เวลาล่วงเลยมา.. อายุ 4 ปีสภาผู้แทนราษฎรใกล้จะหมดลง
นักการเมืองหน้าใหม่หลายคนแจ้งเกิดได้สำเร็จ ซึ่งเธอก็เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งจากการอภิปรายหรือตามที่ปรากฎในข่าวการเมืองต่างๆ
‘ไหม—ศิริกัญญา ตันสกุล’ มีบทบาทหลายอย่าง เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พรรคการเมืองเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถทำให้เธอตัดสินใจมาเล่นการเมืองได้ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจของสภาฯ ในอดีตยังเคยเป็นนักวิจัยดาวรุ่งที่หลายคนจับตาและคิดว่าจะไปได้ไกลบนแวดวงวิชาการ
แต่ในฐานะ ‘ผู้หญิงในการเมือง’ ปัญหามิติทางเพศยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เธอต้องเผชิญ ไม่ต่างจากนักการเมืองหญิงคนอื่นๆ แม้บทบาทที่แตกต่าง จะทำให้ประสบการณ์ที่เธอเจออาจต่างไปบ้างก็ตาม
The MATTER ได้ไปสนทนากับ ส.ส.ศิริกัญญา เพื่อสำรวจถึงปัญหาในมิติทางเพศที่ยังไม่เคยหมดไปในการเมืองไทย ขณะเดียวกัน จึงถือโอกาสพูดคุยถึงตัวตน ความสนใจ และเป้าหมายของเธอ รวมถึงบทบาทของพรรคก้าวไกลในเวทีเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ด้วย
ขอเชิญปอกเปลือกการเมืองไทย ผ่านมุมมองของรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลรายนี้ จากบทสัมภาษณ์ด้านล่าง
1.
จากนักวิชาการถึงนักการเมือง
ก่อนอื่นอยากให้คุณไหมแนะนำตัวสั้นๆ
สวัสดีค่ะ ชื่อศิริกัญญา ตันสกุล ค่ะ ตอนนี้อาชีพก็คือนักการเมือง ได้รับเลือกเป็น ส.ส. มา 3 ปีกว่าๆ (เราคุยกันปลายปี 2565) เกือบจะครบเทอมแล้ว เดี๋ยวก็คงจะต้องเลือกตั้งเข้ามาใหม่อีกที ก็ไม่รู้ว่าจะต้องตกงานหรือเปล่าในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ว่าอาชีพตอนนี้ก็คือเป็น ส.ส. เป็นประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจของสภาผู้แทนราษฎรด้วย แล้วก็อยู่ในพรรคก้าวไกล เป็นรองหัวหน้าพรรค หน้าที่ความรับผิดชอบก็คือ ต้องดูเรื่องของภาพรวมนโยบายของพรรคทั้งหมด
จากตอนแรกที่เป็นนักวิชาการ ข้ามมาเป็นนักการเมืองได้ยังไง
หลังจากที่เราก็เป็นผู้จัดการฝ่ายวิจัยอยู่ที่สถาบันวิจัยแห่งหนึ่ง เสร็จแล้วก็ลาออกมา ก็ไปอยู่บริษัทที่ปรึกษาบริษัทเอกชน อยู่ได้สักประมาณปีกว่าๆ แล้วเราก็เริ่มรู้สึกอยากจะกลับมาทํางานสายวิชาการแล้วเหมือนกัน พอดีว่าได้รับโทรศัพท์จากคุณต๋อม—ชัยธวัช (ตุลาธน) ที่ตอนนี้เป็นเลขาเลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็โทรชวนว่า ให้มาทําเป็นผู้อํานวยการฝ่ายนโยบายของพรรคอนาคตใหม่
ก็คือมาเป็นสตาฟก่อน ไม่ได้จะมาเป็นนักการเมือง ไม่ได้มีความเป็นนักการเมือง อยากจะทํางานเบื้องหลัง อยากจะช่วยคิด เพราะว่าเรื่อง public policy (นโยบายสาธารณะ) มันก็เป็นเรื่องที่เราสนใจมากเป็นพิเศษอยู่แล้ว เลยมาเป็นสตาฟในตําแหน่ง ผอ.ฝ่ายนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ แล้วจากนั้น พอใกล้ๆ เลือกตั้ง ก็ได้รับโทรศัพท์อีกสายหนึ่งจากคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) ที่บอกว่า ตอนนี้กำลังทำบัญชี ส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่ แล้วก็อยากชวนเรามาเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ
แล้วที่ตลกก็คือ อันนี้ก็อาจจะโจ๊กนะ คุณธนาธรอาจจะไม่ได้ตั้งใจ เขาก็บอกว่า เนี่ย สักประมาณอันดับที่ 15-20 ยังไม่มีผู้หญิงเลย อยากให้มันมี gender balance หน่อย ก็เลยคิดๆ อยู่แป๊บนึง แล้วก็ตอบรับมา เพราะ ณ วันนั้น ประมาณปลายปี 2561 เราก็ยังไม่คิดว่า พรรคอนาคตใหม่จะเป็นกระแส จะได้เยอะ ทุกคนก็จะบอก ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 5 คนก็เก่งมากแล้ว แต่ว่าเราก็ได้ลำดับประมาณที่ 15 ก็ไม่ได้คิดว่าจะได้ ก็ลงไป แต่สุดท้ายมันก็ได้กลับมาถล่มทลายมาก เกิน 15 ไปอีกเยอะเลย
