การครุ่นคิดถึงความตายอย่างห่างๆ ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา เราอาจเคยคิดถึงงานศพของตัวเองว่าควรจะจัดไปเป็นแบบไหน ใครจะมาบ้าง อยากแอบยืนดูว่าผู้คนจะคิดเราถึงอย่างไร หรือหลายคนอาจจะอยากให้สนุกสนาน เป็นการจดจำครั้งสุดท้าย
แต่ถ้าถามกันจริงจังว่า ในช่วงเวลาความคิดต่างๆ เริ่มเปลี่ยนไป พิธีกรรมเริ่มลดความสำคัญลง ถ้าเราเกิดจากไปขึ้นมาจริงๆ แล้วในการจากไปของเรานั้นไม่มีการประกอบพิธีกรรมใดๆ เป็นการจากไปอย่างเรียบง่าย รวบรัด และเป็นเรื่องทางโลกเช่นการจัดการร่างกาย หรือการบริหารจัดการทรัพยากรเช่นความคุ้มค่า มองความคิดต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าจะเป็นเรื่องทางศาสนา เราพร้อมรึยังกับการแค่หายไปจากโลกอย่างเงียบๆ
จริงๆ แล้วการตาย และการจัดการร่างกายหลังการเสียชีวิตเป็นทั้งเรื่องส่วนบุคคล คือ สัมพันธ์กับความเชื่อ กับมิติทางสังคมที่สัมพันธ์กับผู้คนและคนที่อยู่เบื้องหลัง อีกด้านก็เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับสาธารณะ กับรัฐและสังคมในแง่ของทรัพยากร เช่น ในหลายวัฒนธรรมที่ใช้การฝังศพ บางประเทศเช่นญี่ปุ่นที่ที่ดินนั้นเหลือไม่มากและมีราคาสูง การขาดพื้นที่ฝังศพหรือสุสานนั้นก็กำลังกลายเป็นประเด็นที่รัฐต้องบริหารจัดการต่อไป
ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่างทั้งข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ราคาของการประกอบพิธีกรรม และความเชื่อที่เริ่มคลายตัวลง ทั่วโลก โดยเฉพาะในมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่ความเชื่อโดยเฉพาะความเชื่อทางศาสนาเริ่มคลายตัวลง ประกอบกับการมีความคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม และประเด็นเรื่องพื้นที่ในการจัดการหลังความตายโดยที่เป็นภาระกับสังคมและกับสิ่งแวดล้อม ก็เลยเริ่มเกิดกระแสการจากไปอย่างเรียบง่ายไร้พิธีกรรม เช่น กระแสการหลับใต้ต้นไม้ที่เปลี่ยนร่างของเราให้กลายเป็นปุ๋ยในผืนป่ากว้างใหญ่อันเป็นบริการพิธีศพแบบใหม่ที่ดีกับโลก
ไปจนถึงเมื่อไม่นานนี้ที่สิงคโปร์ ประเทศที่อุดมไปด้วยความหลากหลาย และมีประเด็นเรื่องการบริหารทรัพยากรที่ดินที่จำกัด ทางสิงคโปร์ก็ได้เปิดศูนย์บริการเผาศพ และเปิดสวนสำหรับโปรยอัฐิในเกาะหลักเป็นแห่งแรกของประเทศ ซึ่งก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งรัฐเข้ามาให้บริการประชาชนในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต ประกอบกับการแสดงให้เห็นถึงกระแสความนิยมที่ความเชื่อต่างๆ โดยเฉพาะการจัดการร่างกายครั้งสุดท้ายนั้นเป็นเรื่องที่เรียบง่าย และเป็นการกลับเข้าสู่ธรรมชาติโดยมีรัฐและพื้นที่ของรัฐเป็นตัวเชื่อมสำคัญ
การจัดการอย่างเรียบง่าย กระแสจากสหราชอาณาจักรและสวีเดน
บ้านเรามีคำพูดทำนองว่าคนตายขายคนเป็น คือ การจัดการงานศพอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของชีวิตนั้นกลายเป็นภาระใหญ่ทั้งต่อตัวเองและต่อคนที่อยู่ข้างหลัง แต่เมื่อถึงภาคปฏิบัติแล้ว การจะละทิ้งความเชื่อพิธีกรรมลงนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องยากอยู่ พิธีกรรมยังสัมพันธ์เรื่องอื่นๆ ทั้งความเชื่อ ความคาดหวังของญาติ เพื่อนฝูง แต่ในหลายประเทศ กระแสการจัดการศพแบบเรียบง่ายและเป็นทางโลกนั้นกำลังเกิดขึ้นจริง และเป็นทางเลือกที่หลายคนเลือกที่จะจากไปโดยไม่มีพิธี หรือมีก็น้อยที่สุด
