“แวดวงการเมืองไทยโหดร้าย เป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ ผู้หญิงเลยไม่ค่อยจะได้เข้ามา” คำพูดคล้ายกันนี้ถูกพูดขึ้นโดยธิดา-ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ โฆษกพรรคไทยสร้างไทย
ประโยคข้างต้นเป็นจริงแค่ไหน อาจพิจารณาได้ด้วยข้อมูลสองชุด
หนึ่ง การหยิบประเด็นภายในครอบครัว เรื่องปัญหาชู้สาว-นอกใจภรรยา มาใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ เมื่อปี 2565 ประเด็นดังกล่าวถูกนำมาถกเถียงว่าเหมาะสมหรือไม่ ที่นำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นโจมตีกันทางการเมือง
สอง ข้อมูลจาก iLaw เปิดเผยสัดส่วนความหลากหลายทางเพศในแวดวงการเมืองปี 2565 พบว่า ในสภาผู้แทนราษฎรมีผู้หญิง 15% ในวุฒิสภามีผู้หญิง 10% ยังไม่ต้องพูดถึงองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งมีแค่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ป.ป.ช. และ คตง. ที่มีกรรมการเป็นผู้หญิงด้วย ส่วนศาลรัฐธรรมนูญและ กกต. ไม่มีกรรมการเป็นผู้หญิงเลยแม้แต่คนเดียว
นี่แค่พูดถึงคนการเมือง ‘เพศหญิง’ อย่างเดียว ยังไม่ไปถึง ‘เพศหลากหลาย’ หรือ LGBTQ ซึ่งระยะหลังออกมาเคลื่อนไหวและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับตัวธิดารัตน์ ไม่เพียงแต่จะพบอุปสรรคจาก ‘เพศสภาพ’ เท่านั้น เธอยังมีอัตลักษณ์อีก 2 ประการที่ติดตัวมาแต่กำเนิด และมันกดทับ ท้าทาย กีดกันชีวิตและเส้นทางการเมืองของเธออย่างสม่ำเสมอ ซึ่งก็คือสายเลือดของกลุ่ม ‘ชาติพันธุ์ลาหู่’ และรูปร่างหน้าตาที่ดูละม้าย ‘คล้ายเด็ก’ จนหลายครั้งถูกผู้ใหญ่ในแวดวงการเมืองทักว่าเป็นเลขาฯ มากกว่านักการเมือง
เมื่อเส้นทางสู่การเมืองไทยของผู้หญิงเต็มไปด้วยความท้าทาย The MATTER นัดพูดคุยกับธิดารัตน์ ถึงชีวิตที่ไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรค 3 อย่างในชีวิตของเธอเป็นอย่างไร การเป็นผู้หญิงในแวดวงการเมืองเผชิญอุปสรรคอะไรบ้าง และอะไรคือความมุ่งมั่นในฐานะนักการเมืองคนหนึ่ง ที่ทำให้เธอกระโดดลงมาคลุกคลีกับอาชีพที่คนจำนวนมากยังมองในแง่ลบ
PART 1 – นักการเมืองชาติพันธุ์
ธิดารัตน์ปรากฎตัวในเวทีการเมืองมาตั้งแต่ปี 2562 สมัยยังสังกัดพรรคเพื่อไทย เรื่องราวชีวิตของเธอถูกนำเสนอผ่านสื่อหลายครั้งในแง่มุมว่า แม้จะเกิดในครอบครัวชาติพันธุ์ลาหู่ที่ไม่มีสัญชาติ และขาดโอกาสในด้านต่างๆ แต่สามารถใช้เส้นทางการศึกษาผลักดันตัวเองจนเข้ามาอยู่ในแวดวงการเมืองไทยได้
ทำไมเด็กสาวที่เกิดในกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ถึงตัดสินใจมาเรียนรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ต่างประเทศ ที่จุฬาฯ
ความจริงที่เลือกเรียนรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพราะอยากเป็นนักการทูต เรารู้สึกว่าอาชีพนักการทูตมันได้ไปเที่ยว ได้ไปเห็นโลกกว้าง แล้วก็ได้เห็นความหลากหลายที่มันมากกว่าในหมู่บ้านของเรา