ก็เลยเป็นที่มาว่า จับพลัดจับผลู ไม่ได้อยากเป็น แต่เรียกได้ว่า สนใจการเมือง ชอบงานนโยบาย อยากอยู่เบื้องหลัง ไม่ได้อยากมาอยู่ข้างหน้าที่จะทําเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เพราะว่าที่ผ่านมา เราก็เห็นว่า คนที่ทํางานเบื้องหลัง ด้านนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ก็มี แต่ว่าเขาก็ไม่เคยเปิดหน้าออกมาว่าเขาเป็นใคร เราก็เลยคิดไปเองว่า มันควรจะเป็นแบบนั้น
จนตอนนี้ถอยไปอยู่เบื้องหลังไม่ได้แล้ว
ได้ๆ (หัวเราะ) เรากําลังต่อรองกันอยู่
ทำไมถึงต้องเป็นพรรคอนาคตใหม่ ตอนนั้นน่าจะมีหลายพรรคที่ชวนหรือเปล่า ในฐานะที่เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียง
ไม่มีค่ะ มีพรรคเดียวนี่แหละ แต่ว่ามันก็ไม่ต้องเลือกเนอะ เราไม่คิดว่าพรรคไหนจะมี full-time policy director ที่เราจะสามารถ make career ในพรรคการเมืองได้เลย ไม่รู้นะ ไม่คิดว่าพรรคไหนจะมีจ้าง full-time ทําเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็จะรู้ว่า ถ้าพรรคไหนสนใจที่จะมีตำแหน่งนี้เกิดขึ้น แสดงว่าเขาเอาจริงในเรื่องการคิด การทำนโยบาย มันจะต้องจริงจัง อิงภาควิชาการ ต้องใช้งานวิจัยมาซัพพอร์ต
ประกอบกับความเป็นอนาคตใหม่เอง มันก็มีความน่าสนใจในตัวมันเองตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว เพราะว่าเราก็อยู่ในสภาพแวดล้อมการเมืองแบบเดิมๆ มาโดยตลอด เราก็ไม่เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดขึ้นได้จากจากคนเซ็ตเดิมๆ ที่เข้าไปอยู่ในวงการการเมือง เราก็เลยคิดว่า เออ ถ้ามีคนกลุ่มนี้เข้ามาช่วยเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการเมืองให้มันดีขึ้น เราก็อยากที่จะช่วยสนับสนุน ในฐานะ ผอ.นโยบาย
ตอนที่ตัดสินใจมาเล่นการเมือง อะไรคือเป้าหมายหลัก หรือแรงจูงใจ
ตอนนั้นมันก็คุยกันเยอะ ตอนที่อนาคตใหม่กําลังคัดเลือกว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขาก็จะพูดกันตลอดว่า ถ้าเกิดอยากที่จะเปลี่ยนแปลง คุณต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมัน ซึ่งวันนั้น เราก็รู้สึกว่า เฮ้ย ในฐานะที่เป็นฝ่ายวิชาการของพรรค เราก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมันแล้วเนอะ
แรงจูงใจที่เราคิดว่ามันเห็นได้ชัดก็คือ เราไม่อยากเห็นรูปแบบการเมืองเดิมๆ เราอยากเห็นสภาฯ ที่เป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้จริงๆ สะท้อนเสียงของประชาชนได้จริงๆ การเมืองกล้าพูดในสิ่งที่นักการเมืองตามปกติจะไม่กล้าพูด ไม่กล้าเอ่ยถึงกัน
ต้องยอมรับว่า ความศรัทธาในระบบรัฐสภาของคนไทยมันถดถอยมามากแล้วเหมือนกันด้วย ทั้งที่มันก็อาจจะเป็นอคติบ้าง เป็นเรื่องจริงบ้าง เป็นข้อเท็จจริงบ้าง แต่เป้าหมายของเราก็คือ ต้องการที่จะรื้อฟื้นความเชื่อมั่นในระบบรัฐสภากลับมาให้ได้ อันนั้นก็คือเป้าหมายหลักๆ เลย ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องเป็นรัฐบาล บริหารประเทศอะไรด้วยซ้ำ
คุณไหมเคยพูดว่า สนใจการเมืองตั้งแต่เด็กๆ อะไรทำให้เด็กหญิงไหมสนใจเรื่องนี้
ก็น่าจะอิทธิพลจากพ่อนี่แหละ เราเป็นลูกสาวคนเล็ก พ่อก็ชอบคุยเรื่องการเมืองให้ฟัง นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ด้วยกัน แล้วก็มีเล่นสนุกกัน นั่งทายชื่อนักการเมือง พ่อพูดชื่อ แล้วก็ให้เราพูดนามสกุล นั่นแหละ ก็จะสนใจตามที่พ่อสนใจมาเรื่อยๆ
ตอนนั้นเราวาดฝันไหมว่า โตขึ้นจะเป็นนักการเมือง
ไม่ได้เด็กมาก สักตอนเรียนมหาวิทยาลัย ก็คิดว่า ก็น่าจะเป็นหนึ่งในอาชีพใน bucket list อยู่ คือสนใจการออกแบบนโยบาย สมัยเรียนเศรษฐศาสตร์การเมือง เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็เอามาทำเองเลย ถ้าคนอื่นทำแล้วมันไม่สำเร็จหรือไม่กล้าทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็จะมีเป็นหนึ่งในลิสต์เหมือนกัน