รายงานการเลือกจากไปอย่างเรียบง่ายมีรายงานสอดคล้องกันในหลายประเทศ เป็นทางเลือกที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นทั้งจากอังกฤษ สวีเดน และญี่ปุ่น บางส่วนสัมพันธ์กับปัญหาเรื่องพื้นที่จำกัด รวมถึงเมื่อรวมกับการจัดพิธีต่างๆ แล้วนั้นเป็นสิ่งที่มาพร้อมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
ในปี ค.ศ.2019 มีรายงานการสำรวจจาก Co-op Funeralcare บริษัทบริการงานศพของอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นรายงานกระแสการเลือกพิธีศพแบบไร้ศาสนาที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในอังกฤษ ระบุว่า จากการสำรวจในปี ค.ศ.2018–2019 คนอังกฤษต้องการการจัดงานศพแบบไร้ศาสนามากขึ้น จากรายงานระบุว่า 77% ของงานศพที่จัดนั้น จัดโดยที่ไม่ได้เคร่งไปตามธรรมเนียมงานศพแบบดั้งเดิม และมีรายงานว่ากว่าหนึ่งในสาม (27%) ต้องการงานศพที่ไม่เป็นพิธีทางศาสนา (non-religious service) เพิ่มชึ้นจาก 24% ในปี ค.ศ.2018 โดยจากการสำรวจพบว่ามีเพียง 1 ใน 10 คือ 10% จากกลุ่มตัวอย่างเท่านั้นที่ต้องการการจัดพิธีตามแบบพิธีกรรมทางศาสนาแบบดั้งเดิม (traditional religious funeral)
ทำนองเดียวกัน ปีเดียวกันที่สวีเดนก็มีรายงานเรื่องการคลายตัวของพิธีกรรมและพิธีศพ คือ ในปี ค.ศ.2019 สวีเดนมีรายงานว่า คนเริ่มหันมานิยมการทำพิธีศพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในรอบ 10 ปีจะมีคนเลือกพิธีศพแบบไร้ศาสนาราว 2% แต่ในปี ค.ศ.2019 ตัวเลขกลับดีดขึ้นเป็นที่ราว 8% มีรายงานกระทั่งว่า 1 ใน 10 ร่างของการเสียชีวิตในเมืองใหญ่นั้นจะได้รับการทำศพอย่างเรียบง่ายที่สุด คือ ไม่มีพิธีอะไรเลย เป็นการนำร่างจากโรงพยาบาลไปสู่ฌาปนสถาน เมื่อเผาแล้วเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้กำหนดขึ้นเป็นพิเศษก็จะเป็นผู้นำอัฐิไปโปรยลงในสวนสำหรับการโปรยเถ้ากระดูก
Jumokusō การฝังใต้ไม้ใหญ่ ข้อจำกัดของเมืองและทางออกของญี่ปุ่น
นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายของพิธีกรรมแล้ว หลายประเทศมีฐานความเชื่อที่ต้องใช้การฝังและการสร้างสุสานซึ่งทำให้เกิดปัญหาภาวะขาดแคลนที่ดินในการสร้างสุสานหรือพื้นที่ฝังศพเต็ม ผลที่ตามมาคือราคาพื้นที่ฝังศพจึงยิ่งสูงขึ้นไปอีก ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริก ฮ่องกงเองก็เจอปัญหาขาดแคลนพื้นที่สร้างฮวงซุ้ยจนรัฐต้องออกการจูงใจให้ผู้คนหันไปหาการประกอบพิธีศพด้วยการเผาและโปรยอัฐิแทน
ในระยะหลังเราเริ่มมีความคิดใหม่ๆ เช่นการจากไปแล้วเราจะไม่ทิ้งภาระให้โลก หรือยิ่งกว่านั้นร่างของเราสร้างเป็นประโยชน์ให้กับโลกได้ เราจึงเริ่มเห็นพวกนวัตกรรมการฝังร่างและย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ก่อนจะทิ้งตัวของเราเป็นต้นไม้ใหญ่ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องใหม่อยู่ แต่การฝังใต้ต้นไม้เป็นสิ่งที่ทำจริงจังมานานแล้ว โดยมักจะใช้เป็นการเผา และโปรยอัฐิโดยปลูกเป็นต้นไม้ไว้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของผู้จากไปนั้นๆ บริการฝังอัฐิและปลูกต้นไม้มีทำจริงจังในหลายพื้นที่ ทั้งที่มีป่าอยู่แล้วแล้วฝังอัฐิลงไป ไปจนถึงการปลูกต้นไม้ขึ้นใหม่ต่างป้ายหลุมศพ