แต่ด้วยความที่เราไม่ค่อยชอบระบบราชการ ทำไมต้องทำงาน 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ได้เงินเดือน 15,000 บาท แล้วทำงานกันหนักมาก สุดท้ายเราที่เจอกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมมาทั้งชีวิตเลยรู้สึกว่าการเป็นนักการเมืองเป็นวิธีการที่ตรงที่สุด และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในการเปลี่ยนอะไรสักอย่าง
ตั้งแต่เมื่อไรที่คิดว่าไม่เป็นแล้วนักการทูต มันไม่สร้างการเปลี่ยนแปลง มาเป็นนักการเมืองดีกว่า
จริงๆ ตั้งแต่ปี 1 เลย เพราะว่าเราเรียนที่จุฬาฯ รุ่นนึงจะมีประมาณ 40-50 คนก็จะมีคนอยู่ 2 ประเภทที่มาเรียน หนึ่งคือคนที่มีนามสกุลดีอยู่แล้ว เพราะถ้าใครอยากเข้ากระทรวงต่างประเทศจะรู้ว่ามันต้องมีนามสกุล สองคือคนที่มีฐานะทางสังคมค่อนข้างสูง มีโอกาสได้เรียนภาษาที่สามจนแตกฉาน เพราะเวลาจะสอบเข้าคณะนี้หรือกระทรวงต่างประเทศเอง มันต้องใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาที่สาม แล้วคนส่วนใหญ่ที่จะมีโอกาสเรียนภาษาแตกฉานขนาดนั้นต้องเป็นคนที่ที่บ้านมีเงินส่งเสีย มันเหมือนเป็นภาคไฮโซ แต่เราไม่ใช่หนึ่งในนั้น เราไม่ใช่คนที่มีนามสกุล ไม่ใช่คนที่ครอบครัวสามารถส่งเสียอะไรอย่างนั้นได้
จุดเปลี่ยนอีกจุดคือการได้เข้าชมรมโต้วาทีภาษาอังกฤษ พอมาทำชมรมโต้วาทีมันได้เปิดโลก ได้เดินทางไปต่างประเทศ ไปแข่งนั่นนี่ ได้โต้วาทีกับเด็ก ม.ฮาวาร์ดหรือ ม.อ๊อกซ์ฟอร์ด แล้วรู้สึกว่าเรากับเขาไม่ต่างกัน แต่สังคมที่เราอยู่มันทำให้เราต่างกัน พอชนะทัวร์นาเมนต์นู่นนั่นนี่มาเยอะ เราก็รู้สึกว่าการเป็นนักการทูตมันเป็นอะไรที่แคบไปสำหรับโลกอันกว้างใหญ่ เราอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรที่มากกว่านั้น
ดูเหมือนว่าเรื่องของการเข้าชุมนุมดีเบตเป็นส่วนสำคัญของคุณธิดา เล่าให้ฟังหน่อยว่าทำไมถึงตัดสินใจเข้าชมรมนี้
เปลี่ยนชีวิตเลยค่ะ ที่จริงตอนแรกตั้งใจจะเข้าชุมนุมอะไรก็ได้ เพราะว่าจุฬาฯ ปีหนึ่งจะมีรับน้อง แล้วเราไปรับน้อง 2-3 วันแรกแล้วรู้สึกเลยว่ามันไร้สาระมาก ทำไมจะต้องมานั่งวัดกระโปรงว่ายาวเท่าไร จะใส่กระโปรงยาวเท่าไรมันมีผลกับเกรดหรือ ตอนนั้นเราก็ได้รู้ว่ามันมีอยู่ 2-3 วิธีถ้าไม่อยากเข้าห้องเชียร์ หนึ่งไปแข่งกีฬาเฟรชชี่ ตอนนั้นก็ไปแข่งนะทั้งยิงปืนแล้วก็แข่งโต้วาที อะไรทำได้ก็คือทำ สุดท้ายก็เลยจบลงที่ชมรมดีเบต
คุณเคยเล่าว่ามาเรียนที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เพราะได้รับทุน เคยคิดไหมว่าถ้าวันนั้นไม่ได้รับทุน ตอนนี้ตัวเองทำอะไร อยู่ที่ไหน