แต่ว่าก็เป็นฝันไกล สักประมาณ 10-20 ปีก่อน ถ้าเราสนใจอยากเป็น ส.ส. แล้วมันต้องทำไงต่อนะ (หัวเราะ) ไม่มีช่องทาง เพราะถ้าวัยนี้เข้ามา คุณลองเช็กชื่อดูสิ ก็คือต้องเป็นลูกใคร หลานใคร เป็นญาติใครสักคนนึงหมดเลย
แล้วพอมาเล่นการเมือง มันทําให้มุมมองเราเปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า
มันก็ยิ่งตอกย้ำว่าทําไมเราถึงมาทําอันนี้ มันเป็นอย่างที่เราคิดจริงๆ นี่แหละ
เข้าไปแรกๆ ก็หดหู่ใช้ได้เหมือนกัน ว่าทําไมมันน้ำเน่าขนาดนี้ คุยอะไรกันเนี่ย เสียเวล่ำเวลา นี่เราประชุม 8 ชั่วโมงกันโดยที่ไม่มีสาระอะไรเลย! จากมุมมองของคนนอกที่ โอเค ก็เคยติดตามการเมืองเข้มข้น แต่ว่าพอเราเริ่มโตขึ้นเราก็ไม่ได้ติดตามถี่ขนาดนั้น พอมาอยู่ในห้องประชุมสภาฯ แล้วรู้สึกว่า โห มันเสียเวลามากเลย วันๆ นึงเราควรจะต้องทําอะไรได้เยอะกว่านี้ มานั่ง 8 ชั่วโมง แล้วก็คุยกันแต่เรื่องวาทศิลป์ ไม่เข้าเนื้อหา มีแต่จะพูดจาหาเสียงกับประชาชนตัวเอง
แล้วยิ่งแรก ๆ มันทําอะไรก็ไม่ได้ โหวตแพ้ไม่ว่าจะตั้งแต่เลือกนายกฯ เรื่องของการตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาเรื่อง คสช. เรื่องตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาเรื่อง EEC …พอมันเจออย่างนี้บ่อยๆ เราก็เริ่มท้อแท้ หมดกําลังใจ
แต่ว่าก็มานั่งคิดกับตัวเอง ณ วันนั้นเลยนะว่า เออ ก็นี่แหละ ทําไมเราถึงต้องต้องเข้ามาทํา ถ้าไม่ทํา ถ้าไม่มีใครคิดจะเปลี่ยน มันก็จะเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ถ้าเราอยากให้คนเชื่อว่า สภาฯ มันฟังก์ชั่นจริงๆ ให้เขารู้สึกว่า ส.ส.คือผู้แทนจริงๆ เราก็ต้องเข้ามาทําให้มันเปลี่ยนเองด้วย ก็เลยฮึบทําต่อ
เวลาทำวิจัยมา แล้วพอมาเจอของจริง มันแตกต่างกันยังไง
ที่เราทํางานมันก็อาจจะเป็นภาคทฤษฎี เช่น ระดับหนี้สาธารณะต้องไม่เกินกี่ % ของ GDP หรือว่าเรื่องของงบลงทุนมันควรจะต้องเป็นเท่าไร ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องของทฤษฎี และอุดมคติของความที่มันควรจะเป็น แต่ว่าพอมานั่งใน กมธ. มันหน้างานจริง เห็นรายละเอียดจริง เราจะเห็นว่า ทฤษฎีที่เราเคยคิดว่าดี พอไปดูในรายละเอียดมันไม่ได้เป็นแบบที่ทฤษฎีว่าไว้
หรือแม้กระทั่งตอนเราเรียนเรื่องการคลัง เรื่องงบประมาณในห้องเรียน มันไม่มีทางรู้ว่า กระบวนการใน กมธ.จริงๆ เขาพิจารณางบประมาณกันยังไง
ไหมพา อ.วีรศักดิ์ เครือเทพ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ที่เชี่ยวชาญด้านการคลัง-งบประมาณไปนั่งใน กมธ. ยังบอกเลยว่า สอนนักเรียนมากี่ปี ก็ไม่เคยว่ารู้ว่าข้างในจริงๆ มันเป็นยังไง เขาคุยอะไรกันในห้องประชุมนั้น การต่อรองมันเกิดขึ้นตรงไหน มันจบได้ที่ตรงไหน งบลงทุนที่เราบอกว่า ดีๆ มีเยอะๆ ตกลงเขาเอาไปลงทุนกับอะไร แล้วมันควรจะมีได้เยอะขนาดนั้นจริงหรือเปล่า หรือว่าหนี้สาธารณะที่คนเป็นกังวลเหลือเกิน ตอนนี้ 10 ล้านล้านแล้ว มันจะ 70% ของ GDP แล้ว พอไปดูในรายละเอียด จริงๆ มันก็ไม่ได้น่ากังวลขนาดนั้น
มันอาจจะมีทั้งปีศาจในรายละเอียด (มาจากสำนวนภาษาอังกฤษว่า “The devil is in the details.”) แล้วก็มี angel (นางฟ้า) ในรายละเอียดได้เช่นเดียวกัน
2.
จุดยืนและความสุขของ ส.ส.ไหม
ถ้าดูข่าวคุณไหม จะเห็นเคลื่อนไหวบางเรื่องบ่อย เช่น รัฐสวัสดิการ ต่อต้านทุนนิยมผูกขาด จุดยืนเรื่องเศรษฐกิจอยู่ตรงไหน ซ้ายถึงขั้นสังคมนิยมเลยหรือเปล่า
จริงๆ บทบาทคือ ‘ต่อต้านทุนผูกขาด’ ซึ่งก็น่าจะเป็นจุดร่วมกันระหว่างคนที่มีความคิดแนวสังคมประชาธิปไตย หรือ social democrat กับคนที่เป็น liberal
ถ้าคุณอยู่ในโลกทุนนิยม แล้วคุณอยากให้มีการแข่งขันที่มันเป็นธรรม ทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาไม่มีใครชอบให้มีทุนขนาดใหญ่ที่ผูกขาดทุกอย่างไว้และบูลลี่รายเล็กรายน้อย ไม่มีความเชื่อแบบไหนที่ชอบแบบนั้น
