถ้าประธานาธิบดีของสหรัฐฯ มีเวลาที่จะส่งข้อความมาบอกภรรยาของเขาว่ากำลังจะขึ้นเครื่องบินแล้วนะ ไม่ว่าใครที่เราคบอยู่ด้วยก็ต้องหาเวลามาบอกเราได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นคำว่า ‘ยุ่งมาก’ อาจไม่ใช่ข้ออ้างในการเงียบหายหรือปล่อยให้แชตของอีกฝ่ายหนักขวาเลย มันใช้เวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้นที่จะพิมพ์ข้อความว่า “เดี๋ยวประชุมเสร็จแล้วจะกลับมาตอบ หาอะไรทำรอไปก่อนนะ”
เราไม่รู้จะคุยอะไรกันอีกต่อไป ไม่รู้ว่าจะเล่าอะไรให้กันฟัง
อีกหนึ่งความเงียบที่ดูเหมือนจะโอเค แต่กำลังพาเราไปสู่จุดจบความสัมพันธ์ คือความเงียบที่เราไม่รู้จะคุยอะไรกันแล้ว ความเงียบที่เกิดขึ้นตอนที่กลับบ้านมากินมื้อเย็นด้วยกัน แต่มีแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เล่าเรื่องราวของวันนี้อยู่ฝ่ายเดียว โดยที่อีกฝ่ายก็ไม่ได้ตอบอะไรด้วยซ้ำ หรือหนักกว่านั้นคือ ทั้งคู่ไม่มีอะไรจะคุยกัน จนเกิดเป็นคำถามในใจว่าทำไมความเงียบนี้มันอึดอัดจัง
ถ้ารู้สึกไม่ได้อยากเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตให้เขาฟังอีกต่อไป หรือไม่ได้รู้สึกอยากตอบโต้กับเรื่องราวที่เขาเล่า ทำได้แค่นั่งพยักหน้าเหมือนว่าฟังอยู่เท่านั้น หรือเริ่มรู้สึกรำคาญกับเรื่องเล่าของอีกฝ่าย หลายคนเข้าใจความเงียบแบบนี้ผิด นี่ไม่ใช่ความเงียบที่สบายใจ แต่เป็นความเงียบที่กัดกินความสัมพันธ์โดยที่เราไม่รู้ตัว
วิธีเช็คง่ายๆ ว่าเรายังมีเรื่องคุยกันอยู่ใช่ไหม คือการหยิบเอาสิ่งรอบตัวขึ้นมาชวนคุย ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องจริงจังหรือมีสาระก็ได้ แค่ลองชี้ต้นไม้ต้นหนึ่งแล้วพูดว่า “ดูต้นไม้ต้นนั้นสิ ใหญ่มากเลยอะ” หรือชี้รถคันที่เพิ่งผ่านไปว่า “รถคันนั้นสวยเนอะ สีน่ารักมากเลย”
ถ้ายังมีการตอบโต้กลับมาจากอีกฝ่ายอย่าง “เออ ใหญ่จริง นึกถึงต้นไม้แถวบ้านเราเลย ที่มีกระรอกสีขาวปีนขึ้นไปบ่อยๆ อะ” หรือ “รถคันเมื่อกี้อะนะ เพื่อนที่ออฟฟิศก็เพิ่งออกรุ่นนี้แหละ อยากได้เหมือนกัน” หรือประโยคตอบโต้อื่นใดที่ทำให้บทสนทนาไปต่อได้โดยไม่จบอยู่แค่นั้น ก็ถือว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ยังเฮลตี้
แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่ได้ตอบอะไร หรือไม่ได้แม้แต่จะมองต้นไม้ต้นนั้นกับรถคันนั้นเลยด้วยซ้ำ ก็เริ่มมีสัญญาณของความเงียบที่อาจเป็นพิษเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ และถึงเวลาต้องหันหน้าคุยกันเพื่อที่จะรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้ หรือลองปรึกษานักจิตวิทยาแบบเป็นคู่ก็ได้
เมื่อแยกได้ว่าความเงียบแบบไหนเป็นความเงียบที่เป็นพิษ ยิ่งรู้ทันเราจะยิ่งจัดการกับพิษร้ายนั้นได้เร็วขึ้น ไม่ปล่อยให้มันลุกลามจนถึงจุดที่จัดการอะไรไม่ได้อีกต่อไป
อ้างอิงจาก