ความจริงทุนมันก็ไม่ได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่เราคิดว่าจะไม่ปล่อยโอกาสนี้หลุดมือ พอเข้ามหาวิทยาลัย ตอนแรกก็รับสอนพิเศษ จนได้มีโอกาสสอนโต้วาทีที่โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดี มันก็หาเงินได้เยอะขึ้น เพราะค่าสอนเด็กอินเตอร์ต่อชั่วโมงมันไม่เหมือนกับเด็กรัฐ ก็มีตรงนี้ที่เข้ามาช่วย แต่ถ้าเกิดไม่ได้ทุนตอนแรก ณ ตรงนั้น เราคิดว่าคงไม่ได้ออกจากเชียงราย และอาจช่วยงานเอนจีโอกับที่บ้าน
เรียกว่าโตเร็วกว่าเพื่อนได้ไหม
เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เด็กแล้วค่ะ ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย เราไม่เคยรู้สึกว่าเราเป็นนักศึกษาแต่คิดว่าเราเป็นผู้ใหญ่คนนึงแล้ว ด้วยความที่สังคมที่เราอยู่และยิ่งเราต้องเดินทางต่างประเทศกับเพื่อนในทีมดีเบตด้วยกันเอง มันไปเห็นอะไรมาเยอะ เจอสังคมเยอะ มันก็มีส่วนทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ที่มีแนวคิดพลเมืองโลกไปเลย
จุดเด่นอย่างนึงของคุณคือภาษาอังกฤษ คุณไปเอาความสามารถทางด้านภาษามาจากไหน
บ้านเราเป็นพื้นที่ชายแดน กลุ่มมิชชันนารีจะเยอะ คุณแม่ก็ทำงานกับคนกลุ่มนี้ เราก็เลยได้โอกาสในการฝึกภาษาอังกฤษค่อนข้างเยอะ
เรารู้ตัวตั้งแต่เด็กแล้วว่าเป็นคนที่ชอบภาษา ไม่ชอบเลข เพราะภาษามันเป็นอะไรที่ดิ้นได้ มันเป็นศิลปะ แต่ว่าเลขมันเป็นอะไรที่แข็งตัว 1 + 1 ต้องเท่ากับ 2 แล้วพอเข้ามาเรียนที่จุฬาฯ ได้ทำดีเบตภาษาอังกฤษ ได้โค้ชดี แล้วได้พูดทุกวันมันก็ช่วยได้เยอะ
คุณธิดาเข้ามาทำงานการเมืองช่วงเลือกตั้งปี 2562 ภาพที่คิดไว้กับความเป็นจริงต่างกันมากแค่ไหน
เราไม่เคยคิดว่าการเมืองเป็นสิ่งสวยงามอยู่แล้ว มีทั้งขาวและดำ แต่เราเคยคิดนะว่าหลายคนที่อยู่ในการเมืองไม่มีความสามารถ เรารู้สึกว่าเขาแค่นี้เอง ทำไมถึงไปได้ไกลขนาดนั้น แล้วถ้าเรามีความพยายาม ทำไมเราถึงจะทำแบบเขาไม่ได้
แต่เราเริ่มเข้าใจแล้วว่าการเมืองมันไม่ได้เป็นบรรทัดฐานแบบนั้น ไม่ใช่ว่าคุณเก่งหรือเป็นคนดีแล้วจะไปได้ไกล บางทีคุณต้องมีโชค ต้องมีจังหวะ ต้องมีเพื่อน มันมีอะไรเยอะมากกว่านั้นมาก
แล้วในการเลือกตั้งคราวที่แล้วเราก็ได้เห็นอะไรเยอะ บางทีทำดีที่สุดไม่ใช่ว่าคุณจะได้สิ่งดีที่สุด
เด็กรัฐศาสตร์หลายคนมักจะบอกว่า เรียนมาไม่เห็นได้ใช้เลย สำหรับคุณได้อะไรจากการเรียนรัฐศาสตร์บ้าง
ความจริงได้เยอะนะ เพราะพื้นฐานของรัฐศาสตร์คือปรัชญาการเมือง มันคือการมองความสัมพันธ์ของบุคคล รัฐ อำนาจ มันอธิบายทุกอย่างในสังคม และเราเป็นคนชอบปรัชญาอยู่แล้ว เพราะมันเป็นตรรกะ (logic) ยิ่งพอเราทำโต้วาทีมันยิ่งเสริมกันไปใหญ่ มันเป็นไปไม่ได้เลยที่ขึ้นโต้วาทีแล้วจะรู้ทุกอย่าง สิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดในเวทีแบบนี้คือพื้นฐานทางปรัชญาที่ดี ที่จะไปอธิบาย โต้เถียง หรือดีลได้
แต่ถามว่าพอเราทำงานการเมืองมันจะเอามาใช้ได้ขนาดนั้นไหม มันอาจจะเอามาใช้ในการอธิบายเรื่องต่างๆ ได้ แต่ในภาคปฏิบัติ การเมืองมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น 100%
หลังจบจากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ คุณได้ทุนไปเรียนต่อที่อังกฤษ และล่าสุดก็ได้ทุนจากรัฐบาลจีน ไปมาหลายที่คุณเห็นการปฏิบัติต่อผู้หญิงแตกต่างกันอย่างไร
ธิดาไปที่ไหนจะพูดกับทุกคนตลอดว่า เกิดมาธิดามี handicap (ข้อด้อย) อยู่ 3 อย่าง
ข้อแรก คือ เกิดมาในครอบครัวชนกลุ่มน้อย ซึ่งเป็นกลุ่มน้อยที่ไม่มีสัญชาติด้วย ดังนั้น การเข้าเรียน การเข้ารับการรักษา ไม่มีเลย มันมาก็ติดลบแล้ว
ข้อสอง คือ ร่างกาย พอเราเป็นคนตัวเล็ก เราทำอะไร เขาจะรู้สึกว่าเราเป็นเยาวชนอยู่ตลอด แล้วเสียงของเยาวชนก็มักไม่ใช่เสียงที่ดังขนาดนั้น
ข้อสาม คือ การเป็นผู้หญิง ทั้งที่ผู้หญิงเป็นเพศของคนส่วนใหญ่ในโลก แต่ไม่ว่าจะแวดวงการเมืองหรือธุรกิจ ผู้หญิงที่อยู่ในแถวหน้าของแวดวงนั้นๆ มักเป็นส่วนน้อยตลอด
แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้วมักจะไม่ค่อยมีข้อจำกัดด้านนี้ แต่ว่าในประเทศที่กำลังพัฒนาหรือประเทศไทยเอง คนจะไม่ค่อยชอบที่ผู้หญิงเก่ง พูดเยอะ หรืออยู่ในตำแหน่งเหนือกว่า เขามองว่ามันดูไม่เหมาะสม ผู้หญิงต้องเรียบร้อย ต้องไม่พูดเยอะ
PART 2 – อคติทางเพศในการเมืองไทย
เคยมีตัวอย่างหรือประสบการณ์อดคติทางเพศที่เจอกับตัวเองบ้างไหม
มีตลอด อย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือช่วงแรกที่กลับบ้านหลังเข้าเรียนจุฬาฯ ทุกคนจะเริ่มรู้สึกว่าเราเปลี่ยนไป ในแง่ที่ว่าทำไมผู้หญิงต้องพูดเยอะ ทำไมผู้หญิงต้องแสดงความคิดเห็น เรากลับไปตั้งคำถามกับศาสนาคริสต์ที่เราเติบโตมาด้วยตลอด 18 ปีด้วย มันก็ยิ่งทำให้เขามีคำถามว่าทำไมกลับมาแล้วเด็กคนนี้พูดเยอะ
คือในสังคมชนบท ผู้หญิงทุกคนมีหน้าที่เป็นแม่บ้าน ไม่ได้มีความคาดหวังว่าตัวเองต้องประสบความสำเร็จในชีวิตมากมาย แล้วทุกปีเราก็จะถูกถามว่าเมื่อไรจะแต่งงาน เมื่อไรจะมีลูก จนทุกวันนี้เค้าก็ไม่ถามแล้ว เพราะเราบอกว่ามันไม่ใช่เป้าหมายในชีวิตของเรา
ในกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ เขามีมุมมองต่อผู้หญิงอย่างไร
ค่อนข้างออกแนวอนุรักษ์นิยม บทบาทของผู้หญิงคือเป็นภรรยา ต้องเป็นแม่ ไม่ได้เป็นคนที่ต้องออกไปหาเงินนอกบ้าน และด้วยความที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ทุกคนจะแต่งงาน มีลูกเร็วและมีลูกเยอะด้วย ชีวิตของพวกเขาเป็นแบบนั้น
แล้วในมุมของความเป็นนักการเมืองล่ะ การเป็นนักการเมืองหญิงต่างจากการเป็นนักการเมืองผู้ชายหรือเปล่า
มีเยอะค่ะ โดยเฉพาะยิ่งการเลือกตั้งครั้งหลังสุด (ปี 2562) ซึ่งมันเป็นช่วงที่อัดอั้นหลังไม่ได้เลือกตั้งมา 7 ปี พอเราได้โอกาสลงสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ (ของพรรคเพื่อไทย) มันก็จะมีคนถามว่าพ่อแม่เป็นใคร เป็น ส.ส. หรือเปล่า