ดังนั้น ถ้าพูดกันเรื่องเรื่องทุนผูกขาด เราก็อาจจะไม่ได้ซ้ายขนาดนั้น ก็อาจจะอยู่กลางๆ หน่อย
แต่ถ้าซ้ายมากก็อาจจะบอกว่า อ๋อ ถ้ามันผูกขาดนัก ก็ให้รัฐเป็นคนทําเอง หรือว่าให้เป็นรัฐวิสาหกิจทํา อันนั้นก็จะเป็นสังคมนิยม แล้วเราก็ยังไม่ค่อยเชื่อในความสามารถของรัฐวิสาหกิจไทยสักเท่าไหร่ อันนี้ก็เป็นก็เป็นปัญหาเหมือนกันว่า เป็นซ้ายได้ไม่สุด เพราะว่ารัฐมันห่วย เราถึงได้พูดแต่เรื่องปฏิรูปราชการด่วนๆ เพราะว่าถ้าไม่เริ่มจากอันนี้ ไม่ว่าคุณมีนโยบายสวยหรูอะไร มันก็สําเร็จยาก
คือเราก็ยังเชื่อในบทบาทของรัฐ เมื่อเราสามารถที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพรัฐให้มันดีขึ้น แต่ว่าอาจจะไม่ได้เชื่อว่า รัฐจําเป็นที่จะต้องใหญ่ขึ้นเสมอไปนะ รัฐสามารถที่จะเล็กกว่านี้ เนื่องจากว่าไซส์เดิมมันใหญ่ คุณสามารถเล็กกว่านี้ efficient กว่านี้ แล้วคุณก็ทํางานได้ ตรงเป้าหมาย มีประสิทธิผลมากกว่านี้ได้ โดยที่ไม่ต้องใหญ่ขึ้น
ใครคือไอดอลทางการเมือง คุณไหมเคยบอกว่ามีอเล็กซานเดรีย โอคาซีโอ–คอร์เทซ (Alexandria Ocasio-Cortez หรือ AOC) ส.ส.สหรัฐฯ เป็นไอดอล ยังเป็นคนเดิมอยู่ไหม
ถ้ากลับไปคิด ก็ยังคิดว่า AOC ก็ยังคงเป็นไอดอลอยู่
เราว่า เพราะว่าเรานับถือเขาในเรื่องของการอภิปราย ในเรื่องของการซักถามใน กมธ. มาก เพราะว่ามันทั้งพูดตรงไปตรงมา แล้วก็ทําการบ้านดีมาก อันนี้เป็นสิ่งที่นักการเมืองที่เป็นสายเทคโนแครต สายวิชาการหน่อยจะชอบไง เพราะเขาก็ไม่ได้พูดแบบไปเรื่อย พูดลอยๆ ซึ่งปกตินักการเมืองอเมริกันก็ไม่ค่อยมีใครพูดลอยๆ ขนาดนั้นอยู่แล้ว แต่เราเห็นเลยว่า เออ ผู้หญิงคนนี้ทําการบ้านดีมาก ในแต่ละเรื่องที่เขาที่เขาทำ
เคยตามไปฟังสัมภาษณ์ ก็มีคนถามว่า เตรียมข้อมูลพวกนี้เองหรือเปล่า หรือว่าทํายังไงถึงได้มีข้อมูลดีขนาดนี้ในการในการพูด เขาก็พูดเลยว่า มันเป็นเพราะว่ามีทีมที่ดี เขาจ้างคนมาเป็นทีมงาน อารมณ์แบบผู้ช่วย ส.ส. ก็คือคนที่มาซัพพอร์ตออฟฟิศของเขา แล้วเขาก็บอกว่า เขาจ่ายดีด้วย เขาแฟร์ จ่ายเงินมากพอ แล้วก็ทําให้คนพวกนี้ทํางานให้เขาได้อย่างเต็มที่
แล้วก็เรื่องลีลาของการอภิปราย ก็จัดว่าเด็ด มันกระชากอารมณ์ มัน มันปลุกเร้าได้ได้ดี วันก่อนก็ยังคุยกันว่า เฮ้ย AOC Moment ได้เกิดขึ้นแล้วตอนที่ พี่เจี๊ยบ (อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล) ซักเรื่องบ้านพักทหาร
อยากให้คนแบบนี้มาอยู่ในการเมืองไทยหรือเปล่า
แน่นอน และถ้าเข้ามา เขาต้องอยู่กับก้าวไกลแน่นอน (หัวเราะ) ซ้ายขนาดนี้ เป็น democratic socialist แล้วก็อายุ 33 ใช่ไหม เป็นฮิสแปนิก เป็นคนกลุ่มน้อย ติ๊กถูกทุกช่องอะ ไม่มีทางไปไหนได้ ต้องพรรคนี้แหละ
ตั้งแต่มาเล่นการเมือง มีเรื่องอะไรหรือโมเมนต์อะไรที่เราภูมิใจมากที่สุด
ความสุขมันหายไปเร็วเนาะ (หัวเราะ) ท็อปเท็นโมเมนต์ก็ต้องเป็นช็อตสุราก้าวหน้าผ่านวาระหนึ่ง หรือสมรสเท่าเทียมเนี่ย เพราะว่าเราก็หาเสียงกันมาตั้งแต่ตอนเป็นอนาคตใหม่ ได้อยู่ทุกขั้นตอน สมรสเท่าเทียมนี่คือขึ้นเวทีตั้งแต่ยังเป็น ผอ.ฝ่ายนโยบาย เพื่อที่จะประกาศว่านโยบายนี้คือนโยบายของอนาคตใหม่ แล้ววันที่มันผ่านเข้าวาระหนึ่ง มันก็เป็นโมเมนต์ที่ดีมากในทางการเมือง
คุยกับนักวิชาการอย่าง อ.สิริพรรณ (นกสวน สวัสดี) เขาก็ยังบอกว่า “มันน้อยนะ พรรคการเมืองที่จะพยายาม deliver นโยบายด้วยการออกกฎหมายในประเทศไทย ประเทศอื่นเป็นเรื่องปกติมาก แต่ประเทศไทยปกติเขาไม่ทํากัน เป็นฝ่ายค้านเขาไม่ออกกฎหมายกัน พรรคคุณนี่เป็นพรรคแรกๆ ที่ทํา”
เราก็แคมเปญเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องด้วย ของคนอื่นเขาก็อาจจะมียื่นตามที่ประชาชนเรียกร้อง แต่อาจจะไม่ได้เอามาใช้เป็นการแคมเปญว่านี่คือนโยบายที่เราหาเสียง มันก็เลยรู้สึกว่า เออ ภาคภูมิใจ แล้วเวลาที่เรามีความสุขมันก็สั้นมาก ความสุขมันสั้นประมาณ 3 เดือนเท่านั้น แต่ก็คิดว่า มาไกลเท่านี้ก็ดีเหลือเกิน เป็นเพลง (หัวเราะ) จริง ๆ มันก็ถือว่ามาได้ไกลมากนะ