น่าแปลกใจว่า ภาคปฏิบัตของการฝังใต้ต้นไม้ในฐานะพิธีแบบเรียบง่ายและตอบความคิดเรื่องธรรมชาตินั้น ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกอบพิธีกันจริงจัง ย้อนไปตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ญี่ปุ่นเริ่มเจอปัญหาขาดแคลนพื้นที่ฝังศพในพื้นที่เมือง รัฐเริ่มออกแนวทางใหม่ๆ เช่นสร้างสุสานไว้นอกเมือง มีระบบรถรับส่งและรีสอร์ตที่พัก เรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 1990 ที่เริ่มเกิดกระแสการจัดการร่างด้วยการเผาและการโปรยอัฐิแทนการฝัง
จนกระทั่งในปี 1999 มีวัดชื่อ Shōunji เสนอพิธีศพเรียกว่า Jumokusō หรือการฝังใต้ต้นไม้ คือจะมีการเผาแล้วนำเถ้าฝังลงในดินพร้อมปลูกต้นไม้ หลังจากนั้นวัด Shōunji ก็เปิดวัดเล็กขึ้นอีกวัดชื่อ Chishōin เป็นวัดที่มีพื้นที่ป่าขนาดย่อมๆ เน้นให้บริการการฝังศพโดยมีต้นไม้และผืนป่าเป็นองค์ประกอบของการหลับครั้งสุดท้ายแทนการมีป้ายหินหรือสิ่งประดับอื่นๆ อย่างที่พบเห็นได้ในสุสานทั่วไป ทุกๆ ปี พระของวัดก็จะทำพิธีสำหรับผู้จากไปในสุสานอันร่มรื่นนั้น และเหล่าญาติมิตรก็ยังคงสามารถรำลึกและทำพิธีทางศาสนาได้ไม่ต่างจากสุสานแบบเดิม
หลังจากนั้นทั้งวัดและพื้นที่บริการด้านพิธีศพอื่นๆ ก็เริ่มมีโมเดลคล้ายๆ กัน คือ บริการพื้นที่โปรย หรือฝังอัฐิโดยมีต้นไม้เป็นส่วนประกอบ อันที่จริงความเฟื่องฟูของการฝังใต้ต้นไม้ (อันหมายถึงการเผาและโปรยอัฐิ) สัมพันธ์ความซับซ้อนและความหลากหลายทางความเชื่อในญี่ปุ่นที่มีทั้งชินโต พุทธ และศาสนาความเชื่อใหม่ๆ ในหนังสือ Japanese Tree Burial: Ecology, Kinship and the Culture of Death ของนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศสพูดถึงประเด็นการฝังใต้ต้นไม้ว่า สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างสำคัญ คือ เป็นการเฟื่องฟูของความเชื่อที่หลากหลาย และการคลายตัวของวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับครอบครัวและบรรพชนที่มีพื้นที่สุสานเป็นความรับผิดชอบ ทั้งยังเป็นความสัมพันธ์ของบ้านและวัดที่มีสุสานเป็นความเขื่อมโยงสำคัญของพื้นที่เมืองและชุมชน
อย่างไรก็ตาม การฝังใต้ต้นไม้นั้นสัมพันธ์กับความเชื่อที่เปลี่ยนไป และราคาที่ถูกกว่าพิธีศพแบบเดิม นอกจากญี่ปุ่นแล้วที่สหรัฐอเมริกาก็มีบริษัทสตาร์ทอัพจำนวนมากที่ให้บริการการฝังศพ พร้อมกับเป็นการปลูกและพัฒนาพื้นที่ป่าจากที่ดินรกร้าง หรือเป็นการป้องกันการพัฒนาที่รุกล้ำพื้นที่ธรรมชาติด้วย
Garden of Peace กรณีศึกษาของสวนเพื่อการโปรยอัฐิแห่งแรกของสิงคโปร์
ประเด็นเรื่องการจัดการร่างหลังเสียชีวิต จากประเด็นเรื่องขาดที่ดิน การเปลี่ยนความเชื่อจากศาสนามาสู่ประเด็นการบริหารจัดการ ล่าสุดคือเมื่องกลางปี (ราวเดือนพฤษภาคม) ค.ศ.2021 สิงคโปร์เองก็เพิ่งเปิดสวนชื่อ Garden of Peace บริเวณที่เป็นสุสานและฌาปนสถานสำคัญของสิงคโปร์คือบริเวณ Choa Chu Kang Cemetery Complex ศูนย์ฌาปนสถานและสุสานที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ สวนแห่งนี้จะเป็นเหมือนสวนสมัยใหม่ที่ออกแบบอย่างเรียบง่าย เน้นให้บริการเป็นพื้นที่สำหรับโปรยอัฐิที่ไม่เน้นการประกอบกิจกรรมทางศาสนา เป็นพื้นที่ที่รัฐเปิดให้บริการเป็นทางเลือกในการจัดการร่างให้กับประชาชน