เพราะนักการเมืองหญิงถ้าไม่ได้เป็นภรรยาของนักการเมืองชาย หรือเป็นลูกสาว แทบจะไม่มีโอกาสได้ลงเล่นการเมือง มีน้อยมากที่มาจากไหนก็ไม่รู้แล้วได้ลงสมัคร ยิ่งอยู่ในพรรคการเมืองใหญ่ มันมีตระกูลการเมืองเยอะ มันก็เป็นคำถามที่ปกติมากก็จะเจอตลอด
ซึ่งเราก็ได้แต่ตอบว่า ไม่ใช่ลูกใคร ภรรยาใคร เราเรียนจบจากต่างประเทศมาก็เลยอยากมาทำ ซึ่งพอเรามาด้วยความสามารถแบบนี้ เขาก็จะเปลี่ยนท่าทีนิดนึง
นอกจากนั้นก็มีคนชอบคิดว่าเราเป็นเลขาฯ คงเพราะเราดูเป็นเด็กและเป็นผู้หญิงด้วย ซึ่งบางทีเขาพูดแบบไม่ตั้งใจนะ หรือบางทีเขาไม่พูดแต่ปฏิบัติกับเราแบบนั้นก็มี เช่น ตอนประชุมเขาก็บอกให้เราไปนั่งข้างหลัง เราก็ได้แต่บอกว่าขอนั่งข้างหน้านะคะ เรามีตำแหน่งอะไรก็บอกเขาไป
อะไรเป็นจุดแข็งของการเป็นนักการเมืองหญิง
เป็นนักการเมืองหญิงเนี่ยอุปสรรคมันเยอะ แล้วพอเจออุปสรรคเยอะๆ มันทำให้เรามุ่งมั่น ตั้งใจ พยายามมากกว่าคนอื่น ตรงนี้เราเห็นว่านักการเมืองหญิงทุกคนเป็น เช่น คุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย)
และในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าผู้หญิงกับผู้ชายมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเท่าเทียมกัน อย่างน้อยลักษณะกายภาพก็ไม่เท่ากันแล้ว แต่ถ้าผู้หญิงได้มีโอกาสใช้ความเป็นหญิงในทางที่ถูกต้อง อาจทำให้ผู้หญิงมีความได้เปรียบมากกว่าผู้ชายได้เหมือนกัน เช่น ผู้หญิงมีจิตวิทยาสูงกว่าผู้ชาย เพราะสมองผู้หญิงมีความซับซ้อนและละเอียดกว่า ทำให้เวลาคุยกันผู้หญิงแข็งได้อ่อนเป็น แต่มันอยู่ที่ว่าจะบริหารทักษะที่ตัวเองมียังไง ไม่ให้ความเป็นผู้หญิงกลายเป็นจุดอ่อนเสียเอง
สาเหตุที่ทำให้สัดส่วนผู้หญิงต่อผู้ชายในรัฐสภาไทยต่างกันลิบลับมาจากอะไร
ความจริงมันมีหลายเหตุผลและมีงานวิจัยด้วยนะ เหตุผลแรกคือ ถ้าผู้หญิงจะมาเล่นการเมืองต้องมีทุนมากกว่าผู้ชาย เหตุผลที่สองคือ สังคมไทยค่อนข้างโหดร้ายกับผู้หญิงที่อยู่ในการเมือง ไม่ว่า cyberbullying หรือการด่า เพราะผู้หญิงมันมีช่องให้ถูกปรักปรำว่าเป็นเมียน้อย ทำให้หลายคนมองว่ามันเป็นสังคมที่ไม่น่าอยู่ ก็ไม่อยากจะเปลืองตัวเข้ามาอยู่ตรงนั้น
อันที่จริงไม่ใช่แค่ในไทย ในทวีปเอเชียหลายประเทศก็เป็นแบบนี้ คนที่เล่นการเมืองส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนจากตระกูลการเมืองที่ไม่ได้มองว่าลูกสาวคือผู้รับช่วงต่อการเมืองของพ่อ แต่จะมองว่าเป็นลูกชายมากกว่า
แล้วในสายตาคุณ ทุกวันนี้สภาพแบบนั้นดีขึ้นบ้างไหม
ธิดามองว่าดีขึ้นนิดนึงนะ แต่มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือภายในเวลาไม่กี่ปี มันต้องใช้เวลา ถึงแม้ว่าความคิดจะเริ่มเปลี่ยนแล้ว แต่ว่าจำนวนผู้หญิงที่พร้อมจะเข้ามาเล่นการเมือง มันไม่ได้เกิดขึ้นภายใน 10 ปี เรายังต้องใช้เวลาอีก 20 ปี ให้คนเหล่านี้พร้อมมากขึ้นในการที่จะเข้ามาเปลี่ยนสัดส่วนทั้งหมดไปเลย
