ความรักชนะทุกอย่าง แต่ถ้าเรานำพาความรักมาสู่ความสัมพันธ์แล้ว เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ฟังดูไม่โรแมนติก ก็อาจกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ความรักหรือความสัมพันธ์ของคน 2 คนนั้นยืนยาว หรือสวยงามมากน้อยแค่ไหน
ประเด็นเรื่องเงินๆ ทองๆ นอกจากเรื่องเงินอย่างการมีเงินมากหรือมีเงินน้อยแล้ว เรายังมี ‘ทัศนคติ’ ต่อเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน มุมมองต่อการเงินมีหลายมิติ บางคนมองเห็นว่าเงินเป็นสิ่งที่เอาไว้ใช้ บางคนมองเห็นเงินในฐานะความปลอดภัย บางคนมองเห็นเงินเป็นเครื่องมือแสวงหาความสุข ดังนั้น มุมมองต่อการเงินจึงสัมพันธ์กับหลายๆ สิ่งอย่างซับซ้อน ทั้งยังสัมพันธ์กับภูมิหลังของคนนั้นๆ และเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมการใช้ชีวิต การใช้เงิน การเก็บเงิน การลงทุน และอื่นๆ
ทัศนคติที่เรามีต่อเงินและการใช้เงินจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ไม่โรแมนติกในเรื่องโรแมนติก เช่น ความรัก เรื่องเงินๆ ทองๆ มีความยากเพราะเป็นสิ่งที่เรามักไม่พูดกันโดยตรง บางครั้งเราอาจไม่เข้าใจธรรมชาติ หรือมุมมองต่อเรื่องเงินๆ ทองๆ ของเราเองด้วยซ้ำ ทว่าเรื่องเงินนี่แหละกลับเป็นสิ่งที่เรามักจะตัดสินใจ และอาจมีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆ วัน ว่าเราจะใช้เงินกันแบบไหน จ่ายกับอะไร และเก็บอย่างไร
ความซับซ้อนของมุมมองต่อเรื่องเงินๆ ทองๆ
มุมมองที่เรามีต่อเรื่องเงิน มีความหลากหลายและมีความซับซ้อน บางงานศึกษา เช่น ในบทความของ BBC นั้นชี้ให้เห็นถึงทัศนคติของเราที่มีต่อเงินว่า เรามองเห็นเงินในฐานะอะไร โดยแบ่งออกเป็น 4 แนวทาง ได้แก่
- การมองเงินเป็นตัวแทนของอำนาจ
- การมองเงินเป็นตัวแทนของความโอบอ้อม
- การมองเงินเป็นตัวแทนของความปลอดภัย (ซึ่งนำไปสู่การเก็บออม)
- การมองเงินเป็นตัวแทนไปสู่อิสรภาพ
ในบางการจัดกลุ่มก็จะจัดไปที่การใช้เงิน การเป็นนักจับจ่าย การเป็นคนที่มองเห็นว่าเงินคือเพียงเครื่องมือที่นำไปสู่ความสุข หรือการแสดงตัวตน และบางคนอาจมองว่าเงินเป็นสิ่งที่น่ากังวล หรือเป็นปีศาจ
ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่า เงินที่มีมูลค่าตายตัวนับเป็นสิ่งจำเป็น แถมเรายังมีมุมมองที่หลากหลายต่อเรื่องเงิน ซึ่งมุมมองเหล่านี่เองที่มากำหนดพฤติกรรมในการหาเงินของเรา กำหนดความสนใจที่เรามีต่อเงิน ความสุข ความพอใจที่เรามีในชีวิต การนำเงินไปใช้ ไปจนถึงมุมมองที่เรามีต่อหนี้สิน การลงทุน รวมไปถึงพฤติกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