อันนี้ก็คือเป็นบิ๊กโมเมนต์ จริงๆ มันจะมีโมเมนต์เล็กๆ ย่อยๆ เต็มไปหมดเลย เวลาเราไปเห็นคอมเมนต์ อ่านคอมเมนต์ต่างๆ ชื่นชมผลงานในสภาฯ ของพรรคก้าวไกลเนี่ย เราก็จะแบบ โอ้ ใจฟู เพราะว่าในอีเวนต์การอภิปรายใหญ่ๆ เรารวมศูนย์การทํางาน เราเป็นทีมที่จะต้องดูเนื้อหา ดูบท ดูสไลด์ของเกือบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นอภิปรายงบประมาณ อภิปรายไม่ไว้วางใจ เราอยู่ในทีมนั้นตลอดทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา
คิดว่าจะทํางานการเมืองไปถึงเมื่อไหร่
ตอนนี้เราก็คิดว่าอะไรมันจะทําให้เราเลิกทํา ไม่ว่าจะอยู่เบื้องหน้าหรืออยู่เบื้องหลัง
ถ้าเขายุบพรรค เราก็คิดว่าเราคงไม่หมดแรงกันง่ายๆ มันเห็นแล้ว ยุบอนาคตใหม่ แล้วตั้งก้าวไกล ภายในเวลาไม่กี่ปีเราก็สามารถลุกขึ้นมายืนอย่างสง่างาม ท้าทายทุกคนได้เหมือนเดิม
สมมติเราถูกตัดสิทธิ เราก็กลับไปอยู่เบื้องหลัง ซัพพอร์ต มาเป็นพนักงานเหมือนเดิม ทํางาน มันก็ยังคงจะต้องวนเวียนอยู่ในสายการเมืองอยู่เรื่อยๆ ก็เลยคิดว่า ก็คงจะทําแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าพรรคจะไม่ได้เป็นพรรคที่เราศรัทธาอีกต่อไป ถึงจะเลิกทําการเมือง
แต่มันก็คงหนีกันไม่พ้น ถึงจะไปทําอย่างอื่น มันก็ยังต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่ดี เพราะฉะนั้น ก็อาจเป็นนักวิเคราะห์นโยบายต่อ ทําวิจัยก็ต้องทําเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ซึ่งผู้ออกนโยบายก็ยังเป็นนักการเมืองอยู่ดี
3.
เรื่อง ‘เพศ’ ในการเมือง
มีปัญหาอคติทางเพศในการเมืองที่เคยเจอกับตัวบ้างไหม
จริงๆ เราจะเจอแบบซอฟต์ๆ ยังไม่ถึงขั้นแบบที่ช่อ (พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่) เจอ ที่เดินสวนแล้วได้ยินพูดแบบ “เฮ้ย สภาฯ แม่งมีแต่สาวๆ สวยๆ” ยังไม่เคยเจอขั้นนั้น มีแต่แบบ “สวัสดีคนสวย ไปไหนมาคนสวย” ซึ่งมันอาจจะเป็นแค่คําสร้อยก็ได้นะ แบบว่าผู้หญิงทุกคนเดินผ่านแล้วเรียกคนสวยหมด แรกๆ มันก็จะแบบ เป็นอะไร ไม่เคยเจอ เพราะว่าเราก็อยู่ในแวดวงวิชาชีพ-วิชาการ ก็ไม่มีใครมาทักกันแบบนี้ แต่หลังๆ มันก็จะเริ่มชิน
แต่มีอีกอันนึงที่ไม่เคยชิน ก็คือโดนเรียก ‘หนู’ รู้สึกว่าคนน่าจะเลิกเรียกเราว่าหนูตั้งแต่เราอายุสักประมาณ 18 แล้วมั้ง แต่ว่า อายุ 41 อยู่ในสภาฯ ที่เขารู้ว่าเราก็เป็น ส.ส. ก็ยังเรียกเราว่าหนู เขาเป็นรุ่นปู่เราอย่างนี้เหรอ แต่คือคุณจะมาเครือญาติอะไรกันในสภาฯ สําหรับเรานี่มันคือสถานที่ทํางาน เราอยู่ภาคเอกชน ประชุมกับซีอีโอ ผู้บริหารอะไรมามากมาย ไม่มีใครกล้าเรียกคนในโต๊ะประชุมว่าหนู อย่างมากก็ ‘คุณ’ เรารู้สึกว่าก็ให้เกียรติกันมากแล้ว
หรือมีอันนึง อันนี้เป็นเรื่องขําๆ เขาจะชอบมีขานชื่อก่อนขึ้นอภิปราย แล้วเขาจะชอบเรียกกัน ‘ท่าน’ ใช่มั้ยคะ “ขอเชิญท่านคารม พลพรกลาง ท่านศุภชัย ใจสมุทร …และนางสาวสิริกัญญา ตันสกุล” อันนี้เป็นเรื่องที่เราก็ไม่ได้อยากจะได้เจ้ายศเจ้า อยากได้ ‘ท่าน’ นะ แต่ว่าทําไมได้เป็น ‘นางสาว’ นะ ทําไมคนอื่นไม่เรียก ‘นาย’ คนอื่นเรียก ‘ท่าน’
ก็ยังคิดไม่ออกเหมือนกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น ซึ่งโดนทุกรอบจนแบบกลายเป็นโจ๊กกับเพื่อนๆ ว่า อีกแล้วว่ะ เขาย้ำอีกแล้วว่ากูยังไม่ได้แต่งงานเหรอ (หัวเราะ) เดี๋ยวต้องไปลองถามดูว่าพี่เจี๊ยบโดนมั้ย คิดว่าพี่เจี๊ยบก็โดนเหมือนกัน
ที่เรียกว่า ‘หนู’ มันสะท้อนรากของปัญหาอะไรในการเมืองไทยหรือเปล่า
มีความรู้สึกว่า การที่เราเป็น ส.ส. คนหนึ่ง มันก็ควรจะต้องมีสถานะที่มันเท่ากันถูกไหม ไม่มีใครที่ตัวเล็กกว่า หรือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า โอเค บางคนอาจจะอาวุโสกว่าก็จริง แต่มันก็มีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการทํางานแบบมืออาชีพกับการทํางานแบบไม่เป็นทางการหรือว่าแบบไทยๆ