ตัวสวน Garden of Peace ถือเป็นอีกหนึ่งสวนและอีกหนึ่งบริการที่รัฐจัดหาพื้นที่ให้กับประชาชน คือตัวสวนจะออกแบบเป็นทั้งสวนสาธารณะ คือ เข้าไปเดินเล่นออกกำลังกายได้ตามสไตล์สิงคโปร์ แต่ก็จะมีส่วนพิเศษที่จะให้คนเข้าไปทำการโปรยอัฐิ ซึ่งการโปรยอัฐิจะค่อนข้างเป็นไปอย่างอิสระ ที่ได้รับการแบ่งส่วนซอยย่อยให้ การโปรยก็โปรยในพื้นที่ที่กำหนด จะโปรยตรงไหนก็ได้ เสร็จแล้วก็มีน้ำสำหรับรดผงอัฐิลงไป ดังนั้นการโปรยอัฐินั้นก็จะไม่มีการระบุจุดที่โปรยว่าเป็นจุดเฉพาะเจาะจงของใคร เป็นพื้นที่โปรยอัฐิแบบลงผืนดินที่ค่อนข้างเป็นส่วนรวม และแน่นอนว่าเป็นภาคปฏิบัติของการอำลาครั้งสุดท้ายที่ออกแบบสำหรับคนที่ต้องการจากไปโดยไม่ผูกมัดกับศาสนา
การเกิดขึ้นของสวนนี้จึงค่อนข้างน่าสนใจ แน่นอนว่า ส่วนหนึ่งสัมพันธ์กับความเชื่อของคนเมืองรุ่นใหม่ของสิงคโปร์ที่ค่อนข้างไม่ยึดติดกับพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งอันที่จริงภูมิหลังของสิงคโปร์นั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากทั้งจีนและมุสลิม ซึ่งก็อ้างอิงกับพิธีกรรมที่ค่อนข้างสัมพันธ์กับการฝัง และความสัมพันธ์กับคนรุ่นหลังผ่านพิธีศพ
สำหรับสวน Garden of Peace จริงๆ ถือว่าเป็นสวนที่ออกแบบมาด้วยฟังก์ชั่นมากๆ เป็นสวนที่เน้นความเรียบง่าย มีพื้นที่โปรยอัฐิแบบรวบรัด หน้าตาโมเดิร์น เน้น universal design มีทางรถเข็น และก็เน้นให้บริการแบบครบวงจร ใครที่ต้องการจะเผาและฝังนั้นต้องเสียเงิน กรอกฟอร์ม คนที่จะใช้บริการได้ต้องเป็นพลเมืองสิงคโปร์เท่านั้น ต้องเผาในฌาปนสถานที่กำหนดและมีค่าบริการเป็นค่าธรรมเนียมที่จะต้องจ่ายให้รัฐราว 320 เหรียญสิงคโปร์ ความน่าสนใจคือตัวสวนระบุเป็นพื้นที่โปรยอัฐิที่เข้าใช้ได้ทุกศาสนา แต่มีกฎว่าห้าม ‘ประกอบพิธีทางศาสนา’ เช่น การจุดธูปเทียน การเผากระดาษ ในการเข้าใช้งานนั้นก็อาจจะมีการแสดงความอาลัยที่เรียบง่าย วางดอกไม้ กล่าวคำอาลัย คือ ค่อนข้างเป็นพื้นที่กลางๆ จากไปแบบเรียบๆ แล้วก็กลับเข้าไปสู่พื้นที่ของรัฐผ่านสาธารณูปโภคและบริการของรัฐ
จากกระแสการไม่ประกอบพิธีกรรม จนถึงการฝังแบบรักโลก กลับสู่ผืนดิน จนมาถึงพื้นที่สาธารณะของสิงคโปร์ที่การตายและร่างกายของเราจะกลับไปสัมพันธ์กับสวัสดิการ—บริการพื้นฐานและสาธารณูปโภคของรัฐ ปลายทางของเราก็ดูจะเรียบง่ายขึ้น ประหยัด และสะดวกรวดเร็ว เน้นไปที่ฟังก์ชั่น งบประมาณและทางเลือกที่เหมาะกับผู้จากไปเป็นสำคัญ
อันที่จริงกระแสการจากไปอย่างเรียบง่ายนั้น ก็อาจจะมาสัมพันธ์กับยุค COVID-19 ที่การฌาปนิจต้องรวบรัด รวดเร็วขึ้น ประกอบกับเทรนด์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัวเราจากสหรัฐ ญี่ปุ่น มาจนถึงสิงคโปร์ ว่าอันที่จริง ถ้าเรามีพื้นที่สำหรับการจัดการเผาและฝังร่างของเราได้โดยง่ายนั้น ก็อาจจะทำให้การจากไปของเรา หมดห่วงได้ การเลือกจากไปโดยไม่มีพิธีรีตองก็ดูจะเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลดี
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Waragorn Keeranan