อย่างเราเองก็เคยทำโครงการที่พรรคไทยสร้างไทย ชื่อ More Women in Politics เราอยากเตรียมผู้หญิงให้เข้ามาเล่นการเมืองมากขึ้น แต่สุดท้ายไม่ใช่ว่าผู้หญิงหลายคนไม่อยากเข้ามาเล่นช่วงนี้นะ หลายคนก็สนใจ แต่คิดว่าตัวเองยังไม่พร้อม มันต้องใช้เวลาเพื่อให้พวกเขาพร้อม มันไม่ใช่ว่า 5 ปีที่แล้วคุณไม่มีเงิน แล้วอยู่ดีๆ 5 ปีนี้คุณจะมีเงิน มันเป็นไปไม่ได้
ถ้าระหว่างรับตำแหน่งเกิดตั้งครรภ์ ทำงานต่อได้ไหม
ได้ค่ะ ทำไมจะไม่ได้ คุณหญิงสุดารัตน์เคยทำมาแล้วตอนลง ส.ก. ตอนนั้นก็ท้อง 8 เดือน แต่สภาพร่างกายของแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ถ้าร่างกายมันไหวทำไมจะทำไม่ได้
ใครคือไอดอลทางการเมืองของคุณ
เรามี 2 คน ถ้าในต่างประเทศคือ บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพราะธิดาเคยมีโอกาสไปทำงานที่อเมริกาและได้นั่งคุยกับเขาในทำเนียบขาว ซึ่งสไตล์ต่างประเทศจะเป็นคุยสด คือถามอะไรก็ได้เขาก็จะตอบ คุยอยู่ประมาณชั่วโมงนึงก็ประทับใจ ที่จริงที่ธิดาประทับใจตั้งแต่การเดินทางของเขาแล้ว คนผิวสีที่เข้าสู่การเมืองจนไต่ไปถึงระดับประธานาธิบดีของประเทศที่ทรงอำนาจที่สุดในโลก มันเป็นการเดินทางที่ไม่ง่ายเลย
เวลาเราเจออะไรที่ไทยจะรู้สึกว่าโอบามาเจอมาเยอะกว่า เพราะการแบ่งแยกสีผิวมันซีเรียสมาก และอเมริกาก็เป็นสังคมที่มี freedom of speech (เสรีภาพในการแสดงออก) สูงมาก ไม่ชอบก็พูดเลยว่าไม่ชอบ บวกกับเราชื่นชมคนที่เป็นอันเดอร์ด็อกอยู่แล้ว คนพวกนี้กว่าจะขึ้นมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย มีอะไรต้องฝ่าฟันเยอะ
คนที่สองคือคุณหญิงสุดารัตน์ เราชื่นชมวิธีการทำงานของคุณหญิงในหลายๆ ด้าน เป็นผู้หญิงแกร่ง ขยัน ทำงานตลอดเวลาไม่ยอมนอน ตี 2 ก็เริ่มจะโทรมาสั่งงานทุกคนแล้ว แล้วด้วยความที่ชีวิตทางการเมืองเจออะไรมาเยอะ บางครั้งการเมืองมันไม่สวยงาม เงินก็ไม่ได้ แถมยังโดนด่าอีก เสี่ยงจะโดนฟ้อง อะไรมันเยอะมาก พอเราเห็นเขาที่อยู่มา 30 ปีแล้วยังไม่ยอมแพ้ เราเพิ่งเริ่มมาปีปีที่ 5 เองจะไปยอมแพ้ได้ยังไง
คุณหญิงสุดารัตน์เคยสอนอะไรไหมอะไรคือคำสอนที่คุณธิดารู้สึกว่าอันนี้จะเอาไปเป็นเข็มทิศในการทำงานของเราได้เลย
น่าจะเป็นเรื่องของวินัยการทำงาน คุณเก่งแค่ไหนมันไม่สู้คนที่ทำงานหนัก วินัยในการทำงานเป็นเรื่องที่คุณหญิงสอนและทำให้ดูทุกวัน มันทำให้เรารู้สึกว่าคนที่ทำงานการเมืองแล้วได้รับตำแหน่ง แล้วคิดว่าตัวเองเก่ง ดีที่สุด มี ego แต่ถ้าไม่ทำตัวเหมาะสมกับตำแหน่ง ถ้าไม่มีวินัยในการทำงาน มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร คุณหญิงผ่านอะไรมาเยอะ มันทำให้เราขยันและมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น
PART 3 – การเลือกตั้ง 2566
ถามถึงจุดยืนของพรรคไทยสร้างไทยในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในป 2566 พรรคไทยสร้างไทยสามารถตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ (จันทร์โอชา) เป็นนายกฯ อีกครั้งได้ไหม