ซึ่งเราก็คิดว่ามันเป็นเรื่องความไม่รู้ มันเป็นการขาดความเข้าใจ มากกว่าการที่ตั้งใจจะ offend สําหรับเรา generation gap มันชัดมากด้วย ก็คือ ใน generation นึง มันไม่เคยมีคนยกเรื่องนี้ขึ้นมา แล้วก็ให้ความรู้ความเข้าใจว่า แบบนี้ทําไม่ได้นะ อันนี้ไม่ควรทํา แล้วยิ่งเวลาผ่านไปพอเขาอาวุโสขึ้นเรื่อยๆ การที่จะถูกตําหนิ ถูกว่ากล่าวให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม มันยิ่งทําได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
เคยมีข้อเสนอเรื่องกำหนด ‘สัดส่วน’ เพศในสภาฯ คิดว่าจะช่วยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้ไหม
นับวันเรายิ่งคิดว่า การมีสัดส่วนแบบ physical number มันไม่ได้การันตีเลยว่าเรามีความเท่าเทียมทางเพศ หลายครั้งเราก็เห็น ส.ส.หญิงมีทัศนคติที่ที่เหยียดตัวเองด้วยซ้ำไป หรือว่าในด้านกลับกัน เราก็มีผู้ชายที่เป็นเฟมินิสต์ตัวจริงมากกว่าเรา ที่จะพูดแทนเราได้ดีกว่า ที่พิทักษ์คุ้มครองสิทธิเราได้ดีกว่า
แล้วยิ่งถ้าเราเน้นกันเรื่องของระบบ 2 เพศมากเกินไป เราก็กําลังกันคนอีกกลุ่มนึงออกไป เพราะว่าเดี๋ยวนี้เพศมันไม่ได้มีแค่ชายหญิง เป็นไบนารีอีกต่อไปแล้ว คุณมีผู้หญิง-ผู้ชาย แต่ว่าก็มีอีกกลุ่มที่ก็คือคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คุณจะเอายังไง
แล้วสถานการณ์ความเท่าเทียมทางเพศในการเมืองไทยตอนนี้ ถือว่าดีขึ้นกว่าเดิมไหม
ในสภาฯ ตอนนี้สถานการณ์ก็เหมือนเดิม แต่ว่าตอนอยู่ทางฝั่งภาคเอกชน เราไม่เคยรับรู้เลยนะ ว่ามันมีความเหลื่อมล้ำทางเพศ เราทําวิจัยเรื่องค่าจ้าง เรื่อง gender pay gap ก็ไม่มี แทบจะเท่ากัน ซึ่งดีกว่าประเทศในยุโรปหลายๆ ประเทศที่เขาพูดเรื่องนี้หนักๆ ด้วยซ้ำไป
แต่ว่าในวงราชการนี่สิ อันนี้แหละที่มันเป็นจุดที่ค่อนข้างด้อย มันต้องมีอะไรผิดปกติแน่ๆ กับสัดส่วนของผู้หญิงที่ขึ้นมาระดับสูงๆ
ก็ไม่ได้บอกว่ามันจะต้องแบบ 50:50 ขนาดนั้น แต่ว่าความที่มันมีน้อยมากมันสะท้อนอะไรบางอย่าง glass ceiling แบบนี้มันไม่มีในภาคธุรกิจไง คุณลองไปดูสิว่า ท็อปเท็นธุรกิจใหญ่ของประเทศไทย จำนวนมากมีซีอีโอเป็นผู้หญิง แต่พอเป็นราชการ มันเป็นปัญหา หรือว่าใน ครม. ก็น้อยมากเช่นเดียวกัน
พรรคก้าวไกลเคยมีข่าว sexual harassment เกิดขึ้นภายในพรรค อยากทราบว่าพรรคมีจุดยืนกับเรื่องนี้ยังไง แล้วจะจะแก้ยังไงไม่ให้มันเกิดขึ้นยังไง
ทุกครั้งที่มีข่าวเรื่องนี้ เราก็พยายามตอบสนองให้ทันท่วงที มีการตั้งคณะกรรมการวินัยขึ้นมาสอบสวนอย่างตรงไปตรงมามากที่สุด เพียงแต่ว่า ในบทบาทของพรรค บางทีมันก็ทําได้สุดแค่นี้ คือเราไม่ได้มีอํานาจทางกฎหมายอะไรบางอย่างที่จะไปลงโทษ อย่างมากที่สุดก็คือริบความเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งนั่นก็อาจจะหมายถึง ถ้าเป็น ส.ส. ก็อาจจะหลุดจากการเป็น ส.ส. แต่ว่าถ้าเกิดเป็นตําแหน่งทางการเมืองก็อยู่ต่อได้ ก็ไม่ได้กระทบอะไรเลย แต่นั่นคือสิ่งที่พรรคทําได้ ในฐานะที่เป็นบทลงโทษ
มันไม่มีวิธีไหนที่จะป้องกัน เราไม่มีทางสกรีนคนที่จะเข้ามาทํางานกับเรา ไม่ว่าจะเป็นสตาฟหรือเป็น ส.ส. ว่า คุณมีแนวโน้มยังไง หรือจะเช็คประวัติยังไง มันไม่มีเรคคอร์ด มันไม่มีทางหาเจอ แต่ว่าเราสามารถป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจว่า อะไรควรทํา อะไรไม่ควรทํา มีการจัดอบรมภายในพรรค ซึ่งก็ไม่จบแค่นั้นนะ ยังมีอย่างอื่นด้วย เช่นการบูลลี่กันในที่ทํางาน ก็มีใช่มั้ย มันไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องเพศก็ได้ แต่ว่าถ้าทําให้อีกคนนึงรู้สึกแย่กับตัวเอง มันก็ไม่ควรทําเช่นเดียวกัน ก็ต้องค่อยๆ ให้ความรู้ความเข้าใจกันไป
4.