มุมมองที่เรามีต่อเรื่องเงินทองจึงนับเป็นสิ่งที่เรามองเห็นและเข้าใจได้ยาก ซึ่งก็มีงานศึกษาพบว่า เรามักได้รับทัศนคติต่อเงินอย่างอ้อมๆ โดยเฉพาะจากการสังเกตพฤติกรรมของพ่อแม่ หรือการเติบโตขึ้นมาในครอบครัวแบบหนึ่ง รวมถึงทัศนคติทางการเงินของเรายังเกี่ยวข้องกับบริบททางชีวิตของเรา ทั้งรายได้และความมั่นคง ในทางกลับกัน อิทธิพลจากวัยเด็กเองก็อาจส่งผลกับความเป็นไป หรือสถานะทางการเงินของเราในปัจจุบันด้วย
มุมมองต่อเงินในเงื่อนไขความสัมพันธ์
ประเด็นเงินๆ ทองๆ แม้จะค่อนข้างเป็นเรื่องนามธรรม แต่ด้วยความสำคัญของมุมมองเรื่องเงินในความสัมพันธ์ ดังนั้น ในโลกของงานศึกษาว่าด้วยการเงิน หรือในแขนงที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ จึงพยายามทำความเข้าใจเงื่อนไขเรื่องเงินในความสัมพันธ์
บทความจาก psyche อธิบายความซับซ้อน และยกตัวอย่างงานศึกษาหลายชิ้น เช่น งานศึกษาที่พบว่าความรักหรือความสัมพันธ์ที่ ‘มีคุณค่าทางการเงิน (financial values)’ ชุดเดียวกัน พวกเขามีแนวโน้มจะพึงพอใจในชีวิตคู่ และมีการพึ่งพาใจยืนยาวต่อเนื่องถึง 2 ปีหลังจากนั้น
ความน่าสนใจคือ อีกหนึ่งงานวิจัยจาก University of Minnesota พบว่า เรามักได้รับการหล่อหลอมมุมมองทางการเงินอย่างอ้อมๆ จากการสังเกตการใช้จ่ายของพ่อแม่ หรือครอบครัว โดยพบว่าในการเดตกันระยะแรก คู่รักมักจะสังเกตพฤติกรรม หรือมุมมองทางการเงินอย่างอ้อมๆ โดยมีการจัดการเรื่องเงิน และการจับจ่ายแบบตัวใครตัวมัน แต่เมื่อความสัมพันธ์เริ่มชิดใกล้ขึ้น ผู้วิจัยพบว่าเรื่องการเงินจะเข้ามายุ่งขิง จนกลายเป็นปัญหาที่ไม่ลงรอยกัน สำหรับคู่รักที่มีมุมมองเรื่องเงินแตกต่างกันมาก ความขัดแย้งนี้จะดำเนินการต่อไปในความสัมพันธ์
ประเด็นเรื่องทัศนคติที่เรามีต่อเงิน ในยุคที่เลิกพูดว่าเงินไม่อยู่ในสมการความสัมพันธ์อีกต่อไป จริงๆ แล้วทัศนคติเรื่องเงินในที่สุดอาจเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในการใช้เงิน เราจะกินข้าวร้านไหน เลือกเมนูอาหารแบบไหน จองตั๋วราคาเท่าไหร่ ไปเที่ยวหรือไปฉลองด้วยวิธีการแบบไหน ทั้งหมดนั้นสะท้อนไปถึงเรื่องใหญ่โตอื่นๆ เช่น การบริหารทรัพย์สิน การลงทุนในการศึกษา การลงทุนในสิ่งอื่นๆ ต่อไปด้วย
ความเข้าใจเรื่องเงินทองจึงเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่อาจเริ่มต้นตั้งแต่ความเข้าใจตัวเราเอง การมองเห็นสิ่งที่ซับซ้อน ตั้งแต่เรื่องเงิน คุณค่าของเงิน ไปจนถึงการมองเห็นตัวของเราในโลกแห่งเงินตราใบนี้
อ้างอิงจาก