ไม่ได้ค่ะ แต่ถ้าถามว่าพรรคเขาจะมาร่วมกับเรา แล้วยกมือให้แคนดิเดตนายกฯ ของเรา แล้วโอเคกับนโยบายและกรอบยุทธศาสตร์ประเทศที่เราเสนอ เราก็คิดว่ามีความเป็นไปได้ แต่ถ้าให้เรายกมือให้เขาแล้วอยู่ภายใต้กฎของเผด็จการ เราคิดว่าเราทำไม่ได้
รวมถึง 3 ป. คนอื่นด้วยไหม
เขาคือแก๊งเดียวกันค่ะ คิดว่าเป็นไปไม่ได้ จุดยืนของเราชัดเจนมากว่าอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ถ้าเกิดว่าใครจะมาอยู่ฝั่งประชาธิปไตยของเรา ไม่ว่าเค้าจะเป็นอะไรมาก่อน ถือว่าเค้ายอมรับตรงนี้แล้ว เราโอเค
แต่ถ้าเราจะเปลี่ยนจากจุดยืนประชาธิปไตยแล้วไปสนับสนุนเผด็จการ เราคิดว่าเราทำไม่ได้
ไม่สนับสนุน แต่ถ้าเขาจะขอเข้ามาร่วมก็โอเคใช่ไหม
ต้องดูว่าเขามาร่วมแนวไหน เขาขออะไร เขายอมรับในเรื่องที่เราวางไว้ยังไงบ้าง แบบนี้คือยอมรับ
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยก็คือ ม.112 พรรคไทยสร้างไทยมีจุดยืนเกี่ยวกับกฎหมายมาตรานี้อย่างไร
ตอนนี้จุดยืนในสังคมต่อเรื่องนี้มี 3 จุดยืนใหญ่ๆ จุดยืนแรกคือยกเลิก จุดยืนที่สองคือแก้ไขให้เหมาะสม จุดยืนที่สามคือไม่แตะต้อง พรรคไทยสร้างไทยอยู่ในกลุ่มที่สองที่มองว่าต้องแก้ไขเหมาะสม เช่น เรื่องของบทลงโทษ หรือขั้นตอนการฟ้องร้อง มันเป็นอะไรที่ต้องมานั่งคุยกัน
ถ้ามีโอกาส ทิศทางที่พรรคไทยสร้างไทยจะแก้ไข ม.112 จะทำให้คนพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างเปิดเผยไหม เช่น การปราศรัยบนท้องถนน
ความจริงตอนนี้คนก็มีการพูดถึงอยู่แล้ว เพดานมันถูกเอาออกไปแล้ว แต่ว่ามันมีหลายวิธีในการพูด วิจารณ์ ด่า หมิ่นประมาท หรือว่าการพูดกันด้วยเหตุผล ถ้าคุยเพื่อให้เกิดประโยชน์และไม่ข้ามเส้น มันก็ควรจะเป็นไปได้
เป้าหมายสูงสุดของการเป็นนักการเมืองของคุณธิดาคืออะไร
เราเป็นคนหนึ่งที่ชอบการต่างประเทศ ในวันหนึ่ง เราอาจจะอยู่ในองค์กรระหว่างประเทศแล้วเป็นระดับซีเนียร์ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะไม่ใช่ในระดับปฏิบัติการ แต่ขอจุดที่สูงๆ หน่อยที่สามารถกำหนดทิศทางการทำงาน เราคิดว่าเราอยากจะทำยังงั้น
แล้วตำแหน่ง รมว.ต่างประเทศล่ะ สนใจไหม
ก็น่าสนใจนะ ไม่เคยมีผู้หญิงเลย แต่ก็ไม่รู้ว่าวันนึงจะไปได้ถึงขนาดนั้นหรือเปล่า เพราะเรารู้ว่าการเลือกรัฐมนตรี มันไม่ได้เลือกจากเพศ ความจริง ความมุ่งมั่น ความตั้งใจ สุดท้ายมันอยู่ที่การนั่งเจรจากันในห้อง
เรื่องการต่างประเทศ เป็นประเด็นที่คุณสนใจเป็นพิเศษ อยากให้ช่วยประเมินการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา
เป็นจุดตกต่ำที่สุดของการต่างประเทศของไทย ขนาดที่การประชุม APEC2022 โจ ไบเดน (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ) ยังไม่มา วลาดิเมียร์ ปูติน (ประธานาธิบดีรัสเซีย) ที่คิดว่าจะมาก็ไม่มา คุณต้องตกต่ำขนาดไหน ต้องรอเกือบ 20 ปีเลยนะถึงจะได้เป็นเจ้าภาพ APEC แต่แค่นี้กลับไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เรียกได้ว่าไม่มีศาสตร์และศิลป์ทำให้สำเร็จ