การเลือกตั้งที่จะมาถึง
ถ้าพูดถึงพรรคก้าวไกล จะนิยามว่ายังไง อยู่ ‘ตรงไหน’ ของการเมืองไทย
ก็นิยามเราเองว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานอุดมการณ์ position น่าจะอยู่ที่ประมาณซ้ายกลางของ spectrum พรรคการเมือง วันนี้เราอาจจะมีขนาดที่วัดจากจํานวน ส.ส. ที่ประมาณลําดับที่ 4 หรือที่ 5 ..น่าจะที่ 5 แล้ว (หัวเราะ)
ว่าที่ฝ่ายค้าน?
ว่าที่ฝ่ายค้าน (หัวเราะ) ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่หาเสียงว่าจะไปเป็นฝ่ายค้านถูกไหม เราสัญญากับประชาชนว่าเราอยากที่จะส่งมอบนโยบายที่เราหาเสียง หรืออย่างของพรรคก้าวไกลก็คือ เราต้องการที่จะเข้าไปสร้างความเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าเป็น ส.ส.ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ว่าถ้าทําให้มันมี impact ที่สุดเนี่ย มันคือการเป็นอํานาจฝ่ายบริหาร หรือว่าเป็นรัฐบาล
แต่ว่าสุดท้ายแล้ว จะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ก็ได้หมด เราคิดว่าเราก็ยังคงทํางานได้ 4 ปีที่ผ่านมาเราก็เป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง ถ้าสุดท้ายแล้ว คะแนนเราไม่เยอะพอ หรือการจับขั้วไม่ลงตัว แล้วเราต้องไปเป็นฝ่ายค้าน ก็ไม่หวั่นไหว เราก็รู้สึกว่า เราก็ต้องทําหน้าที่
“ก้าวไกลเป็นรัฐบาล” เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
มันเป็นไปได้ เราก็คิดว่าประชาชนก็น่าจะอยากเห็น ว่าฝ่ายประชาธิปไตยตอนนี้ที่เป็นฝ่ายค้าน เมื่อวันหนึ่งที่เขาสลับขั้วแล้วเป็นเป็นฝ่ายรัฐบาล แล้วเราจะทําได้ดีแค่ไหน
คิดว่า combination (ส่วนผสม) ที่ฝ่ายค้านปัจจุบันไปเป็นฝ่ายรัฐบาล มันคงสนุกมากเนอะ คือมีอย่างเพื่อไทยใช่ไหม ที่ทุกคนเชื่อมั่นในเรื่องเศรษฐกิจมาก เข้ามาช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ มีแบบพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล) ไปอยู่กระทรวงที่เกี่ยวกับเกษตรก็ได้ หรือว่ากระทรวงการต่างประเทศเขาก็เฉิดฉาย หรือว่ามีแบบ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ (เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย) ไปอยู่แบบกระทรวงมหาดไทย หรือดูตํารวจ มันก็ดูน่าตื่นเต้นดีสําหรับ scenario (ฉากทัศน์) ต่างๆ ทางการเมืองที่มันจะเกิดขึ้นได้
ชวนคุยถึงนโยบายของพรรค คําว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ ก้าวไกลหมายถึงอะไร ประชาชนจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
รัฐสวัสดิการเป็นรูปแบบการปกครองแบบหนึ่ง โดยพูดถึงตัวรัฐที่จัดหาสิ่งที่เป็นสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชาชน สำหรับพรรคก้าวไกล นั่นคือปลายทาง ที่เราอยากที่จะให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ
ณ วันนี้ที่เราเสนอแพ็คเกจนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการ เราก็รู้สึกว่า มันยังห่างไกลจากวันนั้นนะ แต่ว่านี่คือเส้นทางที่เราอยากที่จะเดินหน้าไปต่อ ก็อย่างที่เห็นว่า เราพยายามที่จะสร้างทุกอย่างที่เป็นขั้นเบสิก พื้นฐาน ที่มนุษย์คนนึงควรจะต้องได้รับ ถ้าเกิดเขาอยู่ในประเทศที่พัฒนาระดับหนึ่ง ประเทศที่มีการเมืองดี นี่มันคือเบสิกมาๆ ที่คนควรมี
เราไม่ควรมีน้ําประปาที่ดื่มได้เหรอ? ไม่ควรมีรถเมล์ดีๆ ให้ประชาชนขึ้นเหรอ? หรือว่าเราไม่ควรมีสิทธิการลาคลอด 180 วันที่พ่อหรือแม่แชร์กันได้เหรอ?
เราคิดว่าเราไม่ได้ขออะไรมาก เนี่ยเราก็ยังกังวลว่า เอ๊ะ แพ็คเกจสวัสดิการเรา มันจะตื่นเต้นได้ยังไง ในเมื่อทุกอย่างมันพื้นฐานมากๆ ด้วยความที่ประเทศนี้มันไม่เคยมีของแบบนี้ มันเลยดูเยอะ มันเลยดูใหญ่ มันเลยดูใช้เงินมหาศาล
เราไม่ได้คิดแค่ว่ามันจะต้องเป็นแค่การให้เป็นเม็ดเงิน ก่อนหน้านี้มันมีแต่โฆษณากันว่าให้เงิน 3,000 บาท แต่เราก็บอกว่า เฮ้ย ให้เงินแค่เดือนละ 3,000 บาท ถ้าบ้านไหนมีผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงล่ะ มันไม่มีทางพอ มันก็ต้องมีระบบที่มันจะมาจัดการส่งผู้ดูแลตามบ้านให้กับแต่ละคนด้วย ซึ่งอันนั้นมันก็จะนอกเหนือไปจากเงินสดที่จะได้รับไปแล้วด้วย มันก็ต้องมีทั้ง 2 ฝั่ง
หรือแม้กระทั่งของเด็ก ที่จะมีเงินที่จะช่วยเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด แต่ในขณะเดียวกัน ถึงคุณจะได้เดือนละ 1,200 บาท นั่นก็คือไม่พอที่คุณจะจ่ายค่า day care (ศูนย์รับเลี้ยงเด็กช่วงกลางวัน) ถ้าเกิดคุณเป็นแม่ที่กําลังอยากที่จะทุ่มเทกับหน้าที่การงาน ถึงแม้ว่าจะลาคลอด 6 เดือนเต็ม แต่เมื่อแม่ต้องกลับไปทํางาน ถ้าคุณไม่มีศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อนของรัฐที่มันสะดวกสบายและราคาถูก แม่ก็ลี้ยงลูกไม่ได้ ก็ต้องส่งกลับไปอยู่กับปู่ย่าตายาย หรือไม่ก็เลือกที่จะไม่ได้มีลูกเลยด้วยซ้ำไป
มันเลยต้องคิดให้เป็นระบบทั้ง ecosystem มากกว่าการที่จะแจกเป็นแค่เม็ดเงินสดอย่างเดียว นั่นก็คือสิ่งที่เราคิดถึงสวัสดิการที่ดี
ในเรื่องเศรษฐกิจ มีประเด็นปัญหาความเท่าเทียมทางเพศที่อยากจะแก้ด้วยหรือเปล่า
อย่างที่บอกว่า เราไม่ค่อยรู้สึกในฝั่งของภาคเอกชนว่ามันมีปัญหา ถ้ามันจะเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ก็น่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณมากกว่า ที่มันอาจจะต้องคิดในเรื่องมิติทางเพศมากขึ้น สมมติจะจัดสรรงบไปเพื่อทํากิจกรรมสําหรับเด็ก แต่โปรเจ็กต์ที่คุณขอเข้ามามีแต่โครงการที่เป็นสนามฟุตบอล อะไรอย่างนี้ ซึ่ง โอเค ก็เล่นได้ทั้งเด็กผู้หญิง เด็กผู้ชาย เด็กทุกเพศแหละ เพียงแต่ว่า เอ๊ะ มันควรจะต้องเป็นลานกีฬาอเนกประสงค์มั้ย ที่ไม่ว่าใครชอบกีฬาแบบไหนก็สามารถที่จะมาใช้บริการได้
หรือจริงๆ มันก็แฝงอยู่ แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้อธิบายในมุมเรื่องเพศ อย่างเช่น เรื่อง day care เรื่องสิทธิการลาคลอด มันคือการทําให้ผู้หญิงไม่ถูกคาดหวัง gender role (บทบาททางเพศ) ว่าฉันจะต้องเล่นบทแม่ไปอย่างเดียว หรือไม่ต้องรู้สึกว่าเขาจะต้องเสียสละหน้าที่การงานของตัวเองมากจนเกินไป แล้วก็สามารถที่จะทําหน้าที่ได้ดีทั้งสองอย่าง ทั้งความเป็นแม่ และในฐานะ professional ด้วย
คิดว่าคนไทยยังมีหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
มันน่าจะเป็นจุดที่เรามีความหวังได้สูงที่สุด ตอนปี 2562 คิดว่ามันพีคแล้ว แต่ ณ วันนั้น เรารู้กันเต็มอกว่า มันมี 250 ส.ว. ที่ยังไงก็จะยังเป็นนั่งร้านค้ำยันให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ได้สืบทอดอำนาจ
ณ วันนี้ คิดว่าสถานการณ์ 4 ปีที่ผ่านมา มันทำให้นั่งร้านสะเทือน ไม้มันผุหมดแล้ว ถึงจะยังคงมีเสียงสนับสนุนอยู่ แต่คิดว่า ส.ว.ไม่น่าจะกล้าเสี่ยงทั้ง 250 คน เพื่อที่จะค้ำยันในระบอบนี้ให้มันคงอยู่ได้
เราไม่ได้ขออะไรมาก เราไม่ขอให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง ให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ แน่นอนว่าเราอยากมี แต่วันนี้ขอแค่ free and fair election เราคิดว่าแค่นี้ เราก็สามารถสู้ได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว แน่นอนว่าอาจจะไม่ได้ชนะถล่มทลายสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย แต่ว่ายังไงแล้ว สมรภูมิมันเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงจาก 4 ปีที่ผ่านมา คิดว่าคนพร้อมที่จะเปลี่ยน คนรับโอกาสที่มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้มากที่สุดแล้ว ณ ตอนนี้
ดังนั้น ถ้าจะมีช่วงเวลาไหนที่เรารู้สึกว่ามีความหวังมากที่สุด ควรจะต้องเป็นช่วงเวลานี้ด้วยซ้ำ
(คำถามตาม) ถ้าเปรียบประเทศไทยเป็นหนังหรือหนังสือ จะนึกถึงเรื่องอะไร
ตอนดูเรื่องนี้แล้วนึกถึงประเทศไทย Don’t Look Up หนังเน็ตฟลิกซ์ที่ดังตอนปี 2564
เหตุการณ์สมมติในเรื่องนั้น มันทำสะท้อนภาพสังคมไทยหนักมาก คือปัญหามาถึงแล้ว แต่นักการเมืองก็เอาแต่จะปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง หาเสียงให้กับตัวเอง สื่อมวลชนก็มีแต่ปล่อยเฟกนิวส์ นายทุนก็มีแต่หาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง ทั้งที่โลกกําลังจะแตก
รู้สึกว่ามันสะท้อนความเป็นอยู่ของประเทศไทยตอนนี้ได้ดีมาก