ถ้าเราเทียบกับการประชุม G20 ที่อินโดนิเซียจัด สิ่งแรกที่ โจโก วิโดโด ประธานาธิบอินโดนีเซียทำคือ เดินสายเจอผู้นำโลกทุกคนด้วยตนเอง เพื่อจะคุยแบบทวิภาคีว่าทำไมเขาอยากให้มางานนี้ ซึ่งสุดท้ายก็มาหมด
ที่ผ่านมาจะมีการวิจารณ์นโยบายต่างประเทศของไทยมาตลอดว่า ไหลเป็นปลาไหล หรือเหยียบเรือสองแคมตลอด คุณคิดเห็นอย่างไรกับแนวทางแบบนี้
ความจริงธิดาคิดว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ผิดนะ แต่ว่ามันถูกตลอดไหมก็ไม่ ก่อนที่เราจะไปถึงจุดว่านโยบายต่างประเทศมันออกยังไง เราต้องมาดูก่อนว่าเราอยู่ในจุดไหนของโลก ประเทศของเราใหญ่ขนาดเป็นผู้นำเทรนของโลกไหม ก็ไม่ แต่เล็กจนคนไม่สนใจหรือเปล่า ก็ไม่ เราก็อยู่ในขนาดกลางๆ ที่มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่เราจะใช้จุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร
การที่เราเลือกข้างหรือสานความสัมพันธ์ระหว่างฝั่งซ้ายและฝั่งขวามันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด แต่บางครั้งเราต้องใช้คำว่า ‘ผิดหวัง’ ที่รัฐบาลไทยไม่ให้เกียรติ กฎระเบียบระหว่างประเทศที่เราลงนามในสนธิสัญญาหลายฉบับ เช่นกรณีรัสเซียบุกยูเครน นี่เป็นโศกนาฏกรรมทางมนุษยชาติที่ค่อนข้างใหญ่ มีผู้เสียชีวิตเยอะและไม่ใช่แค่ทหารแต่รวมถึงประชาชน แล้วเป็นสิ่งที่ยูเอ็นรับไม่ได้ ทุกคนก็รับไม่ได้ ทุกคนก็ออกมาแสดงจุดยืน แต่ประเทศไทยไม่ออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนแบบนั้น
แล้วถ้าวันนึงมีคนมารุกล้ำอธิปไตยของประเทศไทย แล้วไม่มีประเทศไหนเลยมายกมือแล้วบอกว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นสิ่งที่ผิด เราจะอยู่ได้ยังไง นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมถึงต้องมีกฎระเบียบระหว่างประเทศ เพื่อที่ทุกคนจะได้ปกป้องและมีคนช่วยปกป้องอำนาจอธิปไตยของตัวเองได้
คำถามสุดท้าย อะไรคือความเปลี่ยนแปลงที่คุณอยากเห็นในฐานะนักการเมือง
อยากปฏิรูปการศึกษาให้มีความเท่าเทียม ไม่ต้องมาลุ้นเหมือนธิดาว่าจะได้ทุนการศึกษาหรือเปล่า
ถ้าวันนึงถ้าการศึกษาเปลี่ยน เด็กเรียนดีขึ้น เด็กมีโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ประเทศมันก็จะขยับขึ้นไปแข่งขันกับนานาประเทศได้ อยากจะเห็นประเทศไทยยืนอย่างสง่างามบนเวทีโลก
(คำถามตาม) ถ้าเปรียบเทียบประเทศไทยกับภาพยนตร์สักเรื่อง คิดเหมือนภาพยนตร์เรื่องอะไร
ซีรีส์ Game of Thrones เพราะเต็มไปด้วยเรื่องของการแก่งแย่งชิงดีชิงอำนาจ คนนั้นขึ้นก็เอาคนนี้ลง คนนี้ขึ้นก็เอาคนนั้นลง คนที่อยู่ในอำนาจโดยเฉพาะนักการเมืองเอาแต่คิดว่าตัวเองจะได้เท่าไร ได้อะไรแค่ไหน ไม่เคยคิดถึงประชาชน ประชาชนคือมาทีหลัง